27 มี.ค. เวลา 08:45 • การเกษตร
ดงสาร

นาปรังแปรรูปข้าวเม่า ทางเลือกสร้างมูลค่า การทำนาบ้านดงสาร จ.สกลนคร

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ที่ทุ่งพันขันมากกว่า 4,000 ไร่ เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต พร้อมเตรียมพัฒนาสินค้าจากภูมิปัญญา พบผู้ประกอบการด้านแปรรูปข้าวเม่า บ.นายอ จ.สกลนคร
ทำข้าวนาปรังคือทางรอด]
ในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน ชาวบ้านบ้านดงสาร ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ทยอยต่อคิวจ้างรถเกี่ยวข้าว เพื่อนำข้าวไปขายให้โรงรับซื้อในตัวอำเภอ ซึ่งปีนี้ราคารับซื้อข้าวเปลือกสูง ตันละ 10,000 บาทขึ้นไป
ชาวบ้านดงสาร เปิดเผยว่า ข้าวนาปรังปีนี้อุดมสมบูรณ์ต้นโตเต็มวัย แต่ละรวงออกผล 170 - 250 เมล็ด ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้นเป็นที่น่าพอใจ แต่ขายไม่ได้ราคาเต็มต้องหักความชื้น สาเหตุที่ขายทันทีเพราะไม่มีพื้นที่ตากผลผลิต และคุณภาพข้าวนาปรังแข็ง ต้องขายข้าวเปลือกไปซื้อข้าวสารมากินแทน
สาเหตุที่ชาวบ้านทำนาปรังหลายไร่ เพราะทำนาปีไม่ได้ เนื่องจากทุ่งพันขันอยู่ในเขตพื้นที่น้ำท่วม ฤดูฝนน้ำจากแม่น้ำสงคราม จะเข้ามาท่วมพื้นที่ทั้งหมดมองเห็นแค่ปลายต้นไม้ยูคาลิปตัส จึงขุดลอกหนองไว้รับน้ำสำหรับทำนาปรัง
อ.สุวรรณ บงศ์บุตร หรือครูแดง เปิดเผยว่า การทำนาปรังคือทางรอดของชาวบ้าน ลดค่าใช้จ่ายซื้อข้าวในครัวเรือนได้ครึ่งปี หลังจากนั้นชาวบ้านจะไปรับจ้างต่างถิ่น หรือหาปลาในป่าปุ่งป่าทามมาขาย แต่ขายได้ตามกำลังซื้อในหมู่บ้าน จึงคิดอยากพัฒนาสินค้าและบริการ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้มีผู้คนเข้ามาซื้อของ
[วิจัยโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง]
จากการลงพื้นที่มาบ้านดงสาร ระยะทางจากตัวอำเภอเมืองสกลนคร ประมาณ 80 กิโลเมตร ไกลพอสมควรและไม่ใช่เส้นทางผ่านระหว่างอำเภอ ถ้าไม่มีธุระคงไม่มีใครเข้ามา ปัจจุบันมีทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้เข้ามาศึกษาพื้นที่เป็นเวลา 2 ปีแล้ว เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาความยากจน
อาจารย์สายฝน ปุนหาวงค์ หัวหน้าโครงการวิจัย ทีมโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง ได้เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เข้ามาวิเคราะห์ศักยภาพและอุปสรรคพื้นที่บ้านดงสาร พร้อมออกแบบปฏิบัติการโมเดลคลังเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมความรู้เข้ามาแก้ไข ได้แก่ การคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว การแปรรูปข้าวเม่า รวมไปถึงสร้างโอกาสใหม่คือการท่องเที่ยวชุมชน มีบริษัท Local Alike ตั้งใจจะพัฒนาให้เป็น "พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต"
อ.สายฝน ปุนหาวงค์
[ทางเลือกใหม่แปรรูปข้าวเม่า]
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ทีมนักวิจัย นำวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปข้าวเม่า ที่ขึ้นชื่อในจังหวัดสกลนคร อุดรธานี โดยกลุ่มวิสากิจชุมชนข้าวเม่าหวาน บ้านนายอ ไม่ใช่คนอื่นไกลเป็นชาวบ้านในอำเภออากาศอำนวย นักวิจัยได้นำชาวบ้านไปศึกษาเรียนรู้ที่กลุ่ม และทาบทามให้มาถ่ายทอดองค์ความรู้ในการปลูกข้าวเม่าในครั้งนี้
อ.สายฝน กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นการพบผู้ประกอบการ ที่จะมารับซื้อข้าวนาปรังนำไปแปรรูปเป็นข้าวเม่า แต่ก่อนซื้อขายกันต้องรู้รายละเอียดการปลูกข้าวและข้อตกลง สามารถสอบถามคำแนะนำได้ทุกประเด็น ทั้งการวางแผนผลิต สายพันธุ์ข้าวเม่า และข้อตกลงในการรับซื้อ หลังจากนั้นลงไปดูพื้นที่แปลงข้าวนาปรัง
คุณเกษรา เจินยุหะ พร้อมวิทยากร 4 ท่าน เปิดเผยว่า ชาวบ้านนายอแปรรูปข้าวเม่าเป็นทุกคน ในวิสาหกิจชุมชนข้าวเม่าหวาน มีสมาชิกมากกว่า 100 ครัวเรือน มีกำลังผลิตได้สูงสุด 100 กิโลกรัมต่อครัวเรือน ข้าวที่นำมาใช้คือข้าวเหนียวทุกสายพันธุ์ ใช้ได้ทั้งนาปีและนาปรัง ปัจจุบันช่วงนาปรังข้าวเม่าขาดตลาด พร้อมย้ำหัวใจสำคัญการแปรรูปข้าวเม่าคือ การคัดสายพันธุ์ การวางแผนการปลูก และการแปรรูป
นาปรังบ้านดงสาร
การคัดพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม
ชุมชนต้องเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้อย่างดี ใช้สับเปลี่ยนหมุนเวียนในแต่ละแปลงทุก ๆ ปี เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวปนทำให้อายุข้าวเม่าพร้อมกัน ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว การเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ ได้แก่ นาดอนใช้พันธุ์อายุ 60 - 100 วัน นาลุ่มใช้พันธุ์ 100 - 150 วัน
วางแผนการปลูกให้ได้ข้าวเม่าต่อเนื่อง
ตัวอย่างพื้นที่ 10 ไร่ ให้แบ่งปลูก 5 รอบแต่ละรอบห่างกัน 10 - 15 วัน ดังนั้นจะต้องเตรียมสายพันธุ์ให้เพียงพอกับการปลูก ส่วนใหญ่จะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพียง 5 - 10 กิโลกรัม ถ้าเป็นนาปีเดือนพฤษภาคม ช่วงวันที่ 15 ควรปลูกรอบแรกได้แล้ว
การแปรรูปข้าวเม่า
ต้องไปเก็บเกี่ยวข้าวตั้งแต่เวลา 02:00 น. กลับมาเตรียมการแปรรูปช่วง 07:00 น. เพื่อเสร็จทันขายให้ลูกค้าเวลา 12:00 น. เป็นต้นไป ข้าวเม่าบ้านนายอจึงใหม่สดทุกวัน ลูกค้าไว้ใจและมีความต้องการมาก นอกจากนี้กลุ่มมีวิธีการเก็บรักษาแบบสูญญากาศ
กลุ่มข้าวเม่าหวาน บ้านนายอ
ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากข้าวเม่า คือ จ้างคนเกี่ยวข้าวเม่ากำมือละ 1 บาท ซื้อไม้แห้งมานึ่งข้าวเม่ารถละ 30,000 - 50,000 บาท บ้างวันจ้างแรงงานช่วยวันละ 500 บาท นอกจากนี้ยังนำฟางข้าวไปเลี้ยงสัตว์ได้ (วัว-ควาย) ราคาขายข้าวเม่ากิโลกรัมละ 150 - 250 บาท สร้างรายได้ให้ครัวเรือนปีละ 1,000,000 บาท
ข้อตกลงการส่งแปรรูปข้าวเม่า ทางกลุ่มข้าวเม่าหวานบ้านนายอ มีข้อตกลงให้ผู้ปลูกข้าวเลือกหลายรูปแบบ ได้แก่ แบบเหมาแปลงประมาณไร่ละ 10,000 บาท แบบชั่งกิโลหมื่นละ 150 - 200 บาท (คัดข้าวรีบออกแล้ว) หรือแบ่งผลผลิตข้าวเม่าคนละครึ่ง หลักสำคัญคือต้องไว้ใจกัน ทั่งนี้ทางกลุ่มยินดีให้คำแนะนำการแปรรูปข้าว ถ้าสนใจอยากเป็นผู้ประกอบการเอง
ข้าวเม่าคือภูมิปัญญาชาวบ้านนายอ ถ่ายทอดผ่านทางวัฒนธรรม บ้านนายอจะทำบุญข้าวเม่าทุกปี ข้าวเม่ายังสร้างเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ Soft Power เป็นสินค้าของชาวนาอำเภออากาศอำนวย ด้วยความภาคภูมิ
OnePoverty

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา