28 มี.ค. เวลา 00:49 • สุขภาพ

บิลาสทีน( Bilastine) ยาแก้แพ้แบบง่วงน้อย ออกฤทธิ์นาน

#Bilastine เป็นยาต้านฮิสตามีน หรือยาแก้แพ้รุ่นใหม่ ซึ่งมีความจำเพาะต่อตัวรับฮิสตามีน H1 สูง มีความชอบจับตัวรับ H1 มากกว่า cetirizine 3 เท่า และมากกว่า fexofenadine 6เท่า
.
ฮิสตามีน ( Histamine) คืออะไร
เป็นสารที่มีบทบาทสำคัญ ในการตอบสนองต่อการอักเสบและการแพ้ รวมทั้งยังมีบทบาทในการควบคุมการหลั่งกรดในกระเพาะ และควบคุมการหลั่งสารสื่อประสาท
.
โดยปกติตัวฮิสตามีนถูกสังเคราะห์ และถูกเก็บในเม็ดเลือดขาว เมื่อถูกกระตุ้นจึงจะมีการหลั่งออกมา แต่ถ้าเป็น ตัวรับฮิสตามีนที่อยู่ตรงเซลล์ในกระเพาะอาหารและเซลล์ประสาท จะมีการหลั่งออกมาอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการกักเก็บฮิสตามีนไว้
.
ชนิดของตัวรับฮิสตามีน ที่อยู่ในร่างกาย มี 4 ชนิด คือ H1 H2 H3 H4 ( สามารถดูรายละเอียดเพิ่มได้ในข้อมูลอ้างอิง1) อยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย
ซึ่ง H1 จะเกี่ยวข้องกับอาการแพ้ เช่น ผื่นแดง เกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือด หรือ อาการบวมเกิดจากของเหลวออกมาจากหลอดเลือด อาการคัน มีน้ำมูก เป็นต้น
.
#สรรพคุณของยา
รักษาโรคภูมิแพ้ต่างๆ เช่นโรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ขึ้นตา ภูมิแพ้ผิวหนัง ลมพิษ เป็นต้น
.
#รูปแบบที่จำหน่าย (ข้อมูลจาก web ของสำนักงานคณะกรรมการอาหาร) และขนาดยาที่ใช้
เช่น ยี่ห้อ Bilaxten (10 และ 20 mg) , Bicahis 20 mg, Bliztin 20 mg
- oral dispersible tablet 10 มิลลิกรัมต่อเม็ด (รูปแบบแตกตัวเร็วเมื่ออมในปาก หรือแตะบนลิ้น) สำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี ซึ่งมีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 20 กิโลกรัม รับประทานวันละ 1 เม็ดต่อวัน
** รูปแบบนี้ Admin ก็ไม่เคยเห็นเหมือนกันคะ
-รูปแบบเม็ด 20 mg สำหรับเด็กอายุมากกว่า 12 ปีและผู้ใหญ่ รับประทานวันละ 1 เม็ดต่อวัน
***รูปแบบน้ำ มีเฉพาะในต่างประเทศคะ 2.5 mg/ml
.
ระดับยาในเลือดสูงสุดภายใน 1.3 ชั่วโมง half life ของยาคือ 14.5 ชั่วโมง (หมายถึงระยะเวลาที่เป็นปริมาณยาในเลือดลดลงไปครึ่งนึง) ซึ่งแสดงว่ายาตัวนี้ออกฤทธิ์นาน
#ไม่ต้องปรับยาในผู้ป่วยโรคไต โรคตับ
#ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นม บุตร เนื่องจากไม่มีข้อมูล
.
สรุป Bilastine เป็นยาแก้แพ้ที่จำเพาะเจาะจงกับตัวรับฮิสตามีน H1มากที่สุด และง่วงน้อยที่สุด แต่ก็ราคาแพงเช่นกัน จึงถือเป็นยาทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยคะ
.
.
.
เรียบเรียงโดย ภญ.สุพนิต วาสนจิตต์ เรื่องเล่าจากห้องยา
.
.
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง
.
1.ชื่อบทความ "คุณสมบัติทางเภสัชวิทยาของยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วง"
โดย ผศ.ภญ.ดร.รัชนี รอดศิริ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
.
.
.
โฆษณา