5 เม.ย. เวลา 02:21 • สุขภาพ

ทำครอบครัวให้เข้มแข็งเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem)

ครอบครัวเป็นด่านแรกที่สำคัญในการหล่อหลอมอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การเห็นคุณค่าในตนเองก็เช่นเดียวกัน เราจึงมักจะพบเห็นว่าคนที่เห็นคุณค่าในตนเอง มั่นใจในตน มักจะมีเบื้องหลังครอบครัวที่ดีเป็นส่วนใหญ่ ในทางตรงกันข้ามบุคคลที่ไม่ค่อยมั่นใจในตนเอง มีความเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ มักมีแนวโน้มที่ครอบครัวอาจขาดตกบกพร่องในบางสิ่งบางอย่าง
การเห็นคุณค่าในตนเองหมายถึง การประเมินตนเองตามความรู้สึกและทัศนคติที่มีต่อตนเอง เป็นการยอมรับหรือไม่ยอมรับตนเอง โดยประเมินจากประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จ ความล้มเหลว ตลอดจนการตัดสินของผู้อื่นที่ตนเองให้ความสำคัญ จึงไม่แปลกที่การเห็นคุณค่าในตนเองจะสัมพันธ์กับตัวแปรทางจิตวิทยาอื่น ๆ เช่น ความมั่นใจในตัวเอง ความสุข ไปจนถึงความรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจ
ในการศึกษาครั้งหนึ่งของผมสมัยที่เรียนปริญญาโท ผมทำเรื่องของการเห็นคุณค่าในตนเองและองค์ประกอบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เกรดเฉลี่ย ความสุข และความเพียงพอของรายได้ที่ได้รับ หนึ่งในนั้นคือการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัว ซึ่งผมมองว่าเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญในการหล่อหลอมการเห็นคุณค่าในตนเอง (ซึ่งผลการศึกษาก็เป็นไปตามที่คาดเอาไว้)
การปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัว หมายถึง การประกอบกิจกรรมที่สมาชิกครอบครัวพึงกระทำเพื่อประโยชน์ต่อการอยู่รอดของครอบครัว ซึ่งเป็นการแสดงบทบาทต่าง ๆ และมีสัมพันธ์สังสรรค์ร่วมกัน ให้ความรักต่อกันและกัน หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการทำงานของทุกครอบครัว โดยแบ่งการทำหน้าที่ของครอบครัวออกเป็น 6 ด้าน ดังนี้คือ ดังนี้
1) การแก้ปัญหา (Problem Solving) หมายถึง ความสามารถของครอบครัวในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดอย่างเหมาะสม ทำให้ครอบครัวดำเนินไปได้ดี และปฏิบัติหน้าที่ด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) การสื่อสาร (Communication) หมายถึง การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับวัตถุหรือการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือเนื้อหาที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก
3) บทบาท (Role) หมายถึงแบบแผนพฤติกรรมที่สมาชิกประพฤติต่อกันซ้ำ ๆ เป็นประจำบทบาทแบ่งได้เป็น 2 ด้าน คือ บทบาททางด้านวัตถุและบทบาททางด้านอารมณ์
4) การตอบสนองทางอารมณ์ (Affective Responsiveness) หมายถึง ความสามารถที่จะตอบสนองทางอารมณ์ต่อกันอย่างเหมาะสม ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ อารมณ์ที่เกิดขึ้นในครอบครัวมีหลายแบบทั้งอารมณ์เชิงบวกและอารมณ์เชิงลบ
5) ความผูกพันทางอารมณ์ (Affective Involvement) หมายถึง ระดับความผูกพันห่วงใยรวมทั้งการแสดงออกที่สมาชิกแต่ละคนมีต่อกัน
6) การควบคุมพฤติกรรม (Behavior Control) หมายถึง วิธีการที่ครอบครัวควบคุมหรือจัดการกับพฤติกรรมของสมาชิก การควบคุมเป็นสิ่งที่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกประพฤติตนอยู่ในขอบเขตอันเหมาะสม สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น อย่างไรก็ตามมิได้หมายความว่าการควบคุมอย่างเข้มงวดจะดีเสมอไป เพราะมีผลการศึกษามากมายที่พบว่า ความเข้มงวดนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์
ผู้อ่านจะเห็นว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว "อารมณ์" คือองค์ประกอบสำคัญใน Model หรือตัวแปรนี้ และเช่นเดียวกัน อารมณ์คือสิ่งที่สำคัญต่อทุกความสัมพันธ์ แต่อย่าเข้าใจผิดนะครับ ผมไม่ได้หมายความว่าการไม่แสดงอารมณ์โกรธหรือเศร้าออกมาจะเป็นผลดีต่อทุกความสัมพันธ์ มันตรงกันข้ามกันเลยครับ การแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสมต่างหากที่จะทำให้ทุกความสำพันธ์ดำเนินไปได้ด้วยดี
นาธาน เอปสเตน (Nathan Epstein) จิตแพทย์ชื่อดังได้พัฒนาโมเดลดังกล่าวขึ้นมาเรียกว่า McMaster Model โดยเขามองว่าครอบครัวที่มีประสิทธิภาพจะประกอบไปด้วยสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรงในทางกลับกัน ครอบครัวที่ไม่มีประสิทธิภาพจะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ไม่เข้มแข็ง ทั้งหมดนี้ส่งผลโดยตรงมาจากความสมบูรณ์ของครอบครัว
หากครอบครัวสมบูรณ์จะประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก ซึ่งจะมีแนวโน้มสูงที่จะปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวได้อย่างดี ในทางกลับกันหากครอบครัวมีจุดบกพร่อง พ่อหรือแม่เลี้ยงลูกคนเดียว มีแนวโน้มที่การปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวจะไม่ดีเทียบเท่ากับครอบครัวที่มีความสมบูรณ์
ผู้อ่านคงจะเห็นว่าตัวแปรการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ดังนั้นมันย่อมมีบวกลบ เช่น ลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจึงโดนพ่อแม่ลงโทษ แต่จะลงโทษอย่างไรขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัว บางครอบครัวอาจจะลงโทษโดยการตีอย่างรุนแรง เข้มงวด แต่บางครอบครัวอาจจะใช้การพูดคุยอย่างมีเหตุมีผลแทน
หรือบทบาททางด้านวัตถุ ครอบครัวที่มีปัจจัยสี่พร้อมสิ่งอำนายความสะดวกตามยุคสมัยอื่น ๆ เช่น อาหารที่อยากรับประทาน อำนาจในการหาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการ หนังสือเพื่อเสริมสร้างความรู้ หรือศักยภาพในการส่งลูกเข้าโรงเรียนที่มีมาตรฐานเกินค่าเฉลี่ย ก็ย่อมมีบทบาททางด้านวัตถุที่สูงมากกว่าครอบครัวอื่นที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางด้านวัตถุได้เทียบเท่า
อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าใครก็ตามที่มีครอบครัวไม่สมบูรณ์ หรือครอบครัวมีการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ดีมากพอจะทำให้มีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำสักทีเดียว หากผู้อ่านสังเกตผมจะพยายามใช้คำว่าแนวโน้มซึ่งเป็นผลมาจากการศึกษาเท่านั้น แต่ไม่ได้เหมารวมทั้งหมด ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ครอบครัวไม่สมบูรณ์ และมีครอบครัวที่มีการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ดี แต่ก็พอจะมีการเห็นคุณค่าในตนเองอยู่บ้าง (น่าจะ)
ผมมักจะเรียกบุคคลที่เผชิญบาดแผล ประสบการณ์ที่เลวร้าย หรือการเติบโตมาอย่างยากลำบากว่าเป็นบุคคลที่มีข้อจำกัดแห่งสวรรค์ ผมให้ความหมายสิ่งนี้ผ่านการศึกษาเชิงวิชาการว่า ข้อจำกัดในชีวิตกลายมาเป็นสวรรค์เพราะถูกพัฒนาให้ผมต่าง ๆ กลายเป็นสัญญาณเตือนถึงบางสิ่งบางอย่างที่อันตราย หรือเป็นประสบการณ์ที่จะสร้างแต้มต่อแก่เราได้ในอนาคตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ทั้งนี้ทั้งนั้นคนที่เผชิญกับบาดแผลหรือประสบการณ์ที่เลวร้ายจำนวนมากต่างก็ล้มหายตายจาก หรือใช้ชีวิตอย่างเจ็บปวด เผชิญกับโรคซึมเศร้า ไปจนถึงโรคทางจิตเวชที่รุนแรงมากขึ้นไปอีก น้อยคนที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดได้ ดังนั้นการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด ซึ่งแทบจะไม่มีความเสี่ยงเลยกำกับออกแบบชีวิตที่ดีในอนาคต
เพราะอย่างที่ผมได้อธิบายไปแล้วว่าการเห็นคุณค่าในตนเองสัมพันธ์กับตัวแปรต่าง ๆ อีกมากมายที่จะสร้างความสำเร็จในอนาคต และจากการศึกษาของตัวผมเองก็พบว่าการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวที่ดีสัมพันธ์กับการเห็นคุณค่าในตนเอง และยังสามารถทำนายการเห็นคุณค่าในตนเองได้อีกด้วย โดยเฉพาะกับนิสิตนักศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัย
อ้างอิง
คาลอส บุญสุภา, มฤษฎ์ แก้วจินดา และวรางคณา โสมะนันทน์. (2564). การเห็นคุณค่าในตนเองของนิสิตในมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ. KASEM BUNDIT JOURNAL, 22(2), 43–53. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jkbu/article/view/253313
คาลอส บุญสุภา. (2566). การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ตามแนวคิดของ สแตนลีย์ คูเปอร์สมิธ (Stanley Coopersmith). https://sircr.blogspot.com/2023/11/self-esteem-stanley-coopersmith.html
คาลอส บุญสุภา. (2566). บาดแผล ปมด้อย หรือประสบการณ์เลวร้ายในอดีต อาจเป็น ข้อจำกัดแห่งสวรรค์. https://sircr.blogspot.com/2023/11/blog-post.html
คาลอส บุญสุภา. (2564). ข้อเสียของการเลี้ยงลูกแบบเข้มงวด (Strict). https://sircr.blogspot.com/2021/06/strict.html
โฆษณา