7 เม.ย. 2024 เวลา 05:00 • การศึกษา

ทำไมการสะกดภาษาอังกฤษถึงไม่ตรงตัว

หลายๆ ท่านน่าจะรู้อยู่แล้วนะครับว่าคำในภาษาอังกฤษหลายๆ คำสะกดไม่ตรงกับการออกเสียงของคำนั้นๆ เช่น through อ่านว่า /θruː/ แต่คำว่า enough ดันอ่านว่า /ɪˈnʌf/ เฉยเลยครับ ทั้งๆ ที่ทั้งสองก็เป็นคำที่ลงท้ายด้วย -ough เหมือนกัน
แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
เรื่องนี้ต้องท้าวความย้อนไปถึงสมัย Old English (คริสต์ศตวรรษที่ 5 – ค.ศ. 1066) ในช่วงแรก Old English ไม่ได้สะกดด้วยอักษรโรมัน แต่จะสะกดด้วยตัวอักษรรูน หลังจากที่ชนเผ่า Anglo-Saxon ได้อพยพไปที่เกาะ Britain แล้ว ต่อมาเหล่านักบวชเริ่มเขียน Old English โดยที่ยังคงตัวอักษรรูนบางตัวไว้ เช่น þ (thorn) ƿ (wynn) ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 8 เหล่าไวกิ้งได้บุกเกาะ Britain และทำให้คำศัพท์ในภาษา Old Norse เข้ามาในภาษาอังกฤษ เช่น take call get weak sky ฯลฯ ในส่วนของการสะกดภาษาอังกฤษโบราณจะเป็นการสะกดแบบตรงตัว
ต่อมาในสมัย Middle English (ค.ศ. 1066 – คริสต์ศตวรรษที่ 15) เหล่านอร์มันได้บุกรุกเกาะ Britain ภาษาฝรั่งเศสจึงกลายเป็นภาษาของเหล่าชนชั้นสูง ในขณะที่ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาของเหล่าชนชั้นล่าง โดยมีคำในภาษาฝรั่งเศสที่เข้ามาในภาษาอังกฤษ เช่น beef pork poultry invade ฯลฯ
อนึ่ง เหล่านอร์มันได้กำหนดการสะกดภาษาอังกฤษทั้งหมดให้เป็นแบบภาษาฝรั่งเศส เข่น þ หรือ ð เปลี่ยนให้เป็น th นอกจากนี้ยังมีการแยกสระเสียงสั้น-ยาว (e เป็นสระเสียงสั้น ในขณะที่ ee เป็นสระเสียงยาว) ในขณะที่ Old English ไม่มีการแยกสระเสียงสั้น-ยาว ต่อมาอังกฤษขับไล่เหล่านอร์มันได้สำเร็จ แต่คำในภาษาฝรั่งเศสยังคงมีอยู่ในภาษาอังกฤษ
การสะกดในสมัย Middle English ยังไม่มีการสะกดมาตรฐาน ผู้คนล้วนสะกดคำแตกต่างกันออกไป แม้กระทั่ง William Shakespeare นักเขียนบทละครและนักกวีชื่อดังชาวอังกฤษก็ยังสะกดชื่อตัวเองถึง 25 แบบ ต่อมา William Caxton ได้นำแท่นพิมพ์เข้ามาในอังกฤษในคริสต์ศักราช 1476 ซึ่งทำให้มีการตีพิมพ์หนังสือมากขึ้นและผู้คนสามารถเข้าถึงหนังสือได้ จึงทำให้เกิดมาตรฐานการสะกดภาษาอังกฤษในที่สุด
ในการนำแท่นพิมพ์เข้ามาครั้งนี้ ทำให้คำว่า ghost สะกดด้วย gh โดยเหล่านักเรียงพิมพ์ชาว Flemish ซึ่งในสมัย Old English จะสะกดและออกเสียงคำนี้ว่า gast
ต่อมาได้เกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้การออกเสียงภาษาอังกฤษเปลี่ยนไปตลอดกาล นั่นคือ The Great Vowel Shift ปรากฏการณ์นี้ทำให้การออกเสียงสระในภาษาอังกฤษเปลี่ยนไปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 – 18 ในขณะที่การสะกดไม่เปลี่ยนไปตามการออกเสียง ณ เวลานั้น เช่น “boot” ในสมัยก่อนจะออกเสียงคล้ายกับคำว่า ”boat” เนื่องจาก oo เป็นสระเสียงยาว ออกเสียงคล้ายกับสระโอ
ในขณะเดียวกัน ในสมัย Middle English เสียง k และ gh (คล้ายกับเสียง ch ในภาษาเยอรมันหรือดัตช์) เคยออกเสียงมาก่อน แต่ในปัจจุบันไม่ออกเสียง k แล้ว เช่น know knight knife ฯลฯ ในขณะที่เสียง gh ได้กลายเป็นเป็นเสียง f เช่น laughter enough draught (NAmE: draft) ฯลฯ หรือไม่ออกเสียงเลย เช่น light night daughter
นอกจากนี้ในยุคเรเนซองส์ (หรือสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา) มีการนำศัพท์ทางเทคนิคและวิทยาศาสตร์มาใช้ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมากภาษาละตินและกรีก แต่เหล่านักวิชาการเริ่มเปลี่ยนการสะกดของคำที่มีอยู่แล้วให้เป็นไปตามที่มาของคำนั้นๆ เช่น คำว่า isle มาจากคำว่า insula ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแต่เดิมสะกดด้วย ile อย่างไรก็ตาม เหล่านักวิชาการมีความเข้าใจผิดว่าคำว่า island มาจากภาษาละติน “insula” ทั้งๆ ที่คำนี้มาจาก Old English “īegland”
ต่อมา Noah Webster ได้ทำการเปลี่ยนการสะกดภาษาอังกฤษแบบอเมริกันบางคำให้ง่ายขึ้น โดยที่มีคำที่ถูกเปลี่ยนการสะกด เช่น color (BrE: colour) favorite (BrE: favourite) center (BrE: centre)
นอกจากนี้ภาษาอังกฤษมีการยืมคำภาษาต่างๆ เนื่องจากอังกฤษมีการล่าอาณานิคมและติดต่อค้าขาย ณ ดินแดนต่างๆ ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำศัพท์ใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น karma (Sanskrit: karman) bong (Thai: บ้อง) zebra (Italian: zebra) ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการยืมคำจากภาษาที่ใช้อักษรโรมัน เช่น ratio (Latin: ratio) ski (Norse: ski) yacht (Dutch: jacht)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา