16 เม.ย. เวลา 07:31 • ประวัติศาสตร์

ตอนที่ 3 กำเนิดแผนที่โลกในปัจจุบัน

ความเดิมจากตอนที่แล้ว เราถึงช่วงที่ออกเดินทางกันไป จนกระทั่งถึงพื้นที่อเมริกาใต้ ได้มีเรื่องที่ไม่คาดคิดคือ การทรยศหักหลังของบรรดากลุ่มกัปตันเรือชาวสเปน จนทำให้เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน ผู้บัญชาการกองเรือ “อาร์มาดาโมลุกกะ“ จำเป็นต้องสั่งประหารชีวิตกัปตันนายเรือสองคน และมีการปล่อย ฮวน เดอ การ์ตาเกนา ไว้ที่เกาะร้าง
1
ซึ่งก็มั่นใจว่า“ติดเกาะตาย”แน่นอน และเริ่มเข้าสู่เดือนที่ 8 กับการเดินทางของกองเรือ 5 ลำ ”อาร์มาดาโมลุกกะ“ พวกเขามุ่งหน้าเข้าสู่พื้นที่สำคัญของอเมริกาใต้แล้ว จนได้พบกับแม่น้ำที่ในปัจจุบันเรียกว่า “แม่น้ำซานตาครูซ” ก็คือ “แม่น้ำโฮลี่ครอส“ (อยู่ในแอริโซนา) หมายถึง“กางเขนอันศักดิ์สิทธิ์”
แม่น้ำซานตาครูซ ของอเมริกาใต้
ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของอเมริกาใต้ การเดินทางในยุคนั้นประสบกับปัญหามากมาย และในที่สุด ”เรือซาติอาโก้“ เป็นลำแรกที่ต้องจมลงสู่ท้องมหาสมุทร เพราะว่า.. ได้เกิดอับปางตรงบริเวณปากแม่น้ำซานตาครูซ
โดยที่“เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน” ต้องส่งลูกเรือจำนวน 24 คน เพื่อไปช่วยเหลืออีก 35 คน ที่ลอยคอกันอยู่กลางทะเลในเวลานั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เสียเรือเพียงอย่างเดียว แต่เสบียงที่เหลือทั้งหมด ซึ่งเก็บเอาไว้ใน “เรือซาติอาโก้” ได้จมลงสู่ก้นทะเลไปด้วย พอเข้าเดือนที่ 13 ของการล่องเรือในเดือนตุลาคมของปีถัดมาคือ ปี ค.ศ.1521
เรือที่เหลืออีก 4 ลำ ได้ล่องเรือเลียบชายฝั่งตะวันออกของอเมริกาใต้ จนพบกับร่องน้ำเล็กๆ ที่ทำให้เรือทั้ง 4 ลำนี้ พลัดหลงแยกจากกัน.. โดยเรือ“ตรินิแดด” และ เรือ“วิกตอเรีย” สามารถแล่นเป็นปกติได้ในน่านน้ำ ในขณะที่เรืออีก 2 ลำ คือเรือ“กองเซปซิญง” และ เรือ“ซานอันโตนิวโอ” กลับแล่นหายเข้าไปในร่องน้ำเล็กๆ นั้น.. จึงทำให้เรือ“ตรินิแดด” และ เรือ“วิคตอเรีย” ต้องพยายามที่จะออกตามหาเรือทั้ง 2 ลำที่พลัดหลง ซึ่งในที่สุดก็พบกันจนได้ และเดินหน้าสำรวจต่อไปด้วยกัน
ภาพวาดของกองเรือ อาร์มาดาโมลุกกะ
หลังจากนั้น ”มาเจลลัน“ ได้พบกับร่องน้ำเล็กๆ อีกครั้ง.. แต่ในคราวนี้ เขาเลือกที่จะเข้าไปสำรวจร่องน้ำเล็กๆ นั้น แทนที่จะแล่นเรือเลียบชายฝั่ง และมุ่งหน้าลงสู่ใต้สุดของอเมริกาตามแผนเดิม ทำให้เรือทั้ง 3 ลำ ในเวลานั้นคือ ”ตรินิแดด , วิคทอเรีย และกองเซปซิญง“ ต้องแล่นเรือตามกันเข้าไปในร่องน้ำนั้นด้วย
ซึ่งพวกเขากลับพบว่า.. “ซานอันโตนิโอ” เป็นเรือที่มีเสบียงมากที่สุด และมีลูกเรือ 55 คน ไม่แล่นตามเข้าไปด้วย แต่ได้หันหัวเรือกลับออกไป และบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งชัดเจนมากว่า.. ”ต้องการกลับไปยังสเปน“ โดยทิ้งเรืออีก 3 ลำเอาไว้ที่ร่องน้ำเล็กๆ ที่อยู่ปลายทวีปอเมริกาใต้
เรือ”ซานอันโตนิโอ” ที่แยกตัวไปในเวลานั้น อยู่ภายใต้กัปตันเรือชาวโปรตุกีส ที่มีชื่อว่า “อัลบาโร โดเมสกีต้า” เขาเป็นลูกน้องของ “เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน” เขาเองได้พยายามที่จะดึงเรือกลับเข้าสู่กองอีก 3 ลำให้ได้ จึงส่งสัญญาณให้เรือทั้ง 3 ลำ ได้เห็นว่า “ซานอันโตนิโอ” นั้นอยู่ที่ไหน?.. แต่ลูกเรือชาวสเปนของเขาก็คือ “เอสเซ่เบา โกเมซ ”(Esteban Gomez) ได้เข้ายึดอำนาจ และแทงเขาจนบาดเจ็บ
เอสเซ่เบา โกเมซ ”(Esteban Gómez)  Esteban Góme
ก่อนที่จะล่ามโซ่เขาไว้ตลอดการเดินทางกลับสู่สเปน ซานอันโตนิโอ” เรือแตกแถวนี้ ได้กลับไปถึงเมืองเซบีย่า ที่สเปนในเวลาอีก 6 เดือนต่อมา ซึ่งก็คือวันที่ 8 พฤษภาคม ปี ค.ศ.1521 พร้อมผู้รอดชีวิตครบทั้ง 55 คน ไม่ต้องถามว่า…เขารายงานต่อราชสำนักสเปนอย่างไร??.. เพราะชื่อเสียงของ ”มาเจลลัน“ นั้น เสียหายพังยับเยิน ในข้อหา ”หักหลังทรยศต่อราชสำนักสเปน“ และได้พยายามเอากองเรือของเขาเข้าไปสวามิภักดิ์ กับกองเรือของโปรตุเกส
ส่วน “อันโตนิโอ ปิก้าเฟสต้า“ ลูกพี่ลูกน้องของ “มาเจลลัน“ โดนใส่ความโดยกัปตันเรือชาวสเปน ได้ถูกจับและขังคุกเป็นเวลา 1 ปี ส่วนภรรยาของ ”มาเจลลัน“ ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากราชสำนักสเปนอีกต่อไป รวมทั้งถูกจับกุมโดนกักบริเวณพร้อมกับลูกชายของมาเจลลันด้วย
2
เรากลับมาที่ชะตากรรมของเรืออีก 3 ลำคือ “ตรินิแดด ,วิคตอเรีย และกองเซปซิญง ” ซึ่งแล่นอยู่ในร่องน้ำเล็กๆ ที่คดเคี้ยวทางตอนใต้ของทวีปอเมริกา ถ้าเราย้อนดูเวลาช่วงเดือนพฤษภาคมของปี สำหรับซีกโลกที่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตร จะเป็นฤดูหนาวมีสภาพอากาศที่หนาวเหน็บ เพราะจุดที่พวกเขาอยู่นั้นใกล้กับขั้วโลกใต้ เต็มที่แล้วพวกเขาจึงพร้อมใจในการเดินหน้ามุ่งไปตามความคดเคี้ยวของร่องน้ำ ซึ่งเราทราบกันแล้วว่า.. ร่องน้ำนั่นเรียกว่าอะไร?? แต่พวกเขายังไม่รู้ว่าร่องน้ำนั้นคืออะไร??
ช่องแคบแห่งเหล่านักบุญ" (Strait of All Saints)
ในที่สุด.. พวกเขาได้ล่องเรือไปเรื่อยๆ ตามยถากรรมไปสู่ทิศตะวันตก จนผ่านมาถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1520 คือเดือนที่ 14 ของการเดินทาง พวกเขาได้พบกับสิ่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน และไม่มีคนยุโรป คนไหนรู้จักมาก่อนเหมือนกัน ที่ซึ่งพวกเขาสัมผัสได้ถึงกลิ่นไอของกระแสน้ำที่เป็นมหาสมุทร และเป็นมหาสมุทรที่ไม่เคยปรากฏอยู่บนแผนที่ของโลกใบนี้เลย
แผนที่ซึ่งถูกพัฒนาโดยชาวยุโรป และมหาสมุทรนั้น.. ต่อมาถูกตั้งชื่อว่า “มหาสมุทรแปซิฟิก” ร่องน้ำเล็กๆ แคบๆ ที่พวกเข้าเสี่ยงภัยอันตรายเข้ามานั้นคือ.. ช่องแคบที่เชื่อมระหว่าง “มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรแปซิฟิก“ ที่สามารถจะเดินเรือทะลุผ่าน 2 มหาสมุทรได้
สำหรับช่องแคบนี้.. ”มาเจลลัน“ ตั้งชื่อว่า "ช่องแคบแห่งเหล่านักบุญ" (Strait of All Saints) ส่วนสาเหตุที่ตั้งชื่อนี้.. เพราะว่าในวันที่พวกเขาเข้าสู่ช่องแคบตรงกับวันสำคัญทางศาสนาของพวกเขา นั้นคือ ”วันแห่งนักบุญทั้งปวง“ ต่อมาในภายหลัง ”พระเจ้าคาร์ลอสที่ 5 .. แห่งสเปน”ได้ทรงตั้งชื่อช่องแคบแห่งนี้ใหม่
1
เพื่อเป็นเกียรติกับนักสำรวจ ที่นำความยิ่งใหญ่ไปสู่จักรวรรดิสเปน หลังจากการตายของผู้ค้นพบซึ่งก็คือ “เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน” ว่า “ช่องแคบมาเจลลัน” กลายเป็นชื่อที่เป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึง นักเดินเรือที่มีความมุ่งมั่น และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ
เส้นทางการเดินเรือของกองเรืออาร์มาดาโมลุกกะ
กองเรือเหล่านี้เดินทางเรื่อยๆ ไปที่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยที่ไม่มีชาวยุโรปคนใดเคยเดินทางไปก่อน เขาเดินเรือผ่าน“เกาะกวม” เข้าสู่ “เกาะมินดาเนา” ซึ่งปัจจุบันก็คือ.. พื้นที่ของฟิลิปปินส์ และได้มีการทำพิธีมิสซา วันอีสเตอร์ในปี ค.ศ.1521 บนแผ่นดินของ“เกาะมินดาเนา” จากนั้นเข้าสู่“เกาะเซบู” พวกเขาพบกับคนพื้นเมืองที่เกาะเซบู ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติต่อกัน และกันฉันมิตร
กองเรือสำรวจได้โน้มน้าวให้คนพื้นเมืองที่เซบู เข้ามานับถือศาสนาคริสต์ และเข้าพิธีรับศีลจุ่ม ชาวเมืองเซบูนับพันคน พร้อมใจกันรับศีลจุ่มเป็นคริสต์ศาสนิกชน ต่างฝ่ายต่างมอบของมีค่าให้กันและกัน คนยุโรปได้มอบเพชรนิลจินดาของมีค่าจากตะวันตก ในขณะที่ชาวเซบูมอบสินค้าผลผลิตพื้นเมืองตอบแทนให้เป็นจำนวนมากมาย และด้วยความที่การเดินทางนั้น จะหยุดเพียงแค่นี้ไม่ได้ เพราะเป้าหมายของพวกเขาคือ.. “โมลุกกะ” พวกเขาจึงเดินทางต่อไปยังพื้นที่ข้างเคียงกับเกาะเซบู
การทำพิธีมิสซา บนเกาะเซบู
ที่มีชื่อว่า”เกาะมัคตา” และได้พบกับคนพื้นเมืองอีกเผ่าหนึ่งที่มีชื่อว่า “ลาปู-ลาปู” หรือ “คาลิ ปูลาโค” ชาวลาปูลาปูนั้น แตกต่างไปจากชาวเซบูอย่างสิ้นเชิง ปฏิเสธที่จะเข้ารีตรับคริสต์ศาสนา ลูกเรือของ”มาเจลลัน“ จึงตอบโต้ด้วยการเผาที่อยู่อาศัยของพวกลาปูลาปู
ทำให้เกิดการสู้รบกันขึ้น ชาวเซบูในเวลานั้นเลือกที่จะทำตัวเป็นกลาง เพราะทั้ง 2 ฝ่ายก็คือมิตร และแน่นอนด้วยความอ่อนล้า ด้วยความไม่ชำนาญกับภูมิประเทศ และมีจำนวนน้อยกว่ามหาศาล ทำให้นักรบสเปนและโปรตุกีส ที่ถึงแม้ว่าจะสวมเสื้อเกราะหุ้มทั้งตัว
แต่พวกเขามีจำนวนเพียงแค่ 49 คน เมื่อเทียบกับจำนวนนักรบของชน ”เผ่าลาปูลาปู“ ที่มีถึง 1,500 คน ท้ายที่สุด.. นักรบหลายคนถูกสังหาร รวมถึงตัวผู้บัญชาการกองเรือสำรวจ ”เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน“ นักสำรวจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก ก็ถูกสังหารตายด้วยน้ำมือของชนเผ่าพื้นเมืองที่ ”เกาะมัคตา”
ภาพวาดการต่อสู้ที่เกาะมัคตา
ลูกเรือที่เหลือรอด จำเป็นต้องเลือกว่า..ใครจะเป็นผู้นำของพวกเขา ซึ่งในที่สุดพวกเขาก็เลือกน้องเขยของ“มาเจลลัน” ที่มีชื่อว่า ”ดูอาร์เต้บาทบอสซ่า“ (Duarte Barcosa) และเลือก”ฮวน เซอร์ราโน “ (Juan Rodriguez Serrano) กัปตันเรือโปรตุเกสอีกคนหนึ่ง เป็นรองผู้บัญชาการกองเรือ
นักสำรวจที่เหลือต้องล่าถอยไป และพึ่งพิงชาวเซบู ในระหว่างที่พวกเขากำลังใช้ชีวิตอยู่บนเกาะเซบู ก่อนจะเดินเรือออกไปนั้น พวกเขาได้กินอาหารร่วมกัน ชาวเซบูบางส่วนกลับมองว่า พวกเขาไม่ต้องการที่จะต่อสู้กันเอง กับพวกลาปูลาปู จึงต้องเดินหน้าในการลอบสังหารบรรดานักสำรวจที่เหลืออยู่ โดยพวกเขาได้สังหารบรรดานักสำรวจ และนักรบชาวสเปนตายไปอีก 27 คน
ดูอาร์เต้บาทบอสซ่า (Duarte Barcosa)
“ฮวน เซอร์ราโน” (Juan Rodriguez Serrano)รอดตายจากการถูกรอดสังหารแล้ว กลับไปที่เรือและขอให้ลูกเรือสเปนนั้นจ่ายค่าไถ่รักษาชีวิตของเขา แต่ลูกเรือสเปนในเวลานั้นเลือกที่จะปฎิเสธและทิ้งตัวเขาไว้ ซึ่งแน่นอนว่า..ต้องถูกสังหารโดยชาวเกาะเซบู ในเวลาต่อมานั้น.. ยังมีบุคคลผู้หนึ่งที่มีความสำคัญมากๆ ดังที่เคยกล่าวไว้ในช่วงต้นเรื่องคือ
ปัญญาชนจากเวนิสที่ลงเรือไปด้วย ในฐานะของผู้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการเดินทางคือ ”อันโตนิโอ ปิก้าเฟสต้า“ และเป็นผู้ที่รอดชีวิตจากการลอบสังหาร ได้บันทึกเหตุการณ์ต่อไปว่า.. ”ฆวน เซบัสเตียน เอลกาโน“(Juan Sebastian Elcano) เป็นผู้ที่ตัดสินใจทิ้ง ”ฮวน เซอร์ราโน่“ ไว้ที่เกาะ เพื่อที่ตัวเขาเองจะได้เป็นผู้นำของกองเรือคนต่อไป
”อันโตนิโอ ปิก้าเฟสต้า“
และในเวลานั้นมีคนเหลืออยู่ 115 คน พวกเขาคิดกันว่า.. คงไม่สามารถที่จะควบคุมเรืออีก 3 ลำที่เหลือได้ จึงตัดสินใจเผาเรือทิ้งไปลำนึงนั่นก็คือ ”เรือกองเซปซิญง“ และตอนนี้เหลือเพียงแค่ 2 ลำ คือ ”เรือตรินิแดด กับเรือวิกตอเรีย“ พวกเขาได้เดินทางต่อไปเรื่อยๆ และในเวลาอีก 6 เดือนต่อมานั้น.. การเดินทางของพวกเขาก็ได้บรรลุสู่เป้าหมายในฝันกันแล้ว นั่นก็คือ “หมู่เกาะโมลุกกะ” ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1521 คือเดือนที่ 26 ของการเดินทาง
เรือทั้ง 2 ลำคือ “ตรินิแดด และวิกตอเรีย” ได้เดินทางถึงเป้าหมายของพวกเขาคือ “เกาะโมลุกกะ” ซึ่งชาวโมลุกกะเองนั้น ต้องบอกว่า.. มีความคุ้นเคยกับชาวยุโรปมากพอสมควรเลยทีเดียว เพราะมีการค้าขายซึ่งกันและกันมาตลอด ส่วนลูกเรือได้อยู่พักผ่อนบนเกาะ 5 สัปดาห์
ในที่สุด.. พวกเขาได้เครื่องเทศตามที่ต้องการแล้ว และเตรียมออกเดินทางกลับไปยังสเปน ซึ่งก่อนที่จะเดินทางกลับนั้น พวกเขาพบว่า.. น้ำนั้นทะลักเข้าใต้ท้องเรือตรินิแดด จนไม่สามารถที่จะซ่อมแซมได้อีก ดังนั้นจึงเหลือเรือเพียงแค่ 1 ลำ เท่านั้นคือ “วิคตอเรีย”ที่จะกลับสู่สเปนได้
หมู่เกาะโมลุกกะ
ในเวลานั้นลูกเรือทั้งหมดโหวตกันให้ “ฆวน เซบัสเตียน เอลกาโน” (Juan Sebastian Elcano) เป็นผู้นำกองเรือที่ตอนนี้เหลืออยู่เพียงแค่ลำเดียว ในการเดินทางกลับสู่สเปน และมองจาก “โมลุกกะ” ไปยังเบื้องหน้า ก็คือทิศตะวันตกแล้ว.. พวกเขาจะต้องเดินทางเข้าสู่น่านน้ำของโปรตุเกส ตาม “สนธิสัญญาตอร์เดซิยัส“ ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างยิ่ง ทำให้พวกเขาต้องหาวิธีการที่จะผ่านพื้นที่อิทธิพลของโปรตุเกส
และจะต้องข้ามมหาสมุทรอินเดียกลับไปยังสเปนให้ได้ ในช่วงเวลา 9 เดือนที่เป็นขากลับนี้.. พวกเขาต้องเจอกับปัญหามากมายหลากหลาย รวมถึงเสบียงที่ขาดแคลน ทำให้ลูกเรือต้องตายไปเพราะความหิวโหย 20 คน และบางคนถูกทหารโปรตุเกสจับตัวเอาไว้ จนเหลือเพียงแค่ 18 คนเท่านั้น
แต่พวกเขาก็ยังคงรักษาเครื่องเทศที่มีน้ำหนักมากถึง 26 ตัน ที่ได้จากโมลุกกะกลับไปถึงสเปนจนได้ และสามารถนำเรือเข้าเทียบท่าเรือ”ซานลูการ์เดบาร์ราเมดา“ (Sanlucar de Barrameda) ได้เป็นผลสำเร็จ ในวันที่ 06 กันยายน ปี ค.ศ.1522 รวมใช้เวลาในการเดินทางเกือบ 3 ปี
ท่าเรือ”ซานลูการ์เดบาร์ราเมดา“ (Sanlucar de Barrameda)
ก่อนที่ลูกเรือทุกคนจะเดินทางไปยัง“เซบียา”และ“บาทยาโดลิด” เพื่อเข้าเฝ้า “พระเจ้าคาร์ลอส ที่ 5” ผู้เฝ้ารอบความสำเร็จมาตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้ยาวนานถึง 3 ปี กองเรือสำรวจ 5 ลำ ที่มีคนมากถึง 277 คน ตอนนี้เหลือรอดกลับมาเพียง 18 คน และเรือสำรวจ 1 ลำเท่านั้น
ส่วนผู้นำกองเรือนั้นต้องสังเวยชีวิต จากการสังหารของคนท้องถิ่น แต่การเดินทางในครั้งนี้.. ทำให้ชาวยุโรป และชาวโลกได้สัมผัสกับคำว่า.. “โลกกลม” อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด พวกเขาได้เดินทางจนครบ “เส้นรอบวง” (Circumnavigation) ได้ผ่านมหาสมุทรที่สำคัญๆ หลายแห่ง และเป็นมหาสมุทรที่เชื่อมต่อกับทวีปหลักๆ ทำให้ได้รู้ได้เห็นว่า.. ”การเดินทางครบเส้นรอบวง“ นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไรกัน??
สำหรับ”เฟร์นันโด เด มากายาเนส หรือเฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน“ ถึงแม้ว่าตัวเขาจะไม่ได้มีชีวิตอยู่ มองเห็นความสำเร็จของการสำรวจโลกในครั้งนี้ แต่ชื่อของเขานั้น กลับได้รับเกียรตินอกเหนือไปจากการที่เป็นชื่อของ ”ช่องแคบมาเจลลัน“ ซึ่งเป็นช่องแคบเชื่อม 2 มหาสมุทร แอตแลนติก กับแปซิฟิกที่ปลายสุดของทวีปอเมริกาเพียงแค่นั้น.. และชื่อของเขายังได้รับการตั้งเป็นชื่อ “ยานอวกาศขององค์การนาซาในเวลาต่อมาอีกด้วย
ภาพแผนที่การล่าอาณานิคม
ที่สำคัญมากๆ ก็คือ ในการเดินทางของกองเรือ ภายใต้การนำของเขา.. คือการทำให้ผู้คนทั้งหลายบนโลกใบนี้ ได้เรียนรู้ ได้เข้าใจ และยอมรับกับ “สภาพหลักภูมิศาสตร์และแผนที่โลก” ที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาโลกทั้งใบในปัจจุบันอย่างถ่องแท้
ด้วยวิทยาการที่ก้าวกระโดด และความทะเยอทะยานของมนุษย์ที่อยากรู้อยากเห็นอย่างไม่สิ้นสุด ทำให้มนุษยชาติในยุโรปชาติอื่นๆ ต่างเดินหน้าในการสำรวจโลกอย่างไม่หยุดยั้ง ยิ่งเดินหน้า ยิ่งมีความแม่นยำมากขึ้น หลังจากยุคของมหาอำนาจสเปน และโปรตุเกสแล้ว ก็ก้าวเข้าสู่ยุคของมหาอำนาจฝรั่งเศส และบริเตนใหญ่ที่เดินหน้าสำรวจพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นคาบสมุทรอาระเบีย สะฮารา โดยใช้วิทยาการที่พวกเขามีอยู่เพื่อการครอบครอง สั่งสมจนนำไปสู่การครอบครองโลกในเวลาต่อมา
ในปัจจุบันนี้ หากว่าเรามองการแบ่งพื้นที่ต่างๆ ที่ปรากฎอยู่บนแผนที่โลกนั้น จะพบว่า.. ทำไม? การแบ่งพื้นที่ของโลกในยุคหลัง จึงมีลักษณะเป็นเส้นสี่เหลี่ยมแลดูเหมือนเป็นรูปทรงเลขาคณิต และไม่ได้มีรูปทรงหรือรูปร่างเหมือนกับการแบ่งแผนที่ในสมัยโบราณกันเลย.. ถ้าลองดูการแบ่งประเทศของแอฟริกา หรือการแบ่งประเทศในคาบสมุทรอาระเบีย และการแบ่งมลรัฐต่างๆ
การแบ่งประเทศของแอฟริกา การแบ่งประเทศในคาบสมุทรอาระเบีย และการแบ่งมลรัฐต่างๆในอาเมริกา ตามลำดับ
ในสหรัฐอเมริกา จะเป็นลักษณะที่เหมือนกับถูกวางด้วยไม้บรรทัดเอาไว้แล้วจึงตีเส้นกัน สาเหตุที่เป็นดังนั้น.. เพราะว่าโลกในยุคหลังๆ เริ่มมีความรู้ ความเข้าใจ ในสภาพตามหลักภูมิศาสตร์ ทำให้สามารถแบ่งพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างถ่องแท้ ชัดเจน ถูกต้องแม่นยำขึ้น และเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำแผนที่โลกใบนี้.. “ด้วยการใช้เพียงแค่ไม้บรรทัด และวงเวียนเท่านั้น”..
หลังจากที่ได้อ่านเรื่องของการสำรวจโลกทั้งหมดแล้ว ผมเชื่อว่า ” นับแต่วันนี้.. เมื่อพวกเรากางแผนที่โลกออกดู หรือแม้แต่การเหลือบมองดูลูกโลกที่อยู่ตรงหน้า.. ความรู้สึกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป..
เพราะทั้งหมดมันคือ.. ความทะยานอยากรู้ อยากเห็นด้วยตา อยากสัมผัสด้วยมือ บวกด้วยความกล้าหาญ มุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว และความเสียสละ อีกทั้งความโลภของมนุษย์ ทำให้เกิดการสูญเสียของบุคคลจำนวนมากมายในประวัติศาสตร์ แต่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์คุณูปการณ์อันยิ่งใหญ่มหาศาล ต่อมวลมนุษยชาติในอนาคต“
จากวันนั้นสู่วันนี้
ฝากกดถูกใจ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ
Reference ตอนที่ 3 กำเนิดแผนที่โลกในปัจจุบัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา