28 เม.ย. เวลา 00:29 • ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์จากจักรวรรดิเปอร์เซียถึงประเทศอิหร่านในปัจจุบัน

แรกเริ่มเดิมทีในบริเวณที่เป็นประเทศอิหร่านปัจจุบันพบหลักฐานการมีอยู่ของอารยธรรมมนุษย์ไม่น้อยกว่า 10,000 ปีก่อนคริสตกาล ในยุคที่มนุษย์ยังอยู่กันแบบชนเผ่าเล็กๆ เลี้ยงสัตว์และเร่ร่อนในบริเวณที่ราบสูงอิหร่านแห่งนี้
2
ก่อนที่จะเริ่มมีการทำเกษตรและอาศัยอยู่กันเป็นหลักแหล่งมากขึ้นในเขตพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ (Fertile Crescent) ที่ครอบคลุมบริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ เมโสโปเตเมีย และฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
3
ที่มา https://historyonlinenow.weebly.com
จนกระทั่ง 2,800 ปีก่อนคริสตกาล จักรวรรดิเอลาม (Elam) กำเนิดขึ้นทางฝั่งตะวันตกของที่ราบสูงอิหร่านในยุคเดียวกับอาณาจักรบาบิโลน, อัสซีเรียน และอารยธรรมเมโสโปเตเมีย โดยมีชาวเปอร์เซียอพยพจากฝั่งตะวันออกเข้ามาอยู่บริเวณนี้ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิเอลาม
ในช่วง 600 ปีก่อนคริสตกาล จักรวรรดิเอลามเริ่มถดถอยและล่มสลายลง ชาวมีดีส (Medes) ขึ้นมามีอำนาจเกิดเป็นอาณาจักรมีเดีย (Median) ส่วนชาวเปอร์เซียก็ถูกปกครองโดยชาวมีดีสต่อไป
550 ปีก่อนคริสตกาล ผู้นำของชาวเปอร์เซียนามว่าไซรัสที่ 2 (Cyrus II) ได้เข้ายึดครองมีเดีย เกิดเป็นอาณาจักรเปอร์เซีย ปกครองโดยราชวงศ์อะคีเมนิด (Achaemenid) ซึ่งชื่อนี้มาจากบรรพบุรุษของพระเจ้าไซรัสที่ 2 นั่นเอง
ที่มา https://www.tumblr.com/tagged/cyrus%20the%20great
อาณาจักรเปอร์เซียเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาตามลำดับ จนถึงสมัยพระเจ้าดาไรอัสมหาราชที่แผ่ขยายอาณาเขตกว้างใหญ่ตั้งแต่คาบสมุทรบอลข่านในยุโรปตะวันออกไปจนถึงลุ่มแม่น้ำสินธุในประเทศอินเดีย รวมถึงบางส่วนของแอฟริกาและอียิปต์ กลายเป็นจักรวรรดิเปอร์เซียที่เจริญรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น
หลักฐานที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของเปอร์เซียคือ ระบบการปกครองที่มีการแบ่งจักรวรรดิเป็นแคว้นที่เรียกว่าแซแทรป (Satrap) มีการสร้างถนนเชื่อมต่อแคว้นต่างๆ มีพระราชวังและสิ่งปลูกสร้างยิ่งใหญ่ที่ศูนย์กลางอำนาจในนครเพิร์ซโพลิส (Persepolis)
ที่มา https://gohighbrow.com/the-first-persian-empire/
มีมาตรฐานระบบเงินตรา การชั่งตวงวัด มีศิลปะวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองมากมายและมีศาสนา "โซโรอัสเตอร์" (Zoroastrianism) ที่บูชาไฟและนับถือเทพเจ้าองค์เดียวคือ อหุระ มาซดา (Ahura Mazda) เทพเจ้าแห่งความดี ซึ่งมีอิทธิพลต่อศาสนายูดาย คริสต์ และอิสลามในเวลาต่อมา
ที่มา https://www.eavartravel.com/blog/2022/10/24/130563/persian-empire/
ความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิเปอร์เซียมาพร้อมกับการใช้ทรัพยากรเพื่อทำสงครามและปกป้องจักรวรรดิ มีการก่อกบฏกันภายในหลายครั้งและทำสงครามกับนครรัฐกรีก ทำให้เปอร์เซียเริ่มถดถอยและเสื่อมอำนาจลงตั้งแต่ช่วง 450 ปีก่อนคริสตกาล
ก่อนที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) แห่งมาซิโดเนีย (Macedonia) จะเข้ามาบุกและยึดครองไว้ได้ จักรวรรดิเปอร์เซียภายใต้ราชวงศ์อะคีเมนิดจึงล่มสลายลงเมื่อ 330 ปีก่อนคริสตกาล
ที่มา https://www.thecollector.com/alexander-greatest-battles/
ดินแดนเปอร์เซียได้กลับมาปกครองตนเองอีกครั้งหลังการสวรรคตของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช แต่ก็ไม่สามารถทำให้เปอร์เซียกลับมายิ่งใหญ่ได้ดังเดิม และถูกยึดครองโดยอาณาจักรต่างๆเรื่อยมา เช่น ออตโตมัน และมองโกล
1
จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการเข้ามารุกรานและถูกยึดครองโดยชาวอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลามในปี ค.ศ.636 ซึ่งมีอิทธิพลต่อความเชื่อและวิถีชีวิตของชาวเปอร์เซีย นำมาซึ่งการสิ้นสุดของศาสนาโซโรอัสเตอร์ในที่สุด
1
ยุคใหม่ของจักรวรรดิเปอร์เซียเริ่มในช่วงที่ราชวงศ์กอญัร (Qajar) ปกครองในปี ค.ศ.1785 ขณะนั้นมหาอำนาจอย่างรัสเซียเข้ามามีอิทธิพลและทำสงครามระหว่างกันในช่วงปี ค.ศ.1804 - ค.ศ.1828 ผลของสงครามจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของเปอร์เซียและเสียดินแดนบางส่วนให้รัสเซีย
ในช่วงนี้เปอร์เซียมีสภาพที่อ่อนแอและมีปัญหาเศรษฐกิจทำให้อีกหนึ่งมหาอำนาจโลกคืออังกฤษเข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน และเริ่มค้นพบแหล่งน้ำมันดิบในปี ค.ศ.1908 ส่งผลให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมและมีรายได้เข้าประเทศ
ที่มา https://sites.evergreen.edu/ccc/energy-foreign/the-nationalization-of-iranian-oil/
ปี ค.ศ.1925 เกิดรัฐประหารโค่นล้มราชวงศ์กอญัร จากปัญหาความเหลื่อมล้ำและผลประโยชน์ของประเทศที่ตกอยู่ในมือต่างชาติและคนไม่กี่กลุ่ม และก่อตั้งราชวงศ์ปาห์ลาวี (Pahlawi) โดยพระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี ผู้นำรัฐประหารครั้งนี้นั่นเอง
ปี ค.ศ.1934 เปอร์เซียได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นอิหร่านอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นอิหร่านเริ่มพัฒนาประเทศด้วยอุตสาหกรรมหลายด้าน เช่น สิ่งทอ เหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ โครการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้นมากมาย และมีความสัมพันธ์อันดีกับชาติตะวันตก
ปี ค.ศ.1939 สงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น ในขณะนั้นอิหร่านมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเยอรมนีทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ายึดประเทศและกดดันให้พระเจ้าชาห์ เรซา ต้องสละราชบัลลังก์เพื่อให้มุฮัมหมัด เรซา ข่าน ที่เป็นโอรสและขึ้นครองราชย์บัลลังก์แทนภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา
ที่มา https://persepolishistoryofiran.weebly.com/world-war-i--world-war-ii.html
ที่มา https://iranontrip.ir/page/en-617/Pahlavi-dynasty
อิทธิพลของชาติตะวันตกต่ออิหร่านยิ่งมากและซับซ้อนขึ้นเพราะทั้ง 3 มหาอำนาจคือ รัสเซีย อังกฤษ และอเมริกา เข้ามาหาประโยชน์ในประเทศไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ทรัพยากรป่าไม้และการค้า โดยประชาชนในประเทศแทบไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย
กระแสต่อต้านตะวันตกจึงเริ่มก่อตัวมากขึ้นนำมาซึ่งการยึดบริษัทน้ำมันแองโกล-อิหร่านของอังกฤษกลับมาเป็นของรัฐในปี ค.ศ.1951 แต่ก็เกิดการปฏิวัติและกลับมานิยมตะวันตกอีกครั้งโดยการสนับสนุนจากซีไอเอของอเมริกา พร้อมปรับเปลี่ยนการปกครองเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์และทำการ "ปฏิวัติขาว" (White Revolution) พัฒนาประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เช่น การปฎิรูปที่ดิน มีการเลือกตั้ง ให้สตรีมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น พัฒนาระบบการศึกษา
5
https://www.quora.com/
อย่างไรก็ตามกระแสการต่อต้านตะวันตกและราชวงศ์ปาห์ลาวีก็ยังมีอยู่เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังมีชีวิตที่ยากลำบาก การพัฒนาไม่ทั่วถึง ธุรกิจการค้าและผลประโยชน์ตกอยู่กับคนไม่กี่ตระกูลและบุคคลใกล้ชิดราชวงศ์เท่านั้น นำไปสู่การประท้วงของแรงงาน อาจารย์ นักศึกษา กลุ่มหัวก้าวหน้าต่างๆ รวมถึงกลุ่มมุสลิมที่เคร่งครัดและหัวรุนแรงก็เข้ามาก่อการร่วมด้วย
อายะตุลลอฮ์ รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี ผู้นำศาสนาที่ถูกขับไล่ออกจากอิหร่านเนื่องจากเป็นผู้นำประท้วงก่อนหน้านี้ มีส่วนสำคัญในการต่อต้านราชวงศ์ปาห์ลาวีจากภายนอกประเทศ จนเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1979 บ้านพักและกิจการของชาวตะวันตกถูกเผา มีการใช้ทหารเข้าปราบการชุมชุมด้วยความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
2
ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Iranian_Revolution
ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Iranian_Revolution
เหตุประท้วงบานปลายจนไม่สามารถควบคุมได้ ชาติตะวันตกจึงอพยพผู้คนของตนออกจากอิหร่าน รวมถึงพระเจ้าชาห์ มุฮัมหมัด เรซา และครอบครัวที่ต้องอพยพออกนอกประเทศเช่นเดียวกัน
โคมัยนีได้เดินทางกลับอิหร่านท่ามกลางการต้อนรับของประชาชนเป็นจำนวนมาก และเริ่มทำการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ "สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน" รวมถึงทำการยึดสัมปทานน้ำมันและกิจการต่างๆของตะวันตกเป็นของรัฐ ก่อนที่จะถูกคว่ำบาตรทางการค้าจากสหรัฐอเมริกาหลังจากนั้น
ที่มา https://www.rferl.org/a/khomeini-tehran-iran/29739627.html
หลังการปฎิวัติอิสลามในอิหร่าน ทำให้กลุ่มมุสลิมในหลายประเทศแถบตะวันออกกลางที่ถูกชาติตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลและหาประโยชน์เริ่มมีแนวคิดที่จะต่อต้านตะวันตกโดยเฉพาะรัสเซียและสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลายกลุ่มก็ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน
เดือนกันยายน ปี ค.ศ.1980 อิรักที่มีข้อพิพาทเรื่องดินแดนและความแตกต่างของเชื้อชาติกับอิหร่านอยู่ก่อนแล้ว ได้เข้ารุกรานโดยอาศัยช่วงอิหร่านอ่อนแอหลังการปฎิวัติอิสลามที่นายทหารระดับสูงจำนวนมากถูกประหารชีวิตและขาดยุทธปัจจัยที่เคยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา สุดท้ายสงครามจบลงภายในระยะเวลา 8 ปีโดยไม่มีใครชนะหรือสูญเสียดินแดน แต่ต้องสูญเสียทหารและพลเมืองรวมกันกว่าล้านคน
1
ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/สงครามอิรัก–อิหร่าน
หลังสงครามอิรัก-อิหร่าน การพัฒนาภายในประเทศอิหร่านก็แทบหยุดชะงักเพราะต้องฟื้นฟูประเทศจากสงคราม มีน้ำมันเป็นสินค้าส่งออกหลักแต่ก็ต้องมาหยุดชะงักจากการคว่ำบาตรของนานาชาติในเรื่องโครงการนิวเคลียร์และสะสมแร่ยูเรเนียมในปี ค.ศ.2006 ก่อนที่จะมีการทำข้อตกลงลดปริมาณการถือครองแร่ยูเรเนียมกับนานาชาติได้และเริ่มกลับมาค้าขายอีกครั้งในปี ค.ศ.2015
1
โครงการนิวเคลียร์นี้เองคือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลเพราะอิหร่านเชื่อว่าอิสราเอลและอเมริกาพยายามหยุดยั้งและสร้างความเสียหายให้กับโรงงานนิวเคลียร์ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีระบบควบคุมด้วยไวรัสคอมพิวเตอร์ และการก่อวินาศกรรมหลายครั้ง
ที่มา https://www.criticalthreats.org/analysis/the-iranian-nuclear-program-timelines-data-and-estimates-v2-0
แม้อิหร่านจะยืนยันมาตลอดว่าโครงการนิวเคลียร์มีเพื่อสันติเท่านั้น แต่การเสริมสมรรถนะยูเรเนียมให้บริสุทธิ์มากกว่า 60% นั้นละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อปี ค.ศ.2015 ส่งผลให้อเมริกาขอถอนตัวจากข้อตกลงนี้และเริ่มมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้งในปี ค.ศ.2018
สหรัฐอเมริกาและอิสราเอลถือเป็นศัตรูสำคัญของอิหร่านมาตั้งแต่ปฎิวัติอิสลาม และมักเกิดการปะทะกันผ่านสงครามตัวแทนที่อิหร่านให้การสนับสนุน เช่น
1
  • ​กลุ่มญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ (Islamic Jihad Movement in Palestine) ก่อตั้งในปี ค.ศ.1981 มีเครือข่ายในซีเรีย เลบานอน กาซา และเวสต์แบงก์ ต้องการสร้างรัฐปาเลสไตน์และทำลายล้างอิสราเอล
  • ​กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ก่อตั้งในปี ค.ศ.1982 เป็นกลุ่มมุสลิมชีอะฮ์ในเลบานอน จุดประสงค์เริ่มต้นคือขับไล่อิสราเอลออกจากเลบานอน ซึ่งสามารถทำได้สำเร็จในปี ค.ศ. 2000 ก่อนเข้ามามีบทบาททางการเมืองในรัฐสภาเลบานอน และมีกองทัพเป็นของตนเอง
3
ที่มา https://www.wsj.com/world/middle-east/hamas-fighters-trained-in-iran-before-oct-7-attacks-e2a8dbb9
  • ​กลุ่มฮามาส (HAMAS) ก่อตั้งในปี ค.ศ.1987 เพื่อต่อต้านอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา และสร้างรัฐปาเลสไตน์ขึ้นอีกครั้ง โดยฮามาสเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปาเลสไตน์ แต่ไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) เนื่องจากแนวทางการต่อสู้ที่แตกต่างกันคือใช้ความรุนแรงและทุกวิถีทางให้บรรลุเป้าหมาย
  • ​กบฏฮูตี (Houthi) ก่อตั้งในปี ค.ศ.1990 โดยชนกลุ่มน้อยมุสลิมชีอะห์ในเยเมนเพื่อต่อต้านรัฐบาลเยเมนที่ได้รับการสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก่อนที่จะร่วมต่อต้านสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล ปัจจุบันกบฏฮูตีปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเยเมนอยู่
1
  • ​กลุ่มถ้ำสิงห์ (LIONS’ DEN) ก่อตั้งในปี ค.ศ.2022 โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเขตเวสต์แบงก์และกาซา กลุ่มนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใดๆและเน้นต่อสู้กับคนอิสราเอลที่เข้ามายึดครองดินแดน
ที่มา https://www.jpost.com/middle-east/article-724536
ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลยังคงดำเนินต่อไปผ่านสงครามตัวแทนโดยกลุ่มมุสลิมต่างๆที่อยู่รายรอบประเทศอิสราเอล แต่ก็น่าจับตาสถานการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2024 อิหร่านส่งโดรนและยิงขีปนาวุธมากกว่า 300 ลูกไปยังอิสราเอล แต่ถูกยิงสกัดไว้ได้เกือบทั้งหมด
อิหร่านอ้างว่าเครื่องบินรบของอิสราเอล ทิ้งระเบิดใส่สถานกงสุลอิหร่านในประเทศซีเรียเมื่อวันที่ 1 เมษายน ทำให้เจ้าหน้าที่อิหร่านเสียชีวิต 7 นาย โดยเป็นระดับผู้บัญชาการ 2 นาย ก่อนที่อิสราเอลจะโจมตีกลับด้วยโดรนบริเวณใกล้ๆเมืองอิสฟาฮานทางตอนกลางของประเทศอิหร่าน
ที่มา https://www.jpost.com/breaking-news/article-796437#google_vignette
นับว่าเป็นการเปิดหน้าเข้าหากันโดยตรงต่างจากการใช้ตัวแทนเหมือนที่ผ่านมา คงต้องติดตามกันต่อไปว่าอิหร่านและอิสราเอลจะทำสงครามเต็มรูปแบบกันโดยตรงหรือไม่และท่าทีของสหรัฐอเมริกาจะเป็นอย่างไร
โฆษณา