25 เม.ย. เวลา 10:49 • การเมือง

หากไม่มีนาโต (อเมริกา) ยุโรปต้องเตรียมพร้อมรบกับรัสเซีย “โดยลำพัง”

การโฆษณาชวนเชื่อของอเมริกาที่มุ่งเป้าไปที่ “ยุโรป” ผ่านสุนทรพจน์บ้าง ผ่านเนื้อหาบทความต่างๆ บนสื่อฟากตะวันตกบ้าง ใจความประมาณว่า “การต่อสู้กับรัสเซียเพื่อยูเครนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชาติตะวันตก สหรัฐอเมริกาพร้อมกับยุโรปในรูปแบบนาโตจะต้องทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะของเคียฟ เพื่อที่จะหยุดปูติน ไม่เช่นนั้นหลังจากยูเครนเขาจะไปต่อที่ยุโรป”
ทางเพจได้เคยรวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้จากสื่อตะวันตกก่อนหน้าไว้ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากลิงก์ด้านล่างนี้
ความคิดลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในวอชิงตันโดยนักการเมืองและฝ่ายทหาร และเมื่อยุโรปเริ่มกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่มีความเป็นไปได้ในยุทธศาสตร์ของอเมริกา นั่นคือหาก “โดนัลด์ ทรัมป์” กลับเข้ามาในทำเนียบขาวและเขาเคยมีประกาศว่าจะให้อเมริกาออกจากนาโต เมื่อเป็นเช่นนั้นทางยุโรปก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่ไม่แน่นอนนี้ในอนาคต
อย่างไรก็ตามเชื่อว่านโยบายต่างประเทศของอเมริกาไม่น่าจะมีการเปลี่ยนกันง่ายๆ ไม่ว่าคนใดจะเข้ามานั่งเป็นประธานาธิบดีก็ตาม (เพราะมีอำนาจมืดอยู่เบื้องหลัง) อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความที่ทางเพจได้เคยลงไว้ก่อนหน้านี้ตามลิงก์ด้านล่าง
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีกลุ่มนักวิเคราะห์ชาวอเมริกันได้เขียนบทความเผยแพร่เกี่ยวกับการที่จะให้ “ยุโรปเป็นคนออกโรงสู้กับรัสเซียโดยตรง” ขอยกใจความสำคัญบางส่วนในบทความดังกล่าวมาให้อ่านกันดังต่อไปนี้
  • นักการเมืองและนักวิจารณ์จำนวนมากในสหรัฐฯ และยุโรปกำลังพูดซ้ำประเด็นที่ปูตินพูดไว้ โดยเตือนว่าการเข้าไปแทรกแซงในยูเครนจะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สาม ซึ่งในความเป็นจริงการส่งกองทหารของยุโรปเข้าไปช่วยในยูเครนถือเป็นการตอบโต้ตามปกติที่ควรทำได้ต่อความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่… สงครามของรัสเซียได้ทำลายความสมดุลทางอำนาจในภูมิภาค ยุโรปควรต้องสนใจที่แก้ปัญหานี้ (เพราะเขตแดนอยู่ติดกัน) และวิธีดีที่สุดคือการส่งทหารของยุโรปเอง
  • กลุ่มผู้นำยุโรปไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของสหรัฐฯ ที่ดูไม่คงเส้นคงวาเกี่ยวกับวิธีการตอบโต้รัสเซียในยูเครน พวกเขา (ยุโรป) สามารถและควรตัดสินใจด้วยตัวเองว่า วิธีไหนดีที่สุดในการรับรองเสรีภาพและความมั่นคงของทวีปที่ตนเองอยู่ และยังเสริมอีกด้วยว่า กลุ่มผู้นำยุโรปไม่ต้องไปกลัว “ปูติน” เขาแค่บลัฟพวกคุณโดยใช้คำขู่ต่างๆ
1
ประโยคข้างบนนี้เป็นเนื้อหาที่เขียนอยู่ในบทความที่ชื่อเรื่องว่า “Europe—but Not NATO—Should Send Troops to Ukraine” เผยแพร่บน Foreign Affairs เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2024 ผู้เขียนบทความนี้ร่วมกันสามคนไม่ใช่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ แต่อยู่ในแวดวงผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยทำงานในองค์กรวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเชิงกลยุทธ์
ในบทความของ Foreign Affairs ฉบับนี้ยังมีอธิบายวิธีการรับมือต่อกองทัพรัสเซียให้กับทางกองทัพของยุโรปเป็นข้อๆ อีกด้วย ดังต่อไปนี้
  • กองทัพยุโรปควรมีส่วนร่วมในปฏิบัติการทั้งที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการรบ (ให้การสนับสนุนด้านลอจิสติกส์และการฝึกอบรมแก่ทหารยูเครน) เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อกองทัพยูเครน
  • ยุโรปต้องช่วยเสริมสร้างการป้องกันภัยทางอากาศของยูเครนผ่านการจัดกำลังพล การจัดหาอุปกรณ์ หรือแม้แต่เข้าควบคุมและสั่งการด้านระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครนด้วยตัวเอง
  • ปกป้องเขตแดนและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของยูเครน จัดให้มีการลาดตระเวนส่วนต่างๆ ของชายแดนยูเครนซึ่งกองทหารรัสเซียไม่ได้อยู่ประจำการเช่น ชายฝั่งทะเลดำ ชายแดนฝั่งติดกับเบลารุสและทรานส์นิสเตรีย มีการเน้นเป็นพิเศษที่ “โอเดสซา” หากกองทหารรัสเซียเข้าใกล้เมืองนี้ กองทหารยุโรปที่อยู่ใกล้ๆ จะมีสิทธิ์ในการป้องกันตนเองด้วยการเปิดฉากยิงใส่ทหารรัสเซียที่รุกคืบเข้ามาก่อน
1
การที่จะทำให้ยุโรปทำตามข้อแนะนำนี้ แน่นอนว่าอเมริกาต้องการ “สร้างความกลัว” ให้เกิดขึ้น ในบทความนี้ยังมีประโยคมากมายเกี่ยวกับภัยคุกคามของรัสเซียต่อยุโรป เช่น
ไม่มีเหตุผลใดที่จะคาดหวังว่าปูตินจะหยุดอยู่แค่ยูเครน เขาได้กล่าวไปแล้วว่าควรคืนรัฐของอดีตโซเวียตทั้งหมดคืนให้กับรัสเซีย ประเทศแถบบอลติกอาจเป็นเป้าหมายต่อไป ตามมาด้วยฟินแลนด์และโปแลนด์ ซึ่งเป็นอาณาเขตภายใต้จักรวรรดิรัสเซียก่อนสหภาพโซเวียต
“ยูเครนคือยุโรป” ความหวังของรัสเซียในชัยชนะล้วนเกิดจากการที่พวกยุโรปมองว่ายูเครนเป็นดินแดนที่แยกจากส่วนอื่นๆ ของทวีปยุโรป ทัศนคตินี้ทำให้ปูตินฮึกเหิมจนทำให้เกิดสงครามใหญ่ในยูเครนอย่างที่เห็น เนื่องจากเขามั่นใจว่าส่วนที่เหลือของยุโรปจะรักษาระยะห่างไว้ไม่เข้ามาก้าวก่ายมากจนเกินไป – ดังนั้นยุโรปจึงต้องการเอกภาพและมองให้ดีว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป – เมื่อทหารยุโรปเข้ามาในยูเครนแล้วจะสร้างความยากลำบากให้กับรัสเซีย
สิ่งที่ผู้เขียนบทความต้นเรื่องทั้งสามคนกำลังเสนอไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการยั่วยุโดยตรง แต่พวกเขากำลังพยายามทุกวิถีทางที่เป็นไปได้เพื่อโน้มน้าวยุโรปว่าพวกเขาจำเป็นต้องมีส่วนร่วมกับสงครามในยูเครนด้วยตัวเองโดยไม่ต้องหันกลับมาถามสหรัฐอเมริกา บทความต้นเรื่องดังกล่าวอ้างอิงตามลิงก์ด้านล่างนี้
ดูไปดูมาบทความต้นเรื่องจาก Foreign Affairs เหมือนกับว่าอเมริกาต้องการผลักภาระให้ทางยุโรปสู้กับรัสเซียโดยลำพัง ตัวเองขอนั่งเฝ้าดูอยู่ห่างๆ ไม่ให้นาโตเข้ามาแทรกแซง โดยอาศัยวาทกรรมต่างๆ ในการสร้างความหวาดกลัวให้กับทางยุโรปเพื่อลุกขึ้นปกป้องตนเอง อาศัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์เข้ามาหย่อนหน่อย และดูแล้วการใช้ “กองทหารของยุโรป” แทนที่จะเป็นในนาม “กองทหารของนาโต” เรื่องนี้อาจมีนัยยะในการตีความเพื่อหลบเลี่ยงการใช้มาตรา 5 ของนาโตก็เป็นได้
เรียบเรียงโดย Right Style
25th Apr 2024
  • แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: (บน) – Oxford Global Society (ล่าง) - Klawe Rzeczy / Getty Images>
โฆษณา