28 เม.ย. เวลา 03:15 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

The Fall Guy (2024) – บอกให้เธอรู้ ว่าพี่น่ะของจริง

หนึ่งในอาชีพในแวดวงอุตสาหกรรมที่คนส่วนมาก อาจจะไม่ได้ตระหนักหรือไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ หากแต่เป็นส่วนขับเคลื่อนและทรงคุณค่ามาเสมอ นั่นคือ เหล่าตัวแสดงแทน ที่มักจะถูกเรียกมาเพื่อแสดงแทนในส่วนที่อันตรายหรืออยู่เหนือกว่าทักษะที่พึงมีของนักแสดงทั่วไป และในขณะที่หนังยุคใหม่เริ่มถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีซีจี หนังเรื่องนึงห้าวหาญพอที่จะหยิบเรื่องราวของตัวเล็ก โดยเฉพาะสตันท์แมนมาเล่า นั่นคือหนังใหม่ของผู้กำกับฯ เดวิด ลีช อย่าง “The Fall Guy”
“The Fall Guy” ว่าด้วยเรื่องราวของ โคลท์ ซีเวอร์ส อดีตสตันท์แมนที่มีภูมิหลังเจ็บปวด ถูกเรียกให้มาเข้ากองถ่ายหนังไซไฟทุนสูงของ โจดี้ มอเรโน่ ผู้กำกับ ฯ หญิงไฟแรง ที่เผอิญก็เป็นแฟนเก่าของเขา ทุกอย่างตกกระไดพลอยโจน เมื่อนักแสดงนำอย่าง ทอม ไรเดอร์ หายไปไม่มาตามคิว เพื่อที่กองถ่ายหนังเรื่องแรกของโจดี้จะได้ไม่ล่มตั้งแต่ยังไม่ออกฉาย แต่ขณะที่งานตามนักแสดงง่าย ๆ ดันทำให้ โคลท์ ตกอยู่ภายใต้ดงกระสุนและคมดาบ เขาต้องแก้ปัญหาหัวใจ พร้อมไขปริศนาว่า เรื่องราวทั้งหมดนี้มันคืออะไรกันแน่
หนังเปิดมาด้วยเรื่องราวเนื้อหาที่ทำให้เราเห็น การทำงานภายในกองถ่ายหนัง ที่มีโคลท์เป็นเหมือนสตันท์แมนตัวหลักของนักแสดงนำ รวมถึงความหวานหอมของความสัมพันธ์ที่เขามีกับโจดี้ ก่อนที่ตัวเรื่องจะนำมาซึ่งจุดพลิกผันที่ผลักตัวละครอย่าง โคลท์ ไปสู่จุดตกต่ำ
แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ได้โอกาสครั้งใหม่ในการกลับไปเป็นสตันท์แมนอีกครั้ง ตัวหนังมาพร้อมกลิ่นอายการเล่าที่เปี่ยมลูกล้อลูกชน พรั่งพรูด้วยจังหวะดนตรีที่เร่งเร้าโสตทัศน์ รวมถึงเนื้อหาที่จะเอนเอียงไปทางกลิ่นโรแมนติคคอเมดี้ ที่มีฉากแอ็คชั่นอันหลากหลายเป็นส่วนประกอบเนื้อหาเสียมากกว่า
เรื่องราวเนื้อหา ไม่ต่างจากหนังแอ็คชั่นดาษดื่นทั่วไป ที่ตัวละครตัวนึงถูกส่งไปทำภารกิจที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ ๆ เขาคุ้นเคย หากแต่ด้วยทักษะที่เขามี มันอาจจะเป็นประโยชน์ก็ได้ เพียงแต่พอมันเล่าให้ตัวเอกเป็นสตันท์แมน ความชวนหัวแสนยียวนจึงเป็นท่าทีหลักของแนวหนัง ที่สร้างความหฤหรรษ์ได้พอดู แต่กระนั้น เรื่องราวดูจะสลับขับเน้นไประหว่างสองเส้นเรื่อง นั่นคือ ความทุลักทุเลภายในกองถ่าย และการหายตัวไปของ ทอม ไรเดอร์
นั่นจึงทำให้เรา สนใจกับท่าทีหรือจังหวะของหนัง ที่ไม่ได้เล่าด้วยท่าทีสมัยนิยม ที่มักจะส่งตัวละครไปสู่พล็อตโดยทันที หากแต่มีเวลาให้เรา ได้เห็นตัวละครได้หายใจ ได้เห็นถึงพฤติกรรมและอากัปกริยาที่ตัวละครมีผ่านปฏิสัมพันธ์ ซึ่งบางช่วงก็ชวนขำร่วน แต่มันก็ช่วยฉายมิติของตัวละครเหล่านี้ได้อย่างน่าสนใจ ว่าพวกเขาไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่วิ่งเข้ากองไฟ และเมื่อตัวหนังทำหน้าที่เสร็จสิ้น มันก็ส่งเราเข้าสู่ความบันเทิงของสตันท์เสี่ยงตายหลายรูปแบบ พลางแซะและวิพากษ์อุตสาหกรรมบันเทิงปัจจุบันได้อย่างเข้าที
กระนั้นเอง แม้ตัวหนังจะดูเป็นความบันเทิงที่แฟนหนังน่าจะชอบได้ง่าย ๆ ส่วนตัว เรายังไม่ค่อยชอบจังหวะการเล่าของ เดวิด ลีช เท่าไหร่นัก ที่ต้องวางสมดุลระหว่างสองเส้นเรื่อง โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ตัวหนังต้องเล่า ขณะที่ฉากแอ็คชั่นใหญ่บางฉากกำลังดำเนินไป มันกลับมีจังหวะสะดุดตกท้องช้างบ้างบางจังหวะ แต่ก็ต้องยอมรับว่า มันยังคงเป็นความบันเทิงชวนหัวที่ยังไม่ได้เสียรสชาติไป และฉากแอ็คชั่นเหล่านั้น ก็ออกแบบมาได้น่าประทับใจและแปลกใหม่มาก ๆ เลยทีเดียว
พลางระหว่างดู แม้ตัวหนังดูจะอุทิศให้กับหยาดเหงื่อและแรงกายของสตันท์แมน ที่เสี่ยงตายเล่นฉากที่อันตรายหลากหลายรูปแบบ เราค้นพบว่า ตัวหนังดูจะขีดเขียนมาเพื่อพูดถึงคนตัวเล็กในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพียงแต่มีตัวเอกเป็นสตันท์แมนเสียมากกว่า เพราะด้วยเรื่องราวเนื้อหา หรือกระทั่งพวก meta-humor ที่ตระหนักถึงตำแหน่งของตนเองตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง มันจิกกัดความกลับกลอกของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่บางครั้งก็เพิกเฉยความสำคัญของบุคลากรตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ในกองถ่าย ได้แสบสันต์เลยทีเดียว
ความเป็นหนังซ้อนหนัง จึงทำให้ตัวหนังมีพื้นที่เพื่อพูดถึงบุคลากรอันสลักสำคัญในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทั้งในเชิงเชิดชูและเย้ยหยัน นับตั้งแต่ ผู้กำกับฯ ที่ต้องคุมทิศทางและความเป็นไปภายในกอง, นักแสดง ที่เป็นหน้าตาของหนัง, โปรดิวซ์ ที่ต้องควบคุมกองถ่ายอีกที, ตัวแสดงแทน และผู้ประสานงานฝ่ายสตันท์ ที่ต้องออกแบบและจัดการฉากเสี่ยงตายให้ออกมาตามความคาดหวัง
ทุกอย่างถูกนำเสนอมาเชิงเชิดชูคนตัวเล็ก และเย้ยหยันคนตัวใหญ่บางตัว แต่มันก็เผยซึ่งความยากลำบากและแข็งขันของบุคลากรเหล่านี้ ที่บางทีก็แทบฆ่ากันตายตอนอยู่กอง แต่พอจบวัน ก็รวมตัวไปสังสรรค์กอดคอร้องเพลงในร้านคาราโอเกะ
และนอกเหนือจากความอิรุงตุงนังของเนื้อหา หนังก็พูดถึงคุณค่าของภาพยนตร์ได้เรียบง่ายและน่าประทับใจ ผ่านบทบาทของ โจดี้ มอเรโน่ ผู้กำกับ ฯ ที่ก้าวขึ้นมาจับหนังใหญ่ ที่ไม่ได้ถูกใส่มาเพื่อเป็นเพียงเส้นเรื่องโรแมนติกของตัวเอก
แต่มันก็สื่อถึงความเด็ดเดี่ยวของการเป็นผู้กำกับฯ หญิงเด็ดเดี่ยวได้อย่างทะเยอทะยาน แถมความมุ่งมั่นของเธอก็น่าจะสร้างแรงบันดาลใจได้ไม่น้อย ในแง่ที่ว่า แม้หนังที่เธอทำจะดู cheesy มากเพียงใด แต่มันก็อาจจะไปบันดาลใจเด็กตัวเล็กน้อยรายอื่นที่ได้ดูหนัง ได้หลงรักภาพยนตร์แบบที่เธอหรือเราเป็น
ขณะเดียวกัน หนังพูดถึงบทบาทของเทคโนโลยีได้น่าสนใจ เพราะขณะที่ตัวถ่ายทอดมาตั้งแต่ฉากเปิดที่นำ โคลท์ ไปสแกนหน้าเพื่อใช้ปิดบังและ “ทดแทน” ด้วยหน้านักแสดงจริงในภายหลัง เนื้อหาของมัน กลับวิพากษ์ถึงบทบาทของเทคโนโลยีซีจีได้คมคาย ผนวกควบรวมกับความบ้าคลั่งของฉากสตันท์เสี่ยงตาย ที่ไล่ระดับไปตั้งแต่รถคว่ำ, ทะลุกระจกรถ, กระโดดข้ามหน้าผา, ร่วงหล่นจากเฮลิคอปเตอร์ กลับถ่ายทำด้วยสตันท์ของจริงแทบทั้งหมด
ราวกับตัวผู้กำกับ ฯ เดวิด ลีช พยายามจะบอกโดยนัยว่า ซีจีนั้นดีและมีประสิทธิภาพก็จริง แต่มันก็ควรถูกเอามาเพื่อยกระดับฉากสตันท์เหล่านั้น ไม่ใช่เอามาทดแทนกัน แบบที่ โคลท์ ถูกสแกนหน้าไปในฉากเปิด และ “The Fall Guy” เอง ก็เผยให้เห็นเบื้องหลังก่อนที่จะถูกซีจีเหล่านั้นกลบมิด ว่าของแท้ของจริงนั้น มันน่าประทับใจ และควรค่าแก่การยกย่องเหล่าคนตัวเล็กตัวน้อยนี้มากขนาดไหน
สรุปแล้ว “The Fall Guy” คือหนังโรแมนติกคอเมดี้ ที่มาพร้อมเส้นเรื่องอิรุงตุงนังของความยากลำบากในกองถ่าย และเรื่องชวนหัวตกกระไดพลอยโจนของสตันท์แมน แสดงถึงความแข็งขันของคนตัวเล็กในกองถ่าย สอดแทรกมาด้วยมุกตลก meta-humor ชวนยั่วล้อเบื้องหลังวงการภาพยนตร์ได้แสบสันต์ และฉากแอ็คชั่นมากมายหลายรูปแบบ แม้จะมีจังหวะสะดุดบ้าง แต่มันก็ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความบันเทิง และเป็นบทอุทิศเทิดทูนเหล่าสตันท์ตัวเจ็บโดยผู้กำกับ ฯ เดวิด ลีช ที่น่าประทับใจมาก ๆ
4 / 5
The Fall Guy (2024)
Directed by David Leitch
Written by Drew Pearce
Based on "The Fall Guy" by Glen A. Larson

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา