27 ก.ย. เวลา 06:45 • ไลฟ์สไตล์
ประเทศไทย

พาชมงานมหกรรมผ้าไหมไทย “ไหมไทยสู่เส้นทางโลก ครั้งที่ 13”

สวัสดีค่ะ ผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ดิฉันจะมาเล่าถึงประสบการณ์เข้าร่วม “งานมหกรรมผ้าไหม 2567: ไหมไทยสู่เส้นทางโลก ครั้งที่ 13” (The 13th Celebration of Silk: Thai Silk Road to the World 2024) เป็นงานนิทรรศการผ้าไหมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ณ หอประชุมกองทัพเรือ
โดยไฮไลต์สำคัญของงานนี้คือ การเดินแบบของคณะรัฐมนตรี คณะผู้แทนรัฐบาลไทย คณะทูตานุทูตและภริยา และกงสุลใหญ่ประจำประเทศไทย ซึ่งแต่งกายด้วยชุดผ้าไหมไทยที่ออกแบบโดยนิสิตและนักศึกษาสถาบันอาชีวศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศกว่า 100 สถาบัน
งานมหกรรมผ้าไหมในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สมาคมส่งเสริมผ้าไหมและวัฒนธรรมไทย และบริษัทเอกชนต่างๆ เพื่อสืบสานพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงอนุรักษ์และส่งเสริมผ้าไหมและสิ่งทอมาอย่างยาวนาน และทรงเป็นผู้นำเทรนด์ในการสวมใส่ผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยตามนโยบายด้าน Soft Power ของรัฐบาล ในด้านงานออกแบบและด้านแฟชั่นอีกด้วย
งานมหกรรมผ้าไหมในครั้งนี้จัดอยู่ที่บริเวณชั้น 2 ของหอประชุมกองทัพเรือ โดยประกอบด้วยหลากหลายโซนที่น่าสนใจให้ผู้เข้าร่วมงานได้เดินเยี่ยมชม เช่น นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และนิทรรศการชุดผ้าไหมที่ออกแบบโดยนักเรียน นิสิต และนักศึกษาจากงาน The Nex Designer Contest ครั้งที่ 5
นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (รูปจากกระทรวงการต่างประเทศ)
นิทรรศการชุดผ้าไหมจากงาน The Next Designer Contest ครั้งที่ 5 (รูปจากกระทรวงการต่างประเทศ)
และนอกจากนั้นยังมีนิทรรศการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 39 จังหวัด ซึ่งมีการออกร้านผลิตภัณฑ์จากโครงการผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย หรือ CPOT (Cultural Product of Thailand) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนในหลายจังหวัด
โดยในงานมีผลิตภัณฑ์ CPOT ที่น่าสนใจให้เลือกชมมากมาย เช่น “ไหมสมเด็จ” จากชุมชนเครือข่ายทางวัฒนธรรม ตำบลศรีสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ “ผ้าไหมแต้มหมี่ NITDA” จากชุมชนคุณธรรมฯ วัดสามัคคีธรรมบ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น และ “ลำพูนไหมไทย” จากชุมชนเครือข่ายทางวัฒนธรรมตำบลในเมือง จังหวัดลำพูน
ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมจากกลุ่ม “ลำพูนไหมไทย” และกลุ่ม “ไหมสมเด็จ” (รูปจากกระทรวงการต่างประเทศ)
ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมจากกลุ่ม “ผ้าไหมแต้มหมี่ NITDA” (รูปภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
และเมื่อได้เดินผ่านนิทรรศการต่างๆ ด้านนอกแล้ว ผู้เข้าร่วมงานก็จะเดินเข้าสู่ห้องประชุมใหญ่ที่ถูกเนรมิตให้กลายเป็นเวทีเดินแบบ พร้อมที่นั่งสำหรับแขกผู้มีเกียรติและผู้ร่วมงาน ก่อนที่การกิจกรรมไฮไลต์จะเริ่มต้นขึ้น
เมื่อถึงพิธีเปิดงาน นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานในพิธีเปิด ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดงานมหกรรมผ้าไหม และเน้นย้ำถึงความสำคัญของผ้าไหมไทยในฐานะ Soft Power อย่างหนึ่งของประเทศ ในฐานะสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและนานาประเทศ
นอกจากนั้น การจัดงานในครั้งนี้ยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาสถาบันอาชีวศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาที่มีความใฝ่ฝันและมุ่งมั่นที่จะเป็นดีไซเนอร์ ได้แสดงความสามารถในการออกแบบและตัดเย็บชุดผ้าไหมไทย ให้กับคณะรัฐมนตรี ผู้แทนรัฐบาลไทย เอกอัครราชทูตและคู่สมรส และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยอีกด้วย
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเปิดงาน (รูปจากเพจเฟซบุ๊คกระทรวงวัฒนธรรม)
เข้ามาสู่ช่วงที่ดิฉันตั้งตารอ คือ การเดินแบบชุดผ้าไหมนั่นเอง โดยในกระบวนการออกแบบชุดที่ถูกนำมาสวมใส่ในการเดินแบบนั้น ทางสถาบันการศึกษา นิสิต นักศึกษา และทีมงาน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลต่างประเทศในไทย เพื่อให้คณะทูตฯ ได้ร่วมออกแบบชุดที่จะสวมใส่ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้เหล่านิสิต นักศึกษาในการสร้างสรรค์ผลงานด้วย
กิจกรรมการเดินแบบในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงแรกเป็นรอบสำหรับผู้แทนรัฐบาลไทยทั้งหมด 21 คน ช่วงที่ 2 เป็นรอบสำหรับเอกอัครราชทูต 40 ประเทศ ช่วงที่ 3 เป็นตัวแทนสถานเอกอัครราชทูต 33 ประเทศ และช่วงที่ 4 เป็นการเดินแบบของกงสุลกิตติมาศักดิ์และตัวแทนจาก 20 ประเทศ
โดยในแต่ละช่วงจะคั่นด้วยการแสดงเชิงวัฒนธรรมต่างๆ ได้แก่ การแสดงโขน การแสดงรำไทยผสมการเต้นแจ๊ส การแสดงบัลเล่ต์ร่วมสมัย และการแสดงชุด “เส้นใยศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล” ส่วนช่วงสุดท้ายเป็นการเดินแบบฟินาเล่ที่นายแบบนางแบบทุกท่านเดินออกมาหน้าเวทีอีกครั้งพร้อมเพื่อถ่ายรูปร่วมกันนั่นเอง
บรรยากาศการเดินแบบผ้าไหมและการแสดงเชิงวัฒนธรรม (รูปภาพจากเฟซบุ๊คกระทรวงวัฒนธรรม)
สำหรับงานมหกรรมผ้าไหมครั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศก็ได้มีส่วนร่วมเช่นกัน โดยมีนายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และนางสาวปรารถนา ดิษยทัต ผู้อำนวยการกองยุโรปตะวันตก เป็นตัวแทนเข้าร่วมการเดินแบบผ้าไทยในงานครั้งนี้ด้วย
นายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศ (ขวา) และนางสาวปรารถนา ดิษยทัต ผู้อำนวยการกองยุโรปตะวันตก (ซ้าย) เข้าร่วมการเดินแบบในครั้งนี้ด้วย (รูปภาพจากสมาคมส่งเสริมผ้าไหมและวัฒนธรรมไทย)
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ดิฉันประทับใจมากที่สุดในงานครั้งนี้คือ ช่วงหลังการเดินแบบจบลง ดิฉันได้เห็นผู้เข้าร่วมงานกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนภาครัฐ คณะทูตฯ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือคณาจารย์ เริ่มชักชวนกันถ่ายรูปและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแรงบันดาลใจในการออกแบบเครื่องแต่งกาย รวมถึงความประทับใจในงานวันนี้ ซึ่งเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีที่เกิดขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นจาก “ผ้าไหม” ที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และนานาประเทศนั่นเองค่ะ
ภาพบรรยากาศหลังงานเดินแบบ (รูปภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
สามารถชมภาพบรรยากาศภายในงานและกิจกรรมการเดินแบบชุดผ้าไทยได้ที่นี่: https://www.facebook.com/share/v/mPXBTgT6oBeYM3GC/
โฆษณา