8 ก.พ. เวลา 01:05 • ประวัติศาสตร์

คลองปานามา อภิมหาโปรเจ็กต์ที่เชื่อมสองมหาสมุทรเข้าไว้ด้วยกัน

เมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา เราอาจจะพอเห็นข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับข้อพิพาทบางประการเหนือคลองปานามา ที่ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐอเมริกาอย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวอ้างถึงการที่จีนได้พยายามเข้ามาช่วงชิงและสร้างอิทธิพลในคลองปานามาแห่งนี้ และประกาศว่าจะเอาคลองปานามาคืนสู่การครอบครองของสหรัฐฯ อีกครั้งหนึ่ง
แน่นอนว่าด้วยความที่เป็นคลองอันเชื่อมต่อมหาสมุทรทั้งสองคือแอตแลนติกและแปซิฟิกเข้าเอาไว้ด้วยกัน ทำให้มันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอีกแห่งหนึ่ง และประกอบกับการที่จีนเริ่มมีอิทธิพลบ้างในบริเวณภูมิภาคอเมริกากลางผ่านปัจจัยต่าง ๆ ในเรื่องของความสัมพันธ์ทางการทูต รวมไปถึงบริษัทและธุรกิจที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในดินแดนแถบนี้
คลองปานามานับว่าเป็นอีกหนึ่งคลองที่เก่าแก่และสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของคนในอดีตที่พยายามจะเชื่อมต่อ หาทางลัดเพื่อย่นย่อระยะทางการไปมาระหว่างมหาสมุทรทั้งสอง แต่รู้หรือไม่ว่า กว่าที่คลองปานามาจะมามีอิทธิพลต่อโลกมากขนาดนี้ต้องผ่านเหตุการณ์อะไรต่าง ๆ มายาวนานแค่ไหนกัน? All About History วันนี้จะพามาหาคำตอบกัน
⭐ เมื่อการเชื่อมสองมหาสมุทร ถูกวาดฝันมาตั้งแต่สมัยค้นพบอเมริกา
อันที่จริงแล้ว แนวคิดการที่จะเชื่อมต่อสองมหาสมุทรนี้ ไม่ได้เป็นอะไรใหม่เอี่ยมที่เพิ่งถูกคิดขึ้นมาเมื่อที่สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาดำเนินงาน หากแต่เป็นอะไรที่เก่าแก่กว่านั้นนานไปถึงช่วงการค้นพบอเมริกาใหม่ ๆ โดยกองกิสตาดอร์นามวาสโก เด บัลโบอา ผู้เป็นบุคคลแรกที่เดินทางข้ามคอคอดปานามา ซึ่งก็เกิดความคิดว่ามันเป็นคอคอด น่าจะขุดคลองเป็นธารน้ำเชื่อมระหว่างทะเลแคริบเบียนในมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิกได้
ซึ่งก็ได้ปรากฎขึ้นมาเป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษรพูดถึงความคิดที่จะขุดคลองปานามานี้ขึ้นมาในปี 1534 โดยพระเจ้าชาร์ลที่ 5 ผู้ซึ่งเป็นทั้งราชาแห่งสเปนและจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งได้ดำริให้มีการสำรวจ ก่อนที่จะมีการเสนอให้ขุดคลองขึ้นมาโดยเซอร์ โธมัส บราวน์ ของทางฝั่งอังกฤษในศตวรรษที่ 17
ถึงแม้ว่าสเปนจะเป็นฝ่ายค้นพบปานามา แต่การพยายามที่จะขุดคลองปานามาเพื่อการค้านี้กลับได้รับความพยายามจากฝั่งทางสหราชอาณาจักรมากกว่า โดยทางสก็อตแลนด์ก็ได้มีความพยายามในการจัดตั้งอาณานิคมขึ้นมาในบริเวณนี้ ราวแค่ 2 ปีเท่านั้นก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไป
1
ภาพเหมือนของ Vasco de Balboa. public domain
⭐ คลองสุเอซแห่งอเมริกากลาง(?)
โปรเจ็กต์คลองเชื่อมสองมหาสมุทรถูกสำรวจและพยายามหาถึงความเป็นไปได้ในการสร้างเรื่อยมา อย่างในปี 1811 นักสำรวจชาวเยอรมันก็ได้ให้ความเห็นและเสนอพื้นที่ในการขุดคลองมาหลายจุด แต่อย่างไรก็ตาม นักสำรวจคนนั้นไม่ได้มองเห็นถึงความเป็นไปได้ในปานามาเป็นทางเลือกแรก ๆ กลับกันทางเลือกแรก ๆ ของเขากลับมุ่งไปที่นิคารากัวเป็นหลัก
ซึ่งก็มีการคาดหวังที่จะสร้างคลองอยู่ที่นิคารากัวนี้เรื่อยมา โดยเฉพาะในยุคตื่นทองแคลิฟอร์เนีย ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาพยายามที่จะขุดคลองให้ได้ แต่ในสายตาของชาวยุโรป กลับมองต่างออกไป
หลังจากที่ฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการขุดคลองสุเอซ ก็เลยทำให้หัวหน้าโปรเจ็กต์คลองสุเอซอย่าง Ferdinand de Lesseps ได้รับการทาบทามให้มาดำเนินแผนงานขุดคลองมาในอเมริกากลางโดยใช้คอคอดปานามาเป็นที่ตั้งในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งก็ได้สัมปทานจากรัฐบาลโคลัมเบีย และได้มีการเสนอแผนในที่ประชุมนานาชาติและได้รับการโหวตเห็นชอบให้ดำเนินการขุดคลองปานามาขึ้นมา
คลองปานามาได้เริ่มการขุดขึ้นในปี 1881 ด้วยแรงงานกว่า 40,000 คน แต่อย่างไรก็ดี การขุดคลองปานามาก็ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าฝนเขตร้อน แน่นอนว่ามันก็นำมาซึ่งไข้มาลาเรีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้สก็อตแลนด์ทิ้งร้างอาณานิคมแห่งนี้ไป
ด้วยความอันตรายและอัตราการเสียชีวิตที่สูง ทำให้โปรเจ็กต์คลองปานามาของชายผู้สร้างคลองสุเอซต้องสิ้นสุดลง ด้วยจำนวนเงินมหาศาลที่สูญเปล่า ตลอดจนจำนวนผู้เสียชีวิตจากการขุดคลองกว่า 22,000 คน ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องฉาวในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสเลยทีเดียว
⭐ จากมือของฝรั่งเศส สู่มือของอเมริกา
หลังจากความล้มเหลวในการสร้างคลองปานามาของฝรั่งเศส ทำให้โปรเจ็กต์ถูกทิ้งร้างไปหลายปี กระทั่งทางสหรัฐอเมริกา ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีทีโอดอร์ รูสเวลต์ ก็ได้ตัดสินใจที่จะซื้อต่อโปรเจ็กต์คลองปานามามาทำต่อ
อย่างไรก็ดี มันก็มีปัญหามากมายกับทางรัฐบาลโคลัมเบียที่เป็นเจ้าของพื้นที่ปัจจุบัน และนั่นทำให้ทางสหรัฐอเมริกาหันมาใช้แผนสนับสนุนกลับแบ่งแยกดินแดนเพื่อที่จะแยกเอาปานามาออกมาจากโคลัมเบีย แล้วก็หันมาทำสนธิสัญญากับปานามาที่เพิ่งแยกตัวออกมาจนได้สิทธิในการขุดคลองปานามามาครอง
สหรัฐฯได้เริ่มดำเนินการขุดคลองปานามาต่อในปี 1904 โดยได้ตั้งเหล่าผู้ควบคุมการก่อสร้างทางรถไฟในอเมริกา ให้มาดูแลการขุดคลองปานามานี้ ซึ่งตัวของหัวหน้าวิศวกรอย่างจอห์น สตีเฟน ก็ได้ดำเนินการพยายามที่จะสร้างสภาพแวดล้อมของไซต์ก่อสร้างให้น่าอยู่ขึ้นมาเพื่อรองรับอนามัยของเหล่าคนงานที่จะเข้ามาทำงานในที่แห่งนี้ แถมมีการตั้งเจ้าหน้าที่สำหรับดูแลตรวจสอบอนามัยภายในพื้นที่โดยเฉพาะเพื่อรับมือกับไข้เหลืองและไข้มาลาเรียที่จะเกิดขึ้น
ซึ่งด้วยความพยายามเหล่านี้ ทำให้การดำเนินการขุดคลองปานามาของสหรัฐอเมริกามียอดผู้เสียชีวิตเพียง 5,000 กว่าคนจากเดิมที่ฝรั่งเศสทำยอดเอาไว้เป็นหลักหมื่นคน
⭐ ความเกรียงไกรของวิศวกรรมศตวรรษที่ 20
ถ้าใครเคยได้มีโอกาสดูคลิปเกี่ยวกับการเดินทางของคลองปานามา เราจะเห็นได้ถึงความน่าทึ่งของวิศวกรรมยุคนั้น โดยพวกเขาใช้ระบบที่เรียกกันว่า “ล็อก” คือเมื่อเรือเข้ามาในคลองจะมีการล็อคเป็นชั้น ๆ เพื่อสูบหรือระบายเพื่อเพิ่มระดับน้ำ คล้ายกับว่าเป็นลิฟต์สำหรับเรือนี่เอง
ซึ่งเป็นรูปแบบแปลนก่อสร้างที่ทางฝรั่งเศสออกแบบไว้ ก่อนที่สหรัฐฯจะมาทำต่อให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ภายใต้การนำของหัวหน้าวิศวกรคนใหม่อย่างพันตรีเกอธัล ทำให้คลองปานามาถูกสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 1914 หรือ 400 กว่าปีหลังการค้นพบคอคอดปานามาของ วาสโก เด บัลโบอา
ภาพจำลองระบบล็อกของคลองปานามา จาก https://www.controlglobal.com/measure/flow/article/11304085/controlling-the-panama-canal
⭐ “คลองปานามา” ของปานามาหรือของใคร?
แน่นอนว่าในเมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นคนขุด ทำให้คลองปานามาเป็นทรัพย์สินของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอย่างไรก็ดี หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สถานการณ์คลองปานามาระหว่างสหรัฐอเมริกากับปานามาก็เริ่มร้าวฉาน เพราะถึงอย่างไรมันก็อยู่ในพื้นที่ของประเทศปานามาด้วยถึงแม้ว่าสหรัฐฯจะเป็นผู้ขุดก็ตาม
และนั่นก็นำมาซึ่งการประท้วง จนเกิดสนธิสัญญา Torrijos-Carter ขึ้นมาเพื่อให้ทั้งสองประเทศเป็นเจ้าของคลองปานามาร่วมกัน จนกระทั่งปี 1999 คลองปานามาก็ปลายเป็นของปานามาอย่างเต็มตัว และเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศด้วย
แต่… ด้วยความที่เป็นของสหรัฐอเมริกามาก่อน ก็นำมาซึ่งการเคลมของทรัมป์ว่าควรที่จะเอาคลองปานามาคืนมา ในเดือนธันวาคม 2024 รวมถึงมีการอ้างถึงว่าคลองปานามาในตอนนี้กำลังถูกจีนเข้ามาควบคุมด้วย โดยในเดือนมกราคมปี 2025 ทรัมป์ก็ได้ประกาศกร้าวว่าจะต้องเอาคลองปานามาคืนมาให้ได้เพื่อธำรงไว้ซึ่ง “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ของสหรัฐฯนี่เอง
สถานการณ์คลองปานามายังคงเป็นที่น่าจับตามอง ในอนาคตจะเป็นอย่างไรก็คงจะต้องรอติดตามสถานการณ์กันต่อไป…
ผู้เขียน: ณัฐรุจา งาตา
ภาพประกอบ: บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#คลองปานามา #ประวัติศาสตร์ #สหรัฐอเมริกา #ปานามา #โดนัลด์ทรัมป์ #ทรัมป์ #bnomics #BBL #BangkokBank #ธนาคารกรุงเทพ
โฆษณา