Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Persōna
•
ติดตาม
21 ก.พ. เวลา 19:20 • ประวัติศาสตร์
“ยิตซัค ราบิน” อดีตผู้นำอิสราเอลที่เลือกหันหลังให้สงครามแล้วสร้างสันติภาพกับปาเลสไตน์
โลกยังคงจดจำอดีตนายกรัฐมนตรี “ยิตซัค ราบิน” ในฐานะผู้นำที่มีความกล้าหาญต่อการผลักดันสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ภายใต้ข้อตกลงออสโล แม้ว่าสุดท้ายแล้วกระบวนเจรจาจะไม่สามารถทำให้เกิดสันติภาพถาวรได้สำเร็จ
2
ชีวิตวัยเยาว์ของ ยิตซัค ราบิน (Yitzhak Rabin) เติบโตมาในครอบครัวที่มีแนวคิดแบบไซออนนิสต์ พ่อของเขาเป็นชาวยิวจากยูเครน ส่วนแม่เป็นชาวยิวจากลัตเวีย เขาและครอบครัวต้องระหกระเหิน โยกย้ายถิ่นฐานไปในหลายประเทศ เนื่องจากสถานการณ์การเมือง ในช่วงเวลาหนึ่งได้ย้ายไปอาศัยในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ก่อนจะกลับมาที่ปาเลสไตน์ ในปี 1948 ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และเป็นห้วงเวลาเดียวกับที่อิสราเอลประกาศก่อตั้งรัฐ
Yitzhak Rabin, น้องสาว Rachel Rabin-Yahaat และพ่อ
เกือบทั้งชีวิตของ ยิตซัค ราบิน อยู่ท่ามความขัดแย้งและสงคราม เขาเข้าร่วมกลุ่ม ฮากูมาห์ (Haganah) กองกำลังติดอาวุธใต้ดินของชาวยิวในปาเลสไตน์ ขณะมีอายุเพียง 18 ปี ต่อด้วยเป็นสมาชิกหน่วยรบพิเศษ ปัลมาช (Palmach) ก่อนเติบโตขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำทางทหารคนสำคัญของอิสราเอล ตำแหน่งสุดท้ายคือเสนาธิการกองทัพ (IDF Chief of Staff) สร้างชัยชนะที่ยิ่งใหญ่แก่อิสราเอลในสงครามหกวัน เมื่อปี 1967 หลังจากนั้นได้เข้าสู่การเมืองและขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อปี 1974
ยิตซัค ราบิน ขณะดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองทัพ ตรวจเยี่ยมกำลังพล ณ ศูนย์ประจำการ ในทะเลทรายเนเกฟ, วันที่ 30 พฤษภาคม 1967 ก่อนสงครามในตะวันออกกลาง
อะไรทำให้ “ยิตซัค ราบิน” เปลี่ยนจากจุดยืนทางทหาร กลับกลายมาเป็นผู้นำที่มุ่งหาสันติภาพ
สถานการณ์การเมืองโลกและแรงกดดันจากนานาชาติ ล้วนเป็นปัจจัยที่ประกอบกันให้เกิดกระบวนสันติภาพ อีกทั้งการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ส่งผลให้หลายประเทศอาหรับสูญเสียพันธมิตรที่แข็งแกร่งและหันมาปรับความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกมากขึ้น และอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ การลุกขึ้นต่อต้านอิสราเอลของชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสแบงค์และฉนวนกาซา หรือ “อินติฟาดา” (Intifada) ครั้งแรก ในเดือนธันวาคม 1987
2
การลุกฮือของพลเรือนชาวปาเลสต์ครั้งนั้น ส่งผลให้ ยิตซัค ราบิน และนักการเมืองสายกลางในอิสราเอล ตระหนักว่านั่นไม่ใช่แค่การก่อจลาจลระยะสั้น แต่ขยายวงกลายเป็นขบวนการอิสลามหัวรุนแรงและกินเวลายืดเยื้ออีกหลายปีต่อมา เป็นข้อพิสูจน์ที่ทำให้เขาเห็นว่าไม่มีหนทางสู่ความมั่นคงที่แท้จริงสำหรับอิสราเอลหากปราศจากสันติภาพ
การเจรจาอย่างลับๆ เริ่มต้นขึ้นในเดือนมกราคม ปี 1993 ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ขณะนั้นราบินอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง กระทั่งนำไปสู่ พิธีจับมือครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างผู้นำอิสราเอล “ยิตซัค ราบิน” และ “ยัสเซอร์ อาราฟัต” ผู้นำองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ในช่วงบ่ายของวันที่ 13 กันยายน 1993 ณ บริเวณด้านหน้าทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยมีประธานาธิบดีบิล คลินตัน เป็นสักขีพยาน
ยิตซัค ราบิน นายกรัฐมนตรีอิสราเอล และ ยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ในพิธีจับมือครั้งประวัติศาสตร์ หลังบรรจุข้อตกลงออสโล,วันที่ 13 กันยายน 1993 ณ ทำเนียบขาว
พิธีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงออสโล สาระสำคัญคือ อิสราเอลยอมรับ PLO เป็นตัวแทนที่ถูกต้องของชาวปาเลสไตน์และมีอำนาจปกครองตนเองชั่วคราวในบางส่วนของเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา ขณะที่ PLO ยอมรับสิทธิของอิสราเอลในการดำรงอยู่ เป็นครั้งแรกที่ต่างฝ่ายยอมรับการมีอยู่ของกันและกันอย่างเป็นทางการ ต่อมาหนึ่งปีหลังจากนั้นราบินได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับ ชิมอน เปเรส อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอล(Shimon Peres) และ ยัสเซอร์ อาราฟัต จากความพยายามในการเจรจาดังกล่าว
แต่ท่ามกลางเสียงปรบมือและความหวังจากทั่วโลก อีกด้านหนึ่งก็เกิดกระแสต่อต้านจากทั้งชาวปาเลสไตน์และอิสราเอลที่ไม่เห็นด้วย จากวีรบุรุษในสงคราม ยิตซัค ราบิน ถูกมองว่าเป็นผู้ทรยศในสายตาของชาวยิวฝ่ายขวาจัด เขาเคยแสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับกลุ่มหัวรุนแรงทั้งสองฝ่าย หนึ่งในคำกล่าวที่สำคัญของเขาเกี่ยวกับภัยคุกคามจากกลุ่มเหล่านี้คือ
"Extremists on both sides will do everything they can to torpedo peace." - พวกสุดโต่งทั้งสองฝ่ายจะทำทุกอย่างที่พวกเขาทำได้เพื่อทำลายสันติภาพ. -
คืนวันที่ 4 พฤศจิกายน 1995 ณ จัตุรัสราชาแห่งอิสราเอล ใจกลางกรุงเทลอาวีฟ ขณะเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อสันติภาพ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อแสดงพลังสนับสนุนข้อตกลงออสโลและกระบวนการสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ “ยิตซัค ราบิน” ถูกลอบสังหาร โดย “ยิกาล อาเมียร์” สมาชิกกลุ่มชาวยิวขวาจัด
ในที่เกิดเหตุใกล้ตัวเขามีกระดาษเขียนเนื้อเพลง “Shir LaShalom” หรือเพลงแห่งสันติภาพ ที่ “ยิตซัค ราบิน” ร่วมร้องกับผู้สนับสนุนนับหมื่นคนในค่ำคืนนั้น และเขานำติดตัวลงจากเวทีไปด้วย กระดาษเนื้อเพลงแห่งสันติภาพแผ่นนั้นยังคงเปื้อนเลือดของเขา
อนุสรณ์รำลึก Rabin Memorial ในจัตุรัสราบิน เมืองเทลอาวีฟ, สร้างขึ้นบนพื้นที่ๆ มีการลอบสังหาร เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 1995 ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อจากจัตุรัสราชาแห่งอิสราเอล เป็นจตุรัสราบินในปัจจุบัน
เหตุลอบสังหารครั้งนั้นไม่เพียงแต่พรากชีวิตของอดีตผู้นำรายนี้เท่านั้น แต่ยังได้พรากเอาความหวังของกระบวนการสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์พังทลายลงไปด้วย.
ประวัติศาสตร์
การเมือง
1 บันทึก
20
1
12
1
20
1
12
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย