15 มี.ค. เวลา 07:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

🎬รูปแบบของซีรีส์

เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสเสวนากับรุ่นน้องท่านหนึ่งครับ จนเกิดคำถามขึ้นว่า “Story BOWL ที่เราออกแบบใช้ออกแบบซีรีส์ได้หรือเปล่า”
ด้วยความมั่นหน้าในตอนนั้นก็ตอบเลยว่า “ได้ครับ” เพราะเราเคยใช้ BOWL แกะซีรีส์มาหลายเรื่องแล้วก็เลยมั่นหน้าตอบไป เพราะเอาจริง ๆ แล้ว หลัก ๆ เราก็ใช้มันในการแกะของที่ทำมาแล้ว แต่ยังไม่เคยเขียนซีรีส์ลงในชามเราอย่างจริงจังซักที
พอถึงตรงนี้ ความมั่นเลยลดลงไปแล้วกลับมาย้อนคิดว่า “ซีรีส์ที่มี ๆ อยู่ตอนนี้มันมีรูปร่างหน้าตาแบบไหนกันบ้างนะ” เพื่อที่จะรู้ว่าเราจะประยุกต์ชามโครงสร้างเรื่องของเราเป็นแบบไหนเพื่อให้มันช่วยคิดซีรีส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดครับ
เท่าที่เราลองไล่เรียงมา ก็เห็นซีรีส์หลากหลายรูปแบบถือกำเนิดขึ้นในโลก เดี๋ยวเราลองมาคุยกันถึงบางรูปแบบเด่น ๆ แบบที่เราเคยเห็นมาแล้วกันนะครับ ย้ำว่าที่เราเคยเห็นมานะครับ และเป็นการคิดเกือบ ๆ จะวิเคราะห์ของเราเอง ยังไม่ใช่เป็นองค์ความรู้แบบไปไล่รีเสิร์ชมาแล้วเยอะ ๆ ดังนั้นหากมีอะไรผิดพลาดไป เรียกอะไรผิดถูกก็ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี่ เพื่อน ๆ เองก็สามารถพิมพ์คอมเมนต์แลกเปลี่ยนกันได้นะครับ
อะ มาว่ากันที่เรื่องรูปร่างหน้าตาของซีรีส์กันต่อ เราจัดกลุ่มที่เคยเจอมาตามรูปแบบเหล่านี้ครับ
1. ซีรีส์แบบดำเนินเรื่องไปยาว ๆ ตัวเอกตัวเดียว จะมีกี่ตอนหรือกี่ซีซัน เรื่องก็จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จนจบครบเหมือนกับเราดูหนังนั่นแหละ แต่จะมีการขยายซับพลอตของตัวละครแวดล้อม มีการแวะไป ๆ มา ๆ บ้าง แต่หลัก ๆ เราก็จะเกาะกับตัวหลักของเรื่องไปตั้งแต่ต้นจนจบ
การเล่าเรื่องในรูปแบบนี้เราเห็นกันเยอะเหมือนกันนะ อย่าง Breaking Bad หรือ Dexter นี่เรื่องโปรดของเราเลย แต่การแบ่งแต่ละซีซันก็จะมีเป้าหมายหลักในแต่ละซีซัน ซึ่งเราก็ได้เห็นพัฒนาการของตัวละครไปเรื่อย ๆ และจบลงที่บทสรุปของเขาเป็นหลัก ทำให้เราได้แก่นเรื่องเดียวใจความเดียว (แต่อาจจะมีข้อคิดได้เยอะ ๆ)
2. ซีรีส์แบบดำเนินเรื่องยาว ๆ เหมือนกัน แต่คราวนี้จะมีตัวเอกหลายตัว มีกลุ่มหลายกลุ่ม ซึ่งทั้งหมดยังเล่าบนไทม์ไลน์หลักอันเดียวกัน เมื่อเราดูไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวเรื่องทั้งหมดจะมาบรรจบกันในตอนท้าย และแม้จะมีตัวละครหลักหลายกลุ่ม หลายคน หลายเส้นเรื่อง
แต่ละเส้นเรื่องเหล่านี้ก็ยังสะท้อน Theme หลักเดียวกัน โดยโฟกัสไปที่ Topic ของ Theme เช่น “ความโลภนำพาไปสู่ความพินาศ” คือ Theme หลัก งั้นหัวข้อหรือ Topic ก็คือ “ความโลภ” ไม่ว่าแต่ละเส้นเรื่อง แต่ละกลุ่มตัวละครจะแสดงมุมมองต่อคำว่าความโลภยังไง เมื่อเส้นเรื่องทั้งหมดมาบรรจบกันในส่วน Climax เราก็มาดูกันว่า มันจะพาไปสู่ความพินาศย่อยยับแบบไหน คล้ายกับซีรีส์ Game of thrones
หรือของไทยอย่าง Hormones วัยว้าวุ่นนั่นเอง ข้อดีของรูปแบบนี้คือคนดูจะแบ่งทีมกันได้สนุกเลย เพราะทุกตัวละครถือสถานะตัวเอก ทำให้เราเข้าใจเขา และจะอินมากหากเจอตัวละครที่เหมือนกับเรา
3. ซีรีส์แบบมาเป็นตอน ๆ จบในซีซันแต่ไม่จบในตอน งงมั้ยครับ คือทั้งเรื่องเป็นคอนเซปต์เดียวกัน อาจจะใช้ตัวนักแสดงชุดเดียวกัน แต่แต่ละซีซันเป็นคนละเรื่อง คนละตัวละครกัน อะไรแบบนี้ ส่วนดีคือเราแยกดูเป็นซีซัน ๆ ได้ ถูกจริตซีซันไหนก็ดูซีซันนั้น วิธีการวางโครงสร้างของซีรีส์รูปแบบนี้คือจะคิดแบบหนังแต่ขยายเรื่องรองให้มีความยาวมากขึ้น มีรายละเอียดมากขึ้น ตัวอย่างเช่น An American Horror Stories ซึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการคงคอนเซปต์ภาพรวมของแต่ละซีรีส์เอาไว้ให้ได้ ไม่ใช่กระจัดกระจายหาภาพใหญ่ไม่ได้เลย
4. ซีรีส์แบบตัวเอกคนเดียวหรือกลุ่มเดียว มีเนื้อหาเป็นตอน ๆ จบใน 1-2 ตอน แต่ใช้ตัวละครชุดเดิมตลอดในการดำเนินเรื่อง เหมือนซีรีส์สมัยก่อน ดูง่าย ๆ แต่มักจะวางให้มีจุดเปลี่ยนสำคัญไว้บ้าง หลักการคือสร้างกลุ่มตัวละครเจ๋ง ๆ และเมื่อเรื่องดำเนินไปแล้วเจออะไรมา
ทำอะไรสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่มีความเปลี่ยนแปลง หากฉายไปแล้ว คนดูรับรู้แล้ว มันก็จะถูกยัดเข้า Bible ของคนสร้าง แล้วตัวละครก็จะพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ สิ่งที่ผู้สร้างต้องเตรียมไว้คือองก์สาม เมื่อไหร่ที่ซีรีส์หมดความนิยมก็สามารถปรับเข้าสู่ Climax และสรุปเรื่องได้ทันที ข้อดีสำหรับคนดูเลยคือดูตอนไหนก่อนก็ได้ ส่วนข้อดีสำหรับคนทำก็มีผู้ติดตามใหม่ได้เรื่อย ๆ ตัวละครจะพัฒนาไปตามเหตุการณ์ที่ได้เจอ
ผู้สร้างเลยมักจะทำให้มีตอนหลักที่ทำให้เกิด Major Change ที่เปลี่ยนกระแสทิศทางของเรื่องราวได้ เรื่องแบบนี้พบในซีรีส์สมัยก่อนทั่วไปเลย ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีอยู่ เพียงแต่เพิ่มเติมพัฒนาการของตัวละครมากกว่าสมัยก่อน ซีรีส์แบบหมอเฮาส์ก็จะอยู่ในกลุ่มนี้ครับ
5. ซีรีส์แบบจบในตอน แต่ละตอนไม่เกี่ยวกัน เป็นเรื่องสั้น ๆ ดูตอนไหนก่อนก็ได้ อันนี้ก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องความผูกพันกับตัวละครในฐานะซีรีส์ยาว แต่สนุกกับการติดตามว่าตอนต่อไปผู้สร้างจะนำเสนออะไร ความยากคือไม่มีอะไรเชื่อมโยงกันเลยทำให้เรตติ้งนับกันเป็นตอน ๆ
ตอนไหนทำตัวไม่น่าสนใจก็ไม่ดูก็ได้ แล้วก็จะไม่มีความผูกพัน ซึ่งผู้สร้างหลายรายก็แก้เกมได้โดยการให้มีตัวหลักมาเปิดหัว ปิดท้าย นำเรื่องไป อย่างน้อยให้มีอะไรที่เป็นภาพจำรวม ๆ ก่อนก็ยังดี เหมือนกับใน Tales From The Crypt ซึ่งในยุคปัจจุบันมันก็ได้รับความนิยมประมาณนึง เพราะหลายคนรู้สึกว่าไม่เป็นภาระในการรับชม สามารถเลือกตอนที่ตัวเองสนใจได้เลย
ทั้งหมอนี้เป็นผลจากที่เราลองดูผ่านตามาด้วยตัวเอง ใครมีแบบอื่น ๆ ก็แชร์กันมาได้นะ ส่วนตัวแล้วเราชอบแบบที่ 2 มากที่สุด เพื่อน ๆ ชอบแบบไหนกัน ลองคอมเมนต์กันมาหน่อยเน้อ...
มันก็จะประมาณนี้ละครับ✨
โฆษณา