Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Story BOWL
•
ติดตาม
6 เม.ย. เวลา 07:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
3 สิ่งที่ควรคำนึงในการสร้างซีเควนซ์และซีน🎬✔️
เวลาเขียนซีเควนซ์ เขียนซีน ช่วงแรกยังไม่สนุกไม่เป็นไร เอาเป้าหมายของเรื่องให้ได้ก่อน ร่างถัด ๆ ไปเราจะดีไซน์ให้มันสนุกขึ้น
หลายคนเขียนไม่จบ เขียนไม่ได้ เขียนไม่ออก คิดว่าตัวเองตีบตันทางความคิดจนบางทีก็ด้อยค่าตัวเองกันไปเลย สาเหตุอาจจะเกิดได้หลากหลาย แต่ที่เป็นกันเยอะที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ... เราต้องการให้มันสนุกที่สุด ดีที่สุด เพอร์เฟกต์ที่สุด ตั้งแต่ตอนที่เริ่มเขียนมันครั้งแรก และก็คิดไปว่าไอ้ที่อยู่ในหัวเราตอนนี้มันยังไม่ดีพอ ซึ่งมันก็ไม่ดีจริง ๆ นั่นแหละ
แต่เพราะไม่ใช่เราไม่เก่งนะ ไม่ต้องนอยด์ไป
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาตลอดชีวิตการเขียนและการได้พบปะคนเก่ง ๆ เราก็แทบไม่เจอใครที่เขียนร่างแรกแล้วเพอร์เฟกต์เลยนะ ทุกคนเริ่มต้นจากอะไรบางอย่างที่ห่วย เริ่มจากอะไรบางอย่างที่แย่ หรืออะไรบางอย่างที่ธรรมดามาก ๆ ไม่ได้แปลกใหม่ แต่ระหว่างทางนั้น เขาค่อย ๆ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และทำให้มันดีขึ้นเรื่อย ๆ เท่าที่เดธไลน์จะอำนวย และนั่นเป็นความลับที่คนเก่ง ๆ มักจะไม่ได้บอกเรา
ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่ามันจะแย่ในร่างแรก ไม่ต้องกลัวว่ามันจะจืด มันจะไม่สนุก เรายังไม่ต้องโฟกัสกับเรื่องนั้น แต่อยากให้เราไปโฟกัสกับเรื่องของ “เป้าหมายของเรื่องในแต่ละส่วนดีกว่า” จากที่เราเขียนโครงเรื่องออกมา แต่ละส่วนมันมีเป้าหมายของมัน เวลาเราเอามาขยายเป็นเหตุการณ์หรือเป็นสถานการณ์ เรามักจะบอกให้ทุกคนคำนึงอยู่สามอย่าง
อย่างแรกเลยก็คือ ช่วงเวลานี้ เหตุการณ์นี้ หรือสถานการณ์นี้เล่าอะไร
มันคือการดีไซน์ตัวเหตุการณ์แบบ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร เป็นเหตุการณ์ที่เป็นรูปธรรมมาก ๆ เล่าได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
อย่างที่สองคือ ไอ้เหตุการณ์ที่ว่าเนี่ย มันบอกอะไร
มันให้ข้อมูลอะไรกับเรา ส่วนนี้แหละที่สำคัญมาก ๆ และต้องโฟกัสก่อนอย่างอื่นเลย เพราะมันคือหัวใจของการเล่าเหตุการณ์นั้น ดังนั้นเห็นให้ชัดก่อนออกแบบเหตุการณ์ ถ้ายังคิดไม่ออกก็เขียนเหตุการณ์ง่าย ๆ ที่บอกข้อมูลนี้ได้ชัด ๆ ไปก่อน
อย่างที่สามคือ เหตุการณ์นี้หรือสถานการณ์นี้จะทำให้คนอ่านรู้สึกอย่างไร
เมื่อก่อนตอนวัยรุ่นเราเคยได้ดูหนังเรื่อง Three Kings เป็นเรื่องเกี่ยวกับทหารอเมริกันสามคนที่จะย่องไปปล้นสมบัติของซัดดัม ในหนังเรื่องนี้มีฉากยิงกันตอนต้น ๆ เรื่อง ที่เขาอยากให้เราสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดของการยิงกัน ในหนังเลยใส่ภาพที่ให้เราได้เห็นว่า เวลากระสุนฝังเข้าไปในเนื้อคนแล้ว มันทำให้เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง มันทำให้เรารู้สึกกลัวการยิงกันได้เลย ไม่ใช่เป็นฉากยิงกันแบบเน้นเอามันส์สะใจเท่านั้น
++++++++++++++++++++++++++++++++
เอาละ เรามาลองสร้างฉากกันหน่อยดีกว่า ในร่างแรกถ้ายังคิดไม่ออกเราจะเขียนสิ่งนี้แบบง่าย ๆ ลงไปก่อนเลย อย่างเช่น ถ้าเราตั้งใจจะให้ข้อมูลว่า “สมถวิลเป็นคนดี” แต่เรายังคิดไม่ออก ก็ใส่ง่าย ๆ กันไปก่อน เอาแบบที่ทุกคนรู้ว่าเป็นคนดีแน่ ๆ เช่น
สมถวิลกำลังเดินทางไปทำงาน ระหว่างทางเขาเจอกับคนแก่ที่ยืนเก้ ๆ กัง ๆ อยู่ข้างถนน เมื่อเห็นแล้วจึงไม่รอช้าที่จะเดินเข้าไปช่วยเธอ
นี่คือรูปแบบที่ง่ายที่สุดของการบอกว่า “เขาเป็นคนดี” ได้อันนี้แล้วเราก็ไปต่อ เขียนฉากอื่น ๆ เหตุการณ์อื่น ๆ ต่อไปก่อน หากมีไอเดียอะไรเราก็ค่อยกลับมาแก้ไขเหตุการณ์นี้ภายหลัง
หากถามว่าทำไมถึงต้องทำแบบนี้ คิดให้เจ๋ง ๆ ไปเลยตั้งแต่ทีแรกไม่ดีกว่าเหรอ
ประเด็นก็คือเรายังคิดไม่ออกไง ถ้าพยายามเค้นสิ่งนี้ให้ออกมาเราอาจจะเสียเวลานั่งจ้องหน้าจอเปล่า ๆ ไปสองสามวันเลยก็มี แบบนี้จะไปต่อก็ไม่ได้ เพราะตรงนี้ยังไม่เสร็จ ดังนั้นเราจึงควรรีบทำให้เสร็จ ให้เห็นรูปร่างคร่าว ๆ ก่อน พอเขียนไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวไอเดียฉากนั้นก็ผุดมาที่หลัง
แต่สมมุติว่าเขียนหมดแล้ว และจะต้องกลับมาดีไซน์ซีนนั้นแต่ยังไม่มีไอเดียอยู่ดี จะทำยังไง
อะ เราลองมาหาวิธีกัน เรามักจะใช้วิธีนี้ก่อน นั่นก็คือ… ดูบริบทแวดล้อมตัวละครของเรา
หากเรื่องของเราว่าด้วยเรื่องหน้าที่การงาน ลองดูว่าเขาทำงานอะไร หากเป็นเรื่องที่ว่าด้วยเรื่องครอบครัว เขาเป็นใครในครอบครัว สถานะเป็นอย่างไร แล้วคำว่า “คนดี” ที่ว่านี่คืออย่างไรนะ ชอบช่วยเหลือคนอื่นใช่มั้ย หากใช่ ในที่ทำงานเขาช่วยเหลือใครได้บ้าง ที่บ้านเขาช่วยเหลือใครได้บ้าง เอาอย่างนี้ก่อน
เริ่มมองเห็นหนทางมากขึ้นแล้วใช่มั้ยล่ะ
สมมุติว่า สมถวิลทำงานออฟฟิศ ที่ทำงานเขาจะเจอใครบ้างนะ เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า แม่บ้าน รปภ. ลองเลือกมาเล่น ๆ จะให้เขาช่วยอะไรใครดี ช่วยเพื่อนทำงานที่คั่งค้าง อันนี้ดูไม่ดี เดี๋ยวความเป็นคนดีของเขาจะเปลี่ยนไป กลายเป็นเขาเป็นลูกไล่ของเพื่อนในออฟฟิศ หรือช่วยแม่บ้านถูพื้น อันนี้ก็ดูจะเกินเบอร์ไปหน่อย ช่วย รปภ. ดีมั้ยนะ...
สมถวิลเดินทางมาที่ทำงาน พอมาถึงที่ทำงานแล้วเขาได้พบกับสมหมาย รปภ. เก่าแก่ของที่นี่กำลังพยายามยกตู้เย็นอยู่ เขารีบเดินเข้าไปช่วยโดยที่รปภ. ไม่ต้องร้องขอ
อะ ดูมีอะไรขึ้นมากกว่าช่วยคนแก่ข้ามถนน
จากนั้นครับ เราลองมาดูว่าการช่วยครั้งนี้เรามีข้อมูลอะไรจะบอกอีกมั้ยนะ สมมุติว่าเราอยากจะเพิ่มข้อมูลเข้าไปบอกว่าเจ้านายของเขาโหดมาก ซึ่งเดี๋ยวคุณสมบัตินี้จะใช้ภายหลัง งั้นเราถือโอกาสปูเรื่องนี้ไว้ตรงนี้เลยแล้วกัน
สมถวิลเดินทางมาที่ทำงาน พอมาถึงที่ทำงานแล้วเขาได้พบกับสมหมาย รปภ. เก่าแก่ของที่นี่กำลังพยายามยกตู้เย็นอยู่ เขารีบเดินเข้าไปช่วยโดยที่รปภ. ไม่ต้องร้องขอ เขายกอีกด้านของตู้เย็นอย่างทุลักทุเลพร้อมกับถามสมหมายว่าตู้เย็นอันนี้ต้องเอาไปที่ไหน สมหมายบอกว่าห้องหัวหน้าชั้น 8 แต่ลิฟต์ดันมาเสียเลยต้องขึ้นบันได นี่ต้องรีบเอาขึ้นไปก่อนที่ลูกค้าที่หัวหน้านัดไว้จะมา แกสั่งไว้แบบนี้ ถ้าเอาขึ้นไปไม่ทันมีสิทธิ์โดนไล่ออกแน่เลย สมถวิลพยักหน้าอย่างเข้าใจ แล้วค่อย ๆ ยกตู้เย็นขึ้นบันไดหนีไฟไป
แค่นี้พอมั้ย แต่เราว่ายังไม่สนุก มันดูง่ายไป งั้นลองเพิ่มความตื่นเต้นเข้าไปหน่อยดีกว่า
พอเขายกขึ้นไปถึงชั้น 6 รปภ. เองก็เริ่มจะไม่ไหวแล้ว จู่ ๆ เขาก็เซและเกือบทำตู้เย็นทั้งหลังหลุดมือ สมถวิลรีบไปประคองอีกด้าน ใช้ตัวดันกับกำแพงไว้ แต่มันก็ทำให้เขาขยับไม่ได้ สมหมายยืนหอบอยู่ ไม่รู้จะช่วยยังไง
นี่คือการเพิ่มความยุ่งยากให้พวกเขานิดนึง ดูเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาอีกหน่อยแล้วเนอะ แต่พอมาแบบนี้แล้วก็ต้องทำให้จบทั้งก้อนเหตุการณ์นี้
สมถวิลดันไว้แทบจะหมดแรง ตู้เย็นกำลังจะล้ม สมหมายรับวิ่งมารับอีกด้าน เอาตัวดันไว้กับฝั่งราวบันได แล้วทั้งคู่ก็ค่อย ๆ เคลื่อนตัวไปด้วยท่านี้
เราผ่านจุดยุ่งยากมาได้แล้ว จะจบเลยก็ได้ หรือจะหาจุดลงให้มันอีกนิดนึง
ทั้งคู่วางตู้เย็นลงในห้องของหัวหน้า สมหมายดูนาฬิกา พบว่าอีกสองนาทีหัวหน้าจะต้องประชุมกับลูกค้าแล้ว เขารีบเสียบปลั๊กด้วยความรวดเร็ว แต่ผ่านสองนาทีไปแล้วก็ยังไม่มีวี่แววของหัวหน้า สมหมายกับสมถวิลจึงเดินลงมา ปรากฏว่าหัวหน้ากำลังคุยกับลูกค้าคนสำคัญที่ห้องประชุมด้านล่าง เนื่องจากลิฟต์เสีย เขาจึงไม่อยากให้ลูกค้าต้องเดินขึ้นบันได สมหมายรู้สึกเซ็งว่าทำไปทำไมเนี่ย น่าจะรอให้ซ่อมลิฟต์เสร็จก่อน สมถวิลเห็นทุกอย่างคลี่คลายแล้วจึงขอตัวไปทำงาน
เมื่อเขียนจบแล้ว เราก็อ่านทวนอีกครั้งว่าสิ่งที่เขียนนี้มันตรงกับเป้าที่อยากให้คนดูหรือคนอ่านรู้สึกแล้วหรือยัง บางทีเวลาคิดไม่ออกจริง ๆ ก็เอาเรื่องความรู้สึก เอาเรื่องอารมณ์เป็นตัวตั้ง มันก็อาจจะทำให้เราออกแบบเหตุการณ์นั้นได้เหมือนกันนะ ในตัวอย่างของสมถวิล เราอยากบอกข้อมูลด้วยการใช้เหตุการณ์มาเล่าโดยให้คนดูรู้สึกลุ้นเล็ก ๆ และตบท้ายด้วยอารมณ์ฮา ๆ มันจึงออกมาอย่างที่ได้อ่านกันไป
นี่ล่ะครับ เวลาเราดีไซน์ เราจะค่อย ๆ ไปแบบนี้ล่ะ ค่อย ๆ เติม แต่ถ้านั่งดูแล้วพบว่าสมหมายมาแค่ฉากนี้ฉากเดียวเลยอาจจะไม่โอเค เราอาจจะดีไซน์ให้สมหมายไปมีบทบาทในเรื่องราวส่วนอื่น ๆ ด้วยก็ได้นะ หรือเอาจริง ๆ เขาถูกเขียนขึ้นมาเพื่อฉากนี้ฉากเดียว เราอาจจะลองเปลี่ยนเป็นคนอื่นที่มีบทบาทมากกว่านี้ก็ได้นะครับ
มันก็จะประมาณนี้แหละครับ ลองคิดลองทำกันดูนะครับ...💘
ภาพยนตร์
นิยาย
นักเขียน
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย