8 เม.ย. เวลา 16:03 • การเมือง

“สงครามการค้าของทรัมป์” กับ “สงครามจริงของปูติน”

ฝ่ายบริหารของทรัมป์ใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์ในการยอมรับว่าเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้รัสเซียได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งทรัมป์ประกาศไปเมื่อ 2 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งโดนไปกว่า 90 ประเทศ ก็คือความตั้งใจของทำเนียบขาวที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงลบต่อการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครน
1
เมื่อ จอร์จ สเตฟานอปูลอส จากสื่อ ABC ถามไปเมื่อ 6 เมษายนว่าเหตุใดรัสเซียจึงไม่เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเจอกับกำแพงภาษีนำเข้า เควิน แฮสเซตต์ ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจทำเนียบขาวตอบกลับนักข่าวคนนั้นไปว่า “เห็นได้ชัดว่าเรายังอยู่ในช่วงการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครน และผมคิดว่าประธานาธิบดี (ทรัมป์) ตัดสินใจที่จะไม่ทำให้ทั้งสองประเด็นนี้สับสน... พวกเขากำลังอยู่ในช่วงระหว่างทางของการเจรจา ไม่ใช่หรือ จอร์จ” [1]
3
เครดิตภาพ: ABC News
อย่างไรก็ตามมีสิ่งที่สเตฟานอปูลอสไม่ได้ถามและแฮสเซตต์ก็ไม่ได้ตอบก็คือ ถ้าสหรัฐพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อ “การเจรจากับรัสเซียและยูเครน” จริงๆ แล้วเหตุใดรัสเซียจึงรอดพ้นจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในขณะที่ยูเครนกลับโดนเรียกเก็บภาษีศุลกากร 10% สังเกตว่าคำแก้ต่างของแฮสเซตต์นั้นแตกต่างจากคำอธิบายที่ให้ไว้โดย “สก็อตต์ เบสเซนต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และคาโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว
ทันทีหลังจากที่มีการประกาศมาตรการภาษีศุลกากรอย่างเป็นทางการไป เบสเซนต์กล่าวกับฟ็อกซ์นิวส์เมื่อ 2 เมษายนว่า รัสเซียได้รับการยกเว้น เพราะว่าการคว่ำบาตรที่บังคับใช้กับพวกเขาหลังจากการบุกเข้ายูเครนเต็มรูปแบบ ส่งผลให้การค้าระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย มันหยุดชะงักลงอย่างมีนัยสำคัญอยู่แล้ว (ไม่จำเป็นต้องกดภาษีเพิ่ม) เช่นเดียวกับที่สื่อ NYT ได้รายงานไว้ [2][3]
1
เครดิตภาพ: Fox News
ขณะที่ “ลีวิตต์” โฆษกทำเนียบขาวบอกกับ Axios ว่า รัสเซียไม่ได้ถูกรวมอยู่ในรายชื่อเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรปัจจุบันของสหรัฐฯ “ขัดขวางการค้าอย่างจังกับรัสเซีย” อยู่แล้ว [4]
อย่างไรก็ตามจากคำแถลงอธิบายของทั้งเบสเซนต์กับลีวิตต์ดูขัดแย้งกับความเป็นจริงอยู่บ้าง ระดับการค้าที่ต่ำไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกทรัมป์เล่นงานด้วยสงครามภาษีเหมือนกับประเทศอื่นๆ
1
ยกตัวอย่าง สหรัฐฯ ส่งออกสินค้าและบริการมูลค่า 526 ล้านดอลลาร์ไปยังรัสเซียในปี 2024 ในขณะที่นำเข้าจากรัสเซีย 3,007 ล้านดอลลาร์ เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการค้าระหว่างแองโกลากับสหรัฐฯ (มูลค่าสินค้านำเข้า 2,600 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว) ต่ำกว่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียเสียอีก แต่ประเทศในแอฟริกาแห่งนี้ยังต้องเสียภาษีนำเข้า 32% อยู่ดี [5]
4
เครดิตภาพ: breakingnews.ie
ความหวังของ “การเดินเกมกลับด้านกับคิสซิงเจอร์” (Reverse Kissinger) ยังคงเป็น “ภาพลวงตา” เนื่องจากนักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่ารัสเซียและจีนจะยังคงเป็นหุ้นส่วนแบบ ‘แนบแน่นไร้ขีดจำกัด’ ต่อไป ไม่ว่าทรัมป์จะประจบปูตินแค่ไหน ตามที่ เดวิด อิกเนเชียสแห่ง WaPo เขียนไว้ [6]
1
ประการหนึ่ง เคิร์ต เอ็ม. แคมป์เบลล์ อดีตรองเลขาธิการกระทรวงการต่างประเทศและปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มเอเชีย มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างสีและปูติน “เป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวที่แน่นแฟ้น ผ่านการพบปะกันหลายสิบครั้งและหารือกันนับพันชั่วโมง” อิกเนเชียสเขียนเมื่อ 3 เมษายน
สะท้อนถึงความเห็นเดียวกันกับอิกเนเชียส Michael McFaul จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ Evan Medeiros จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาว์น ได้เขียนบทความไว้ใน Foreign Affairs ว่าความหวังที่จะเกิด “Reverse Kissinger” อีกครั้งเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย [7]
ไม่มีการแบ่งแยกใดๆ ที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้ได้ “สิ่งที่ทำให้ปูตินและ สี จิ้นผิง เป็นน้ำหนึ่งเดียวกันมีน้ำหนักมากกว่าสิ่งที่ทำให้พวกเขาแตกแยกกัน” และ “ปูตินรู้ดีว่าทรัมป์ไม่สามารถเสนออะไรให้เขาได้มากเท่ากับที่ สี จิ้นผิง ทำได้” นอกจากนี้ “ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียเหมือนคู่ขนานกัน ยากที่จะบรรจบกันได้”
2
เครดิตภาพ: Reuters
กลยุทธ์ทางการทูตที่เรียกว่า “Reverse Kissinger” ซึ่งอ้างอิงจากนโยบายของ “เฮนรี คิสซิงเจอร์” ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติภายใต้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ซึ่งในขณะนั้นสหรัฐฯ พยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน เพื่อทำให้สหภาพโซเวียตโดดเดี่ยวในเวทีระหว่างประเทศ แต่กลยุทธ์ Reverse Kissinger ของทรัมป์พยายามทำตรงกันข้าม โดยมุ่งโดดเดี่ยวจีนแทนที่จะเป็นรัสเซีย ด้วยการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียสั่นคลอน [8]
การที่ทรัมป์ประกาศเรื่องขึ้นภาษีนำเข้า "แบบหว่านแห" ไปทั่ว ด้วยเหตุผลหนึ่งคือต้องการเล่นงานจีน ไม่ว่าจะย้ายฐานการผลิตไปที่ไหนก็จะโดนเรื่องภาษีนำเข้าเวลาส่งออกมายังสหรัฐอยู่ดี เห็นได้จากแถบอาเซียนบ้านเราโดนกันเป็นแถบ
และทรัมป์คิดว่าทำแบบนี้แล้ว เพื่อต้องการให้โรงงานอเมริกันย้ายฐานกลับมาที่บ้าน แต่จริงแล้วมันก็เป็นไปได้ยากอยู่ดี เพราะในอเมริกาเองมันมีเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่สูงอยู่ ต้นทุนมันก็ยังสูงอยู่ดี และอีกอย่างใช่ว่าผู้ผลิตจะย้ายโรงงานมาได้ภายในวันสองวันที่ไหน ดีไม่ดีย้ายมาเสร็จสมบูรณ์ ทรัมป์หมดวาระแล้วเปลี่ยนคน มันมีความไม่แน่นอนอยู่
อีกประเด็นหนึ่งคือ "น้ำมันรัสเซีย" เซอร์เกย์ วาคูเลนโก ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานของรัสเซีย โต้แย้งว่าหากทรัมป์ใช้มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซียเพื่อพยายามกดดันรัสเซียให้เจรจาสันติภาพกับยูเครน นั่นจะส่งผลให้เกิด “ผลลัพธ์ที่ทั้งสองฝ่ายเสียเปรียบ” วาคูเลนโกมองเห็นปัญหาหลายประการในการใช้มาตรการสำรองดังกล่าว [9]
  • ประการที่หนึ่ง: ภาษีศุลกากรไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการไกล่เกลี่ยเพื่อผลักดันฝ่ายที่ไม่เต็มใจให้เข้าร่วมโต๊ะเจรจา
  • ประการที่สอง: ความเกี่ยวเนื่องกันของการดำเนินการตามมาตรการนี้จะส่งผลในทางลึกมากกว่าแค่ฝ่ายเดียว หากต้องการให้รัสเซียทำบางอย่าง มันจะไม่มุ่งเป้าไปที่รัสเซียหรือบริษัทที่ซื้อสินค้าจากรัสเซียเท่านั้น แต่จะมุ่งเป้าไปที่เพื่อนร่วมชาติของผู้ซื้อที่ส่งออกสินค้าไปยังอเมริกาด้วย
วาคูเลนโกกล่าว “ส่วนที่เลวร้ายที่สุดคือ แม้ว่าภาษีศุลกากรจะทำให้ผู้ซื้อหวาดกลัว แต่ยังไม่ชัดเจนว่าโลกจะสามารถจัดการรับมือได้จริงหรือไม่หากไม่มีการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย” เขาเตือน
เครดิตภาพ: Carnegie Endowment
ปูตินไม่ต้องการข้อตกลงสันติภาพใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องดินแดนที่ยึดยูเครนไว้ได้ นอกจากนี้เป็นการตอกย้ำความไม่สนใจของปูตินในข้อตกลงสันติภาพที่กำลังคุยกันอยู่ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “ปูตินได้ดำเนินการขยายขนาดกองทัพของรัสเซีย โดยประกาศเกณฑ์ทหารเพิ่ม 160,000 นายในช่วงฤดูใบไม้ผลิ... ตั้งแต่เมษายนถึงกรกฎาคม ซึ่งเป็นจำนวนทหารเกณฑ์สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2011” ตามที่บทบรรณาธิการของ WaPo แสดงความเห็น [10]
1
ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีรายงานว่า ทรัมป์เริ่มหมดความอดทนกับปูติน เริ่มตระหนักได้ว่าสหรัฐฯ ควรอยู่ฝ่ายยูเครนในกรณีที่รัสเซียไม่สนใจข้อตกลงสันติภาพ “ช้ายังดีกว่าไม่ทำเลย” ตามที่บทบรรณาธิการของ WaPo กล่าว
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญจาก ECFR และ Brookings ระบุว่า ทีมของทรัมป์ไม่สนใจที่จะเข้าข้างฝั่งยูเครนอย่างเหนียวแน่น แม้ว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่จะต้องการให้เป็นเช่นนั้นก็ตาม ในความเป็นจริง “ทรัมป์ไม่ได้ต้องการทำให้โลกปลอดภัยด้วยประชาธิปไตย ปกป้องอธิปไตยของยูเครน หรือแสวงหาสมดุลใหม่ในการจัดการด้านความมั่นคงของยุโรป แต่พวกเขาต้องการแสวงหาบรรยากาศแห่งสันติภาพและดีลใหม่กับรัสเซีย” ตามคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญจาก ECFR [11][12]
เครดิตภาพ: OLGA MALTSEVA/AFP/Getty Images
เรียบเรียงโดย Right Style
8th Apr 2025
  • อ้างอิง:
<ภาพปก: หน้าปกหนังสือ Trade War โดย Aryeh Ksah>
โฆษณา