11 เม.ย. เวลา 05:18 • ปรัชญา

สายใยแห่งการดำรงอยู่: บทเรียนจากศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธสู่การปล่อยวาง

บทเรียนสำคัญในชีวิตนี้ของผมอย่างหนึ่งคือ การตระหนักว่าความปรารถนาของเราสวนทางกับสัญชาตญาณ ยกตัวอย่างเช่น ปรารถนาที่จะลดความอ้วน แต่ก็รู้สึกหิวและอยากจะรับประทานน้ำตาล ไขมัน และอาหารเค็มมากขึ้น หรือ อยากจะเลิกคิดเรื่องบางเรื่อง แต่ก็ยิ่งคิดถึงเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น หรือไม่อยากแข่งขันกับใคร แต่ก็เฝ้ามองและมีความรู้สึกอิจฉาเกิดขึ้น
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างทั่วไปที่เราพบเห็นกัน เช่นเดียวกันผมก็พบเจอกับความขัดแย้งนี้อยู่เสมอ ทั้งเฉย ๆ ไปจนถึงทุกข์ (ในบางความขัดแย้ง) ด้วยเหตุนี่ผมจึงอยากจะเขียนอะไรเพื่อปลอบใจทั้งตนเองและหวังว่ามันจะช่วยเหลือผู้อ่านทุกท่านให้เข้าใจธรรมชาติของตัวเราและโลกใบนี้มากขึ้น เพื่อให้ทุกท่าน (รวมไปถึงผม) สามารถปล่อยวางบางความคิดได้
สิ่งแรกที่เราทุกคนจะต้องตระหนักถึงคือ ชีวิตมิได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยวและแยกขาดจากกัน หากแต่เรียงร้อยกันเป็นสายใยขนาดใหญ่ที่ผูกพันทุกสรรพสิ่งไว้ด้วยกัน ในคำสอนของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ เราจะพบว่ามีรากฐานสำคัญเดียวกัน นั่นคือการมองโลกและตัวตนด้วยทัศนะที่เชื่อมโยงอย่างลึกซึ้ง ซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้ที่จะปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ได้
ในคัมภีร์ภควัทคีตา (Bhagavad Gita) ของศาสนาฮินดู พระกฤษณะได้กล่าวถึงการมองเห็นตัวตนในสรรพสิ่งและสรรพสิ่งในตัวตน เพื่อให้ตระหนักว่าไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่มีอยู่โดยปราศจากสายใยแห่งความสัมพันธ์ การเข้าใจนี้ไม่ได้แค่สอนให้เราเข้าใจเกี่ยวกับการรับรู้โลกภายนอก แต่ยังเป็นการเรียนรู้ที่จะวางมือจากการยึดมั่นถือมั่น
เราคิดว่าเราเป็นคนสำคัญ มีความแตกต่าง หรือแม้แต่บางคนอาจจะคิดว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่น แต่มันไม่ถูกต้อง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความสัมพันธ์กัน ทุกสิ่งเชื่อมโยงกัน อธิบายง่าย ๆ คือ ในขณะที่เรามองว่าตัวเราเป็นศูนย์กลางของโลกและแยกตัวจากคนอื่น ในความเป็นจริงแล้ว เราต่างก็พึ่งพาอาศัยกันอยู่ตลอดเวลา
ตั้งแต่การที่เราจะมีอาหารกิน ต้องมาจากเกษตรกร ผู้ขนส่ง ผู้จำหน่าย การจะสวมเสื้อผ้าต้องมีผู้ปลูกฝ้าย ผู้ปั่นและทอผ้า ผู้ตัดเย็บ เครื่องมือเครื่องจักร วัตถุดิบ หรือแม้แต่อากาศที่เราหายใจ ผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบตัวล้วนมีส่วนช่วยเกื้อหนุนให้เราดำรงอยู่ได้
เมื่อเราเข้าใจว่าทุกสิ่งเชื่อมโยงกันเช่นนี้ ความคิดที่ว่า “ฉันสูงกว่า” หรือ “ฉันโดดเด่นกว่า” จึงไม่อาจตั้งอยู่ได้อย่างแท้จริง เราอาจมีศักยภาพหรือความแตกต่างเฉพาะตัว แต่ก็ยังคงอิงอาศัยโครงข่ายอันกว้างใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเราทุกขณะ การใส่ใจและเคารพชีวิตผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมรอบตัวจึงไม่ใช่แค่หลักคุณธรรม แต่เป็นวิถีของการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างแท้จริง ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจและความเมตตาในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อตนเองและผู้อื่น
เมื่อเราเปลี่ยนมุมมองในการกระทำ ไม่ได้ทำเพียงเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามใจปรารถนา แต่กระทำด้วยจิตที่เป็นอิสระจากการยึดติด เราจะค้นพบว่าพลังของความกรุณาและความเข้าใจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า การทำด้วยจิตว่างจากอัตตา มันเปิดโอกาสให้เกิดความเคารพและเห็นอกเห็นใจต่อสรรพสิ่ง เพราะเราเล็งเห็นแล้วว่าตัวเราเองเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ในสายใยขนาดใหญ่ที่สัมพันธ์ถึงกันทั้งหมด และนั่นทำให้การแบ่งปัน การให้อภัย และการช่วยเหลือผู้อื่น กลายเป็นพลังบวกที่กลับคืนมาหาเราและผู้อื่นอย่างกลมกลืน
ในศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่แสดงให้เห็นว่า การแบ่งปัน การให้อภัย และการช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อผู้รับ หากแต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมสภาวะทางอารมณ์และสุขภาวะโดยรวมของผู้ให้เองด้วย พฤติกรรมเชิงบวกเหล่านี้สามารถลดระดับความเครียด กระตุ้นความรู้สึกเชิงบวก และเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมให้แข็งแกร่งขึ้นได้
ตัวอย่างหนึ่งคือผลงานของ Curry และคณะ (2018) เป็นงานที่ทำการสังเคราะห์งานวิจัยโดยศึกษาผลของการทำ “ความดี” หรือพฤติกรรมเชิงบวก (Acts of Kindness) ต่อสภาวะความสุขและความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ของผู้กระทำ ผลการศึกษาพบว่าการทำกิจกรรมเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอส่งผลให้เกิดความสุขเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังลดระดับความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้ในระดับที่มีนัยสำคัญ
เช่นเดียวกันการศึกษาของ Rowland และ Curry (2019) ที่ค้นพบว่าการทำกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือคนรู้จักหรือคนแปลกหน้า ล้วนมีแนวโน้มช่วยเพิ่มความสุขและความพึงพอใจในชีวิตแก่ผู้กระทำได้อย่างชัดเจน แม้จะเป็นกิจกรรมขนาดเล็กหรือใช้เวลาน้อยก็ตาม
สอดคล้องกับงานของ Martela และ Ryan (2016) ที่พบว่าพฤติกรรมเชิงบวกเพื่อสังคม (Prosocial Behavior) เช่น การช่วยเหลือหรือแบ่งปันแก่ผู้อื่น สามารถเพิ่มความรู้สึกเติมเต็ม และความสุขได้ แม้ในกรณีที่ผู้ให้ไม่ได้พบหรือรับรู้โดยตรงว่าผู้รับได้รับความช่วยเหลือแล้วเกิดผลดี
อย่างไรก็ตามการให้อภัยเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมเชิงบวกที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตใจอย่างมีนัยสำคัญ งานศึกษากลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ของ Riek และ Mania (2012) พบว่าการให้อภัยไม่เพียงแต่ลดความโกรธ ความรู้สึกเป็นปรปักษ์ หรือความเครียดเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างบุคคล ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนในความสัมพันธ์และสภาวะอารมณ์ของทั้งผู้ให้และผู้รับอีกด้วย
ผมได้ยกตัวอย่างหลักฐานทางจิตวิทยาที่สนับสนุนแนวคิด “สายใยขนาดใหญ่” ตามทัศนะของศาสนาฮินดู มาค่อนข้างยาว แต่ในขณะเดียวกัน ในพระพุทธศาสนา หลัก “อิทัปปัจจยตา” หรือเหตุปัจจัย ก็สะท้อนภาพวงจรแห่งชีวิตในลักษณะใกล้เคียงกัน คือ “สิ่งนี้มีเพราะสิ่งนั้นมี สิ่งนี้ไม่มีเพราะสิ่งนั้นไม่มี”
หลักการนี้เป็นเครื่องย้ำเตือนว่า ทุกข์ สุข ความสำเร็จ หรือความล้มเหลวในชีวิต ล้วนเกิดขึ้นจากปัจจัยนานัปการที่เกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อน หากเราเข้าใจว่าทุกสิ่งอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ก็จะตระหนักว่าเราไม่อาจควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงโลกได้โดยลำพัง จึงเรียนรู้ที่จะปล่อยวางในสิ่งที่เกินกำลัง และลงมือทำในสิ่งที่ควรทำด้วยใจที่ไม่ยึดติด
การปล่อยวางในที่นี้จึงมิได้หมายถึงการปฏิเสธชีวิตหรือหลีกหนีภาระหน้าที่ แต่คือการเปิดใจยอมรับความเป็นจริงของสรรพสิ่ง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้เราเลือกเคลื่อนไปข้างหน้าบนโลกอย่างสงบและมีเมตตาต่อตนเองและผู้อื่น ด้วยวิถีเช่นนี้ การดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงจึงไม่ใช่ภาระหนัก หากเป็นโอกาสในการเรียนรู้และเติบโต เคารพในสายใยชีวิตที่เชื่อมทุกสิ่งไว้ร่วมกัน
ท้ายที่สุด “สายใยแห่งการดำรงอยู่” ไม่ใช่แค่แนวคิดทางศาสนา หากแต่เป็นบทเรียนที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้เพื่อเปิดใจกว้างในการมองชีวิตอย่างเป็นองค์รวม การตระหนักถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างตัวเรากับสรรพสิ่ง คือก้าวแรกสู่การปล่อยวาง และพบกับอิสรภาพระดับหนึ่งในทุกขณะของการดำรงอยู่
อ้างอิง
Curry, O. S., Rowland, L., Zlotowitz, S., McAlaney, J., & Whitehouse, H. (2018). Happy to help? A systematic review and meta‐analysis of the effects of performing acts of kindness on the well‐being of the actor. Journal of Experimental Social Psychology, 76, 320–329.
Martela, F., & Ryan, R. M. (2016). Prosocial behavior increases well-being and vitality even without contact with the beneficiary: Causal and behavioral evidence. Motivation and Emotion, 40(3), 351–357.
Maté, G., & Maté, D. (2022). The myth of normal: Trauma, illness, and healing in a toxic culture. Avery.
Riek, B. M., & Mania, E. W. (2012). The antecedents and consequences of interpersonal forgiveness: A meta‐analytic review. Personal Relationships, 19(2), 304–325.
Rowland, L., & Curry, O. S. (2019). A range of kindness activities boost happiness. The Journal of Social Psychology, 159(3), 340–343.
โฆษณา