18 เม.ย. เวลา 07:25 • ประวัติศาสตร์

ตามหาสวัตถี ตอน 4 - จาก “กัสมีระ” สู่ “สาวัตถี” (ตอนที่ ๓) “เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน” ที่เมืองมถุรา

[ #คำเตือน เนื่อหาในซีรีส์นี้ จำเป็นต้องใช้วิจารณญานในการอ่านมากเป็นพิเศษ ท่านที่ไม่สามารถวางองค์ความรู้เรื่องดินแดนเกิดของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ “อินเดีย” เอาไว้ข้าง ๆ ตัวก่อนอ่านได้ แอดมินอยากให้ข้ามเพจนี้ไปนะครับ เพื่อที่เวลาอันมีค่าของท่านจะได้ไม่ต้องมาสูญเปล่าไปโดยไม่ได้ประโยชน์อันใด]
📖 …………………………………
 
“ในตัวเมือง “มถุรา" ไม่มีใครกระทำการเลี้ยงสุกรและไก่ และไม่กระทำการขายโคกระบืออันมีชีวิต ในตลาด ไม่มีโรงฆ่าสัตว์เอาเนื้อขาย และไม่มีใครขายเครื่องดองของที่จะดื่มมึนเมา
(ประชาชน) ใช้ “เงินเบี้ย” สำหรับในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของอันเป็นประโยชน์ต่อกันและกัน มีแต่พวกคนหาปลาและพรานล่าสัตว์เท่านั้นจึงขายเนื้อสด”
(บันทึกการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียน)
…………………………………… 📖
จาก EP. 3 ที่ผ่านมา แอดมินได้พาแฟนเพจ “ตามรอย” เส้นทางของ “หลวงจีนฟาเหียน” จาก “กัสมีระ” มาสู่ “สาวัตถี” (ช่วงที่ ๑) ที่ต้องใช้เวลาเดินทางถึง ๓ ปี รวมระยะทาง ๔-๕ หมื่นลื้ มุ่งหน้าสู่ทะเลทางใต้
จนท่านเริ่มเข้าสู่ “มัชฉิมประเทศ” ของชมพูทวีป (ของจริง) ที่เมือง “มถุรา” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของประเทศ “เมียนมาร์” ในปัจจุบัน
และแอดยังพาแวะร่วมบุญ “ทอดกฐิน” กับท่านหลวงจีนฟาเหียนที่เมือง “มถุรา” ไปแล้ว
ส่วนใน Ep นี้ แอดจะขอ “เถลไถล” อยู่ที่เมืองมถุราต่ออีกสักหน่อย เพื่อกล่าวถึงสิ่ง “สำคัญ” ที่หลวงจีนฟาเหียนได้พบเห็นที่เมืองมถุราแห่งนี้
คือเรื่องของ “เงินเบี้ย” ครับ
(#หมายเหตุ Ep นี้ อาจจะเน้นเรื่อง “โบราณคดี” และยาวมากกก… แต่แอดมินแนะนำให้ค่อย ๆ อ่านจนจบนะครับ)
เริ่มจากประวัติศาสตร์ “เงินเบี้ย” ของบ้านเรากันก่อน
“เงินเบี้ย” หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า “เบี้ย” คือ วัฒนธรรมการใช้ “เปลือกหอย” ในวงศ์ Cypraeidae (เช่น หอยเบี้ยนาง) มากำหนดอัตราแลกเปลี่ยน แล้วใช้เป็นตัวกลางซื้อขายสินค้า
ในอดีต “เบี้ย” เป็นหน่วยที่ใช้แทน “ค่าเงิน” ที่น้อยที่สุดแล้วในบ้านเรา
เรื่องราวและค่าของ “เงินเบี้ย” เป็นอย่างไรนั้น มีกล่าวอยู่มากมายแล้วใน “โลกโซเชียล” แอดจึงจะขอข้ามไปนะครับ เพราะในที่นี้จะเน้นที่เรื่องราวทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ในยุค “แรกเริ่ม” ของการใช้ “หอยเบี้ย” เป็น “เงิน” ซื่้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเท่านั้น
เริ่มจาก “หลักฐาน” ที่เก่าที่สุดในการใช้ “เบี้ย” ในลักษณะเงินตรา ตามความเห็นของ “นักวิชาการไทย” ที่ท่านให้เก่าที่สุดแค่สมัย “สุโขทัย” มีปรากฏอยู่ใน จารึกวัดป่ามะม่วง (พ.ศ. ๑๙๐๔) ดังนี้
“เมื่อออกพรรษาแล้ว จึงกระทํามหาทานฉลองพระสัมฤทธิ์อันหล(วง) ตนพระพุทธเจ้าเราอันประดิษฐานกลางเมืองสุโขทัยซึ่งลวงตะวันออกพระศรีรัตนมหาธาตุนั้น ฉลองสดับธรรมทุกวันถ้วนร้อยวันแล้วกระยาทานคาบนั้น ทองหมื่นหนึ่ง เงินหมื่นหนึ่ง ‘เบี้ยสิบล้าน’ หมากสิบล้าน ผ้าจีวรสี่ร้อย บาตรสี่ร้อย หมอนนั่งสี่ร้อย หมอนนอนสี่ร้อย พูก (สี่ร้อย) เครื่องกระยาบูชามหาสังฆราชจักนับ(แ)ลมิถ้วน”
จะเห็นว่าจากจารึกท่านระบุว่า ทำทานด้วย “เบี้ย” มากถึง “สิบล้าน” แต่ทานด้วย “เงิน” แค่ “หมื่นหนึ่ง” แสดงให้เห็นว่าในสมัยนั้น “เบี้ย” ก็ยังมีค่าน้อยกว่า “เงิน” มาก ๆ (และเป็นไปได้ว่า ๑ เบี้ย มีค่าเท่าหมาก ๑ ลูก)
ส่วนในสมัยอาณาจักรล้านนา “เบี้ย” มีปรากฏอยู่ใน "มังรายศาสตร์ " ซึ่งเป็นกฎหมายโบราณของล้านนาที่มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยพญามังราย (พ.ศ. ๑๘๔๐) ซึ่งปรากฏกล่าวถึง “เงินเบี้ย” ดังตัวอย่างจากข้อความนี้
“ลักขณะอัน ด่ากัน ตีกัน มีฉันนี้อัน ๑ (คือ)
ผู้หาศีลบ่ได้ ด่าผู้มีศีล (ปรับ)ไหม ๓๓,๐๐๐ เบี้ย ”
(จากฉบับวัดแม่คือ)
สมัยอยุธยาก็มีบันทึกอยู่ใน “จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์” ราชฑูตฝรั่งเศส ที่เข้ามาในสมัยพระนารายณ์ว่า
“เงินตราราคาต่ำที่สุดที่ใช้กันอยู่ในสยามก็คือ เปลือกหอยเล็ก ๆ ดังที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงและแสดงภาพเท่าขนาดและรูปพรรณจริงให้เห็นแล้ว ชาวยุโรปที่อยู่ในสยามเรียกเบี้ยนี้ว่า ‘โกรี’ ส่วนชาวสยามเองเรียก ‘เบี้ย’
หอยชนิดนี้หาได้มากที่เกาะมัลดีฟส์ บางทีก็มาจากฟิลิปปินส์บ้างแต่เป็นจำนวนน้อย ตามธรรมดาในสยาม ๑ เฟื้อง มีค่าเท่ากับ ๘๐๐ เบี้ยนั้น ช่างเป็นเงินตราที่มีค่าต่ำเสียนี่กระไร”
มาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ “เบี้ย” ก็ยังมีใช้กันจนถึงรัชกาลที่ ๓ ตลอดจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ เศรษฐกิจกการค้าเจริญขึ้นมากเงิน “พดด้วง” ขาดแคลน มีไม่เพียงพอใช้จ่าย และ “เบี้ย” ได้กลายเป็นเงินค่าน้อยมาก ๆ จนแทบไม่มีราคาแล้ว จึงได้เริ่มผลิตเหรียญโลหะขึ้นใช้แทนเบี้ย การใช้เงินเบี้ยจึงเริ่มเสื่อมความนิยมและเลิกใช้ไปในที่สุดครับ
การใช้ “หอยเบี้ย” เป็น “เงินตลาด” ในสมัยโบราณเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่น่าเสียดายว่า “นักวิชาการไทย” ทั้งด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีไม่ได้ให้ความสนใจ “เรื่องราว” และความเป็นมาของการใช้ “หอยเบี้ย” ในบ้านเราในยุคอื่น ๆ ที่ย้อนไปไกลกว่าสมัย “ล้านนา” หรือ “สุโขทัย” เลย
ทั้ง ๆ ที่ประวัติศาสตร์การใช้ “หอยเบี้ย” เป็น “เงิน” แลกเปลี่ยนสินค้า เริ่มต้นย้อนไปไกลได้ถึงยุควัฒนธรรม “หินใหม่” มีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่ “ทะเลแดง” และหมู่เกาะ “มัลดีฟส์” ส่งออกไปให้ใช้กันอย่างแพร่หลายตามแหล่งอารยธรรมโบราณชายฝั่งทะเลในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น เมืองโบราณชายฝั่งทะเลรอบมหาสมุทรอินเดีย เมืองโบราณในบริเวณอ่าวเบงกอล
ไล่เรียงมาจนถึง พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไกลไปถึงมาเลนีเซีย (ฟีจี, วานูวาตู, หมู่เกาะโซโลมอน และปาปัวนิวกินี) แม้กระทั่งอารยธรรมที่มีความเก่าแก่โบราณอย่าง “จีน” และ “อียิปต์” ก็ยังใช้ “เบี้ย” เป็นเงินกันมาตั้งแต่ ๕,๐๐๐ ปีก่อนแล้วเช่นกัน
เนื่องจากแอดมินไม่ได้ตั้งใจจะให้แฟนเพจมาศึกษา “ประวัติศาสตร์” หรือเรื่องราวความเป็นมาของ “เงินเบี้ย” กันในที่นี้ ดังนั้นแอดจะขอนำเสนอเฉพาะส่วนที่จะ “เชื่อมโยง” เอามาเป็น “หลักฐาน” ในการศึกษาต้นกำเนิดของที่แท้จริงของ “พระพุทธศาสนา” เท่านั้นครับ
[เนื้อหาค่อนข้างยาว ท่านที่ไม่สนใจเรื่องราวทางโบราณคดีของ “เงินเบี้ย” ให้ข้ามไปอ่านตอนท้าย ๆ ได้เลยครับ]
นอกจากนักวิชาการตะวันตกแล้ว ยังมี “นักวิชาการจีน” ที่สนใจอย่างมากที่จะศึกษาหาความเป็นมาของการใช้ “เงินเบี้ย” เนื่องจากจีนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เคยใช้ “เบี้ย” เป็นเงินซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าในอดีตด้วยเช่นกัน
ดังนั้นแอดมินจะพาตามไปศึกษาหา “ที่มา” หรือ “แหล่งผลิต” ของ “หอยเบี้ย” ที่พบจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ในประเทศจีนจากงานของ “นักวิชาการจีน” ที่ศึกษาจาก “ความเชื่อ” “บันทึก” และ “หลักฐาน” ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีเอาไว้ดังนี้ครับ
“หอยเบี้ย” ของจีนมีเรียกกันหลายชื่อ เช่น "marine shell" 海貝, "dentalium shell" 齒貝 , "ziJan shell" 子安貝, "monetary cowry" 貨貝, "treasure cowry" 寶貝, or "cowry" 貝 ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างหมายถึง “หอยเบี้ย” ในวงศ์ Cypraea annulus และ Cypraea moneta
จากการขุดค้นทางโบราณคดีของจีนพบว่า มีการใช้ “หอยเบี้ย” มาแล้วตั้งแต่ยุคหินใหม่ (๕,๐๐๐ ปีก่อน) เรื่อยมาจนถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น (ประมาณ พ.ศ. ๓๔๑ - ๕๕๒) หลังจากนั้นพบน้อยมาก แล้วกลับมาพบว่าใช้มากอีกครั้งที่ "มณฑลยูนาน” ตั้งแต่สมัยราชวงค์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑ - ๑๔๕๐) เรื่อยมาจนถึงราชวงศ์ชิง (พ.ศ.๒๑๘๗ - ๒๔๕๔) แต่สมัยราชวงศ์ชิงนี้แหล่งที่มาของ “หอยเบี้ย” ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน (คือ เป็นเงินเบี้ยจากยุคการค้าสมัยใหม่แล้ว)
จากการศึกษา “แหล่งกำเนิด” หอยในวงศ์ Cypraea annulus และ Cypraea moneta พบว่ามีแพร่กระจายบริเวณชายฝั่งทะเลในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกตลอดจนไปถึงชายฝั่งทะเลจีนตอนใต้
แต่เนื่องจากหอยเบี้ยชอบอยู่เฉพาะบริเวณทะเลกระแสน้ำอุ่น จึงพบได้แค่บริเวณทะเลจีนตอนใต้ และไม่พบบริเวณชายฝั่งทะเลจีนตอนบน
ดังนั้น “ในอดีต” นักวิชาการจึงมีความเชื่อว่า “หอยเบี้ย” ที่ใช้ในอารยธรรมจีนโบราณอาจจะมาจากชายฝั่ง “ทะเลจีนทางใต้”
แต่จากการวิเคราะห์ “หอยเบี้ย” ที่พบจากแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีใน “ยุคหินใหม่” กลับพบว่า มีการใช้ “หอยเบี้ย” ครั้งแรกที่บริเวณพื้นที่ในแถบ “ตะวันตกเฉียงเหนือ” ของจีนคือ มณฑลชิงไห่ ทิเบตตะวันออก และมณฑลเสฉวน เท่านั้น ไม่พบที่บริเวณภาคกลางหรือบริเวณเมืองชายฝั่งทะเลจีน
และช่วงสมัยที่พบว่าใช้ “หอยเบี้ย กันมากสุดก็คือ ช่วง ๑,๐๕๗ - ๑๐๗ ปีก่อนสมัยพุทธกาล พบหนาแน่นอยู่ในภาคกลาง ตะวันตกที่ซินเจียง ตะวันตกเฉียงใต้ที่มณฑลยูนาน เรื่อยมาจนถึงทางใต้ที่แม่น้ำแยงซี
ยุคต่อมาช่วงตั้งแต่สมัย ๑๐๐ ปี ก่อนพุทธกาลจนถึงพ.ศ.๓๐๐ เป็นช่วงที่เริ่มใช้ “เงินทองแดง” แล้ว จึงทำให้ขุดพบ “หอยเบี้ย” น้อยลงมาก แต่ก็ยังขุดพบในบริเวณที่เคยใช้หอยเบี้ยกันอยู่
ช่วงพ.ศ. ๓๐๐- ๘๐๐ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉินมาเรื่อยมาจนถึงราชวงศ์ฮั่น ขุดพบ “หอยเบี้ย” น้อยมากในแถบภาคกลาง แต่พบเพิ่มในหลายเมืองทางแถบตะวันตกเฉียงใต้ และแถบภาคเหนือเนื่องจากเป็นช่วงที่เกิด “ชนกลุ่มน้อย” หลายเผ่าในจีน โดยพบ “หอยเบี้ย” ในแหล่งขุดค้นมากนับหมื่นตัวที่มณฑลยูนาน
จากข้อมูลทางโบราณคดีทั้งหมดนี้ “นักวิชาการจีน” จึงสรุปว่า “หอยเบี้ย” ที่ใช้ในอารยธรรมจีนโบราณไม่น่าจะมาจากชายฝั่งทะเลจีนทางใต้อย่างที่เคยคิด แต่ในทางตรงกันข้ามวัฒนธรรมการใช้ “หอยเบี้ย” น่าจะแพร่กระจายจากทางตะวันตกเฉียงเหนือลงมาทางตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า
และถ้า “หอยเบี้ย” ที่ใช้ในอารยธรรมจีนโบราณเมื่อหลายพันปีก่อน ไม่ได้มาจากทะเลของจีนทางตอนใต้ ดังนั้นก็ต้องมาจากชายฝั่ง “มหาสมุทรอินเดีย”
ปัญหาจึงมีอยู่ว่า “หอยเบี้ย” มีที่มาอย่างไรตั้งแต่สมัยเมื่อ ๕,๐๐๐ ปีก่อน ที่น่จะยังเดินเรือข้ามมหาสมุทรกันไปมาไม่ได้
“นักวิชาการจีน” จึงคิดใหม่ว่า เมื่อการแพร่กระจายวัฒนธรรมการใช้ “หอยเบี้ย” เริ่มต้นมาจากทิศ “ตะวันตกเฉียงเหนือ” แล้วแพร่กระจายลงมาทาง “ตะวันออกเฉียงใต้” จึงมีความเป็นไปได้ว่า การใช้ “หอยเบี้ย” น่าจะมา “ทางบก” มากกว่า
และพบความเชื่อมโยงไปยังดินแดน “เติร์กเมนิสถาน” ที่มีการขุดพบ "หอยเบี้ย" ที่เมือง “อาชกาบัต” ที่กำหนดอายุได้ในช่วงสมัยวัฒนธรรมเดียวกันกับของจีน และจากจุดนี้เองที่สามารถเชื่อมลงไปสู่ “มหาสมุทรอินเดีย” ได้โดยผ่านเส้นทางของ “อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ” ลงไปตามลุ่มแม่น้ำสินธุ (คือ บริเวณพื้นที่ของประเทศอัฟกานิสถาน พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศปากีสถาน และทางตะวันตกถึงตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย)
แต่ยังติดอยู่ว่า “หอยเบี้ย” ที่ขุดพบในแอ่ง “อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ” ไม่ใช่วงศ์ Cypraea annulus และ Cypraea moneta ที่ขุดพบในแหล่งโบราณคดีของจีน
 
ดังนั้นแหล่งที่มาของ “หอยเบี้ย” ่จีน ที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าก็คือ มาจาก “อารยธรรมตะวันออกใกล้” โบราณ (คือ เมโสโปเตเมีย อียิปต์ เปอร์เซีย อานาโตเลีย และที่สูงอาร์มีเนีย ลิแวนต์ และคาบสมุทรอาหรับ) ที่มีอายุย้อนไปได้กว่า ๕,๐๐๐ ปี ในช่วงเวลาเดียวกับอารยธรรมจีนโบราณ
แหล่ง “อารยธรรมตะวันออกใกล้” นี้เองที่มีการขุดพบการใช้ “หอยเบี้ย” วงศ์ Cypraea annulus และ Cypraea moneta ซึ่งสามารถนำเข้ามาจาก “ทะเลแดง” หรือ “มหาสมุทรอินเดีย” ได้โดยตรง
“หอยเบี้ย” ที่ขุดพบในจีนตั้งแต่เริ่มอารยธรรมใน “ยุคหินใหม่” จึงน่าจะเดินทางไกลใน “เส้นทางบก” มาจากดินแดนใน “อารยธรรมตะวันออกใกล้” นั่นเอง
นอกจากนี้นักวิชาการจีนยังพบอีกว่าวัฒนธรรมการใช้ “หอยเบี้ย” มาพร้อมกับวัฒนธรรม “สัมฤทธิ์” เนื่องจากแหล่งโบราณคดีที่พบว่ามีการใช้ “สัมฤทธิ์” แล้ว ก็จะพบการ “หอยเบี้ย” อยู่ด้วยเสมอ
นักวิชาการจีนบางท่านถึงกับตั้งข้อสังเกตว่า หรือเส้นทางของ “หอยเบี้ย” มาจีน จะเป็นเส้นทางการค้าและอารยธรรมเชื่อมโยงระหว่าง “ตะวันตก” กับ “ตะวันออก” ที่เก่าแก่และสำคัญกว่า “เส้นทางสายไหม” เสียอีก
(ตัดภาพกลับมาที่บ้านเราบ้าง)
แฟนเพจอาจมีคำถามว่า “แหล่งโบราณคดี” ต่าง ๆ ในบ้านเรา มีการขุดพบ “หอยเบี้ย” กันบ้างหรือไม่? เผื่อเราจะมียุคสมัยในการใช้ “เงินเบี้ย” ได้เก่าแก่ “หลายพันปี” แบบชาวโลกเขาบ้าง
ตอบว่า “มีครับ”
แต่น่าเสียดายว่า ในขณะที่บ้านเมืองอื่นที่เขาขุดพบ “หอยเบี้ย” กัน ต่างก็ป่าวประกาศว่า “พบแล้ว ๆ” มีหลักฐานการมี “เงิน” ใช้สอยแบบผู้เจริญแล้ว
เราเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมแล้ว
แต่นักวิชาการบ้านเรากลับ “ด้อยค่า” อารยธรรมหลายพันปีจากแหล่งโบราณคดีขุดพบ “หอยเบี้ย” ว่าคนโบราณยุคนั้นใช้แค่ทำเป็น “เครื่องประดับ” เท่านั้น (เพราะเรายังเป็น “คนป่าคนดง” ใช้เงินไม่เป็นเหมือนชาวโลกยุคนั้น)
บรรพชนเราต้องยังไม่รู้ว่า “ชาวโลก” ในสมัยนั้นเขาใช้ “หอยเบี้ย” เป็นเงินตราใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันทั่วไปกันแล้ว (ไม่ต้องแบกไก่แบกข้าวไปแลกเปลี่ยนกันให้เหนื่อยแรง)
แอดมินขอยกตัวอย่างแหล่งโบราณคดี “สำคัญ” ของบ้านเราที่พบว่ามี “หอยเบี้ย” (และพบอย่างมีนัยสำคัญ) อยู่ในบริเวณที่มีการขุดค้นดังนี้ครับ
บ้านโนนวัด - นครราชสีมา (๓,๗๐๐ – ๓,๐๐๐ ปี)
บ้านโคกคอน - สกลนคร (๔,๕๐๐ - ๑,๘๐๐ ปี)
ซับจำปา - ลพบุรี (๓,๐๐๐ - ๒,๕๐๐ ปี)
บ้านโคกเจริญ - ลพบุรี (๔,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ ปี)
โคกพนมดี - ชลบุรี (๘,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปี)
ฯลฯ
ในที่นี้แอดจะพูดถึงแต่แหล่งโบราณคดี “โคกพนมดี” ที่พบโครงกระดูกหญิงอายุประมาณ ๓๕ ปี ฝั่งร่วมกับหลุมอื่นกำหนดอายุชั้นขุดค้นที่ ๓,๕๐๐- ๓,๐๐๐ ปี รู้จักกันดีในชื่อ “่เจ้าแม่โคกพนมดี” เนื่องจากพบเครื่องประดับที่ทำด้วย “เปลือกหอย” และทรัพย์สมบัติอื่น ๆ จำนวนมากฝังร่วมอยู่ด้วยกันบริเวณที่พบโครงกระดูก
“ทรัพย์” ที่สำคัญที่สุด (สำหรับแอดมิน) ก็คือ “เปลือกหอย” แบบแว่นกลม จำนวนกว่า ๑๒๐,๐๐๐ เม็ด (ดูรูปประกอบ) พบบริเวณส่วนหน้าอกและแผ่นหลัง แต่นักวิชาการกลับสันนิษฐานกันว่าเป็น “เครื่องประดับ” เพื่อความสวยงามหรือแสดงฐานะพิเศษทางสังคม
ความจริงแล้ว “เปลือกหอย” ที่ทำเป็น “แว่นกลม” เล็กขนาดเท่า ๆ กันนี้ก็คือ “เงิน” ในยุคหินใหม่ชนิดหนึ่ง ซึ่งยังคงมีใช้และผลิตให้เห็นอยู่ที่แถบ “มาเลนีเซีย” ครับ
 
นอกจากนี้ยังพบว่า “หอยเบี้ย” หลายชิ้น ที่ขุดพบร่วมกันจากโครงกระดูกอื่น ๆ อีกหลายโครงที่โคกพนมดี ยังมีลักษณะถูก “เจียรตัด” หลังเบี้ยออกโดย “ตั้งใจไว้ และบางชิ้นเจาะรูหัวท้าย เพื่อให้สะดวกในการร้อยหอยจำนวนมากเป็นพวง หรือประหยัดพื้นที่การจัดเก็บและขนส่ง (แบบเดียวกับ “เงินเบี้ย” ที่พบในสมัยสุโขทัยหรืออยุธยา)
ซึ่งการตัดแบบนี้พบว่ามีการทำมาตั้งแต่ “แหล่งผลิต” แล้วทั้งจากที่ “มัลดีฟส์” และ “มาเลนีเซีย” และพบหลักฐานในแหล่งอารยธรรมโบราณต่าง ๆ ที่ใช้หอยเบี้ยทุกที่
“หอยเบี้ย” ที่ขุดพบทั้งหมดนี้จึงเป็นการยืนยันว่า “วัฒนธรรม” การใช้ “เงินเบี้ย” ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าในบ้านเราและดินแดนในแถบนี้ที่มีมานาน “หลายพันปี” แล้วอย่างแน่นอน
[จากช่วงนี้ไปจะเป็น “ไฮไลต์” ของ Ep นี้แล้วนะครับ ใครที่อ่านผ่าน ๆ มา ก็ให้เริ่มตั้งใจอ่าน]
เป็นที่รับรู้กันมานานหลายพันปีแล้วว่า “แหล่งผลิต” หอยเบี้ยที่สำคัญของโลกอยู่ที่ “หมู่เกาะมัลดีฟส์” โดยเลี้ยงหอยเป็นฟาร์มในทะเล จากนั้นจึงเก็บรวบรวมขึ้นมาฝังทราย รอจนเนื้อหอยแห้งหลุดออกจากนั้นจึงส่งออกไปยังอารยธรรมต่าง ๆ ที่ต้องการใช้หอยเบี้ยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ถ้านับตั้งแต่ยุคหินใหม่ ๕,๐๐๐ ปีก่อน ก็จะมีกระจายไปยัง เอเซียกลาง ลุ่มแม่น้ำสินธุ จีน และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก
แต่บันทึกที่เก่าที่สุดที่พบในปัจจบันที่ได้กล่าวถึงการทำผลิต “หอยเบี้ย” เป็นของพ่อค้าชาว “เปอร์เซีย” บันทึกไว้ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ นี่เอง หรือบันทึกของ Pyrard de Laval ในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ (อยุธยาตอนต้น) ที่กล่าวว่า
“หอยเบี้ยส่งออกไปยังที่ต่าง ๆ อย่างไม่มีจำกัด ในปีหนึ่งมีเรือ ๓๐-๔๐ ลำ มาบรรทุกเอาหอยเหล่านี้เพียงอย่างเดียวเพื่อไปส่งที่อ่าวเบงกอล ซึ่งจะกลายเป็นสินค้ามูลค่าสูงมาก ผู้คนที่นั่นจะใช้เป็นเงินตรา”
“หอยเบี้ย” เป็นสินค้าส่งออกของ “หมู่เกาะมัลดีฟส์” อย่างเป็นล่ำเป็นสันเรื่อยมา และใช้กันแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหมดความต้องการใช้ “หอยเบี้ย” ในตลาดการเงินโลกเมื่อไม่นานมานี้เอง (ประมาณช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์)
มาจนถึงบรรทัดนี้จะเห็นว่า แอดมินยังไม่ได้กล่าวถึงวัฒนธรรมการใช้ “เงินเบี้ย” ของอารยธรรม “อินเดียโบราณ” เลย เพราะว่าหากยึดจาก “หลักฐาน” ทางโบราณคดีแล้ว “อินเดีย” ไม่มีวัฒนธรรมการใช้ “เงินเบี้ย” ครับ
เนื่องจากอินเดียเริ่มใช้ “เงินเหรียญ” เลย (ตามอารยธรรมโรมัน) จึงไม่เคยขุดพบ “หอยเบี้ย” ตามแหล่งโบราณคดี เอาเฉพาะแค่ช่วงที่นักวิชาการตะวันตก “ยัดเยียด” ให้อินเดียเป็น “ชมพูทวีป” หรือประมาณแค่เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีก่อนก็ยัง "ไม่มี"
หลักฐานทางโบราณคดีในการใช้ “เงินเบี้ย” ของ “อินเดีย” ขุดพบแค่ในแถบบริเวณแอ่งอารยธรรม “ลุ่มแม่น้ำสินธุ” เท่านั้น
จนกระทั่งการเข้ามาค้าขายของ “ชาวตะวันตก” ในแถบชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวเบงกอลและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ อินเดียจึงเริ่มใช้ “หอยเบี้ย” ในการซื้อขายแลกเปลี่ยน แต่พบเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ของอินเดียเท่านั้น
แหล่งโบราณบริเวณอินเดียตอนกลางหรือ “ชมพูทวีป” ของ “เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม” จึงไม่เคยขุดพบ “หอยเบี้ย” เพื่อเอามาใช้เป็นหลักฐานทางโบราณคดีได้เลย ไม่ว่าจะเป็นยุคอารยธรรมสมัยไหน
ที่น่าประหลาดใจสุด ๆ ก็คือ
“หลักฐาน” ที่เก่าที่สุดและเป็นหลักฐานเดียวที่ “นักวิชาการตะวันตก” ไปหยิบเอามาอ้างว่า “อินเดีย” มีการใช้ “เงินเบี้ย” มาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๐ ก็คือ “บันทึกการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียน” ที่กล่าวว่า “เมืองมถุรา” ใช้ “เงินเบี้ย” สำหรับในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของ (คือ เลื่อนลอยมาก - แอดมิน)
ดังนั้นในประวัติศาสตร์โลก (ของนักวิชาการตะวันตก) “อินเดีย” จึงมีการใช้ “เงินเบี้ย” มาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๐ ส่วนไทยเพิ่งจะมี “เงินเบี้ย” ใช้ในสมัยสุโขทัย หรือ พุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมานี่เอง
“หอยเบี้ย” ในภาษาจีนออกเสียงว่า “เป่ย์” 貝 ซึ่งก็จะใกล้เคียงกับที่คนไทยเรียกว่า “เบี้ย” และจากหลักฐานทางโบราณคดีของจีนที่ว่า ช่วงพ.ศ.๓๐๐- ๘๐๐ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉินมาเรื่อยมาจนถึงราชวงศ์ฮั่น ขุดพบ “หอยเบี้ย” น้อยมากในแถบภาคกลาง แต่พบเพิ่มในหลายเมืองทางแถบตะวันตกเฉียงใต้ และพบ “หอยเบี้ย” ในแหล่งขุดค้นมากนับหมื่นตัวที่มณฑลยูนาน นอกจากนี้วัฒนธรรมการใช้เงินเบี้ยมาพร้อมกับวัฒนธรรมการใช้สัมฤทธิ์
รวมทั้งมีการขุดพบกลองสัมฤทธิ์จำนวนมากในบ้านซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการแพร่กระจายวัฒนธรรมมาจากทางจีนตอนใต้ การเรียกหอยแทนเงินนี้ว่า “เบี้ย” จึงน่าจะเป็นการเรียกตามกลุ่มชาติพันธ์ชาวไท-กะได ที่ใช้ภาษาไทยนั่นเอง
ส่วนดินแดนภาคกลางและภาคใต้จะเรียกว่า "เบี้ย" กันมาตั้งแต่เมื่อใหร่ยังบอกไม่ได้
เพราะอาจจะยังมี “คำอื่น” ที่ใช้เรียก “หอยเบี้ย” ในยุค “หลายพันปีก่อน” เนื่องจากมีหลักฐานว่ายังมีกลุ่มคนที่ใช้ภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก (มอญ-เขมร) บนดินแดนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้ครอบครองพื้นที่นี้อยู่เช่นกัน
“คำอื่น” ที่แอดมินว่านั้น สืบหาได้จากแหล่งที่มาของ “หอยเบี้ย” คือ หมู่เกาะ “มัลดีฟส์” ครับ
แอดมินเชื่อว่ามีน้อยคนที่จะรู้ว่าในอดีตหลายพันปีก่อนผู้คนบนหมู่เกาะ “มัลดีฟส์” นับถือ “ศาสนาพุทธ” และเชื่อกันว่าเริ่มต้นนับถือมาพร้อม ๆ กับ “ศรีลังกา” และ “มัลดีฟส์” เพิ่งเปลี่ยนมานับถือศาสนา “อิสลาม” เมื่อราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๗ นี่เอง
ที่ “มัลดีฟส์” ยังพบจารึกเป็น “อักษรปัลวะ” จำนวนมากอีกด้วย
“อักษรปัลวะ” “ศาสนาพุทธ” และ “หอยเบี้ย” นี้เอง ที่แสดงความเชื่อมโยง “มัลดีฟส์” เข้ากับ “ลังกา” และเมืองต่าง ๆ ใน “เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ชมพูทวีป)” รวมไปถึง "มาเลเซีย" และ “อินโดนีเซีย” ที่ในสมัยโบราณใช้อักษรปัลวะเป็นหลักด้วย
นอกจากนี้ชาวยุโรปเรียก “หอยเบี้ย” ว่า “โกรี” (Cowry) ตามอย่างที่ชาว “มัลดีฟส์” เรียก จึงมีนักวิชาการชาวตะวันตกให้ความเห็นว่า “โกรี” นั้นน่าจะมาจากภาษา “สันสกฤต” แต่สำหรับแอดมินแล้วเห็นว่ามาจากภาษา “บาลี” มากกว่า
คือ มาจากคำว่า “โกฏิ” นั่นเอง
แอดขอให้ย้อนกลับไปอ่านเรื่องราวการซื้อ “อุทยาน” จากเจ้าเชตของอนาถบิณฑิกเศรษฐีดูอีกครั้งก็จะเข้าใจครับ
ที่เจ้าเชตราชกุมารรับสั่งว่า ให้ท่านคหบดีซื้อด้วยลาดทรัพย์เป็น “โกฏิ” คำว่า “โกฏิ” ในที่นี้หากหมายถึง “เบี้ย” ก็ดูจะสมเหตุผลมากกว่าเงินเหรียญมาก
"เงินโกฏิ" ในสมัยพุทธกาลก็คือ "เบี้ย" นั่นเอง
แอดมินฝากไว้ให้ใช้วิจารณญานกันดูนะครับ
ยังครับยังไม่จบ ทนอ่านอีกนิด
หลวงจีนฟาเหียนท่านกล่าวไว้ในบันทึกอย่างชัดเจนว่า ที่เมือง "มถุรา” นั้นใช้ “เบี้ย” สำหรับในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของอันเป็นประโยชน์ต่อกัน ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งว่า เมืองนี้ควรเป็นเมืองใกล้ชายฝั่งทะเล
และเมือง “สาวัตถี” ก็ใช้ “โกฏิ” หรือ “เบี้ย” เช่นกัน (กรณีซื้อที่สร้างวัด)
ดังนั้น “ชมพูทวีป” ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเปรียบเทียบกับ “ชมพูทวีป” ในอินเดียตอนกลาง ของ “เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม” ที่ไม่เคยขุดพบ “หอยเบี้ย” เพื่อเอามาใช้เป็นหลักฐานทางโบราณคดีเลยสักต้ว ไม่ว่าในยุคอารยธรรมไหน
ใครของจริงของปลอม ก็ให้ใช้ “หอยเบี้ย” นี่แหละครับเป็นตัวตัดสิน
ไม่แน่ว่าในอนาคต บันทึกสั้น ๆ แค่บรรทัดเดียวของท่าน “หลวงจีนฟาเหียน” กับ “หอยเบี้ย” ตัวเล็ก ๆ อาจจะเป็น “หมัดเด็ด” ที่ใช้ล้มทฤษฎียักษ์ใหญ่อย่าง “พุทธศาสนาเกิดที่อินเดีย” ก็อาจเป็นได้ ใครจะรู้
แอดมินก็ขอเชิญชวนให้มาช่วยกันค้นคว้าหา “ชมพูทวีป” ของจริงกันต่อไปนะครับ
🙏 ขอบพระคุณแฟนเพจทุกท่าน ที่ติดตามอ่านกันมาโดยตลอด
🚒🚌🚲✈️ มาเที่ยวชมพูทวีปบนแผ่นดินไทยกันดีกว่า ❤️ เที่ยวไม่ต้องแย่งใคร … ได้อานิสงส์เท่ากันครับ 🙏🙏🙏

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา