18 เม.ย. เวลา 23:39 • ประวัติศาสตร์

ตามหาสาวัตถี ตอน 5 - จาก “กัสมีระ” สู่ “สาวัตถี” (ตอนที่ ๔)

“กัลปนา” การอุปถัมภ์พุทธศาสนาใน “จารีต” แห่งกษัตริย์ “ชมพูทวีป”
[ #คำเตือน เนื่อหาในซีรีส์นี้ จำเป็นต้องใช้วิจารณญานในการอ่านมากเป็นพิเศษ ท่านที่ไม่สามารถวางองค์ความรู้เรื่องดินแดนเกิดของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ “อินเดีย” เอาไว้ข้าง ๆ ตัวก่อนอ่านได้ แอดมินอยากให้ข้ามเพจนี้ไปนะครับ เพื่อที่เวลาอันมีค่าของท่านจะได้ไม่ต้องมาสูญเปล่าไปโดยไม่ได้ประโยชน์อันใด]
…………………………………
📖
“อโสกมหาราช ทรงธรรม (ทรง)เดชะอํานาจ
และมีความกล้าหาญ หาผู้เสมอมิได้
มีรับสั่งมายังพระเจ้าสุนัตว่า
ท่านจงให้ที่นาบูชา ‘พระธาตุ’
พระเจ้าสุนัตตจึงประกาศกระแสพระราชโองการให้ประชาชนทราบฯ
(จารึกด้านที่ ๑)
“สิ่งสักการะที่มหาราชาธิราช ผู้มีพระนามว่ากรุงศรีธรรมาโศก ถวายแด่พระสรีรธาตุ ซึ่งมีพระนามว่ากมรเตงชคตศรีธรรมาโศก ณ ตําบลธานยปุระ (มี) เช่นในบัญชีนี้
ข้าบาทมูล (ข้าพระธาตุ) ผู้มีวรรณะทุกเหล่า ๒๐๑๒ พาน ๒๒ ถ้วยเงิน ๒๒ ช้าง ๑๐๐ ม้า๑๐๐ นาค๑๐๐ สีวิกา ๒ เป็นพระบูชา วันหนึ่งข้าวสาร ๔๐ ลิ”
(จารึกด้านที่ ๒)
… 📖
เมื่อเห็นคำว่า “อโสกมหาราช” อย่าเพิ่งเข้าใจว่า แอดมิน “คัดลอก” ข้อความนี้มาจาก “เสาอโศก” ที่ “อินเดีย” นะครับ เพราะไม่มี “เสาอโศก” ต้นใดได้จารึกเรื่องราวหรือพระกรณียกิจของ “พระเจ้าอโศก” ที่เกี่ยวข้องกับ “พุทธศาสนา” เอาไว้เลยแม้แต่ต้นเดียว
ข้อความนี้คัดมาจาก “จารึกดงแม่นางเมือง” พบที่บริเวณเมืองโบราณดงแม่นางเมือง ตำบลบางตาหงาย อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ บ้านเรานี่เองครับ
แต่คำว่า “อโสกมหาราช” ที่จารึกกล่าวถึงนี้ นักวิชาการได้ “ถกเถียง” กันมานานแล้วตั้งแต่พบจารึกหลักนี้เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๙ เพราะไม่รู้ว่า “หมายถึงใคร” กันแน่
เรื่องราวของ “อโสกมหาราช” บนจารึกหลักนี้ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว แต่แอดมินจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ เพราะอยากกล่าวถึงเรื่องการ “กัลปนา” ถวายที่ดินเพื่อสร้างพระธาตุ สร้างวิหาร และเครื่องไทยทาน ตลอดจนถวายข้าทาส (หรือ “ข้าวัด” - แอดมิน) ให้คอยดูแลอุปฐากวัดมากกว่า
ซึ่งข้อความในจารึกข้างต้นถือได้ว่าเป็นตัวอย่าง “หลักฐาน” ที่แสดงให้เห็น “จารีต” ในการ “กัลปนา” ถวายที่ดินเพื่อสร้างพระธาตุ ถวายข้าพระธาตุและเครื่องไทยทาน ที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินไทย
เป็นจารีตที่ถือปฏิบัติสืบต่อ ๆ กันมาของพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลายใน “ชมพูทวีป” ตั้งแต่สมัยพุทธกาล เพื่อเป็นการอุปถัมภ์ “พระพุทธศาสนา” ให้คงอยู่ได้จนตราบเท่าสิ้นศาสนา ๕,๐๐๐ ปี
และยังได้ปรากฏอยู่ในบันทึกของ “หลวงจีนฟาเหียน” เมื่อเดินทางมาถึง “เมืองมถุรา” (บริเวณประเทศ “เมียนมาร์” ในปัจจุบัน) เขตมัชฉิมประเทศของชมพูทวีป เมื่อประมาณ ๑๖๐๐ ปีก่อน ดังนี้
(สำหรับแฟนเพจท่านใดที่เพิ่งเข้ามาอ่าน ขอให้ย้อนกลับไปอ่าน “ตามหาสาวัตถี” ตั้งแต่ EP. 1-4 เสียก่อนจะเข้าใจเรื่องราวได้ต่อเนื่องมากขึ้นครับ)
📖 ……………………………………
“ในกาลเมื่อพระพุทธองค์เสด็จเข้าสู่ปรินิพพานล่วงแล้ว ต่อมาบรรดากษัตริย์ตามนครต่าง ๆ กับพวกหัวหน้าแห่งไวศยะ (พรหามณ์) ทั้งหลาย ต่างได้ก่อสร้างวิหารไว้สำหรับพระภิกษุสงฆ์ และอุทิศถวายสิ่งของเป็น ‘กัลปนา’ เช่น ที่นา บ้านเรือน อุทยาน และสวนต้นผลไม้
ตลอดจนผู้คนบ้านเรือนและปศุสัตว์ การอุทิศถวายไว้เช่นนี้ได้ทำเป็น (อาชญา) จารึกลงไว้บน ‘แผ่นโลหะ’
ดังนั้นในกาลภายหลังสืบต่อมา กษัตริย์ต่อกษัตริย์จึงรับ (อาชญา) สืบทอดต่อกันมาด้วยความเคารพอ่อนน้อม ไม่มีผู้ใดที่จะบังอาจรื้อถอนเลิกล้ม และคงเรียบร้อยอยู่มาตราบเท่าจนถึงปัจจุบันนี้”
(จากบันทึกการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียน)
…………………………………….. 📖
สำหรับแฟนเพจที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องราวทางด้านประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับการ “กัลปนา” แอดขอขยายความเพิ่มให้อีกนิดว่า การ “กลัปนา” ใน “ชมพูทวีป” (คือ ดินแดนในแถบ พม่า มอญ ไทย และลาว) จะกำหนดเป็นอาชญาหรือพระราชโองการของกษัตริย์
และทำเป็น “ศิลาจารึก” หรือ “จาร” ลงบนแผ่นโลหะ (แผ่นทองแดง เงิน หรือ ทอง) เป็นคำสั่งเฉพาะกำกับ แล้วพระราชาทานให้กับวัดหรือข้าพระเก็บรักษาไว้ด้วย
ตัวอย่างเช่น “จารึกดงแม่นางเมือง” ข้างต้นที่ทำลงบนแผ่นศิลาปักไว้ในเขตวัด หรือจารึกบน “แผ่นทองแดง” “แผ่นเงิน” และ “แผ่นทองคำ” กัลปนาหลายแผ่นที่ค้นพบในบ้านเรา
สำหรับการถวายผู้คนให้เป็น “ข้าวัด” หรือ “ข้าพระ” นั้น ให้มีหน้าที่ปฏิบัติดูแลพระธาตุ (หรือพระพุทธรูป) และคอยดูแลอุปัฐากพระสงฆ์ตลอดจนบำรุงรักษาสิ่งต่าง ๆ ของวัด โดยจะได้รับการยกเว้นจากทางการ เช่น ค่าเช่านา การเกณฑ์แรงงานต่าง ๆ หรือเว้นการไปศึกสงคราม เป็นการตอบแทน
หลักฐานการ “กัลปนา” ให้คนไว้เป็น “ข้าวัด” ในสมัยหลังก่อนที่จะยกเลิกกันไปในที่สุดนั้น พบว่ามีบันทึกอยู่ในรายงานตรวจราชการของมณฑลพายัพของพระยาศรีสมบูรณ์ เมื่อปีพ.ศ.๒๔๕๖ สมัยรัชกาลที่ ๖ ที่กล่าวถึงวัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ว่ามี “ข้าวัด” อยู่ราว ๗๐๐ คน คอยผลัดเปลี่ยนกันมาทำงานดูแลวัด
แต่ในเวลานั้ข้าวัดพระธาตุศรีจอมทองไม่ได้ยกเว้นเงินค่าราชการแล้ว แต่ยกเว้นการเกณฑ์จ้างเป็นครั้งคราวเท่านั้น
ถ้าอ้างบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนที่ว่า การ “กัลปนา” ใน “ชมพูทวีป” มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ดังนั้นการกัลปนาใน “สมัยล้านนา” และ “อยุธยา” จึงถือว่าเป็นจารีตที่กษัตริย์ในบ้านเราทำสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลด้วยเช่นกัน
มีตัวอย่างเป็นหลักฐานและประจักษ์พยานให้เห็นอย่างชัดเจน ก็คือ กรณี “หลาบเงิน” ของพระนางวิสุทธิเทวี กษัตริย์เชียงใหม่ที่พระราชทานให้แก่ชาวบ้านห้าหมู่บ้านในปีพ.ศ. ๒๑๑๐ เพื่ออยู่เฝ้ารักษาและปฏิสังขรณ์วัดราชวิสุทธาราม (วัดบ้านแปะ) ที่ทรงสร้าง
“หลาบเงิน” ของพระนางวิสุทธิเทวียังคงปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้ และเก็บรักษาสืบทอดต่อกันมาเป็นอย่างดีใน “ตระกูลข้าวัด” แม้ปัจจุบันจะไม่มีสิทธิในการยกเว้นใด ๆ จากทางการแล้วก็ตาม เพราะถือกันว่าเป็นของ “ศักดิ์สิทธิ์”
โดยจะเอาเก็บใส่ไห “ซ่อน” ไว้ในถ้ำบนภูเขา ทุก ๆ ๓ ปี จึงจะเอาออกมาทำพิธี “เลี้ยงหลาบเงิน” ซึ่งทำติดต่อกันมามากกว่า ๔๐๐ ปีแล้ว
ล่าสุดก็เพิ่งทำไปเมื่อปีพ.ศ.๒๕๖๗ ที่ผ่านมานี้เอง
ส่วนเรื่องราวที่ทำให้ประจักษ์ว่า “หลาบเงิน” นั้น “ศักดิ์สิทธิ์” ก็เพราะสามารถคุ้มครองข้าวัดราชวิสุทธารามเอาไว้ไม่ต้องถูกพม่ากวาดต้อนไปจากเชียงใหม่ได้นั่นเอง
เหตุการณ์นี้มีบันทึกอยู่ใน “ใบลาน” ของชาวบ้านแปะดังนี้
📖 ……………………………………
สมัยที่พระนางวิสุทธิเทวีทรงปกครองเมืองเชียงใหม่ เป็นช่วงเวลาที่ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่าแล้ว แต่เมื่อพระนางสิ้นพระชมม์ในปีพ.ศ. ๒๑๒๑ ได้เกิดความวุ่นวายแย่งชิงความเป็นใหญ่ในราชสำนักขึ้น จนต่อมาเชียงได้ตั้งแข็งเมือง ไม่ขึ้นกับพม่าอีก
 
“พระเจ้าสุทโธธรรมราชา” จึงยกกองทัพพม่ามาตีเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๑๗๔ และอยู่ปกครองที่เชียงใหม่ถึง ๒ ปี จึงเสด็จกลับ และให้กวาดต้อนชาวเชียงใหม่ส่วนหนึ่งไปพม่าด้วย
(ต่อจากนี้เป็นข้อความจากใบลาน)
จุลศักราช ๙๙๔ (พ.ศ.๒๑๗๕) ปีชวด จัตวาศก เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ วันอังคาร ไทยเรียกวันเปลิกเส็ด เจ้าฟ้าสุทโทได้กวาดต้อนเอาชาวบ้านชาวเมือง แลข้าพระข้าผีของวัดบ้านแปะทั้งมวล แลข้าพระของวัดกิตติด้วย ท่านก็ได้อพยพเอาล่องลงไป
เขาก็มีความเศร้าโศกทุกขเวทนา หาประมาณบ่ได้ จึงระลึกถึงคุณพระ คุณธรรม คุณสังฆเจ้า แลบุญศีลบุญทาน แลเทพเมืองอินทร์เมืองพรหมทั้งมวล
จึงยอมือขึ้นตั้งกระหม่อม ไหว้ไปในทิศทั้งสิบ กล่าวว่า ขออย่าหื้อข้าทั้งหลายได้พลัดพรากจากองค์สัพพัญญูเจ้าวัด แห่งข้าทั้งหลายเทอญ
ยังมีนายนาหลังผู้หนึ่งมาแต่เชียงใหม่ จักไหว้สา (เข้าเฝ้า) เอาที่ใดก็บ่ได้ ก็จึงตามทวยมาตราบถึงเมืองหอดที่นั้น จักเข้าไหว้สาเอาก็บ่ได้อีก มีตาทั้ง ๒ เต็มไปด้วยน้ำตา
ก็หนีคืนมาเถิงแจ่มที่นั้น ก็ลำเพิงหาที่อันจักได้ข้าพระเจ้าคืนมานั้นว่า ดั่งชาวกองกูน บ้านญาง แปะบก นี้ก็ยังเป็นข้าพระเจ้าวัดวิสุทธ อารามเชียงใหม่ดังตัวกูนี้แล
มากูจักไปฟูจาเขาดูก่อนควรชะแล ดังข้าพระเจ้าวิสุทธ ท่านก็ได้กวาดมาที่นี้ นาหลังวัดก็ไปเซาะหาก็พบแท้
นายพวกถามว่า “เจ้านาหลังวัดมีคำเคืองใจประโยชน์เยื่องใดมาชา” นาหลังจิ่งบอกประวัติข่าวสารทั้งมวลแต่ต้นเถิงปลายแก่นายพวกว่า
“เยื่องสันใด จักได้ข้าพระเจ้าแห่งเราคืนมาดังเก่า ขอนายพวกอย่าละ (ทิ้ง) พระองค์แดว่าอั้น”
นายพวกจิ่งว่า เจ้านาหลังมาดีแลอย่าได้เคืองใจเทอะ ข้าบ่ละเจ้ากูเสียแล เหตุคำมหากษัตริย์เจ้าตั้งไว้เหนือหัวแห่งข้าทั้งหลายก็ยังมีดาย เราก็จักได้แต่งพลีกรรมตามจารีตก่อน เหตุว่าคำพระมหากษัตริย์เจ้าหนักยิ่งกว่าแผ่นดิน ๒ แสน ๔ หมื่น โยชน์
จิ่งหาวันดียามดี ออกไปตามทันทัพพม่ายังจอมป่าที่นั้น นายพวกเอาขันเข้าตอกตั้งหัว ฝ่าหมู่ฟ้าสุทโธเข้าไป
ฟ้าสุทโธทักว่า “ไผลุกที่ใดมา พ้อยมีขัน (พาน) ตั้งหัวเข้ามา พ้อยบ่กลัวแต่ริ้พลพระองค์เรา (ตัวเรา) ชา”
นายพวกจิ่งไหว้ว่า “ข้าเจ้าทั้งหลายบ่มีข้าวของเยื่องใดแล ก็มีแต่คำมหากษัตริย์เจ้าอันล่วงแล้ว (หลาบเงิน) ได้ปลงยังยอดทานปลายทานแก่ข้าเจ้าทั้งหลาย ไว้กับวัดราชวิสุทธและองค์สัพพัญญูเจ้าเชียงใหม่แล”
ฟ้าสุทโธก็หื้อนายหนังสือ มาอ่านดูก็รู้แจ้งว่า เป็นข้าพระแจ้งแท้ ก็จิ่งปลงอาชญา หื้อล่ามหลวงหน้าหอไปด้วย รีบเรียกเอานาขามชื่อคายหมู่มูมังทับทั้งมวลมาพร้อมแล้ว ก็จิ่งปลงอาชญาว่า
“ข้าพระเจ้า (ข้าวัด) มีที่ใด หื้อได้เก็บออกมาหื้อทานนายพวกนับเสี้ยง(ให้หมด) อย่าหื้อค้างสักคนลวงสุดไป แม้นเด็กน้อยนอนอู่ก็อย่าได้ไว้เทอะ หื้อท่านนายพวกได้เก็บเอานับเสี้ยง”
แล้วพระองค์เรา (ตัวเรา) นี้เป็นกษัตริย์ใหญ่ เราก็บ่ล่วงล้ำคำพระมหากษัตริย์เจ้าอันล่วงแล้ว ได้ปลงยอดทานปลายทานได้หยาดน้ำตกปฐวีอันหนาได้ ๒ แสน ๔ หมื่น โยชนะ เหตุนั้นพระองค์เราก็จักได้เหมียด (รวบรวม) คืนหื้อเป็นทานตามพระมหากษัตริย์เจ้าอันล่วงแล้ว ได้ทานสุกมีเป็นประการฉันใด
พระองค์เรา (ตัวเรา) จักหื้อเป็นทุติยทาน ถ้วน ๒ ตามคำพระมหากษัตริย์เจ้าอันล่วงแล้วภายหลังนั้น หื้อเขาเมือปฏิบัติจารีตปาเวณีนั้นเทอะ”
…………………………………. 📖
“หลาบเงิน” ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันมี ๒ แผ่น มีตราประทับหน้าจีตประทับลงบนครั่งเหลืออยู่ ๓ ดวง จำนวนครั่ง ๓ ชิ้น คือ ตราของพระนางวิสุทธิเทวี ๒ ดวง (ชื่อด้าน ๑ ตราด้าน ๑ ตรารูปสิงห์ ๑ และตรารูปหงส์ ๑) ตราของสมเด็จโลกโมฬี (พระสังฆราชลัญจกรของวัดโลกโมฬี) ๑ ดวง (ชื่อด้าน ๑ ตราด้าน ๑)
ในบันทึกใบลานของ “ชาวบ้านแปะ” ระบุว่า แม้พระเจ้าสุทโธธรรมราชาทรงเห็นแก่พระบรมราชโองการในจารึกหลาบเงิน และทรงยกเว้นไม่กวาดต้อนชาวบ้านแปะและบ้านอื่น ๆ ที่ปรากฏในจารึกไปเมืองพม่าแล้ว
ชาวบ้านยังกราบทูลขอ “จารึก” ยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อคุ้มครองพวกตนให้พ้นภัยพม่าที่อาจจะมาในภายหลังอีก จึงพระราชทานจารึก “หลาบเงิน” เป็นอักษรและภาษาพม่า และประทับตราหน้าจีตเอาไว้ด้วย
แต่ปัจจุบันไม่พบ “หลาบเงิน” (ที่เป็นอักษรพม่า) ของพระเจ้าสุทโธธรรมราชาแล้ว อาจสูญหายหรือถูกทำลายไปแล้ว (ด้วยเหตุผลทางการเมือง) ในยุคที่ล้านนากลับมาอยู่ในปกครองของสยามในสมัยรัตนโกสินทร์
จะเห็นว่าเรื่องราวของ “หลาบเงิน” ของพระนางวิสุทธิเทวีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจารึกลงบนแผ่นโลหะ หรือเรื่องการยอมรับในการ “กัลปนา” ของกษัตริย์องค์ก่อน ๆ นั้น สอดคล้องอย่างยิ่งกับ “จารีต” ของกษัตริย์ใน “ชมพูทวีป” ที่หลวงจีนฟาเหียนบันทึกไว้ทุกประการ
(ในสมัยนั้นทั้ง พม่า ล้านนา และสยาม ยังเรียกตัวเองว่า “ชาวชมพูทวีป” อยู่)
….
กลับมาที่ “จารึกดงแม่นางเมือง” อีกครั้ง
จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านดงแม่นางเมือง พบว่าบริเวณนี้มีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องมาจนถึงสมัยทวาราวดีและลพบุรีตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔- ๑๖ แล้ว
ส่วนจารึกที่พบนั้นมี “๒ ภาษา” ด้านหนึ่งเป็น “ภาษาบาลี” อีกด้านหนึ่งเป็น “ภาษาขอม”
แต่ศักราชที่นักวิชาการอ่านได้จากจารึก ด้านที่เป็น “ภาษาขอม” (จากการเทียบแปลงศักราช) อ่านได้ว่าเป็นปีพ.ศ.๑๗๑๐ ซึ่งเป็นศักราชก่อนตั้งอาณาจักร “สุโขทัย” ที่นักวิชาการเชื่อว่าสมัยนั้นบ้านเมืองเรายังอยู่ภายใต้การปกครองของ “ขอม (หรือเขมรโบราณ)”
จึงเกิดปัญหาที่ไม่สามารถตอบได้ว่า “อโสกมหาราช” ในจารึกนี้เป็นใคร และ “ใหญ่” มาจากไหน จนสามารถออกคำสั่งให้เมืองในอาณาจักร “ขอม” ยกที่ดิน ข้าทาส และเครื่องไทยทานถวายสร้าง “พระธาตุ” ได้
และเมื่อ “ขอม” ปกครอง “ดงแม่นางเมือง” อยู่ทำไมต้องทำประกาศเป็นจารึก “ภาษาบาลี” เอาไว้ให้ใครอ่าน
คำตอบนี้อาจจะเหมือนกรณี “หลาบเงิน” ของพระนางวิสุทธิเทวีนี้ก็ได้ แอดมินขอฝากไว้ให้ขบคิดกันเล่น ๆ
 
มาถึงประเด็น “สำคัญ” สำหรับ Ep นี้ ที่อยู่ตรงคำถามว่า “อินเดีย” มีการ “กัลปนา” และทำ “จารึก” ไว้บนแผ่นโลหะแบบที่หลวงจีนหาเหียนบันทึกไว้หรือไม่?
แน่นอนว่า ที่ “อินเดีย” ก็มี “กัลปนา” อุทิศที่ดิน สิ่งของ และแรงงานคนให้ศาสนา และพบว่ามี “จารึก” รวมถึงพบ “จารึกกัลปนา” บน “แผ่นทองแดง” ด้วยเช่นกัน
แต่จารึกแผ่นทองแดงส่วนใหญ่นั้นพบแค่ที่ “อินเดียตอนใต้” และที่เก่าที่สุดที่จารึกเรื่องราวเกี่ยวกับการ “กัลปนา” เป็นของ “ราชวงศ์ปัลวะ” กำหนดอายุไว้ที่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๙
ปัญหาของจารึกแผ่นทองแดง “อินเดีย” อยู่ตรงที่ ยังไม่พบว่ามีแผ่นใดที่เป็นการกัลปนาใน “พุทธศาสนา” สักแผ่น
นอกจากนี้ “จารึก” ที่สลักลงบน “ศิลา” ที่พบทั่วอินเดียก็ไม่พบว่าเป็นการกัลปนาใน “พุทธศาสนา” แต่เป็นการอุทิศให้ “ศาสนาอื่น” เป็นหลัก
จนแม้กระทั่งจารึกบน “เสาอโศก” ของ “พระเจ้าอโศก (อินเดีย)” เอง ที่นิยมกล่าวอ้างเอาเป็น “หลักฐานสำคัญ” ว่า “ศาสนาพุทธ” เกิดขึ้นที่อินเดีย ก็ไม่มีกล่าวถึงการอุทิศที่ดินและข้าทาสให้วัดหรือภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนา
แต่กลับมี “ถ้ำ” ถึง ๔ ถ้ำใน“หมู่ถ้ำบาราบาร์” ที่พบ “จารึก” การกัลปนาถวายถ้ำโดยพระเจ้า "เทวานัมปิยะทัสสี" หรือ “พระเจ้าอโศก (อินเดีย)” และจารึกในอีก ๓ ถ้ำที่ “หมู่ถ้ำนาคารชุน” ก็พบจารึกกัลปนาถวายถ้ำโดยพระเจ้า "เทวานัมปิยทศรถ" ผู้เป็นหลานด้วยเช่นกัน
ซึ่งเป็นการสร้างถ้ำถวายอุทิศให้นักบวช "อาชีวก" หรือนักบวชนอกพุทธศาสนาครับ
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ปัจจุบันเราเริ่มได้เห็น “นักวิชาการ” บางส่วนให้ความเห็นอย่างมั่นใจว่า “พระเจ้าอโศก” ไม่เคยส่ง “สมณฑูต” ไปเผยแพร่ “พระพุทธศาสนา” ที่ไหนเลย เพราะว่า “ไม่มี” จารึกเอาไว้ในเสาอโศก
ดังนั้นเรื่องที่มีกล่าวไว้ในอรรถกถาจึงเป็นเรื่อง “ไม่จริง”
และถ้าเราใช้ “ตรรกะ” นี้เป็นแนวทางต่อไป ก็คงจะต้องเชื่ออีกว่า “พระเจ้าอโศก” ของชาวพุทธเรา (ซึ่งเกิดที่อินเดีย) “ไม่เคย” รวบรวมพระบรมสารีริกธาตุ แล้วแจกจ่ายกระจายออกไปเพื่อสร้าง “พระธาตุ” ทั่วชมพูทวีปที่มากถึง ๘๔,๐๐๐ องค์
เพราะว่า “ไม่มี” จารึกเอาไว้ใน “เสาอโศก” ด้วยเช่นกัน
หรือว่าเรื่องที่หลวงจีนฟาเหียนบันทึกไว้จึง “เชื่อถือไม่ได้” เพราะ “ไม่พบ” จารึกกัลปนาอุปถัมถ์พระพุทธศาสนาเลยสักชิ้นที่อินเดีย
แอดมินก็ขอฝากไว้ให้ใช้วิจารณญานกันนะครับ
สิ่งที่หลวงจีนฟาเหียนพบเห็นที่ “เมืองมถุรา” ยังมีอีกมาก แต่แอดจะขอพักเอาไว้แค่นี้ก่อน
ใน Ep หน้า แอดมินจะพาเดินทางต่อไปยังเมือง “สังกัสสะ” เมืองในสมัยพุทธกาลที่มีเรื่องราวน่าสนใจไม่แพ้กันครับ
…............................................................
🙏 ขอบพระคุณแฟนเพจทุกท่าน ที่ติดตามอ่านกันมาโดยตลอด
🚚🚘🚲✈️มาเที่ยวชมพูทวีปบนแผ่นดินไทยกันดีกว่า ❤️ เที่ยวไม่ต้องแย่งใคร … ได้อานิสงส์เท่ากัน 🙏🙏🙏
📷ภาพ : “หลาบเงิน” และ “ตราประทับ” ที่พระนางวิสุทธิเทวีพระราชทานให้ข้าวัดราชวิสุทธาราม ตราประทับบนแผ่นครั่งเป็นอักษรขอมไทยฝักขามเขียนว่า “สมเด็จเจ้าราชวิศุทธิ”
ที่มา : ประชุมจารึกล้านนาเล่ม ๑๒ จารึกในจังหวัดเชียงใหม่ ภาคที่ ๔

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา