19 เม.ย. เวลา 20:44 • ประวัติศาสตร์

ตามหาสาวัตถี ตอน 6 - จาก “กัสมีระ” สู่ “สาวัตถี” (ตอนที่ ๕)

เสด็จจาก “ดาวดึงส์” ลงสู่ประตูเมือง “สังกัสสะ”
[ #คำเตือน เนื่อหาในซีรีส์นี้ จำเป็นต้องใช้วิจารณญานในการอ่านมากเป็นพิเศษ ท่านที่ไม่สามารถวางองค์ความรู้เรื่องดินแดนเกิดของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ “อินเดีย” เอาไว้ข้าง ๆ ตัวก่อนอ่านได้ แอดมินอยากให้ข้ามเพจนี้ไปนะครับ เพื่อที่เวลาอันมีค่าของท่านจะได้ไม่ต้องมาสูญเปล่าไปโดยไม่ได้ประโยชน์อันใด]
📖 …………………………………
“ถัดต่อจากเมือง "มถุรา" (ท่านหลวงจีนฟาเหียน) ได้เดินทางต่อลงไปทาง ‘ตะวันออกเฉียงใต้’ เป็นระยะทาง ๑๘ โยชน์ ก็ได้พบราชอาณาจักรแห่งหนึ่งเรียกว่า "สังกัสสะ" เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระพุทธองค์เสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ภายหลังเวลาที่ได้เสด็จขึ้นไปประทับอยู่บนสวรรค์ชั้น ‘ดาวดึงส์’
และ ณ สถานที่บนสวรรค์ (ดาวดึงส์) พระองค์ได้ทรงประทับแสดงธรรมเทศนา เพื่อเป็นคุณประโยชน์แก่พระพุทธ​มารดาอยู่ ๓ เดือน
พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปบนสวรรค์ด้วย ‘ทิพยอำนาจ’ อันอยู่เหนือสภาพธรรมดาของพระองค์ โดยปราศจากสานุศิษย์ของพระองค์ผู้ใดจะได้ทราบ ในสัปดาห์ก่อนที่จะครบกำหนด (๓ เดือน) พระพุทธองค์ได้ทรงกำบังพระองค์มิให้ผู้ใดสามารถเห็นพระองค์ได้
แต่ครั้งหนึ่งพระอนุรุทธะได้เล็งทิพยจักษุเห็นพระบรมโลกนาถ ​และในทันใดนั้น ได้บอกกล่าวแก่พระมหาโมคคัลลานะซึ่งเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงเกียรติรูปหนึ่งว่า
‘ท่านควรไปกระทำการนมัสการพระบรมโลกนาถสักครั้งหนึ่ง’
ในทันใดนั้นพระมหาโมคคัลลานะก็ขึ้นไปกระทำการน้อมเศียรเกล้าถวายบังคมลงแทบพระบาทยุคล แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระมหาโมคคัลลานะได้ถวายบังคมแล้ว และได้ไต่ถามซึ่งกันและกันพอสมควรแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงมีพระพุทธดำรัสแก่พระมหาโมคคัลลานะว่า
‘ต่อจากนี้ไปอีก ๗ วัน ตถาคตจะกลับลงไปยังชมพูทวีป’ ในทันใดนั้นพระมหาโมคคัลลานะจึง (กราบถวายบังคมลา) กลับ
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงมานั้น พระมหากษัตริย์ทั้ง ๘ แว่นแคว้น พร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ราษฎร ซึ่งมิได้เห็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้ามาเป็นเวลานาน เขาทั้งหลายต่างมีความกระหายอยากจะได้เห็นพระองค์ โดยมิได้ตื่นตกใจกลัวความมืดคลุ้มแห่งเมฆในท้องนภากาศ ซึ่งปกคลุมอยู่บนราชอาณาจักรขณะนั้น ล้วนแต่ตั้งใจคอยท่าเฝ้าองค์พระบรมโลกนาถอยู่เท่านั้น
ขณะนั้นเอง นางภิกษุณี ‘อุทปละ’ คิดรำพึงอยู่ในใจตนว่า วันนี้บรรดากษัตริย์และเสนาอมาตย์ราษฎรทั้งหลาย จะมาประชุมด้วยความโสมนัสยินดีต้อนรับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นสตรี ไฉน​จึงจะได้เป็นหัวหน้าเข้าไปเฝ้าเห็นพระองค์เป็นคนแรกได้สมปรารถนาหนอแล
ในทันใดนั้น พระพุทธองค์ (ทรงทราบ) โดยอำนาจญาณวิถีแห่งพระองค์ ทรงแปลงร่างนางภิกษุณีอุทปละให้ปรากฏขึ้นเป็นท้าวจักรพรรดิราชอันบริสุทธิ์ และได้เป็นหัวหน้าซึ่งมวลหมู่ชนทั้งหลายต้องกระทำการเคารพยำเกรง (และเป็นคนแรกที่เข้ากระทำการเคารพต่อพระพุทธองค์ ณ ที่นั้น - แอดมิน).
ณ ตำแหน่งซึ่งพระพุทธองค์เสด็จแต่เบื้องสูง จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาสู่พิภพเบื้องล่างนั้น ณ ที่นี้ปรากฏว่าได้กระทำเป็นบันไดอันวิเศษประเสริฐ ๓ ทาง พระพุทธองค์เสด็จตาม ‘บันไดกลาง’ ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งอันประเสริฐ ๗ ประการ (รัตนะ)
และดุจเดียวกันพระ​ราชาแห่งพรหมโลก (พระพรหม) ได้นิรมิตบันไดเงินปรากฏขึ้นทาง ‘เบื้องขวา’ และเป็นผู้เชิญจามรขาวถวายด้วยหัตถ์ตนเองตามลงมา
ท้าวสักกะผู้ครอบครองแห่งเทวดาทั้งหลาย นิรมิตบันไดทองสีม่วงทางด้าน ‘เบื้องซ้าย’ และเชิญพระกลดอันประกอบด้วยสิ่งอันประเสริฐ ๗ ประการตามเสด็จลงมา
เหล่าทวยเทพเหลือที่จะคณนานับก็ได้ติดตามเสด็จพระพุทธองค์ลงมา
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงมาถึงพื้นโลกแล้ว บันไดทั้ง ๓ ที่สูงลอยลิ่วก็ศูนย์หายลงไปในพื้นธรณี ณ ที่นั้นเอง
(จากบันทึกการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียน)
……………………………………… 📖
ในปีพ.ศ.๒๕๕๘ ในขณะที่มีการปรับปรุงทางเดินรอบเจดีย์ในวัดแห่งหนึ่ง ภายในเมือง “สะเทิม (Thaton)” ในประเทศเมียนมาร์ ทางวัดได้ขุดพบแผ่น “พระพิมพ์ดินเผา” เป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้พบว่ามี ๑,๓๐๐ ชิ้นอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และมีเป็นเศษชิ้นส่วนอีกจำนวนกว่า ๒,๐๐๐ ชิ้น
นักวิชาการเมียนมาร์กำหนดอายุพระพิมพ์เหล่านี้อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๗
จากการแบ่งลักษณะออกเป็นกลุ่ม ๆ ตาม “ประติมานวิทยา” ของพระพิมพ์ที่พบ ปรากฎว่ามีพระพิมพ์กลุ่มหนึ่งที่นักวิชาการเมียนมาร์กำหนดว่าสร้างเป็นภาพเหตุการณ์ตอน “พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์” ครับ (ตามรูปประกอบ)
ที่สำคัญก็คือ
“ไม่เคย” พบพระพิมพ์ภาพเหตุการณ์ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในลักษณะเดียวกันนี้ ในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศเมียนมาร์มาก่อน
แอดมินลองค้นหาดูจากข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในบ้านเราแล้ว ก็ "ไม่พบ" ปางเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในลักษณะแบบนี้เช่นเดียวกัน
ลักษณะภาพของพระพิมพ์ชุดนี้แบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วน คือ
ส่วนบนสุดที่น่าจะแสดงสวรรค์ชั้น “ดาวดึงส์” และเหล่า “เทวดา” ที่ตามมาส่งเสด็จ
ส่วนที่สองเป็น “ซุ้มประตู” เมือง “สังกัสสะ”
และส่วนล่างสุดแสดงเหตุการณ์ขณะที่ “พระพุทธองค์” กำลังเสด็จดำเนินลงมาตามทาง (เห็นเป็นทางลาด) ด้านเบื้องซ้ายมือของพระองค์มี “ท้าวสักกะ” เชิญพระกลดตาม และจะเห็นว่ามี "พระสาวก" (นักวิชาการเมียนมาร์ว่าเป็นพระสารีบุตร) ถวายบังคมเข้าเฝ้าอยู่
ทั้งหมดนี้ค่อนข้างตรงกับที่มีกล่าวในอรรถกถาว่า
📖 ...............................
“พวกเทวดาลงทางบันไดทอง พวกมหาพรหมลงทางบันไดเงิน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงทางบันไดแก้วมณี
เทพบุตรนักฟ้อนชื่อปัญจสิขะ ถือพิณสีเหลืองดุจผลมะตูมยืนอยู่ ณ ข้างเบื้องขวา ทำบูชาด้วยการฟ้อนแด่พระศาสดาลงมา มาตลิสังคาหกเทพบุตรยืน ณ ข้างเบื้องซ้าย ถือของหอมระเบียบและดอกไม้อันเป็นทิพย์ นมัสการอยู่ ทำบูชาแล้วลงมา
ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร ท้าวสุยามถือพัดวาลวิชนี พระศาสดาเสด็จลงพร้อมด้วยบริวารนี้ หยุดประทับอยู่ที่ประตูสังกัสสนคร
แม้พระสารีบุตรเถระมาถวายบังคมพระศาสดาแล้ว เพราะพระศาสดาเสด็จลงด้วยพุทธสิริเห็นปานนั้น อันท่านไม่เคยเห็นแล้ว ในกาลก่อนแต่นี้ เพราะฉะนั้น จึงประกาศความยินดีของตน ด้วยคาถาทั้งหลายเป็นต้นว่า
 
พระศาสดา ผู้มีถ้อยคำอันไพเราะ ทรงเป็น อาจารย์แห่งคณะเสด็จมาจากดุสิตอย่างนี้ เรายังไม่เห็น หรือไม่ได้ยินต่อใคร ในกาลก่อนแต่นี้ แล้วทูลว่า
‘พระเจ้าข้า วันนี้เทวดาและมนุษย์แม้ทั้งหมดย่อมกระหยิ่ม ปรารถนาต่อพระองค์’
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะท่านว่า
“สารีบุตร ชื่อว่าพระพุทธเจ้าผู้ประกอบพร้อมด้วยคุณเห็นปานนี้ ย่อมเป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายโดยแท้”
……………....................📖
ปัญหา (สำหรับแอดมิน) มีอยู่ว่า “ผู้ที่ยืนซ้ายสุดในภาพพระพิมพ์คือใคร”
ตรงนี้นักวิชาการเมียนมาร์เองให้ความเห็นว่าเป็น “พระพรหม” (ซึ่งก็น่าจะใช่ตามบริบทในอรรถกถา)
แต่เนื่องจากภาพส่วนล่างนี้แสดงเป็นทางลาดลงมา ดังนั้นถ้าเป็น “พระพรหม” ซึ่งเป็นผู้ตามเสด็จก็ควรจะต้องอยู่ค่อนไปทางด้านหลังพระพุทธองค์มากกว่า
ส่วนผู้ที่นั่งด้านหน้าถวายบังคมตามที่นักวิชาการเมียนมาร์ว่าเป็น “พระสารีบุตร” ก็จะตรงกับอรรถกถาพอดี
แล้วผู้ที่ยืนพนมมือ “ซ้ายสุด” ในภาพซึ่งควรเป็น "ผู้เข้าเฝ้า" ที่ไม่น่าจะใช่ “พระพรหม” (ในความเห็นของแอมิน) ควรจะเป็นใคร
คำตอบอาจจะอยู่ในบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนข้างต้นนี้ก็เป็นได้ครับ (ต่อไปนี้เป็นความเห็นแอดมินเอง - โปรดใช้วิจารณญานประกอบ)
ในบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนเมื่อมาถึงเมือง “สังกัสสะ” ได้บันทึกเรื่องราวสำคัญและตำนานหลายเรื่องที่เกิดขึ้นที่เมืองนี้ไว้ หนึ่งในนั้นก็คือเรื่อง “เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์” ที่ประตูเมือง “สังกัสสะ” ในวันปวารณาออกพรรษานี้
หากแฟนเพจสังเกตให้ดีจะมีที่ “แปลก” ออกไปในบันทึก ก็คือเรื่องนางภิกษุณี “อุปทละ” ที่ต้องการเข้าเฝ้าพระองค์เป็นคนแรกดังนี้
“นางภิกษุณี ‘อุทปละ’ คิดรำพึงอยู่ในใจตนว่า วันนี้บรรดากษัตริย์และเสนาอมาตย์ราษฎรทั้งหลาย จะมาประชุมด้วยความโสมนัสยินดีต้อนรับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นสตรี ไฉน​จึงจะได้เป็นหัวหน้าเข้าไปเฝ้าเห็นพระองค์เป็นคนแรกได้สมปรารถนาหนอแล
ในทันใดนั้น พระพุทธองค์ (ทรงทราบ) โดยอำนาจญาณวิถีแห่งพระองค์ ทรงแปลงร่างนางภิกษุณีอุทปละให้ปรากฏขึ้นเป็นท้าวจักรพรรดิราชอันบริสุทธิ์ และได้เป็นหัวหน้าซึ่งมวลหมู่ชนทั้งหลายต้องกระทำการเคารพยำเกรง”
…..
หลวงจีนฟาเหียนบันทึกว่า นางภิกษุณี “อุทปละ” ได้เข้าเฝ้าเป็นคนแรก (ในฝ่ายฆารวาส) และ ณ สถานที่เข้าเฝ้านั้น ก็ได้มีผู้สร้างสตูปขึ้นองค์หนึ่งซึ่งยัง “ปรากฏ” ให้เห็นอยู่ในวันที่ท่านมาถึงเมือง “สังกัสสะ”
เรื่องนางภิกษุณี “อุทปละ” จึงเป็น “ตำนาน” ติดสถานที่
ผู้ที่ยืนซ้ายสุด “พนมมือท่าทางองอาจ” ในภาพพระพิมพ์ก็อาจ “สะท้อน” เรื่องราวนี้ก็ได้ และหากย้อนไปอ่านเรื่องราวในบันทึเกี่ยวกับภิกษุณีของหลวงจีนฟาเหียนที่ “เมืองมถุรา” ว่า
ภิกษุณีทั้งหลายส่วนมากไปกระทำการบูชาที่ “สถูปพระอานนท์” เพราะเป็นผู้ทูลขอให้ประทานพุทธานุญาตให้บวชภิษุณีได้ และที่เมืองสังกัสะ ณ จุดที่ นางภิกษุณี “อุทปละ” ได้เข้าเฝ้า ก็ยังสร้างสตูปไว้เช่นกัน
แสดงให้เห็น “คติ” ของภิกษุณีในทั้ง ๒ เมืองนี้
“ภิกษุณี” ที่เมือง “สังกัสสะ” นี่เอง จึงน่าจะเป็นผู้สร้างพระพิมพ์ชุดนี้ เพื่อสะท้อนเรื่องราวของนางภิกษุณี “อุทปละ”
และถ้าเป็นไปตามกรณีนี้ เมือง “สะเทิม” ที่มีประวัติเก่าแก่ย้อนหลังไปถึงสมัยพุทธกาล ก็คือเมือง “สังกัสสะ” ในสมัยนั้นนั่นเอง
เรื่องราว ทิศทาง และระยะทางจากเมืองมถุรา (เดินทางจากมถุราต่อลงไปทาง ‘ตะวันออกเฉียงใต้’ เป็นระยะทาง ๑๘ โยชน์) และพระพิมพ์ดินเผาที่ขุดพบ (ที่นี่ที่เดียว) ก็จะสอดคล้องลงตัวกับบันทึกการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียนพอดี
ใน Ep ต่อไปแอดมินจะได้ลงรายละเอียดตำแหน่งที่ตั้ง และเรื่องราวอื่น ๆ ที่สำคัญในบันทึกที่พบเจอที่เมือง “สังกัสสะ” เพิ่มเติมให้อีกครับ
🙏ขอบพระคุณแฟนเพจทุกท่าน ที่ติดตามอ่านกันมาโดยตลอด
🚌🛺 ✈️ มาเที่ยวชมพูทวีปบนแผ่นดินไทยกันดีกว่า ❤️ เที่ยวไม่ต้องแย่งใคร … ได้อานิสงส์เท่ากัน🙏🙏🙏
🙏 📸 ภาพจาก Khin Ma Ma Mu, Terracotta Votive Tablets from Catubhummika Hngak Twin Monastery, Thaton, SPAFA Journal Vol 2 (2018) Page 20.
🎥 Votive Tablets of Stubhummikka Monastery, Thaton
(ความเห็นเรื่องพระพิมพ์ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์อยู่นาทีที่ 19:46)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา