20 เม.ย. เวลา 22:50 • ประวัติศาสตร์

ตามหาสาวัตถี ตอน 7 - จาก “กัสมีระ” สู่ “สาวัตถี” (ตอนที่ ๖) : เทโวโรหณะ ร่องรอยจากตำนาน เมืองสะเทิม

[ #คำเตือน เนื่อหาในซีรีส์นี้ จำเป็นต้องใช้วิจารณญานในการอ่านมากเป็นพิเศษ ท่านที่ไม่สามารถวางองค์ความรู้เรื่องดินแดนเกิดของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ “อินเดีย” เอาไว้ข้าง ๆ ตัวก่อนอ่านได้ แอดมินอยากให้ข้ามเพจนี้ไปนะครับ เพื่อที่เวลาอันมีค่าของท่านจะได้ไม่ต้องมาสูญเปล่าไปโดยไม่ได้ประโยชน์อันใด]
📖…………………………………
“เทโวโรหณะ” “ตักบาตรเทโว” หรือ “ตักบาตรเทโวโรหณะ” หมายถึง ประเพณีการตักบาตรในวันถัดจากวันออกพรรษา
ในพรรษาที่ ๗ นับจากปีที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่หนึ่งพรรษา
ครั้นถึงวันปวารณาออกพรรษาวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๑ พระพุทธองค์จึงเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ทางบันไดแก้วมณีที่ประตูเมือง ‘สังกัสสะ’ ทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีสว่างไสวเรืองรองไปทั่วทั้งโลกธาตุ แล้วเกิดสิ่งอัศจรรย์ขึ้น
ทรงเปิดโลกทั้งสาม ให้เห็นถึงกันในเวลาเดียวกัน คือ สวรรค์ มนุษย์ นรก เห็นกันหมด
ทั้งเทวดามนุษย์ สัตว์นรก สัตว์เดียรัจฉานเปรตอสุรกายต่างเห็นกันและกันด้วยตาเนื้อ เป็นอัศจรรย์ด้วยพุทธานุภาพ เมื่อเห็นความอัศจรรย์นั้นต่างเกิดมหาปีติ พากันตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้า เพราะเห็นพุทธานุภาพนั้นแม้แต่มดซึ่งเป็นสัตว์เดียรัจฉานยังมีความรู้สึกนึกคิดที่จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าด้วย
วันนั้นจึงเรียกว่า “วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก”
 
อนึ่งในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาสู่มนุษย์โลกนั้น ประชาชนพร้อมกันไปทำบุญตักบาตรเป็น จำนวนมากสุดจะประมาณ พิธีที่กระทำกันในการ “ตักบาตรเทโว” ซึ่งถือตามประวัตินี้ก็เท่ากับทำบุญตักบาตรรับเสด็จพระพุทธเจ้าในคราวเสด็จลงมาจากเทวโลกนั่นเอง
บางวัดจึงเตรียมการในคฤหัสถ์แต่งตัวเป็นเทวดาบ้างเป็นพรหมบ้างแล้วอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่มีล้อเคลื่อน และมีบาตรตั้งอยู่ข้างหน้าพระพุทธรูปใช้คนลากนำหน้าพระสงฆ์ พวกทายกทายิกาตั้งแถวเรียงรายคอยใส่บาตร เป็นการกระทำให้ใกล้กับความจริงเพื่อเป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ส่วนอาหารที่นำมาทำบุญตักบาตรในวันนั้น มีข้าวกับข้าวต้มมัดใต้ “ข้าวต้มลูกโยน” ที่ห่อด้วยใบมะพร้าวหรือใบลำเจียกไว้หางยาว และข้าวต้มลูกโยนนี้มีประวัติมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะตั้งใจอธิษฐานแล้วโยนไปให้ลงบาตรของพระพุทธเจ้า เนื่องจากมีคนมากเข้าไปใส่บาตรไม่ได้
(เรียบเรียงจากบทความ “ตักบาตร เทโวโรหณะ การหยั่งลงจากเทวโลก” โดย พระครูปราโมทย์สีลคุณ)
…............................................. 📖
คำว่า “เทโวโรหณะ” ประกอบด้วยคำจากภาษาบาลีว่า “เทว” และ “โอโรหณ”
 
เทว หมายถึง เทวโลก
โอโรหณ หมายถึง การลง
รวมกันจึงแปลว่า “การลงจากเทวโลก” ประเพณี “ตักบาตรเทโวโรหณะ” จึงเป็นการทำบุญที่ทำให้รำลึกถึง “เหตุการณ์สำคัญ” ทางพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธเราปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานมากกว่า ๒๕๐๐ ปีแล้ว
ใน Ep ที่ผ่านมา แอดมินได้นำเสนอเรื่องราวของ “พระพิมพ์ดินเผา” ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ พบจากกรุในวัดโบราณแห่งหนึ่งที่เมือง “สะเทิม” เมืองหลวงของอาณาจักร “มอญโบราณ” ในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเมืองนี้มี “ตำนานเมือง” ย้อนไปได้ถึงสมัยพุทธกาล
และตำแหน่งของเมือง “สะเทิม” นั้น ตรงกับตำแหน่งของเมือง “สังกัสสะ” ในบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนพอดี
เมื่อลองสืบค้นต่อไปก็พบว่ายังมี “ตำนาน” ของเมือง “สะเทิม” ที่ “เชื่อมโยง” เรื่องราวในพุทธประวัติเข้ากับหลาย “พื้นที่” ในปัจจุบัน ซึ่งเป็น “ร่องรอย” ที่จะช่วยให้สืบค้นเมืองอีกหลายเมืองที่มีกล่าวในพระไตรปิฎก
แอดมินเลยจะขอนำมาเสนอตำนานเมือง “สะเทิม” ใน Ep นี้ ก่อนที่จะข้ามเข้า “ฝั่งไทย” ไปตามหาเมือง “สาวัตถี” กันต่อไปครับ
📖 ……………………………………………….
ตำนาน “เมืองสะเทิม” หรือตำนาน “พระเกศาธาตุทั้ง ๖”
ก่อนพระพุทธเจ้าสำเร็จพระโพธิญาณ ๕๐ ปี มีเมือง “สุพินทะนคร” หรือเมือง “สะเทิม” ที่มีกษัตริย์ชื่อ “พระเจ้าติสสะ” เป็นกษัตริย์ที่ทรงเดชอำนาจอันสืบเนื่องจากที่ได้รับธนูจากพระอินทร์
ในสมัยนั้นฝ่าย “โยดะยา” (อยุชฌยบุรี คือ หริภุญไชย- แอดมิน) มักยกทัพมาตีเมืองของพระเจ้าติสสะบ่อยครั้ง แต่ไม่เคยชนะ พระเจ้าติสสะจึงโปรดให้สร้างเมือง “ชัยนคร” หรือเมือง “กอกะเร็ก” (เกาะเกร็ด) ขึ้นบริเวณเทือกเขา “โดหะนะ”
ต่อมาเมื่อพระเจ้าติสสะสิ้นพระชนม์ กษัตริย์อินทาเจ้าเมืองชัยนครก็ตั้งตนเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อเมืองสะเทิมอีกต่อไป พร้อมทั้งตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า “ทวารปุระ”
เมื่อเมือง “ทวารปุระ” มีความเจริญและมีอาณาเขตกว้างขวางมากขึ้น จึงต้องการสร้างเมืองหน้าด่านจำนวน ๖ เมือง เพื่อดูแลเขตแดนด้านที่ติดกับโยดะยา หนึ่งใน ๖ เมืองนั้นคือ “เมืองเมียวดี” เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันออกของเมืองทวารปุระ มีเจ้าเมืองชื่อ “สุมนะ”
(ถัดจากเมืองกอกะเร็ก หรือ ทวารปุระ ข้ามเขา "โดหะณะ" มาทางทิศตะวันออกจะเป็นเมือง "เมียวดี" ถัดจากเมียวดีมาทางตะวันออกจะเป็นเมือง "แม่สอด" บ้านเรา)
ในตำนานยังได้กล่าวถึงความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาด้วยว่า
 
หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากบิณฑบาตที่ “เชียงใหม่” ได้แวะที่เมืองเมียวดี พร้อมด้วยพระสงฆ์ ๕๐๐ รูป เจ้าเมืองเมียวดีสุมนะมีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ได้รับพระเกศาธาตุ ๔ องค์ จากนั้นเจ้าสุมนะจึงนิมนต์พระพุทธเจ้าไปที่เมืองทวารปุระ
แต่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ แต่ส่งพระอรหันต์จำนวน “๓๓ รูป” ไปเป็นตัวแทน พระอรหันต์ทั้งหมดเหาะไปที่เมืองทวารปุระ แต่ชาวเมืองแตกตื่น ไม่เคยเห็น จึงฟ้องกษัตริย์แห่งทวารปุระ
กษัตริย์ได้ส่งทหารมาจับพระอรหันต์ทั้งหมดไปขัง ฝ่ายเจ้าเมืองสุมนะต้องมาช่วยเจรจา สุดท้ายกษัตริย์แห่งทวารปุระได้ฟังธรรมจากพระอรหันต์ จึงเกิดความศรัทธาเลื่อมใส และยอมรับในพระพุทธศาสนา
กลับมาที่พระเจ้าติสสะราชานั้น มีพระราชโอรส ๒ พระองค์ แต่ทั้ง ๒ พระองค์ไม่ประสงค์จะครองราชย์ จึงออกบวชเป็นฤาษี ตนพี่อยู่ที่เขาสิ่นไจ่ง์ เมืองเย ในรัฐมอญ ส่วนตนน้องอยู่ที่เขาซวยกะปิ่ง เมืองพะอาน รัฐกะเหรี่ยง
แต่แล้ววันหนึ่งที่เชิงเขาสิ่นไจ่ง์ มีนางนาคทะเลสมสู่กับวิทยาธร กำเนิดเป็นไข่ ๒ ใบ เมื่อวิทยาธรหนีไปนางนาคจึงละทิ้งไข่แล้วหนีไปด้วยความอับอาย ฤาษีตนพี่จึงเก็บไข่ไว้ใบหนึ่งแล้วแบ่งไข่ที่เหลือให้ฤาษีตนน้องเลี้ยง
ไข่ทั้ง ๒ ใบ ฟักออกมาเป็นเด็กผู้ชาย ๒ คน
ต่อมาเด็กชายที่ฤาษีตนน้องแห่งเขาซวยกะปิ่งได้เสียชีวิตลงเมื่ออายุ ๑๐ ขวบ ได้ไปเกิดใหม่เป็น “พระควัมปติ” อยู่ในชมพูทวีป ส่วนเด็กชายซึ่งฤาษีตนพี่เลี้ยงนั้นเจริญวัยได้ครองราชย์เป็นเจ้าเมือง “สะเทิม”
พระควัมปตินั้นได้บวชเป็นภิกษุแล้วระลึกชาติได้ เห็นควรนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในแผ่นดินของพี่ จึงเดินทางกลับมา กษัตริย์ผู้ครองเมืองสะเทิมเกิดความเลื่อมใส จึงขอให้พระควัมปติไปนิมนต์พระพุทธเจ้ามาที่เมืองสะเทิม
ครั้นพระพุทธองค์เสด็จมา ได้พระราชทานพระเกศาให้ไว้ ๖ เส้น กษัตริย์แห่งเมืองสะเทิมได้ประดิษฐานพระเกศาธาตุองค์หนึ่งไว้ที่พระเจดีย์ชเวซายัน เมืองสะเทิม นั้นเอง”
(เรียบเรียงจาก - สรุปบรรยายสาธารณะเรื่อง “ตามเส้นทางพระเจ้าเลียบโลก ไปเมียวดี พะอาน สะเทิม และมะละแหม่ง” บรรยายโดยสิทธิพร เนตรนิยม)
…........................................................ 📖
- ร่องรอยแรก
เรื่องที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากบิณฑบาตที่ “เชียงใหม่” ได้แวะที่เมือง “เมียวดี” พร้อมด้วยพระสงฆ์ ๕๐๐ รูป จะเห็นว่าความทรงจำที่ได้กลายเป็นตำนานของชาว "มอญโบราณ" แสดงให้เห็นว่าสมัยพุทธกาลมี "เมืองใหญ่" ตั้งอยู่ในบริเวณเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันแล้ว
แฟนเพจที่ติดตามกันมาตลอดก็คงจะทราบดีว่า “เชียงใหม่” ในตำนานก็คือเมือง “ราชคฤห์” ในสมัยพุทธกาลนั่นเอง
- ร่องรอยที่ ๒
เรื่องพระอรหันต์จำนวน “๓๓ รูป” ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปโปรดกษัตริย์แห่ง “ทวารปุระ” มีข้อสังเกตของร่องรอยนี้อยู่ที่จำนวน “พระอรหันต์” ที่ไปลงตัวกับเรื่อง “พระภัททวัคคิยเถระ” ชาวเมือง “ปาเฐยยะ” ๓๐ รูปพอดี
ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระภัททวัคคีย์พบพระพุทธเจ้าครั้งแรกไว้ดังนี้
📖…………………………..
[๓๖] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระนครพาราณสีตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จจาริกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่ตำบลอุรุเวลา และทรงแวะจากทาง แล้วเสด็จเข้าไปยังไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง ครั้นถึงไพรสณฑ์นั้นแล้ว ประทับนั่ง ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง
ก็โดยสมัยนั้นแล สหายภัททวัคคีย์จำนวน ๓๐ คน พร้อมด้วยปชาบดีบำเรอกันอยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งนั้น สหายคนหนึ่งไม่มีประชาบดี สหายทั้งหลายจึงได้นำหญิงแพศยามาเพื่อประโยชน์แก่เขา
ต่อมาหญิงแพศยานั้น เมื่อพวกสหายนั้นเผลอตัวมัวบำเรอกันอยู่ ได้ลักเครื่องประดับหนีไป จึงพวกสหายนั้น เมื่อจะทำการช่วยเหลือสหาย เที่ยวตามหาหญิงแพศยานั้น ไปถึงไพรสณฑ์แห่งนั้น ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง
ครั้นแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคเห็นหญิงบ้างไหม เจ้าข้า?
พระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามว่า ดูกรกุมารทั้งหลาย พวกเธอจะต้องการอะไรด้วย หญิงเล่า?
ภัท. เจ้าข้า พวกข้าพเจ้าเป็นสหายภัททวัคคีย์จำนวน ๓๐ คน ในตำบลนี้ พร้อมด้วยปชาบดี บำเรอกันอยู่ในไพรสณฑ์แห่งนี้ สหายคนหนึ่งไม่มีปชาบดี พวกข้าพเจ้าจึงได้นำหญิงแพศยามาเพื่อประโยชน์แก่เขา
ต่อมา หญิงแพศยานั้น เมื่อพวกข้าพเจ้าเผลอตัวมัวบำเรอกันอยู่ได้ลักเครื่องประดับหนีไป เพราะเหตุนั้น พวกข้าพระองค์ผู้เป็นสหายกัน เมื่อจะทำการช่วยเหลือสหาย จึงเที่ยวตามหาหญิงนั้นมาถึงไพรสณฑ์แห่งนี้ เจ้าข้า
พ. ดูกรกุมารทั้งหลาย พวกเธอสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่พวกเธอแสวงหาหญิงหรือแสวงหาตนนั้น อย่างไหนเป็นความดีของพวกเธอเล่า?
ภัท. ข้อที่พวกข้าพระองค์แสวงหาตนนั่นแล เป็นความดีของพวกข้าพเจ้า เจ้าข้า.
พ. ดูกรกุมารทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นพวกเธอนั่งลงเถิด เราจักแสดงธรรมแก่พวกเธอ.
ในที่สุดสหายภัททวัคคีย์จำนวน ๓๐ คน ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ทูลขอบรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคทรงประทานอุปสมบทให้โดยตรัสว่า “พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด” ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า
ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด
……………………………………………… 📖
แอดมินขอเพิ่มเติมให้ในส่วนของ “อรรถกถา” ที่ได้ระบุที่ตั้งของเมือง “ปาเฐยยะ” ไว้ดังนี้
📖 …......................
บทว่า ปาเฐยฺยกา มีความว่า เป็นชาวจังหวัดปาเฐยยะ
มีคำอธิบายว่า ทางด้านทิศตะวันตกในแคว้นโกศล มีจังหวัดชื่อปาเฐยยะ ภิกษุเหล่านั้นมีปกติอยู่ในจังหวัดนั้น
คำว่า ปาเฐยฺยกา นั้น เป็นชื่อของพวกพระภัททวัคคิยเถระ ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมพระบิดาของพระเจ้าโกศล ในพระเถระ ๓๐ รูปนั้น รูปที่เป็นใหญ่กว่าทุกๆ รูป เป็นพระอนาคามี, รูปที่ด้อยกว่าทุกๆ รูปเป็นพระโสดาบัน, ที่เป็นพระอรหันต์หรือปุถุชน แม้องค์เดียวก็ไม่มี
……………………………… 📖
อรรถกถาบอกเราว่า เมือง “ปาเฐยยะ” อยู่ทางด้านทิศตะวันตกใน “แคว้นโกศล”
ส่วนแคว้นโกศลเอง อาจประมาณเบื้องต้น (ในความเห็นของแอดมิน) ได้ว่า คือบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่เมืองนครปฐม (พาราณสี) กาญจนบุรี อู่ทอง ขึ้นไปจนถึงเมืองกำแพงเพชร
เมื่อพิจารณาประกอบกับตำนานเมืองสะเทิม ดังนั้นเมือง “ปาเฐยยะ” ในสมัยพุทธกาลก็น่าจะเป็นเมือง “กอกะเร็ก” ในปัจจุบันนั่นเอง
จะเห็นว่าจาก “พาราณสี (นครปฐม)” พระพุทธองค์ทรงเสด็จขึ้นไปทางเหนือแวะที่เมือง “กอกะเร็ก” เพื่อไปยังตำบลอุรุเวลา (อยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน) หากจะเสด็จต่อไป “ราชคฤห์” (เชียงใหม่) ก็ทำได้โดยง่าย ก็จะสอดคล้องลงตัวพอดีกันทั้งหมด
แอดมินขอให้จำตำแหน่งเมือง “ปาเฐยยะ” นี้ไว้นะครับ เพราะจะทำให้เรากำหนดเมืองอื่น ๆ ในพระไตรปิฎกได้อีกหลายเมือง
- ร่องรอยที่ ๓
เมือง “กอกะเร็ก” หรือเมือง “ปาเฐยยะ” สร้างขึ้นบริเวณ “เทือกเขาโดหะนะ” ซึ่งหากดูจากแผนที่แล้วอาจกล่าวได้ว่าเป็นเทือกเขาเดียวกันกับเทือกเขาด้านฝั่งตะวันออกของเมือง “สะเทิม”
ชื่อ “เขาโดหะนะ” จึงน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “โรหณะ” คือเขาที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลกนั่นเอง
- ร่องรอยที่ ๔ “พระเกศาธาตุ”
บันทึกของ “หลวงจีนฟาเหียน” ระบุว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์ประทับที่เมือง “สังกัสสะ” ได้ทรงปลงพระเกศาและตัดพระนขา (เล็บ) และได้มีผู้ก่อสร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุนี้ไว้ และยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า ณ ที่นี้เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าในอดีตอีก ๓ พระองค์ และพระพุทธเจ้าศากยมุนี (รวม ๔ พระองค์) ทรงเสด็จมาประทับ (และประทานพระเกศาธาตุไว้ให้)
สอดคล้องตรงกันกับ “ตำนาน” ของ “เจดีย์ชเวซายัน” ที่เมืองสะเทิมพอดี
“เจดีย์ชเวซายัน” ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองสะเทิม มีตำนานเล่าว่าภายในเจดีย์บรรจุ “พระเกศาธาตุ” และ “พระทันตธาตุ” ของพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ในกัลป์นี้ รวมไปถึงองค์ที่พระควัมปตินำมาด้วยเช่นกัน
สำหรับพระพุทธเจ้าศากยมุนีใน “ตำนาน” เมืองสะเทิมระบุว่า เสด็จมาประทับอยู่นานถึง ๔ เดือน (จึงน่าจะเป็นการจำพรรษาช่วงเสด็จดาวดึงส์และลงมายังเมืองสังกัสสะ - แอดมิน)
- ร่องรอยสุดท้าย (อันนี้แอดแถมให้ครับ)
นอกจากบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนแล้วยังมี “บันทึกท่องเที่ยวชมพูทวีป” ของ “หลวงจีน” อีกท่านหนึ่งที่ไม่ใช่ทั้ง “พระถังซัมจั๋ง” หรือ “พระอี้จิง” ที่ระบุว่า จุดที่พระพุทธเจ้าทรง “ลงจากเทวโลก” นั้น ได้มีการสร้าง “เจดีย์” ไว้และถือเป็นเจดีย์องค์ “สำคัญ” องค์หนึ่งในมหาเจดีย์จำนวน ๔ องค์ในชมพูทวีป
บันทึกระบุว่าเจดีย์นี้สร้างที่เมือง “สังกัสสะ”
ในบันทึกยังให้ข้อมูลทางภูมิศาสตร์เพิ่มเติมอีกว่าเมือง “สังกัสสะ” ตั้งอยู่ “ในระหว่าง” แม่น้ำใหญ่ ๒ สาย
ก็จะลงตัวพอดีกับเมือง “สะเทิม” ที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำ “สะโตง” กับ แม่น้ำ “สาละวิน” อย่างชัดเจนครับ
ทั้งหมดนี้เป็นบันทึก ตำนานและสภาพทางภูมิศาสตร์ของเมือง “สังกัสสะ” กับเมือง “สะเทิม” เท่าที่แอดมินจะพอหามาได้
ที่เหลือก็คงต้องใช้วิจารณญาน และช่วยกันค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปครับ
ใน Ep หน้า แอดมินจะพาข้ามไปฝั่งไทย ตามรอยบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนต่อไปยังเมือง “กัณณกุชชะ” ซึ่งห่างจากเมืองสังกัสสะไปทางทิศ "ตะวันออกเฉียงใต้" ๗ โยชน์
ส่วน “กัณณกุชชะ” นั้นน่าจะเป็นเมืองอะไรในบ้านเรา ก็ขอให้ติดตามกันต่อไปนะครับ
🙏ขอบพระคุณแฟนเพจทุกท่าน ที่ติดตามอ่านกันมาโดยตลอด
🚒🚲🛺✈️มาเที่ยวชมพูทวีปบนแผ่นดินไทยกันดีกว่า ❤️ เที่ยวไม่ต้องแย่งใคร … ได้อานิสงส์เท่ากัน 🙏🙏🙏
📸 ภาพ: เมืองสะเทิม หรือ ตะโถ่ง หรือ Thaton ในประเทศเมียนมาร์
(หรือ “สังกัสสะ” ในความเห็นแอดมิน - โปรดใช้วิจารณญาน)
(แนะนำให้ดูคลิปนี้ จะเห็นภาพทางขึ้น (่ลง) ๓ ทางได้ชัดขึ้น)
🎥 เจดีย์เมียะตาเบ๊ต ซันดอว์ซิน,Myatabet sandawzin,Thaton
🎥 เสวนาสาธารณะ เรื่อง ตามเส้นทางพระเจ้าเลียบโลกไปเมียวดี พะอาน สะเทิม และมะละแหม่ง
(ตำนานเมืองสะเทิมนาทีที่ 5:10 และ 1:40:40)
🎥 เมียวดี-ก่อกะเระ เกี่ยวข้องกันอย่างไรกับประวัติศาสตร์บ้านเรา
(เผื่อใครสนใจศึกษาเพิ่มเติมการเชื่อมโยงกับทวาราวดี ดูนาทีที่ 9:00)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา