Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เบื่อเมือง
•
ติดตาม
23 เม.ย. เวลา 00:13 • ประวัติศาสตร์
ตามหาสาวัตถี ตอน 8 - จาก “กัสมีระ” สู่ “สาวัตถี” (ตอนที่ ๗) : “กัณณกุชชะ” เมืองรูป “ใบหู”
[ #คำเตือน เนื้อหาในซีรีส์นี้ จำเป็นต้องใช้วิจารณญานในการอ่านมากเป็นพิเศษ ท่านที่ไม่สามารถวางองค์ความรู้เรื่องดินแดนเกิดของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ “อินเดีย” เอาไว้ข้าง ๆ ตัวก่อนอ่านได้ แอดมินอยากให้ข้ามเพจนี้ไปนะครับ เพื่อที่เวลาอันมีค่าของท่านจะได้ไม่ต้องมาสูญเปล่าไปโดยไม่ได้ประโยชน์อันใด]
📖 …………………………………
“ภายหลังเวลาเมื่อสิ้นฤดูร้อนแล้ว (หลวงจีนฟาเหียน) ได้ออกเดินทางจากเมือง ‘สังกัสสะ’ ต่อไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ ๗ โยชน์ ก็บรรลุถึงเมือง ‘กัณณกุชชะ’ ซึ่งตั้งอยู่ ‘ตามยาว’ บนฝั่งของแม่น้ำเหิง 恒水 (คงคา - แอดมิน)
นครนี้มีอารามอยู่ ๒ แห่ง พระภิกษุในอารามศึกษาเล่าเรียนทางฝ่ายหินยาน (เถรวาท - แอดมิน)”
(จากบันทึกการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียน)
…........................................ 📖
จาก Ep ที่แล้ว แอดมินได้พาเดินทาง “ตามรอย” หลวงจีนฟาเหียนมาหยุดที่เมือง “สังกัสสะ” หรือเมือง “สะเทิม” ในประเทศ “เมียนมาร์” และใน Ep นี้เราจะเดินทางตามท่านต่อไปให้ถึงเมือง “กัณณกุชชะ” เป็นเมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งใน “ชมพูทวีป” ครับ
เส้นทางต่อจากเมืองสังกัสสะนั้น หาก “เดินเท้า” ต่อมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้อีกเป็นระยะทาง ๗ โยชน์ (๗ วัน) ก็จะมาถึงเมือง ‘กัณณกุชชะ’ ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ “คงคา”
ท่านหลวงจีนฟาเหียนบันทึกเรื่องเมือง “กัณณกุชชะ” เอาไว้เพียงสั้น ๆ ข้างต้นเท่านั้น โดยไม่ได้ให้รายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับเมืองไว้
แต่ยัง “โชคดี” ที่ท่านให้ข้อมูลสำคัญไว้ ๓ เรื่อง ที่สามารถใช้กำหนดตำแหน่งของเมืองได้ ดังนี้
…
เรื่องแรก “ชื่อแม่น้ำคงคา”
หลวงจีนฟาเหียนระบุว่าเมือง ‘กัณณกุชชะ’ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ “เหิงสุ่ย” 恒水 (บางตำราเรียก 恒河 เหิงเหอ) ซึ่งเป็นคำที่คนจีนใช้เรียกแม่น้ำ “คงคา” ที่ปรากฎในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา
จากบันทึกแม่น้ำนี้ต้องมีความ “ยาวมาก” และไหลลงไปทาง “ทิศใต้” เพราะหลวงจีนฟาเหียนต้องเดินทางต่อไปตามแม่น้ำนี้อีกอย่างน้อย ๑๔ โยชน์ (ประมาณ ๒๒๔ กิโลเมตร) จึงถึงเมือง “สาวัตถี”
แอดมินมีข้อสังเกตให้ว่า “คนจีน” ไม่เรียกแม่น้ำ “คงคา” ว่า แม่น้ำ “กันจีส์ Ganges” ทั้ง ๆ ที่แผนที่ปโตเลมีที่เขียนขึ้นประมาณปีพ.ศ. ๖๐๐ ก็ยังเรียกแม่น้ำใน “อินเดีย” ที่นักวิชาการตะวันตกยกให้เป็นแม่น้ำ “คงคา” ของคัมภีร์พุทธศาสนาว่า “Ganges” ตามคนอินเดีย แต่จีนกลับเรียกแม่น้ำ "คงคา" ว่า “เหิงสุ่ย"
“เหิงสุ่ย 恒水” ของหลวงจีนฟาเหียนจึงไม่ได้อยู่ใน “อินเดีย” และต้องอยู่ข้ามมาทางฝั่งไทยเพราะจากเมือง “สะเทิม” ที่ฝั่งพม่า ไล่ลงมาทางใต้และตะวันออกเฉียงใต้ก็ “ไม่มี” แม่น้ำยาวขนาดนี้
และเมื่อข้ามมาฝั่งไทยแล้วแม่น้ำเดียวที่ไหลจากเหนือลงใต้ ที่มีระยะทางยาวมาก ๆ จนไปสุดทางที่มหาสมุทร ก็คือ “แม่น้ำปิง”
เมือง “กัณณกุชชะ” จึงต้องเป็น “เมืองโบราณ” ที่ตั้งอยู่ติดริมฝั่ง “แม่น้ำปิง” ครับ
…
เรื่องที่ ๒ “กัณณกุชชะ” ห่างจาก “สังกัสสะ” ๗ วันเดินทาง
บันทึกของหลวงจีนฟาเหียนระบุว่า เมื่อเดินทางจากเมือง ‘สังกัสสะ’ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ได้ ๗ โยชน์ ก็บรรลุถึงเมือง ‘กัณณกุชชะ’
“ข้อมูล” นี้ตรงกันกับหลวงจีน “ฮุยเจียว” (ที่แอดมินจะกล่าวถึงต่อไป) ว่าท่านเดินทางจากเมือง ‘กัณณกุชชะ’ ไปทางทิศตะวันตก “๗ วัน” ถึง “สังกัสสะ” เช่นกัน
โดยนัยในความหมายนี้ “๑ โยชน์” ในบันทึกของ “หลวงจีน” ทั้ง ๒ ท่าน ระยะทาง ๑ โยชน์ อาจประมาณได้เท่ากับ ๑ วันเดินทาง หรือประมาณได้ ๑๖ กิโลเมตร ถือว่าเป็นการ “เทียบ” ระยะทางที่สมเหตุผลอยู่
แอดมินมี “ข้อสังเกต” เพิ่มเติมให้ว่า หลวงจีนฟาเหียนท่านจะบอกระยทางเป็น “โยชน์” ก็ต่อเมื่อระยะทางนั้น ๆ มีปรากฏอยู่ใน “พระไตรปิฏก” หรือ “อรรกถกถา” หรือเป็นระยะทางที่ชาวบ้าน (ชาวชมพูทวีป) บอกท่าน
และจะบอกระยะทางเป็น “ลี้” เมื่อท่านวัดหรือประมาณระยะทางด้วยตนเองเท่านั้น ตรงนี้ “นักวิชการตะวันตก” ที่อ่านบันทึกท่านไม่เข้าใจ เคยบ่นท่านด้วยความไม่รู้ ว่าท่านบันทึกด้วยหน่วยที่ “สับสน” ไปมา
ดังนั้นระยะทาง “ระหว่าง” เมืองต่าง ๆ ที่หลวงจีนฟาเหียนบันทึกไว้ ก็จะตรงกับ “พระไตรปิฎก” หรือ “อรรถกถา” ทั้งหมด
…
ก่อนจะไปถึงเรื่องที่ ๓ แอดมินขอแทรกข้อมูลเพิ่มเติม เป็นบันทึกของหลวงจีน “ฮุยเจียว” ที่บรรยายลักษณะของเมือง “กัณณกุชชะ” ไว้อย่างละเอียดเสียก่อน
หลวงจีน “ฮุยเจียว” (ความจริงท่านเป็นภิกษุชาวอาณาจักร “ชิลลา”) ได้เดินทางมาจาริกแสวงบุญที่ “ชมพูทวีป” โดยทางเรือ เมื่อประมาณปีพ.ศ. ๑๒๖๓ (หลังพระถังซัมจั๋งและหลวงจีนอี้จิง) แต่ขากลับท่านใช้ “เส้นทางบก” เส้นทางเดียวกับหลวงจีนฟาเหียน (ตอนขามา) เพื่อย้อนกลับไปเมืองจีน
ดังนั้น เมืองต่าง ๆ ที่ท่านมาจาริกแสวงบุญในชมพูทวีปและบันทึกไว้ จึง “ตรงกัน” กับบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนเกือบทั้งหมด
แน่นอนว่า “นักวิชาการตะวันตก” ไม่ยอมเอาบันทึกท่านมาใช้อ้างอิงเช่นกัน เพราะมัน “ไม่ตรง” กับเมืองต่าง ๆ ใน “อินเดีย” ที่ “เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม” ท่านกำหนดไว้
ท่านบรรยายเมือง “กัณณกุชชะ” ไว้ดังนี้ครับ
📖 ……………………………
“เดินทางจากเมืองพาราณสี … (ข้อความขาด) … เดือน ก็บรรลุถึงเมืองที่พระเจ้าแผ่นดินแห่งชมพูทวีป “ภาคกลาง” ประทับอยู่ เมืองนี้ชื่อว่า “กัณณกุชชะ”
พระองค์ทรงครอบครองดินแดนอันกว้างใหญ่และมีประชากรคับคั่ง
พระองค์มักจะนำทัพไปทำสงครามกับพระเจ้าแผ่นดินอีก ๔ ภาคที่เหลือและเป็นฝ่ายได้ชัยชนะอยู่เสมอ แต่โดยประเพณีของเมืองต่าง ๆ (ในชมพูทวีป) หากเมืองใดรู้ว่าตนมีกำลังอ่อนด้วยกว่า ก็มักจะขอยอมอ่อนน้อมและส่งบรรณาการให้ในแต่ละปีแทนการทำสงคราม
ก็จะไม่มีสงครามหรือการเข่นฆ่ากันเกิดขึ้น …
…
ดินแดนทาง “ภาคกลาง” ของ “ชมพูทวีป” นี้ ค่อนข้างอบอุ่น มีต้นไม้เขียวชอุ่มตลอดปี ปราศจาก “น้ำแข็ง” หรือ “หิมะ” อาหารจะเป็นพวกข้าว ข้าวสุกตากแห้ง เนย นม และนมเปรี้ยว ที่นี่ไม่มีเครื่องปรุงอาหาร (ที่ทำจากถั่วเหลือง) ยกเว้นเพียงแต่ “เกลือ”
ผู้คนกินอาหารที่หุงต้มจาก “หม้อดิน” พวกชาวบ้านไม่ใช้หม้อหรือภาชนะที่ทำจากโลหะ
นอกเหนือจากที่ต้องจ่ายภาษีเป็นผลผลิต (เช่น ข้าว) จำนวน ๑ หาบในทุก ๆ ๕ หาบ จากที่เพาะปลูกได้แล้ว ประชาชนก็จะไม่ถูกเกณฑ์แรงงานไปใช้หรือต้องจ่ายภาษีอื่นอีก ซึ่งจะมีคนของพระเจ้าแผ่นดินมารับไปเอง ราษฏรไม่ต้องลำบากนำไปส่ง
พวกเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และคนรวย สวมใส่ผ้าแค่ ๒ ชิ้น ทอด้วยฝ้าย (น่าจะเป็นผ้าสำหรับนุ่งและผ้าสำหรับห่มสไบ - แอดมิน) ประชาชนทั่วไปใช้ผ้านุ่ง ๑ ชิ้น ส่วนคนจนนุ่งผ้าครึ่งชิ้น (น่าจะเป็นผ้าชิ้นเล็กพอ “นุ่งเตี่ยว” ได้ - แอดมิน)
…
พระเจ้าแผ่นดินและเหล่าขุนนางล้วนเคารพนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย และเมื่อได้พบ “พระเถระ” ก็จะนั่งกับพื้น ไม่นั่งบนอาสนะอันจะเสมอกับพระเถระนั้น
ศาสนสถานต่าง ๆ รวมถึงตำหนัก และพระราชวัง ทั้งหมดล้วนสร้างเป็นแบบ ๓ ชั้น ชั้นล่างสุด (คือ ใต้ถุนบ้าน - แอดมิน) ใช้เป็นที่เก็บสิ่งของต่าง ๆ และชั้นบนที่เหลือใช้เป็นที่อยู่อาศัย ส่วนบรรดาบ้านเรือนของเหล่าขุนนางทั้งหลายก็สร้างดุจเดียวกัน
บ้านเรือนที่กล่าวมานี้ล้วนมุง “หลังคา” ด้วย “กระเบื้อง” และ “ไม้” อย่างเรียบเนียนเสมอกัน
ส่วนบรรดาบ้านเรือนราษฎรทั้งหลายสร้างเป็น “กระท่อม” มุงด้วยหญ้าคา คล้ายกับบ้านทรงหน้าจั่วของชาวจีนและมีชั้นเดียว”
(จากบันทึกจาริกแสวงบุญใน ๕ ภูมิภาคของชมพูทวีป - หลวงจีนฮุยเจียว)
………………………................... 📖
จะเห็นว่าเมือง “กัณณกุชชะ” หรือพูดอีกนัยหนึ่ง คือ “ภาคกลาง” ของชมพูทวีปนั้น
- มีอากาศ “อบอุ่น”
- ประชาชนหุงหาอาหารด้วย “หม้อดิน”
- มีระบบการชั่งตวงวัดเป็น “หาบ” (picul) (หาบ เป็นหน่วยชั่งตวงวัดที่นิยมใช้เฉพาะในจีนและเอเซียอาคเนย์)
- ไม่นั่งสูงกว่าพระสงฆ์
- ชาวเมืองนุ่งผ้าเตี่ยว นุ่งโจง ห่มผ้า (สไบ)
- พระเจ้าแผ่นดินและขุนนางสร้างบ้าน ๒-๓ ชั้น ๆ แรกเป็น “ใต้ถุนบ้าน” เอาไว้เก็บของ (สำหรับศาสนสถานให้ดู “เขาคลังนอก” เป็นตัวอย่างครับ เหมือนที่กล่าวมานี้ชัดเจน)
- ชาวบ้านทั่วไปปลูก “กระท่อม” มุง “หญ้าคา” ใช้เป็นที่อยู่อาศัย
ทั้งหมดนี้ ให้นึกภาพตามยังไงก็ “ไม่เห็น” ภาพ “อินเดีย” เพราะนี่มัน คือ “ภาคกลาง” บ้านเราชัด ๆ ครับ
…
เรื่องที่ ๓
หลวงจีนฟาเหียนระบุว่าเมือง “กัณณกุชชะ” ตั้งเมือง “ตามแนวยาว” ไปบนฝั่งของแม่น้ำคงคา
ซึ่งหากหลวงจีนฟาเหียนจะข้ามมาจากเมือง “สังกัสสะ (หรือ สะเทิม)” ที่ฝั่ง “เมียนมาร์” ก็ควรจะใช้เส้นทางเมือง “เมียวดี-แม่สอด” และเมื่อท่านบอกว่ามาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น กลุ่มเมืองโบราณแรกที่ท่านจะพบทางฝั่งไทย ก็คือกลุ่มเมือง “นครชุม - กำแพงเพชร” และเมือง “ไตรตรึงษ์” คร้บ
ทั้ง ๓ เมืองนี้ตั้งเมือง “ตามยาว” ไปบนฝั่งของ “แม่น้ำปิง” ทุกเมือง
ในที่นี้แอดมินจะไม่ขอ "ฟันธง” ไปว่า “กัณณกุชชะ” น่าจะเป็นเมืองไหนนะครับ เพราะทุกเมืองมีตำนานและหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ ๆ ทุกเมือง
แต่มี “ข้อสังเกต” ตามความหมายของ “ชื่อเมือง” ว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับ “รูปร่าง” ของเมืองที่มีลักษณะเหมือน “ใบหู” (กณฺณ = หู) หรือเปล่า
แฟนเพจคงต้องใช้ “วิจารณญาน” เปรียบเทียบกับผังเมือง “นครชุม - กำแพงเพชร” ตามรูปประกอบ Ep ดูเอาเองนะครับ
…
🌿 ถัดจากเมือง “กัณณกุชชะ” นี้ ท่านหลวงจีนฟาเหียนบอกว่า เดินทางตามแม่น้ำคงคาลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้-ทิศใต้ไปเรื่อย ๆ ก็จะถึง “เมืองสาวัตถี”
ดังนั้นใน Ep หน้าแอดมินจะพาตามรอยท่านต่อไป ส่วนจะแวะเมืองไหนก่อน ก็ขอให้ติดตามกันต่อไปนะครับ
…
🙏 ขอบพระคุณแฟนเพจทุกท่าน ที่ติดตามอ่านกันมาโดยตลอด
🚌🚒🚲🛺 มาเที่ยวชมพูทวีปบนแผ่นดินไทยกันดีกว่า 💕 เที่ยวไม่ต้องแย่งใคร … ได้อานิสงส์เท่ากัน 🙏🙏🙏
…
📸 ภาพ “ผังเมืองนครชุม-กำแพงเพชร” จากหนังสือ “นำชมโบราณวัตถุสถานในอำเภอเมืองกำแพงเพชร ฯ” กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๓
บันทึก
1
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตามหาสาวัตถี
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย