24 เม.ย. เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์

ตามหาสาวัตถี ตอน 9 - จาก “กัสมีระ” สู่ “สาวัตถี” (ตอนที่ ๘) : เมือง “ไม้สีฟัน” - เมือง “ไม้เดน”

[ #คำเตือน เนื้อหาในซีรีส์นี้ จำเป็นต้องใช้วิจารณญานในการอ่านมากเป็นพิเศษ ท่านที่ไม่สามารถวางองค์ความรู้เรื่องดินแดนเกิดของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ “อินเดีย” เอาไว้ข้าง ๆ ตัวก่อนอ่านได้ แอดมินอยากให้ข้ามเพจนี้ไปนะครับ เพื่อที่เวลาอันมีค่าของท่านจะได้ไม่ต้องมาสูญเปล่าไปโดยไม่ได้ประโยชน์อันใด]
…………………………………
📖 เรื่องพระเรวตเถระ
[๖๔๑] ครั้งนั้น พระเถระทั้งหลายกำลังปรึกษากัน ได้คิดว่าอธิกรณ์นี้ (เรื่องวัตถุ ๑๐ ประการ) หยาบช้า กล้าแข็งนัก ไฉนหนอ พวกเราจักได้ฝักฝ่าย ที่เป็นเหตุให้มีกำลังกว่าในอธิกรณ์นี้
ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะอาศัยอยู่ใน “โสเรยยนคร” เป็นพหูสูต ชำนาญในคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม เป็นนักปราชญ์มีความละอาย มีความรังเกียจ ใคร่ต่อสิกขา
พระเถระทั้งหลาย คิดกันว่า ท่านพระเรวตะนี้แล อาศัยอยู่ใน “โสเรยยนคร” เป็นพหูสูต ชำนาญในคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม เป็นนักปราชญ์ มีความละอาย มีความรังเกียจ ใคร่ต่อสิกขา
ถ้าพวกเราได้ท่านพระเรวตะไว้เป็นฝักฝ่าย เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราจักมีกำลังกว่าในอธิกรณ์นี้
ท่านพระเรวตะได้ยินถ้อยคำของพระเถระทั้งหลายปรึกษากันอยู่ด้วยทิพโสตธาตุอันหมดจด ล่วงเสียซึ่งโสตธาตุแห่งมนุษย์ ครั้นแล้วจึงคิดว่า
อธิกรณ์นี้แล หยาบช้า กล้าแข็ง ข้อที่เราจะท้อถอยในอธิกรณ์เห็นปานนั้นไม่สมควรแก่เราเลย
ก็แลบัดนี้ภิกษุเหล่านั้นจักมาหา เราคลุกคลีกับพวกเธอจักอยู่ไม่ผาสุก ถ้ากระไร เราควร (ล่วงหน้า - แอดมิน) ไปเสียก่อน
ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะ ได้ออกจากเมือง “โสเรยยะ” ไปสู่เมือง “สังกัสสะ” ที่นั้น
พระเถระทั้งหลายได้ไปสู่เมือง “โสเรยยะ” แล้วถามว่า
“ท่านพระเรวตะไปไหน”
พวกเขาตอบอย่างนี้ว่า “ท่านพระเรวตะนั้นไปเมือง สังกัสสะ แล้ว”
ต่อมา ท่านพระเรวตะ ได้ออกจากเมือง “สังกัสสะ” ไปสู่เมือง “กัณณกุชชะ”
พระเถระทั้งหลายพากันไปเมือง “สังกัสสะ” แล้วถามว่า
“ท่านพระเรวตะไปไหน”
พวกเขาตอบอย่างนี้ว่า “ท่านพระเรวตะนั้นไปเมือง กัณณกุชชะ แล้ว”
ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะได้ไปจากเมือง “กัณณกุชชะ” สู่เมือง “อุทุมพร”
จึงพระเถระทั้งหลายพากันไปเมือง “กัณณกุชชะ” แล้วถามว่า
“ท่านพระเรวตะไปไหน”
พวกเขาตอบอย่างนี้ว่า “ท่านพระเรวตะนั้นไปเมือง อุทุมพร”
ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะได้ไปจากเมือง “อุทุมพร” สู่เมือง “อัคคฬปุระ”
จึงท่านพระเถระทั้งหลายพากันไปเมือง “อุทุมพร” แล้วถามว่า
“ท่าพระเรวตะไปไหน”
พวกเขาตอบอย่างนี้ว่า “ท่านพระเรวตะนั้นไปเมือง อัคคฬปุระ”
ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะได้ไปจากเมือง “อัคคฬปุระ” สู่ “สหชาตินคร”
พระเถระทั้งหลายพากันไปเมือง “อัคคฬปุระ” แล้วถามว่า
“ท่านพระเรวตะไปไหน”
พวกเขาตอบอย่างนี้ว่า “ท่านพระเรวตะนั้นไป สหชาตินคร แล้ว”
พระเถระทั้งหลายไปทันท่านพระเรวตะที่ “สหชาตินคร” ฯ
…………………………………….. 📖
ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ๑๐๐ ปี ได้เกิดอธิกรณ์ (คดีความ - แอดมิน) เนื่องด้วย “พระวัชชีบุตร” ชาวเมืองเวสาลี แสดงวัตถุ ๑๐ ประการในเมืองเวสาลี ครั้งนั้นพระภิกษุได้แตกกันออกเป็น ๒ ฝ่าย โดยมีพวกหนึ่งเห็นว่า วัตถุ ๑๐ ประการต่อไปนี้ ชอบด้วยพระธรรมวินัย
(ภิกษุ)
๑. เก็บเกลือไว้ในเขนงฉัน ควร (ทำได้)
๒. ฉันอาหารในเวลาบ่าย ล่วงสององคุลี ควร
๓. เข้าบ้านฉันอาหารเป็นอนติริตตะ ควร
๔. อาวาสมีสีมาเดียวกัน ทำอุโบสถต่างๆ กัน ควร
๕. เวลาทำสังฆกรรม ภิกษุมาไม่พร้อมกันทำก่อนได้ ภิกษุมาทีหลังจึง
บอกขออนุมัติ ควร
๖. การประพฤติตามอย่าง ที่อุปัชฌาย์และอาจารย์ประพฤติมาแล้ว ควร
๗. ฉันนมสดที่แปรแล้ว แต่ยังไม่เป็นนมส้ม ควร
๘. ดื่มสุราอ่อน ควร
๙. ใช้ผ้านิสีทนะไม่มีชาย ควร
๑๐. รับทองและเงิน ควร ฯ
ฝ่ายภิกษุที่ไม่เห็นด้วย ได้ปรึกษากันและเห็นว่าควรนิมนต์ท่าน “พระเรวตเถระ” ผู้เป็นพหูสูต ชำนาญในคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย อีกทั้งท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว เข้ามาเป็นพวกในการวินิจฉัยอธิกรณ์นี้
ขณะนั้นท่านพระเรวตะอาศัยอยู่ใน “โสเรยยนคร” เมื่อท่านทราบด้วยญานว่า พระภิกษุกลุ่มนี้กำลังเดินทางมาหาท่าน ถึงแม้ท่านเห็นว่าท่านควรรับระงับอธิกรณ์นี้ แต่เนื่องจากท่านต้องการความผาสุกจากการ “ไม่คลุกคลี” และเห็นว่าอธิกรณ์เกิดขึ้นที่ใด ก็ควรระงับ ณ ที่นั้น
ท่านจึงเดินทางออกจากเมือง “โสเรยยะ” ไปเมือง “เวสาลี” ล่วงหน้าไปก่อน
จนในที่สุดภิกษุกลุ่มนั้นก็ได้เดินทางตามมาทันท่านที่เมือง “สหชาติ” ดังเหตุการณ์ในพระวันัยปิฎก ที่แอดมินยกมากล่าวแล้วในข้างต้น
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เกิดการ “สังคยานา” พระไตรปิฎก “ครั้งที่ ๒” ขึ้นที่ “เมืองเวสาลี” และทำให้สงฆ์ในพุทธศาสนาแตกออกเป็น ๒ ฝ่ายอย่างชัดเจน เป็นครั้งแรกด้วยเช่นกัน
ใน Ep ที่ผ่านมา แอดมินได้นำเสนอเส้นทางการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียนเมื่อท่านเริ่มต้นเข้าสู่ “มัชฉิมประเทศ” ของชมพูทวีปที่เมือง “มถุรา” ท่านระบุว่าจากเมือง “มถุรา” ท่านเดินต่อมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้อีก ๑๘ โยชน์ จึงถึงเมือง “สังกัสสะ (สะเทิม)”
จากนั้นท่านได้เดินต่อมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้อีก ๗ โยชน์ ก็ถึงเมือง “กัณณกุชชะ (นครชุม-กำแพงเพชร-ไตรตรึงษ์)”
ใน Ep นี้เราจะ “เดินตาม” ท่านหลวงจีนฟาเหียนกันต่อครับ และสำหรับแฟนเพจที่เพิ่งเข้ามาอ่าน แอดมินขอแนะนำให้ย้อนกลับไปอ่าน Ep 1-8 ที่ผ่านมาในซีรีส์ “ตามหาสาวัตถี” เสียก่อน ก็จะเข้าใจเนื้อหาได้ต่อเนื่องกันมากขึ้น
เมืองในเส้นทางลำดับต่อ ๆ มาของท่านหลวงจีนฟาเหียนมีดังนี้ครับ
จากเมือง “กัณณกุชชะ” ท่านหลวงจีนฟาเหียนได้ข้ามแม่น้ำ “คงคา” (แม่น้ำปิง) แล้วเดินทางต่อไป (ตามแม่น้ำ) ลงไปทางทิศใต้อีก ๓ โยชน์ ถึงตำบลหนึ่งนามว่า “อาลี 呵梨” และจากเมืองนี้เดินต่อไป (ตามลำน้ำ) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ๓ โยชน์ก็ถึง “สหชาตินคร 沙祇大國”
สำหรับเมือง “อาลี” นอกจากทิศทางและระยะห่างจากเมือง “กัณณกุชชะ” แล้ว หลวงจีนฟาเหียนไม่ได้บอกรายละเอียดอื่น ๆ ให้ไว้อีกเลย
ดังนั้นหากท่านหลวงจีนฟาเหียนมาเดินตาม “แม่น้ำปิง” บ้านเราจริง ถ้าไล่ตามแม่น้ำ “ฝั่งตะวันออก” ลงมาจากเมืองกำแพงเพชรประมาณ ๓ โยชน์ ก็จะต้องมี “เมืองโบราณ” ที่เก่าถึงพุทธศตวรรษที่ ๙ ตั้งอยู่ตามเส้นทาง
ซึ่งก็พบว่ามีเมืองโบราณ “ดงแม่นางเมือง” ่ตั้งอยู่ห่างจากเมือง “ไตรตรึง” ประมาณ ๓.๖ โยชน์ (๕๘ กม.) หรือห่างจากเมือง “นครชุม-กำแพงเพชร” ๔.๓ โยชน์ (๖๙ กม.) พอดี
เมือง “อาลี 呵梨” จึงน่าจะเป็นเมืองโบราณ “ดงแม่นางเมือง” ในความเห็นของแอดมิน
และหากเดินต่อจาก “ดงแม่นางเมือง” ล่องไปตามแม่น้ำปิง (เจ้าพระยา) อีก ๓ - ๔ โยชน์ ก็จะต้องพบกับ “เมืองโบราณ” 沙祇大國 ที่เก่าถึงพุทธศตวรรษที่ ๙ อีกเมืองหนึ่งด้วย
ซึ่งแอดมินได้ค้นหามาให้แล้วครับว่า ที่ตำแหน่งนั้นมีเมืองโบราณ “โคกไม้เดน” ตั้งอยู่เช่นกัน
หากจะเป็นเรื่อง “บังเอิญ” ก็ไม่น่าจะบังเอิญทั้ง “ทิศทาง” และ “ระยะทาง” ลงตัว “ตรงกัน” ทั้งหมดได้ขนาดนี้
เมือง 沙祇大國 ของหลวงจีนฟาเหียนนี้ “นักวิชาการตะวันตก” เชื่อว่าท่านหมายถึงเมือง “สาเกต” เพราะ 沙祇 ออกเสียงได้ว่า “Sh’a-qi” (大國 หมายถึงเมืองใหญ่) บวกกับระยะทางที่ห่างจากเมือง “สาวัตถี” ในบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนว่าเท่ากับ ๘ โยชน์พอดี
“เซอร์ คันนิงแฮม” จึงทึกทักเอาว่า 沙祇 คือ เมืองสาเกต
แล้วไปคว้าเอาเมือง “อโยธยา” ซึ่งเป็นเมือง “เก่าแก่” ในรัฐอุตตรประเทศของชาว “ฮินดู” ที่ “อินเดีย” มากำหนดให้ว่าเป็นเมือง “สาเกต” ในพระไตรปิฎกของชาวพุทธ
จึงเกิดปัญหาว่า จากเมือง “อโยธยา” หรือ “สาเกต” ที่ “อินเดีย” ของ “เซอร์ คันนิงแฮม” หากเดินทางลงไปทางใต้อีก ๘ โยชน์ ก็จะ “ไม่พบ” เมืองโบราณสักเมืองที่จะเอามาอ้างว่าเป็น “สาวัตถี” ได้ตามบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน
จะมีก็แต่เมืองโบราณ “สาเหต-มาเหต” ซึ่งอยู่ทาง “ทิศเหนือ” ของเมือง “อโยธยา” เท่านั้นที่พอจะนำมาอ้างได้ว่าเป็นเมืองสมัยพุทธกาล
ดังนั้น “เซอร์ คันนิงแฮม” จึงแก้ว่า “ทิศทาง” ในบันทึกของท่านหลวงจีนฟาเหียนนั้น “ผิดพลาด” เมือง “สาเหต-มาเหต” ต่างหากถึงจะเป็นเมือง “สาวัตถี” ที่แท้จริง (คือ หาเมืองทางใต้ตามบันทึกไม่เจอ แต่มีเมืองทางเหนือพอจะเอามาอ้างได้ก็คว้าเอาไว้ก่อน)
“สาเกต” ในคัมภีร์พุทธเลยกลายเป็นเมือง “อโยธยา” ของชาว “ฮินดู” และ “สาวัตถี” จึงตั้งอยู่ทางทิศเหนือของ “สาเกต” ไปแบบ “งง ๆ” และไม่ตรงกับบันทึกที่ “อินเดีย”
นี่คือที่มาของ “งานวิชาการ” ที่ “น่าเชื่อถือ” ของฝรั่งครับ
ย้อนกลับมาที่เมือง 沙祇 หรือ Sh’a-qi ในบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนอีกครั้ง ในความเห็นแอดมินเห็นว่า 沙祇 สามารถออกเสียงเทียบได้กับคำว่า “สหชาติ” ครับ ไม่ใช่ “สาเกต”
เพราะหากท่านหลวงจีนฟาเหียนต้องการบอกว่า 沙祇 คือเมือง “สาเกต” ก็จะต้องมีเรื่องราวของบุคคลสำคัญ อย่าง “นางวิสาขา” หรือ “ธนัญชัยเศรษฐี” ผู้สร้างเมือง “สาเกต” ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญของเมืองที่ต้องกล่าวถึง
แต่ท่านกลับกล่าวถึงแต่ “ตำนาน” ของเมืองซึ่งเป็นเรื่องอื่นแทน คือ เรื่อง “ไม้สีฟัน” ของพระพุทธเจ้า ดังนี้
📖……………………………………..
จากนคร “กัณณกุชชะ” เดินทางต่อไปทางตะวันออกเฉียงใต้อีก ๓ โยชน์ ถึงมหานคร 沙祇 (Sh’a-qi) เมื่อออกจากนคร 沙祇 ไปทางทิศใต้ ตรงไปด้านตะวันออกตามทางเดินแห่งหนึ่ง เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเคี้ยว “แขนงไม้สีฟัน” แล้วทิ้งแขนงไม้นั้นลงยังพื้นดิน
ในทันทีนั้นต้น “ไม้สีฟัน” ก็งอกขึ้นสูง ๗ ศอก แล้วก็ไม่เจริญขึ้นอีกหรือลดต่ำลงอีก
พวกพราหมณ์ซึ่งถือลัทธิตรงกันข้ามมีความริษยาขัดใจ บางคราวเขาทั้งหลายช่วยกันตัดต้นไม้ต้นนี้เสียจนต่ำ บางคราวก็ถอนขึ้นเอาไปทิ้งเสีย แต่ (ต้นไม้สีฟัน) ก็ยังเจริญงอกขึ้นในตำแหน่งเดิม​เหมือนเมื่อครั้งแรก ดุจเดียวกัน
ที่นี่เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์เคยเสด็จประพาสและนั่งประทับ จึงมีผู้สร้างสตูปขึ้นไว้องค์หนึ่งซึ่งยังคงปรากฏอยู่
………………………………………. 📖
แขนง “ไม้สีฟัน” ที่ทิ้งแล้ว เรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเป็น “ไม้เดน”
“ร่องรอย” ของมหานคร 沙祇 ของหลวงจีนฟาเหียนจึงอยู่ที่ “ชื่อ” ของเมืองโบราณ “โคกไม้เดน” นั่นเอง
ที่สำคัญเมื่อออกจากแนวกำแพงดินทางทิศใต้ของเมืองโบราณ “โคกไม้เดน” ไปทางด้านตะวันออก ก็จะพบกับ “เขาไม้เดน” ที่มีกลุ่มโบราณสถาน (สถูปเจดีย์) ที่เก่าแก่ไปถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ตรงกับบันทึกพอดี (ที่จริงเก่ากว่านั้นแต่นักวิชาการไทยที่ยึด “อินเดีย” เป็นหลักเขาให้เก่าได้แค่นี้ครับ)
ลักษณะของโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่พบจากการขุดค้นได้ที่นี่ ถือได้ว่าเป็นศิลปะยุค “ทวาราวดี” ที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่ง และมีลักษณะรูปแบบที่ “หลากหลาย” จนอาจเรียกได้ว่าเป็นเมือง “นานาชาติ” หรือ “สหชาติ” ได้เลย
มหานคร 沙祇 จึงควรจะเป็นเมือง “สหชาติ” หรือ “สหชาตินคร” มากกว่าเมือง “สาเกต”
เส้นทางเดินของหลวงจีนฟาเหียนจึง “สอดคล้อง” กับเส้นทางที่ท่าน “พระเรวตะ” เดินทางจาก “โสเรยยนคร” มา “สหชาตินคร” หรืออาจกล่าวได้ว่าท่านหลวงจีนฟาเหียนใช้เส้นทางเดียวกันกับที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกนั่นเอง
และเส้นทางนี้ก็น่าจะเป็น “เส้นทางหลัก” ที่ใช้เดินทางระหว่างเมืองต่าง ๆ ในสมัยพุทธกาลเรื่อยมาจนถึงสมัยท่านหลวงจีนฟาเหียนในพุทธศตวรรษที่ ๙ และต่อเนื่องมาจึงในสมัยทาวราวดีก็ยังใช้กันอยู่ (ดูรูปประกอบ)
และจากเมือง “สหชาตินคร” หรือเมืองโบราณ “โคกไม้เดน” หากเดินทางตาม “แม่น้ำ” เพื่อตัดไปทางทิศตะวันออกก็จะผ่าน “ปาตาลีบุตร” เพื่อมุ่งไปยังแม่น้ำ “ป่าสัก” เแล้วขึ้นไปสู่เมือง “เวสาลี” ได้
แต่หากเลือกเดินทางไป “ทางใต้” อีก ๘ โยชน์โดยใช้แม่น้ำ “ท่าจีน” แล้วแยกออกไปทาง “แม่น้ำจรเข้สามพัน” ก็จะถึงเมือง “อู่ทอง” ซึ่งเป็น “เมืองท่า” ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในบ้านเราที่เก่าแก่ได้ถึงสมัยพุทธกาลพอดี
ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับเมือง “สาวัตถี” ตรงตามบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนทุกประการ
แอดมินขอสรุปเส้นทางของหลวงจีนฟาเหียนให้อีกครั้งดังนี้
จากเมืองมถุรา 摩頭羅
เดินต่อไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 東南 ๑๘ โยชน์ ถึงเมืองสังกัสสะ 僧伽施國
เดิน (ข้ามเขา) ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 東南 ๗ โยชน์ ถึงเมืองกัณณกุชชะ 罽饒夷
เดิน (เลียบแม่น้ำคงคา) ต่อไปทางใต้ 南 ๓ โยชน์ ถึงเมืองอาลี 呵梨
เดิน (เลียบแม่น้ำคงคา) ต่อไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 東南 ๓ โยชน์ ถึงเมืองสหชาติ 沙祇大國
เดิน (เลียบแม่น้ำคงคา) ต่อไปทางทิศใต้ 南 ๘ โยชน์ ถึงเมือง “สาวัตถี 舍衛城”
มาถึงตรงนี้แอดมินก็ได้พาแฟนพเจ "ตามรอย" ท่านหลวงจีนฟาเหียนมาจวนถึงเมือง "สาวัตถี" กันแล้ว
แต่ใน Ep หน้าเราจะยังไม่ไปเมือง “สาวัตถี” เพราะแอดมินจะขอตามหาเมือง “สาเกต” ให้ก่อน ส่วนจะอยู่ตรงไหนนั้นก็ขอให้ติดตามกันต่อไปนะครับ
🙏ขอบพระคุณแฟนเพจทุกท่าน ที่ติดตามอ่านกันมาโดยตลอด
🚌🚒🚗🚲มาเที่ยวชมพูทวีปบนแผ่นดินไทยกันดีกว่า ❤️ เที่ยวไม่ต้องแย่งใคร … ได้อานิสงส์เท่ากัน 🙏🙏🙏
📸 ภาพ: “เส้นทางการค้าโบราณ ข้ามคาบสมุทร (เส้นสีเหลือง)”
สร้างจาก ไฟล์ google earth - .kmz จากเพจมิตรเอิร์ธ
(ลงตำแหน่งเมืองในเส้นทางของหลวงจีนฟาเหียนโดยแอดมิน)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา