26 เม.ย. เวลา 11:59 • ปรัชญา

"ทุกข์ในปัจจุบัน เป็นผลกรรมที่เคยทำในอดีต"

พระสำคัญองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นพระดีเป็นพระสำคัญยิ่ง คือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม มีเรื่องเล่าถึงท่านว่า
ครั้งหนึ่ง พระในวัดของท่านตีเพื่อนพระด้วยกันจนหัวแตก ท่านได้ชำระความด้วยการบอกพระที่เป็นเจ้าทุกข์ว่าเป็นฝ่ายผิดเพราะเป็นผู้ทำเขาก่อน
เมื่อเป็นที่พิศวงสงสัยที่ท่านตัดสินเช่นนั้น ท่านก็อธิบายว่าพระองค์ที่ถูกตีหัวแตกในชาตินี้ต้องได้ตีพระอีกองค์มาก่อนไม่ในชาติใดก็ชาติหนึ่ง ถ้าจะให้รับโทษที่ทำในชาตินี้ก็จะไม่สิ้นสุดเวรกรรม ถ้าไม่ถือโทษความผิดในชาตินี้ก็จะเป็นอันเลิกแล้วต่อกัน ท่านได้ถามความสมัครใจของพระองค์ที่ถูกตีหัวแตกว่าต้องการอย่างไร พระองค์นั้นก็ยินดียกโทษไม่เอาความ เป็นอันเลิกแล้วต่อกัน ท่านว่าจะได้ไม่มีการจองเวรกันต่อไป
เรื่องนี้ท่านสอนให้เห็นว่าเมื่อทำกรรมได้แล้วจักต้องได้รับผลตอบแทนแน่ แม้ข้ามภพข้ามชาติ ทำกรรมใดจักได้รับผลนั้น ผู้ใดทำผู้นั้นจักได้รับไม่ช้าก็เร็วจะต้องได้รับ และจะไม่จบสิ้นแม้ไม่มีการเลิกผูกเวร แต่ถ้าเลิกผูกเวรก็จะจบสิ้นเพียงนั้น การให้อภัยด้วยใจจริงในความผิดของผู้อื่นที่ทำต่อตนจึงเป็นความสำคัญ เป็นสิ่งที่ควรอบรมให้ยิ่ง
• • • • • • • • •
พระนิพนธ์ใน
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "ชีวิตนี้น้อยนัก แต่สำคัญนัก"
โฆษณา