28 เม.ย. เวลา 08:08 • ธุรกิจ

อย่าปล่อยให้ตัวเองกลายเป็นคน Toxic 7 พฤติกรรมที่ต้องระวัง

📌Highlight:
“Toxic People” ในองค์กร อาจไม่ใช่แค่คนอื่น… แต่บางครั้ง เราเองก็อาจเป็นหนึ่งในนั้นโดยไม่รู้ตัว! พฤติกรรมที่ควรสังเกตว่าเราเผลอเป็นคน Toxic หรือไม่ มีดังนี้ โกรธง่าย การวิจารณ์และตำหนิ ความต้องการควบคุม ขาดความเห็นอกเห็นใจ การมองโลกในแง่ลบ การแสวงหาประโยชน์จากคนอื่น ละเลยความรับผิดชอบ
“Toxic People” หรือ คนที่สร้างมลพิษให้กับคนรอบข้างในองค์กร แค่เราได้ยินอาจจะรู้สึก “เกลียด ไม่ชอบ” เพราะคนแบบนี้สร้างผลกระทบทางจิตใจให้กับคนในทีม ทั้งส่งพลังงานลบผ่านคำพูด ความคิด การกระทำ ในทางตรงและทางอ้อมไปสู่ผู้คนรอบข้าง จนคนทำงานร่วมกัน เริ่มรู้สึกจิตตก หมดกำลังใจ สูญสิ้นพลังงานในการทำงาน ส่งผลร้ายต่อประสิทธิภาพและผลงานของทีม
แต่คนที่น่ากลัวกว่าคนที่ Toxic คือ คนที่เป็นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจเป็นตัวเราเอง! ที่เป็นศูนย์กลางของพลังงานลบจนทำให้คนที่ร่วมงานรู้สึกแย่ ผลงานออกมาไม่ดี แถมพาลไม่ชอบเราอีกด้วย
ดังนั้น บทความนี้ จะขอมาเปิดเผยพฤติกรรมที่ต้องระวังเพื่อไม่ให้เราเป็นคน Toxic ดังนี้
1) โกรธง่าย: การที่มีอารมณ์รุนแรงและฉุนเฉียวง่าย มักจะโมโหเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ตรงกับความคาดหวังของเรา หรือเจอตัวกระตุ้นที่ทำให้เราอารมณ์เสีย เช่น ทีมงานมาสาย, เอกสารที่ทำส่งมามีการสะกดคำผิดเป็นจำนวนมาก ฯลฯ
ทางแก้: กลับมามีสติ หยุดก่อนที่จะตอบสนองออกไป โดยทุกครั้งที่เจอเหตุการณ์ที่ไม่ถูกใจ ให้เรากลับมาอยู่กับลมหายใจ ลองนับ 1-20 ให้ใจเย็นลง แล้วถามตัวเองว่า “เราโกรธเพราะอะไร? เราต้องการผลลัพธ์อะไรจากเหตุการณ์นี้” เมื่อเราได้คำตอบแล้ว ให้เลือกวิธีการตอบสนองที่ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ เช่น ถ้าโกรธที่ลูกน้องทำงานไม่ดี ให้หยุดสักครู่ จากนั้นค่อยสื่อสารถึงความต้องการของเราให้ลูกน้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน
2) การวิจารณ์และตำหนิ: บางคนอาจติดนิสัยชอบจับผิด วิจารณ์ และตัดสินผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นรู้สึกไม่ดี หรือบางครั้งเราอาจตำหนิตัวเอง ในเวลาที่เราทำไม่สำเร็จหรือไม่สมบูรณ์แบบ ทั้งที่เราปล่อยผ่านได้ ไม่ต้องรู้สึกแย่โดยไม่จำเป็น
ทางแก้: ฝึกฝน “การจับข้อดี” หรือชื่นชมในผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนอื่นรวมถึงตัวเอง ลองฝึกมองหาข้อดีของคนที่ร่วมงานและในสถานการณ์ต่างๆ เป็นการแก้นิสัยเสียของตัวเอง แล้วเราจะเป็นคนที่น่ารัก คนอยากทำงานใกล้ชิดมากขึ้น
3) ความต้องการควบคุม: พฤติกรรมนี้ มักจะพบในหัวหน้าที่คิดว่า “ตัวเองเก่งที่สุด” จนไม่กล้าไว้วางใจลูกน้องหรือคนในทีมที่ทำงานร่วมกัน มีนิสัยชอบออกคำสั่ง กำหนดกฎเกณฑ์มากเกินไป จนคนที่ทำงานด้วยรู้สึกอึดอัด กดดัน เครียดในการทำงาน แม้ผลงานอาจจะออกมาดี แต่กลับทำลายขวัญและกำลังใจของทีมงาน
ทางแก้: ปรับมุมมองใหม่ว่า “ทุกคนมีศักยภาพ สามารถให้คำแนะนำและไว้วางใจได้” จากนั้นเราก็ปฏิบัติต่อทุกคนที่ร่วมงานด้วยความคิดนี้ ให้คำแนะนำและอิสระในการทำงานโดยไม่บังคับ และพยายามฝืนความต้องการตัวเองที่จะ “ควบคุม” ผู้คนที่ทำงานด้วย ขอให้ฝึกไว้วางใจในทีมงาน คิดอยู่เสมอว่า “ต่อให้เขาล้มเหลวก็ไม่เป็นไร” เพราะทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาให้ดีขึ้นได้ แต่ถ้าเขาไม่ยอมพัฒนาหรือปรับปรุงตัว ค่อยเรียกมาพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจกัน
4) ขาดความเห็นอกเห็นใจ: คนแบบนี้ คือ คนที่เห็นตัวเองเป็นศูนย์กลาง คิดว่า “ทุกคนต้องเอาใจใส่และเข้าใจฉัน” โดยลืมคิดถึงคนที่ทำงานด้วยกัน ซึ่งเราเองก็อาจจะไม่เอาใจใส่สักเท่าไหร่ เวลาที่ทีมงานเดือดร้อน มีปัญหาในการทำงาน เราก็ไม่เคยแสดงน้ำใจหรือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จนเกิดปัญหาในการทำงานในท้ายที่สุด
ทางแก้: การที่เราจะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ เริ่มจากการฝึกทักษะ “การรับฟังผู้อื่น” โดยปล่อยวางการตัดสิน อคติในสมองเราเสียก่อน ยอมที่จะรับฟังโดยไม่รีบให้คำแนะนำ (ถ้าเขาไม่ได้ร้องขอ) อยู่กับคนที่เราสื่อสารด้วยแบบเอาใจใส่ 100% เพื่อที่เราจะได้เข้าใจถึงปัญหา ความต้องการ ความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ภายใน เมื่อเขาเริ่มรู้สึกสบายใจจากการที่เราตั้งใจรับฟัง สายสัมพันธ์ทั้งเรากับเขาก็จะดีขึ้น ทำงานด้วยกันอย่างราบรื่นขึ้น
5) การมองโลกในแง่ลบ: เราอาจจะเคยชินกับการเสพข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผู้คนต่างนินทา วิจารณ์ ใส่พลังงานลบให้แก่กัน เราจึงเคยชินกับ “พลังลบ” ที่ได้มาจากสิ่งแวดล้อมดังกล่าว สะท้อนผ่านคำพูด การกระทำของเราที่แสดงออกมาในด้านลบ คนก็ไม่อยากทำงานกับเรา เพราะอดทนกับพลังลบของเราไม่ได้
ทางแก้: ฝึกฝนการคิดบวกด้วยการเขียนและพูด “ขอบคุณ” ทั้งสิ่งที่เราได้รับ สิ่งที่เราเจอในทุกวัน เวลาเขียนให้เขียนขอบคุณก่อนนอนอย่างน้อย 5 ข้อ ติดต่อกัน 1 เดือนจนเป็นนิสัย ส่วนคำว่า “ขอบคุณ” เวลาเจอใครที่ทำอะไรที่ดีให้กับเรา ให้เราเอ่ยปาก “ขอบคุณ” บ่อยๆ ซึ่งอาจจะดูเล็กน้อย แต่คนรอบข้างจะรู้สึกดีกับเรามากขึ้น แถมอีกเคล็ดลับ คือ ให้ลด ละ เลิก การเสพสื่อหรือข่าวสารที่ให้พลังงานลบเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน แล้วพลังงานลบในตัวเรา จะเริ่มหายไปแบบไม่รู้ตัว
6) การแสวงหาประโยชน์จากคนอื่น: การอยากได้ผลประโยชน์เป็นเรื่องปกติของการทำงาน แต่การไปแสวงหาผลประโยชน์จากคนอื่น มุ่งเบียดบังหรือแก่งแย่งผลประโยชน์จากผู้อื่น แล้วเอามาไว้ที่ตัวเอง จนสุดท้าย เราได้ประโยชน์ แต่การทำให้คนอื่นเสียประโยชน์ เราอาจถูกมองว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว จนไม่มีใครอยากทำงานกับเรา ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อขวัญกำลังใจของคนที่ทำงานร่วมกันด้วย
ทางแก้: ต้องเปลี่ยนมุมมองจาก “โลกนี้ขาดแคลน มีจำกัด” เป็น “โลกนี้มีเหลือเฟือ” เพราะคนที่แสวงหาประโยชน์จากคนอื่น ชอบคิดว่า “ถ้าเราไม่แย่งจากผู้อื่น เราจะไม่มีวันได้รับอะไร” โดยฝึกความคิดผ่านการกระทำที่ “กล้าให้ กล้าเสียสละ” ไม่ได้คาดหวังว่า สิ่งที่เราทำในตอนนี้จะได้ผลลัพธ์อะไรตอบแทนหรือไม่ เมื่อเรา “ให้” โดยไม่หวังผลอย่างสม่ำเสมอ ให้จนมากพอ เราจะได้รับกลับคืนมาเองในรูปแบบที่คาดไม่ถึง
7) ละเลยความรับผิดชอบ: การไม่เอาใจใส่ ปล่อยปละละเลยในหน้าที่และความรับผิดชอบของเรา ไม่ว่าจะมีข้ออ้างที่ดูดี หรือไร้สาระเพียงใดก็ตาม ล้วนส่งผลเสียต่อผลงานของเรา และถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของทีม ทีมก็จะได้รับความเสียหาย เกิดความล่าช้า รวมถึงเกิดการโยนภาระงานที่เราไม่ได้ทำ ไปให้คนอื่นในทีมช่วยทำแทนเรา เกิดการ “แบก” ภาระมากขึ้น ผู้นั้นอาจเกิดความเครียด จนเขาอยากจะขับไล่เราออกจากทีม เนื่องจากเขาอาจมองว่าเราเป็น “ตัวถ่วง” ของทีม
ทางแก้: ลุกขึ้นมารับผิดชอบ ด้วยการตั้งเป้าหมายและหาแรงบันดาลใจในการทำสิ่งนั้นให้เจอ ซึ่งควรสอดคล้องกับความต้องการของเรา เช่น เราตั้งเป้าหมายอยากทำงานนี้ให้สำเร็จภายใน 1 เดือน เพื่อให้ได้ทั้งผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน และการพัฒนาความคิดและทักษะของตัวเองให้เก่งขึ้น เพื่อโอกาสที่มากขึ้นในอนาคต ฯลฯ เมื่อเราจุดไฟขึ้นมาได้ ความเกียจคร้านจะค่อยๆ หายไป เราจะเกิดความรับผิดชอบจากภายใน โดยไม่ต้องให้ใครมาสั่งหรือบังคับ
หมั่นสังเกตพฤติกรรมของตัวเองจาก 7 ข้อข้างต้น ไม่ต้องรอให้เกิดความ Toxic ขึ้นมาจนลุกลามไปยังผู้อื่น เพราะถ้าเราปล่อยให้มีผลกระทบขนาดนั้น เรากับคนหรือทีมที่เรามีปัญหาด้วย อาจจะไม่สามารถร่วมงานกันได้ จนสุดท้าย อาจจะเป็นตัวเขาหรือเราเองที่ต้องออกจากทีม ซึ่งไม่เกิดผลดีต่อใครแทบทั้งสิ้น
บทความห้องเรียนผู้ประกอบการ
โดย ธนโชค โลเกศกระวี
โฆษณา