8 พ.ค. เวลา 11:00 • ธุรกิจ

Pitch ให้โดน ไม่ใช่แค่เข้าใจ แต่ต้องทำให้อิน

การ “Pitching” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “Pitch” ไม่ใช่แค่การนำเสนอให้เข้าใจ แต่ต้องทำให้กรรมการหรือนักลงทุน "อิน" (มีอารมณ์ร่วม สนใจอย่างมาก) จนพร้อมสนับสนุนคุณ ซึ่งการ Pitch ที่ดีไม่ใช่แค่ให้ข้อมูลครบ แต่ต้องกระตุ้นอารมณ์และความเชื่อมั่นของผู้ฟัง เหมือนกับการเล่าเรื่องที่ดึงดูดใจ ทำให้กรรมการรู้สึกมีส่วนร่วม เชื่อมั่นในไอเดียของคุณ และตัดสินใจสนับสนุนอย่างเต็มที่
ในบทความนี้ ขอเรียบเรียงเทคนิคการ Pitch ที่มาจากประสบการณ์ในภาคสนามจริง ของคุณพงศธร ธนบดีภัทร CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Startup ที่ชื่อว่า “Refinn” สตาร์ทอัพที่ช่วยให้คนไทยเข้าถึงการรีไฟแนนซ์ได้ง่ายขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนตัวจริง ใครอยากเก่ง มีเทคนิคการ Pitch ดังนี้
1️⃣ วางโครงเรื่องให้ชัดเจน
ในการนำเสนอ โดยเฉพาะการ Pitch สิ่งสำคัญ คือ การสื่อสารไอเดียหลักและเนื้อหาที่จำเป็นให้ครบถ้วน กระชับ และเข้าใจง่ายสำหรับกรรมการหรือนักลงทุน เริ่มจากการกำหนดหัวข้อที่จำเป็นต้องมี และพูดคุยในทีมให้เข้าใจตรงกันว่าแต่ละส่วนควรสื่อสารอย่างไร จากนั้นจึงเรียบเรียงและลำดับหัวข้อให้ชัดเจน เพื่อที่คนฟังจะเข้าใจและสนใจเนื้อหาที่เรานำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หัวข้อที่ควรมีสำหรับการนำเสนอไอเดียหรือแผนธุรกิจ มีดังนี้
✅Company Brief แนะนำธุรกิจโดยสรุป เช่น ชื่อบริษัท โลโก้ และแท็กไลน์ เพื่อให้รู้ว่าเราทำอะไร
✅Problem อธิบายปัญหาหรือ Pain point ของกลุ่มเป้าหมายที่ธุรกิจต้องการแก้ไข
✅Solution นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหา และจุดเด่นที่แตกต่าง
✅Market Validation แสดงหลักฐานหรือข้อมูลที่พิสูจน์ว่ามีความต้องการในตลาดจริง
✅Market Size ระบุขนาดของตลาด โอกาสทางธุรกิจ และศักยภาพในการเติบโต
✅Product อธิบายสินค้าหรือบริการ รวมถึงวิธีการทำงาน (How it Works)
✅Business Model วิธีการสร้างรายได้ของธุรกิจ
✅Market Adoption/Marketing Plan อธิบายกลยุทธ์ทางการตลาดและแผนการเข้าถึงลูกค้า
✅Competition วิเคราะห์คู่แข่ง และหาจุดแตกต่างของธุรกิจคุณ
✅Competitive Advantage ระบุข้อได้เปรียบของคุณที่คู่แข่งไม่มี หรือ Unfair Advantage
✅Team แนะนำทีมงานหลัก และประสบการณ์ความเชี่ยวชาญที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ
2️⃣ พูดให้กระชับ อย่าอ้อมค้อม
เนื่องจากการ Pitch มีเวลาจำกัด และผู้ฟังต้องใช้สมาธิในการฟังสูง ดังนั้นการสื่อสารที่ชัดเจนและตรงประเด็นเป็นสิ่งสำคัญ ควรเริ่มต้นด้วยการสรุปสั้นๆ ตั้งแต่หน้าแรกว่า “เราคือใคร และเราทำอะไร” เพื่อให้กรรมการหรือนักลงทุนเข้าใจแนวคิดของธุรกิจได้ทันที
สิ่งสำคัญคือ การทำความเข้าใจผู้ฟัง ว่าพวกเขาต้องการทราบข้อมูลอะไรบ้าง ลองมองจากมุมของนักลงทุนหรือกรรมการว่า “เขาคาดหวังจะได้ยินอะไรจากเรา?” จากนั้น ตอนทำสไลด์และการนำเสนอ จัดลำดับเนื้อหาให้น่าสนใจ ตัดเรื่องที่ไม่จำเป็นออก มุ่งเน้นเฉพาะประเด็นสำคัญที่ช่วยให้พวกเขาเห็นภาพรวมของธุรกิจและโอกาสที่มีอยู่
3️⃣ เล่าเรื่องให้เร้าอารมณ์
การเล่าเรื่องแบบทั่วไป คนมักเล่าเรื่องโดยเริ่มจาก “อะไร” (What) เพราะง่ายต่อการอธิบาย แต่กลับไม่ดึงดูดและไม่สร้างความแตกต่าง หากต้องการให้เรื่องเล่าสินค้าหรือไอเดียของเราโดดเด่น และเข้าถึงอารมณ์ ความรู้สึกของผู้ฟัง ควรเริ่มที่ “ทำไม” (Why) เพราะเป็นสิ่งที่อธิบายเหตุผลในสิ่งที่กำลังจะทำ และสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์กับผู้ฟัง
คนไม่ได้ซื้อสินค้าเพียงเพราะมันคือ “อะไร” หรือ “ทำงานอย่างไร” แต่จะซื้อสินค้าจากเหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง หรือจากความรู้สึกว่า “ทำไม” พวกเขาควรซื้อสินค้า หรือ “ทำไม” สิ่งนี้ถึงสำคัญ
ตัวอย่างการนำเสนอที่ไม่ดึงดูด: เราขายรถที่ประหยัดพลังงาน ช่วยเซฟค่าใช้จ่ายของคนในครอบครัว แต่เปลี่ยนเป็น: รถยนต์ XYZ เชื่อว่า รถยนต์ของเราต้องคุ้มค่าเงิน พวกเรากำลังเร่งการเปลี่ยนแปลงของโลกไปสู่พลังงานที่ยั่งยืนด้วยรถยนต์ไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ และโซลูชันพลังงานหมุนเวียนแบบบูรณาการสำหรับบ้านและธุรกิจ
4️⃣ ใช้ Body Language ให้เหมาะสม
Body Language หรือภาษากาย คือการสื่อสารผ่านท่าทางและการใช้ร่างกายของเราไปยังผู้ฟัง ซึ่งมีผลต่อความน่าเชื่อถือของเรา หากทำได้ดีอาจจะไม่มีใครสังเกต แต่หากผิดพลาด อาจทำให้ผู้ฟังลังเลหรือรู้สึกไม่เชื่อมั่นในตัวเรา โชคดีที่ภาษากายเป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ แม้บางคนอาจจะมีพรสวรรค์ด้านนี้โดยธรรมชาติ แต่ทุกคนก็สามารถฝึกฝนให้เกิดภาษากายที่สื่อสารได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
ตัวอย่างเคล็ดลับการฝึกฝนภาษากาย เช่น การยืนบนเวที ถ้าเรายืนชิด อาจทำให้ดูตัวเกร็ง หรือยืนห่าง ก็เหมือนเล่นตลก ควรเว้นระยะขาให้ห่างพอดี เท่ากับหัวไหล่ รวมถึงการใช้สายตา (Eye Contact) ตอนที่เราพูด กวาดตามองไปยังผู้ฟังทั้งห้อง ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า คุณกำลังคุยกับเขาอยู่ เขาจะตั้งใจฟัง มีสมาธิกับสิ่งที่เราต้องการสื่อสาร เป็นต้น
5️⃣ เตรียมพร้อม ซ้อมเยอะๆ
การ Pitch ไม่ใช่เรื่องของคนพูดเก่ง กล้าแสดงออก แม้แต่คนที่กลัวการพูดในที่สาธารณะหรือคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองก็สามารถทำเรื่องนี้ได้ ขอแค่เราจัดเวลาฝึกฝนตั้งใจอย่างสม่ำเสมอ เริ่มจากจัดเวลาฝึกฝนในทุกวันโดยเฉพาะช่วงที่ใกล้วันนำเสนอจริง ผ่านการฝึกพูดจริง โดยศึกษาหรือเลียนแบบคนที่ Pitch เก่งๆ ใน YouTube หรือ Social Media ฝึกฝนทำตามจนเรามีภาษากายแบบมืออาชีพในการ Pitch
และอีกเคล็ดลับที่น่าสนใจก็คือ การหาคนคอยช่วยชี้แนะในการนำเสนอ เพื่อให้เราสามารถปรับปรุงตัวเองให้มีความเป็นมืออาชีพในการ Pitch เพียงแค่ต้องกล้ายอมรับทุก Feedback หรือความคิดเห็น ถ้าความคิดเห็นไหนมีประโยชน์ ก็นำเอามาปรับปรุง แต่ถ้าไม่มีประโยชน์ ก็แค่รับฟัง แต่ไม่จำเป็นต้องเก็บมาคิดมาก
การ Pitch ที่ดี เปรียบเสมือนกับการตกแต่งหน้าตาอาหารให้ดูน่ารับประทาน ไม่ใช่แค่รสชาติของไอเดียที่สำคัญ แต่การนำเสนอให้น่าสนใจก็ช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกอยาก “ลิ้มลอง” และเห็นถึงคุณค่า
ซึ่งแน่นอนว่าไอเดียที่ดีต้องผ่านการคิด วิเคราะห์ วางแผน ลงมือทำ เพื่อให้ไอเดียหรืออาหารของเรามีคุณประโยชน์ และถ้าอยากให้อาหารของเราน่าชิม ดึงดูดให้กรรมการหรือผู้ฟังชื่นชม ชื่นชอบ และ “อิน” ไปกับเรา จงฝึกทักษะการ Pitch ให้เชี่ยวชาญ แล้วหาโอกาสออกไปนำเสนอต่อหน้ากรรมการ แค่นี้ ก็มีโอกาสที่กรรมการจะตัดสินให้ไอเดียของคุณ “ผ่าน” หรือแม้กระทั่งสนใจอยากร่วมลงทุนด้วยก็เป็นไปได้
บทความห้องเรียนผู้ประกอบการ
โดย ธนโชค โลเกศกระวี
โฆษณา