9 พ.ค. เวลา 06:46 • การเมือง

ใครได้ประโยชน์จาก ความขัดแย้งระหว่าง “อินเดีย” และ “ปากีสถาน”

ความตึงเครียดยังคงมีอยู่ต่อเนื่องที่ชายแดนอินเดีย-ปากีสถาน อินเดียโจมตีเป้าหมายหลายจุดในปากีสถาน โดยเรียกเป้าหมายเหล่านี้ว่าเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มก่อการร้าย ในทางกลับกันปากีสถานอ้างว่าได้ยิงเครื่องบินรบอินเดียตกหลายลำ รวมถึงทำลายโดรนสอดแนมด้วย ด้วยเหตุผลของการละเมิดอธิปไตย
รัฐมนตรีกลาโหมของปากีสถาน “คาวาจา อาซิฟ” ประณามการโจมตีทางอากาศว่าเป็นการยั่วยุที่มีความเสี่ยงสูง และเตือนว่าการโจมตีอาจทวีความรุนแรงขึ้นเป็นสงครามเต็มรูปแบบระหว่าง “สองมหาอำนาจนิวเคลียร์” ส่วนอินเดียกล่าวหาปากีสถานว่าให้ความช่วยเหลือและปกป้องกลุ่มผู้ก่อการร้าย
เครดิตภาพ: Center for Arms Control and Non-proliferation
การมีอยู่ของคลังอาวุธนิวเคลียร์ในทั้งสองฝ่ายทำให้ทั่วโลกเป็นกังวล ความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นจาก “การไม่มีประสบการณ์ด้านการทหารของทั้งสองฝ่ายในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่” ลูคัส เลอิโรซ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารและนักวิจัยจากศูนย์การศึกษาด้านภูมิรัฐศาสตร์ของกลุ่ม BRICS ระบุว่า
แม้ว่าปากีสถานและอินเดียจะเคยต่อสู้กันในสงครามครั้งใหญ่มาแล้ว 4 ครั้ง แต่ทั้งสองประเทศก็แทบไม่เคยมีส่วนร่วมในความขัดแย้งที่รุนแรงและไม่ปรับตัวให้เข้ากับความซับซ้อนของ “สงครามยุคใหม่”
ข้อเท็จจริงที่ว่าเครื่องบินรบของอินเดียหลายลำถูกยิงตกในช่วงไม่กี่ชั่วโมงแรกของความขัดแย้งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความไม่มีประสบการณ์ทางการทหารของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สิ่งนี้เพิ่มความกลัวเกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้น แล้วเกิดคุมกันไม่ได้ เนื่องจากการใช้มาตรการที่รุนแรงทันทีนั้นง่ายกว่าการวางแผนยุทธวิธีระยะยาวในสงครามที่ยืดเยื้อ
ความเป็นมาของสงครามใหญ่ในอดีตระหว่างสองประเทศ 4 ครั้ง สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความที่ทางเพจเคยลงไว้ตามลิงก์ด้านล่างนี้
1
มาดูอีกด้านหนึ่งของการเผชิญหน้าครั้งนี้คือ “สงครามในเอเชียใต้” จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างของโลกที่มีหลายขั้ว โครงการริเริ่มด้านโลจิสติกส์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ระหว่างจีนและปากีสถาน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรวมประเทศทางซีกโลกใต้เข้าด้วยกันในเส้นทางการค้าร่วมและหวังลดอำนาจทางเศรษฐกิจของฝ่ายตะวันตก อาจได้รับผลกระทบตามมาด้วย
อินเดียเป็นพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่รายหนึ่งของรัสเซีย รวมถึง “น้ำมันของรัสเซีย” ด้วย สงครามนี้จะทำลายห่วงโซ่การค้าและทำให้ทั้งสองฝ่ายสูญเสียทางการเงิน
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความไม่มั่นคงในภูมิภาคจะส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงก่อนอื่นเลย มันจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อ “การฟื้นฟูอัฟกานิสถาน” หลังสหรัฐถอนกำลังออกจากประเทศ (คู่ขัดแย้ง 2 คู่ อินเดีย-ปากีสถาน ปากีสถาน-อัฟกานิสถาน)
เครดิตภาพ: PGurus
ในท้ายที่สุดตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญฝั่ง BRICS เขาเชื่อว่าความขัดแย้งนี้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตะวันตก เนื่องจากปฏิบัติการทางทหารจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มมหาอำนาจในยูเรเซีย (รัสเซีย จีน) สิ่งนี้จะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่การเมืองแบบหลายขั้วอำนาจช้าลง และส่งผลดีต่อผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของชาติตะวันตกในการทำให้ภูมิภาคนี้ไร้เสถียรภาพ
เรียบเรียงโดย Right Style
9th May 2025
  • อ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: Indranil Mukherjee / AFP>
โฆษณา