12 พ.ค. เวลา 06:00 • สิ่งแวดล้อม

‘ปารีส’ อากาศดี ไร้ PM 2.5 หลังเปิดถนนคนเดิน เพิ่มเลนจักรยาน สร้างพื้นที่สีเขียว

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา “ปารีส” ปรับปรุงถนนในขนานใหญ่ เปลี่ยนจากเส้นทางรถยนต์เป็นเลนจักรยาน เพิ่มพื้นที่สีเขียว และยกเลิกที่จอดรถ 50,000 แห่ง นอกจากจะไม่มีปัญหารถติดแล้ว ชาวเมืองยังได้ “อากาศบริสุทธิ์” กลับคืนมา
Airparif กลุ่มอิสระที่ติดตามคุณภาพอากาศในเขตเมืองหลวงของฝรั่งเศส กล่าวว่าตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมาระดับของฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ “ฝุ่น PM 2.5” ลดลง 55% ขณะที่ระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลง 50% ซึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้ “กฎระเบียบและนโยบายสาธารณะ” รวมถึงการจำกัดการจราจรและห้ามใช้ยานพาหนะที่ก่อมลพิษมากที่สุด
แผนที่แสดงมลพิษทางอากาศในกรุงปารีสแสดงให้เห็นว่า เมื่อ 20 ปีก่อนทั้งเมืองเต็มไปด้วยมลพิษทางอากาศ เกือบทุกย่านมีค่าไนโตรเจนไดออกไซด์สูงกว่าค่าจำกัดของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผลมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล
ตรงกันข้ามกับปี 2023 ที่แทบเหลือพื้นที่มลพิษสูง เหลือเพียงระยะ 50 เมตรถนนและทางหลวงรอบเมืองที่ยังมีรถสัญจรพลุกพล่าน
Airparif ระบุว่า ในปี 2024 ยังมีประชากร 800 คนในเขตปารีสยังคงเผชิญกับมลพิษในระดับที่เกินมาตรฐานคุณภาพอากาศของสหภาพยุโรปที่กำหนด ซึ่งลดลงจาก 5,000 คนในปี 2023
การเปลี่ยนแปลงนี้แสดงให้เห็นว่า การกำหนดนโยบายที่เข้มงวดสามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ได้ ซึ่งจะช่วยให้คนในเมืองสุขภาพดียิ่งขึ้น เพราะมลพิษทางอากาศเป็น ทั้ง PM2.5 และไนโตรเจนไดออกไซด์ “ภัยเงียบ” ที่ทำลายสุขภาพประชาชน เชื่อมโยงกับโรคภัยต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ มะเร็งปอด หลอดลมอักเสบ และหอบหืด
งานวิจัยพบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศลดลงหนึ่งในสามระหว่างปี 2010-2019 แต่มลพิษยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ในปี 2019 มลพิษทำให้ผู้ใหญ่ในภูมิภาคนี้มีอายุขัยเฉลี่ยลดลง 20 เดือน
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามลพิษเกือบทุกชนิดลดลงหมด ยกเว้นเพียง “โอโซน” ที่ไม่ลดลงเลย นั่นเป็นเพราะ ภาวะโลกร้อนกระตุ้นให้โอโซนก่อตัวได้ง่ายขึ้น แม้ว่าการปล่อยมลพิษภายในกรุงปารีสจะลดลงก็ตาม
โอโซนจะไม่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศโดยตรง ไม่เหมือนกับอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กหรือไนโตรเจนไดออกไซด์ แต่จะเกิดขึ้นเมื่อแสงแดดกระตุ้นปฏิกิริยาเคมีระหว่างมลพิษอื่น ๆ เช่น จากรถยนต์หรือโรงงาน ซึ่งจะพบได้มากโดยเฉพาะในวันที่มีแดดจัดและร้อนจัด ทางการจำเป็นต้องหาทางลดโอโซนให้น้อยลง เพราะสามารถทำลายสุขภาพของมนุษย์ได้เช่นกัน
📌 “ปารีส” เมืองที่หายใจได้
ตั้งแต่ปี 2014 แอนน์ ฮิดัลโก นายกเทศมนตรีกรุงปารีส ผลักดันนโยบายสีเขียวมากมาย และปรารถนาให้ “ปารีสเป็นเมืองที่หายใจได้ น่าอยู่อาศัยมากขึ้น” ถนนในกรุงปารีสเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ผู้คนเปลี่ยนจากการขับรถมาใช้การเดินและปั่นจักรยานแทน เลนจักรยานยาวหลายร้อยกม. ถูกเพิ่มเข้ามา
แม้ว่าในตอนแรกนโยบายของเธอจะถูกต่อต้านจากนักการเมืองฝ่ายขวา สมาคมเจ้าของรถ และผู้เดินทางในเขตชานเมือง ที่ระบุว่ามาตรการเหล่านี้ทำให้การใช้ชีวิตของพวกเขาลำบากมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่าน ชาวปารีสลงคะแนนเสียงประชามติเปลี่ยนถนนอีก 500 สายให้กลายเป็นถนนคนเดิน
ในปี 2024 ปารีสได้ดำเนินการปรับขึ้นค่าจอดรถ SUV อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ขับขี่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นสามเท่าจากราคารถยนต์ขนาดเล็ก ถนนมากกว่า 100 สายห้ามไม่ให้รถยนต์เข้า ที่จอดรถหลายหมื่นแห่งหายไป ถูกแทนที่ด้วยต้นไม้และพื้นที่สีเขียวอื่น ๆ
ถนนฝั่งขวาของแม่น้ำแซนกลายเป็นถนนคนเดินและสวนสาธารณะ และห้ามรถยนต์ส่วนใหญ่สัญจรบนถนนถนนริโวลี ย่านชอปปิ้งชื่อดัง ถนนหลายเส้นถูกจำกัดความเร็ว ส่วนถนนข้างโรงเรียนถูกปิด ทำให้นักเรียนเดินได้ง่ายและปลอดภัยขึ้น
ฮิดัลโกใช้แนวคิด “เมือง 15 นาที” (15-minute city) เป็นแนวคิดการออกแบบเมืองที่จะช่วยผู้อาศัยเข้าถึงบริการที่จำเป็นในชีวิตประจำวันได้อย่างง่ายดายในละแวกบ้าน สามารถเดินทางในระยะทางสั้น ๆ ด้วยการปั่นจักรยาน หรือเดินออกจากที่ทำงานและไปทำธุระ
ในขณะเดียวกัน ก็ช่วยไม่ให้เมืองมีอาคารร้างมากเกินไป เปลี่ยนสำนักงานเป็นที่อยู่อาศัย ร้านค้า พื้นที่ทำงานร่วมกัน โรงเรียนอนุบาล และการใช้งานอื่น ๆ ภายใต้หลังคาเดียวกัน ตลอดจยขยายเครือข่ายเลนจักรยานของเมืองอย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดนี้ ทำให้รูปแบบการเดินทางของชาวเมืองเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ระหว่างปี 2022-2023 การใช้เส้นทางจักรยานเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน บนถนนบางสายเริ่มมีจำนวนจักรยานมากกว่ารถยนต์
อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางคนที่หันมาใช้จักรยาน ไม่ได้มีแต่คนที่ขับรถยนต์เพียงอย่างเดียว หลายคนเปลี่ยนจากการใช้บริการขนส่งสาธารณะมาขี่จักรยานแทน นั่นหมายความว่า ตอนนี้มีพื้นที่บนรถไฟและรถประจำทางเพิ่มมากขึ้น เมื่อระบบขนส่งสาธารณะมีผู้โดยสารน้อยลง คนขับรถบางคนอาจเต็มใจใช้รถไฟใต้ดินแทนรถยนต์มากขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อเลนจราจรทั้งหมดถูกแปลงเป็นเลนจักรยาน พื้นที่ถนนสำหรับรถยนต์ลดลง ที่จอดรถหายากขึ้น ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนตัดสินใจขับรถน้อยลง บางคนอาจเดิน ปั่นจักรยาน หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการขับรถ
ในทุกวันอาทิตย์แรกของเดือน เขต 1-4 ของกรุงปารีส และถนนช็องเซลีเซ กำหนดให้เป็นวันปลอดรถยนต์ เพื่อให้ชาวเมืองสามารถเดินชมเมืองได้อย่างสบายใจ และให้กรุงปารีสเป็นเมืองที่หายใจได้อย่างเต็มที่ ซึ่งโครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2018 และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
โฆษณา