11 พ.ค. เวลา 21:37 • ประวัติศาสตร์

ตามหาสาวัตถี ตอน 17 - “ซะเวียะเวียถิ” ชาวสาวัตถีก็คือ “มอญ”

[ #คำเตือน เนื้อหาในซีรีส์นี้ จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านมากเป็นพิเศษ ท่านที่ไม่สามารถวางองค์ความรู้เรื่องดินแดนเกิดของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ “อินเดีย” เอาไว้ข้าง ๆ ตัวก่อนอ่านได้ แอดมินอยากให้ข้ามเพจนี้ไปนะครับ เพื่อที่เวลาอันมีค่าของท่านจะได้ไม่ต้องมาสูญเปล่าไปโดยไม่ได้ประโยชน์อันใด]
…………………………………
📖 จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ ลพ. ๑ ด้านที่ ๑
(เขียนตามอักษรเป็นภาษาบาลี)
สวฺวาธิสิทฺธฺยา ขฺยร ถิสฺสเรน
ฉวฺวีสวสฺสี นปโย ชิเตน ๐
อุปโสถาคารวร
...มํ มยา กตญฺ เชตวนาลยํลยํ
(คำอ่านภาษามอญ)
“ซะเวียะเวียถิ” ซิทเถียะเยีย ขะยะเรียะ ถิสซะเรเนียะ
ชะเวียะวีซะหว่สซอยเนียะ ปะเยิวจิเตเนียะ ๐
อุปาวซะวทาเดียเรียะเวียรง
…มง เมียะเยีย กะตอน “เจตะเวียะเนีย” เลียะยง เลียะยง ๐
(แปลโดยสรุปใจความ โดย บุญเลิศ เสนานนท์ พ.ศ. ๒๕๓๓)
ข้าพเจ้าผู้เป็นเจ้าแห่งแผ่นดินมีนามว่า “สรรพาสิทธิ์”
(เมื่อ) อายุได้ ๒๖ ปีได้สร้างเวียงชื่อ “เชตวนาลัย“
เป็นสถานที่มี โรงอุโบสถงดงามนารื่นรมยใจ
………………………………. 📖
“ความเชื่อใหม่” เมื่อนำเสนอโดย “นักวิชาการ” เราเรียกมันว่า “ข้อสันนิษฐาน” ในขณะที่ “ความเชื่อ” อย่างเดียวกันนั้นหากนำเสนอโดย “ชาวบ้าน” มันก็จะถูกเรียกว่า “มโน” แทน
เรื่องราวใน Ep นี้จัดได้ว่าเป็นเรื่อง “มโน” ของแอดมิน จึงต้องใช้ “วิจารณญาณ” ประกอบการอ่านมากเป็นพิเศษนะครับ
สำหรับแฟนเพจที่ไม่ได้ติดตามเรื่องราวทาง “ประวัติศาสตร์” มากนัก อาจไม่รู้ว่าบ้านเรามีจารึก “ภาษามอญ” ที่เขียนด้วยตัว “อักษรมอญโบราณ” ที่เก่าแก่มากอยู่เป็นจำนวนมากมายหลายหลักด้วยกัน
นอกจากตัว “อักษรมอญโบราณ” แล้วยังมี “คำมอญ” หลายคำที่ปรากฏอยู่บนจารึกหลายหลักของบ้านเรา ที่ไม่เคยพบว่ามีใช้ในจารึกของ“อาณาจักรมอญโบราณ” ในพม่ามาก่อน
และด้วยการเปรียบเทียบ “ความเก่าแก่” จากลักษณะของตัวอักษร นักจารึกวิทยาด้านอักษรมอญโบราณของบ้านเราส่วนหนึ่งเชื่อว่า ตัวอักษรที่ใช้ในอาณาจักรมอญโบราณของ “บ้านเรา” นั้น น่าจะเป็น “ต้นแบบ” ให้แก่ตัวอักษรมอญที่พบในอาณาจักรมอญโบราณของพม่า มากกว่าที่อาณาจักรมอญในพม่าจะถ่ายทอดมาให้บ้านเรา
เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วพบว่า “จารึกมรเจดีย์” ของพระเจ้าจันสิทธา ซึ่งเป็นจารึกหลักสำคัญพบที่ “อาณาจักรพุกาม” ที่มีความเก่าแก่เป็นอันดับต้น ๆ ของพม่าซึ่งมีศักราชปรากฏชัดเจน คือ พ.ศ. ๑๖๒๘
“ไม่มี” ที่มาที่ไปของพัฒนาการของอักษรเป็นลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน
ไม่เหมือนจารึกที่พบในบ้านเราที่ปรากฏให้เห็นถึงพัฒนาการของตัวอักษรอย่าง “ต่อเนื่อง” ในจารึกหลายหลักที่พบ
จึงหมายความว่าอักษรมอญโบราณที่ใช้ในพม่าเป็นการ “รับอักษร” ของอารยธรรมที่ “เจริญกว่า” เอามาใช้เลย ซึ่งอารยธรรมที่ว่านั้นนักวิชาการเชื่อว่า คือ อาณาจักร “หริภุญไชย” เจ้าของจารึก “พระเจ้าสววาธิสิทธิ ลพ.๑ และลพ. ๒” ที่แอดมินนำมาแสดงในต้นโพสต์นั่นเอง
และถึงแม้ว่าศิลาจารึก “ภาษามอญ” ในบ้านเราที่ค้นพบจะมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ความพิเศษของจารึกภาษามอญของอาณาจักร “หริภุญไชย” ก็คือ พบกระจุกตัวอยู่ที่เมือง “ลำพูน” มากถึง ๑๐ หลัก ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่พบเป็นจำนวนมากสุดแล้วในปัจจุบัน
สำหรับใน Ep นี้ แอดมินจะขอกล่าวถึงแค่จารึก “สำคัญ” ที่เป็นภาษามอญโบราณจำนวน ๒ หลัก พบที่ “วัดดอนแก้ว” อำเภอเมือง จังหวัด “ลำพูน” เป็นจารึกที่เชื่อว่าสร้างโดยกษัตริย์องค์เดียวกัน คือ จารึก ลพ. ๑ และจารึก ลพ. ๒ (หลักนี้ข้อมูลบางแห่งว่าพบที่วัดกู่กุด) เท่านั้น
ซึ่งนอกจากจะมีความสำคัญในเรื่องความเก่าแก่มากแล้ว ยังมีข้อความที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า แผ่นดินที่สถาปนาจารึกนี้ เป็นดินแดนใน “ราชอาณาจักรแห่งชนชาวมอญ” ครับ
ที่สำคัญกว่านั้น ข้อความ "ขึ้นต้น" จารึกของทั้ง ๒ หลักนั้น เขียนเป็น “ภาษาบาลี” ในลักษณะคำฉันท์ ก่อนที่จะเขียนรายละเอียดอื่น ๆ ตามมาด้วยภาษามอญ จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าในยุคนั้น (ก่อนยุค “ลังกานิยม” นับพันปี) มีการใช้ “ภาษาบาลี” อย่าง “แตกฉาน” ในบ้านเราจนถึงขั้นเขียนเป็นบอกเล่าเรื่องราวเป็นภาษาบาลีกันได้
การใช้ภาษาบาลีในบ้านเราจึงไม่ได้มีแต่การใช้ “คัดลอก” คัมภีร์ทางพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังนำมาใช้พูดอ่านและเขียนได้ และใช้กันมานานเป็นพัน ๆ ปีแล้ว
อย่างไรก็ตามปัจจุบันจารึกทั้ง ๒ หลักนี้ยังมี “ปัญหา” เรื่องการอ่านตีความจารึกและการค้นหาตัวโบราณสถานในเมืองลำพูนตามที่ระบุในจารึก รวมไปถึงปัญหาการกำหนดอายุที่แท้จริงของจารึกอีกด้วย
นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อกันว่าจารึกหลักนี้ทำขึ้นในสมัยอาณาจักร “หริภุญไชย” โดยเชื่อว่าจารึกขึ้นในช่วงปีพ.ศ. ๑๖๙๑ ถึง พ.ศ. ๑๗๐๘ ไม่เก่าไปกว่านี้
การระบุช่วงปีพ.ศ. ดังกล่าวได้มาจาการ “ถอดความ” จากข้อความที่กล่าวถึงวันเดือนปีที่ปรากฎในจารึก ตัวอย่างเช่น วันเดือนปีจากจารึก ลพ. ๒ ตอนหนึ่ง ดังนี้
“... ในปีไพสาขะสังวัจฉร เดือนเชฏฐะ ขึ้น ๑๓ ค่ำ วันอาทิตย์ เป็นมงคลฤกษ์”
การถอดความ “วันเดือนปี” นี้ ให้ออกมาเป็นวันเดือนปีตามที่เข้าใจกันได้ง่าย ๆ ในปัจุจบันไม่ใช่เรื่องยากสำหรับนักอ่านจารึกในบ้านเรา โดยล่าสุดมีการคำนวนด้วยวิธีทางดาราศาสตร์ถอดความออกมาได้ว่า
คือ วันเสาร์ที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๑๗๐๘
แต่ “ปัญหา” การถอดความของวันเดือนปีจากจารึกในลักษณะนี้ก็คือ ตำแหน่งของดวงจันทร์ (เช่น ขึ้น ๑๓ ค่ำ) ที่คู่กับวันเดือนปีที่ใช้ในระบบบอกวันเวลาแบบนี้ จะมีวันเดือนปีและข้างขึ้นข้างแรมเดียวกันที่สามารถเวียนรอบมา “ซ้ำ” กันได้
เช่นในอีก ๗๑ ปีข้างหน้า หรือย้อนหลังไป ๗๑ ปี ก็จะมี “ปีไพสาขะสังวัจฉร เดือนเชฏฐะ ขึ้น ๑๓ ค่ำ วันอาทิตย์” เหมือนกันด้วย
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนด “ช่วงปี” ที่ “คาดว่า” สร้างจารึก เพื่อมากำหนดวันเดือนปีด้วย
ในกรณีนี้ “นักวิชาการ” ที่ถอดวันเดือนปีล่าสุดท่านได้กำหนดช่วงเวลา “ต่ำสุด” จากช่วงปีก่อนหน้าที่อาณาจักร “หริภุญไชย” จะเสียเมืองให้แก่พญามังราย คือในปีพ.ศ. ๑๗๗๕ และ “สูงสุด” ให้ไม่เก่าเกินปี พ.ศ. ๑๖๔๒ ซึ่งเป็นปีครองราชย์ของพระเจ้าอาทิตยราช (ที่นักวิชาการเชื่อว่าเป็นปู่ของเจ้าของจารึก)
แต่แอดมินเชื่อว่าปี พ.ศ.ที่ทำจารึกนั้น “เก่ากว่า” ช่วงปีเหล่านี้ของนักวิชาการมากครับ
เพราะนักวิชาการท่านให้น้ำหนักกับ “ตำนาน” และข้อมูลจาก “ชินกาลมาลีปกรณ์” ที่ระบุปีครองราชย์ของพระเจ้าอาทิตยราช และการกำหนดอายุของ “จารึกมรเจดีย์” ของอาณาจักรพุกามมากเกินไป จนละทิ้งเหตุการณ์ “แผ่นดินไหว” ครั้งใหญ่ ที่เป็นเหตุการณ์สำคัญที่จารึกระบุเอาไว้ด้วย
เราทราบว่าในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการสร้างจารึกมีเหตุการณ์ “แผ่นดินไหวใหญ่” จากข้อความในจารึกดังนี้ครับ
“… (เจดีย์ ?) ได้หักพังลงเนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ซึ่งได้เกิดมีขึ้นในสมัยนั้น ในปีไวสาขะ ขึ้น ๑๓ ค่ำ แห่งเดือนไจตระ (เดือนห้า) วันอาทิตย์ พระจันทร์เสวยฤกษ์ปิยะ ข้าพเจ้าได้บูรณะแก้วอันระเสริฐคือเจดีย์องค์นี้ในปัจจุบัน”
และเนื่องจากบันทึกข้อมูลแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในบ้านเราที่มีการบันทึกศักราชเอาไว้ พบว่า เกิดที่ “แคว้นโยนก” ในปีพ.ศ. ๑๐๐๓ และปีพ.ศ. ๑๐๗๗ จากนั้นก็กระโดดมาเป็นปีพ.ศ. ๑๙๐๕ และ พ.ศ. ๑๙๐๙ ที่สุโขทัยเลย และยังไม่พบบันทึกว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗
ดังนั้นหากเอาเรื่องราว “แผ่นดินไหว” ครั้งใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการกำหนดวันเดือนปีของจารึกด้วย วันเดือนปีที่ถอดความออกมาได้ข้างต้นก็จะไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ “แผ่นดินไหว” แต่ถ้าเอามากำหนดวันเดือนปีร่วมด้วย ก็จะไม่สอดคล้องกับ “ชินกาลมาลีปกรณ์”
ก็จะเกิดปัญหาเช่นกัน
เรื่องราวของ “แผ่นดินไหว” ครั้งใหญ่ใน “ภาคเหนือ” บ้านเรา มีกล่าวอยู่ในตำนาน “สิงหนติโยนก” ดังนี้
📖 ………………………………………..
“ศักราชได้ ๔๗๖ ตัวปีเมืองเป้า ศาสนาพระพุทธเจ้าล่วงไปได้ ๑๐๐๓ ปี พระองค์มหาชัยชนะเป็นกษัตริย์ (ครองเมืองโยนกนครราชธานีไชยบุรีศรีข้างแส่ง) ได้ ๕ ปี อายุได้ ๔๗ ปี เดือน ๗ แรม ๗ ค่ำ วันเสาร์
ยามนั้นคนทั้งหลายไปเที่ยวแม่น้ำกุกกนที ก็เห็นปลาเหยี่ยน (คือปลาไหล) เผือกตัวหนึ่ง ใหญ่เท่าลำตาล ยาว ๗ วา เขาก็ป่าวกันไปทุบตีปลาเหยี่ยนตัวนั้นจนตายแล้ว ก็พากันมัดลากเอามาถวายมหากษัตริย์เจ้า แล้วท่านก็มีอาชญาให้แบ่งเนื้อปลาเหยี่ยนนั้นแจกกันกินทั่วทั้งเมือง ครั้นว่าทำกับข้าวกินกับข้าวมื้อแลง (มื้อเย็น) แล้วทั่วทั้งเวียงนั้น
ครั้นว่าพระสุริยอาทิตย์ตกต่ำค่ำลงไปแล้ว ก็ปรากฏได้ยินเสียงเหมือนดังแผ่นดินสนั่นหวั่นไหว เป็นเหมือนดั่งเวียงโยนกนครหลวงที่นี้ จักเกลื่อนพังลงไป แล้วก็เงียบเสียงไปครั้งหนึ่ง
ครั้นถึงมัชฌิมยาม ก็บังเกิดเสียงสะเทือนเลื่อนลั่นอีกเป็นครั้งที่สอง แล้วเสียงนั้นก็เงียบหายไปอีก
ครั้นถึงปัจฉิมยามก็มีเสียงสะเทือนเลื่อนลั่นดังมาอีก ถ้วน ๓ ครั้ง มีเสียงสะเทือนดังยิ่งกว่าทุกครั้ง ครั้นแล้วเวียงนั้นก็ยุบถล่มล่มจมลงไปในพื้นปฐพี กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ คนทั้งหลายอันมีในเวียงนั้นมีกษัตริย์เจ้าเป็นเค้า ก็เลยถึงการวินาศฉิบหายจมลงไปในน้ำหมดสิ้นทั้งเมือง
ยังคงค้างอยู่แต่เรือนย่าแม่หม้ายเฒ่าอยู่หลังเดียวนั่นแล้ว”
……………………………………… 📖
ตำนานเล่าว่า เพราะแม่เฒ่านั้นอยู่แต่ผู้เดียวไม่มีลูกหลาน เลยไม่มีใครเอา “ปลาเหยี่ยน” มาให้กิน จึงรอดมาได้
เมืองโยนกนครราชธานีไชยบุรีศรีข้างแส่งนี้ สันนิษฐานกันว่า คือ “เวียงหนองหล่ม” ในพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอแม่จันและอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เนื่องจากเวียงหนองหล่มตั้งอยู่บนบริเวณ “รอยเลื่อนแม่จัน” ที่เป็นรอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่มีพลัง
แผ่นดินไหวในปีพ.ศ. ๑๐๐๓ แม้จะระบุว่าเป็นการไหวที่พื้นที่จังหวัด “เชียงราย” แต่เป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนมากจนส่งผลให้เมือง “ถล่มหาย” ไปทั้งเมืองได้ จึงควรส่งผลกระทบถึงพื้นที่เมือง “ลำพูน” ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นหากเราเลือกช่วงเวลาที่เกิดแผ่นดินไหวเป็นตัวกำหนดวันเดือนปีของจารึก ปีไพสาขะสังวัจฉร เดือนเชฏฐะ ขึ้น ๑๓ ค่ำ วันอาทิตย์ ก็อาจจะเป็นวันเดือนปีในช่วงประมาณปีพ.ศ. ๙๙๘, พ.ศ. ๑๐๖๙ หรือพ.ศ. ๑๑๔๐ เป็นไปได้ทั้งหมด
ก็จะทำให้ “ความสำคัญ” ของตัวจารึกเอง และ “การตีความ” ข้อความที่ปรากฏในจารึก ลพ. ๑ และ ลพ .๒ เปลี่ยนไปในทันที หนึ่งในการตีความที่ต้องเปลี่ยนไปนั้นก็คือ “ชื่อ” ของผู้ทำจารึกที่นักวิชาการเชื่อกันว่า คือ “พระญาสววาธิสิทธิ” หรือ “พระญาสัพพาธิสิทธิ” ครับ
ชื่อ “สววาธิสิทธิ” หรือ “สัพพาธิสิทธิ” นี้ผู้แปลถอดออกมาจากตัวอักษร สวฺวาธิสิทฺธฺยาขฺยร ถิสฺสเรน โดยแยกออกเป็น สพฺพาธิสิทธิ + อาขฺย + รถ + อิสฺสเรน
สพฺพาธิสิทธิ - สัพพาธิสิทธิ เป็นวิสามัญนาม
อาขฺย - ชื่อ
รถ - รถ ร่างกาย ตัวตน
อิสฺสเรน - อิสระ เป็นใหญ่
เมื่อแปลโดยความรวมจะได้ประมาณ “ข้าพเจ้าผู้เป็นเจ้าแห่งแผ่นดินมีนามว่า สรรพาสิทธิ์” ซึ่งก็จะสอดคล้องก้บรายชื่อ กษัตริย์องค์หนึ่งแห่ง “นครหริภุญไชย” ซึ่งนักวิชาการเชื่อกันว่าทรงครองราชย์ประมาณช่วงปีพ.ศ. ๑๖๙๑ ถึง พ.ศ. ๑๗๐๘
แต่แอดมินมีข้อสังเกตให้ ๒ ข้อดังนี้
๑. จารึกภาษามอญที่ลำพูน “ทุกหลัก” ไม่มีหลักใดกล่าวถึง “พระนามกษัตริย์” ผู้สร้างจารึก ยกเว้น ลพ. ๑ และ ลพ. ๒ ที่ท่านผู้อ่านจารึกเชื่อว่า “สวฺวาธิสิทฺธิ” คือพระนามกษัตริย์
๒. จารึกภาษามอญที่ลำพูนอย่างน้อย ๒ หลัก ระบุว่าผู้ครองอาณาจักร “ปุนไชยนคร” เป็นผู้สร้าง แต่ไม่บอกพระนามกษัตริย์
จารึกลพ. ๑ และ ลพ. ๒ จึงค่อนข้างแปลก คือ บอกแต่ “พระนามกษัตริย์” แต่ไม่บอกว่าทรงเป็นใหญ่ใน “แผ่นดิน” หรือ “เมือง” ใด
ดังนั้นแอดจึงเชื่อว่า “สวฺวาธิสิทฺธิ” ไม่ใช่ “พระนามกษัตริย์” แต่ควรเป็นชื่อ “อาณาจักร” ที่น่าจะสอดคล้องกับ “บริบท” ของการสร้างจารึกภาษามอญที่พบในเมืองลำพูนมากกว่า
คำถามก็คือ “สวฺวาธิสิทฺธิ” คือ เจ้าแห่งอาณาจักรใด
คำตอบ มีในอรรถกถา ดังนี้ครับ
📖 ……………………………………
อรรถกถาเถรสูตร
เถรสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :
บทว่า สาวตฺถิยํ คือ ใกล้นครชื่ออย่างนี้
จริงอยู่ นครนั้นท่านเรียกว่าสาวัตถี เพราะสร้างในที่อยู่อาศัยของฤาษีชื่อ สวัตถะ เหมือนเมืองกากนฺทิ เรียกว่า มากนฺที นักคิดอักษรรู้อย่างนี้เป็นอันดับแรก
ส่วนพระอรรถกถาทั้งหลายกล่าวว่า ชื่อว่า สาวัตถี เพราะเป็นที่มีเครื่องอุปโภคและบริโภคทุกชนิดสำหรับมนุษย์ เมื่อถูกถามว่า ในที่นี้มีสิ่งอะไรในการประกอบเป็นพวก จึงเรียกว่าสาวัตถี. ตอบว่า เพราะอาศัยคำว่า “สพฺพมตฺถิ” สิ่งทั้งหมดมีอยู่ดังนี้
เครื่องอุปกรณ์ทั้งหมดมีพร้อมมูล โดยประการทั้งปวงในเมืองสาวัตถี เพราะอาศัยความพร้อมมูลทั้งปวง จึงเรียกว่า สาวัตถี ดังนี้
📖 และในอรรถกถามงคลสูตรที่ ๔
ฉะนั้น แต่พระโบราณาจารย์ทั้งหลายพรรณนาไว้ว่า เพราะเหตุที่เมื่อชนทั้งหลายถามถึงกองเกวียนที่มารวมกันอยู่ ณ ที่นั้นว่า มีสินค้าอะไรบ้าง ชนทั้งหลายก็ตอบว่ามีสินค้าทุกอย่าง (มีทุกสรรพสิ่ง - แอดมิน)
เพราะฉะนั้น สถานที่นี้ชาวโลกจึงเรียกว่า สาวัตถี หมายเอาคำนั้น.
…………………………….. 📖
คำว่า “สาวตฺถิยํ” - “สพฺพมตฺถิ” และ “สวฺวาธิสิทธิ” (ในจารึก) หรือ “สพฺพาธิสิทธิ” (ในจารึก) จึงเป็นไปได้ว่าคือความหมายเดียวกัน อันหมายถึงเมือง “สาวัตถี” และแอดมินเชื่อว่าคำอ่านในภาษามอญในจารึกว่า “ซะเวียะเวียถิ” ก็คือ “สาวัตถี” นั่นเอง (คือ ผูกคำให้เป็นบาลี)
ดังนั้นคำแปลของจารึกลพ ๑ ด้านที่ ๑ ข้างต้น เมื่อแปลความใหม่ตาม “มโน” ของแอดมินแล้วจะได้ความดังนี้ครับ
“เจ้าแผ่นดิน ‘สาวัตถี’ ผู้เป็นใหญ่ (เป็นเอกราช)
(เมื่อ) อายุได้ ๒๖ ปีได้สร้างเวียง (วิหาร) ชื่อ “เชตวัน”
เป็นสถานที่มี โรงอุโบสถงดงาม น่ารื่นรมย์ใจ”
ส่วนจารึกลพ ๒ ด้านที่ ๑ ก็จะได้ความว่า
“เจ้าแผ่นดิน ‘สาวัตถี’ ผู้เป็นใหญ่ในอาณาจักรแห่งชนชาว ‘มอญ’ ได้ทำผาติกรรม”
ก็จะลงตัว “สอดคล้อง” กับจารึกทั้งหมดที่พบในพื้นที่เมือง “ลำพูน” คือ ไม่กล่าวนามกษัตริย์ แต่กล่าวถึง พระเจ้าแผ่นดินแห่ง “(ชื่อ) ราชอาณาจักร” + วันเดือนปี + เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เท่านั้น
และในเมื่อแอดมินได้นำเสนอไปแล้วว่า “สาวัตถี” ก็คือ เมืองโบราณ “อู่ทอง” ในปัจจุบัน และรอบ ๆ เมืองอู่ทอง เรายังพบจารึกภาษา “มอญโบราณ” อีกหลายหลัก เช่น จารึกวัดโพธิ์ร้างที่นครปฐม (พาราณสี) และจารึกบึงคอกช้าง ๒ ที่เมืองโบราณบึงคอกช้าง (สาเกต)
.
คำถามจึงมีอยู่ว่า จารึกของเมือง “สาวัตถี” และชื่อวัด “เชตวัน” รวมถึงตัว “เจ้าแผ่นดินสาวัตถี” ไปโผล่อยู่ที่ “ลำพูน” ได้อย่างไร
และทำไมแอดถึงบอกว่าชาว “สาวัตถี” ซึ่งก็คือ คนที่อยู่บริเวณเมือง “อู่ทอง” ในสมัยพุทธกาล นั้นคือชาว “มอญ”
.
เรื่องนี้แอดจะ “มโน” ต่อให้ใน Ep หน้า โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ
🙏 ขอบพระคุณแฟนเพจทุกท่าน ที่ติดตามอ่านกันมาโดยตลอด
🚒🚐🛵✈️มาเที่ยวชมพูทวีปบนแผ่นดินไทยกันดีกว่า ❤️ เที่ยวไม่ต้องแย่งใคร … ได้อานิสงส์เท่ากันครับ 🙏🙏🙏
📸 ภาพ - จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ ๑ ด้านที่ ๒ (ที่วงไว้คือคำว่า สวฺวาธิสิทฺธิ)
🙏 เพจ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ลำพูน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา