4 พ.ค. เวลา 23:26 • ประวัติศาสตร์

ตามหาสาวัตถี EP. 16 - สาวัตถี ๔ (มอง)เมือง

[ #คำเตือน เนื้อหาในซีรีส์นี้ จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านมากเป็นพิเศษ ท่านที่ไม่สามารถวางองค์ความรู้เรื่องดินแดนเกิดของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ “อินเดีย” เอาไว้ข้าง ๆ ตัวก่อนอ่านได้ แอดมินอยากให้ข้ามเพจนี้ไปนะครับ เพื่อที่เวลาอันมีค่าของท่านจะได้ไม่ต้องมาสูญเปล่าไปโดยไม่ได้ประโยชน์อันใด]
…………………………………
📖 อรรถกถาปาสราสิสูตร
ปาสราสิสูตรเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ :-
พึงทราบวินิจฉัยในปาสราสิสูตรนั้น บทว่า สาธุ มยํ อาวุโส ได้แก่ กล่าวขอร้อง.
เล่ากันมาว่า ภิกษุชาวชนบทประมาณ ๕๐๐ คิดจะเฝ้าพระทศพล จึงไปถึงเมืองสาวัตถี.
ก็ภิกษุเหล่านั้นได้เฝ้าพระศาสดาแล้ว ยังมิได้ฟังธรรมีกถาก่อน. ด้วยความเคารพในพระศาสดา ภิกษุเหล่านั้นจึงไม่สามารถจะกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมีกถาแก่พวกข้าพระองค์เถิด. เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นครู ยากที่จะเข้าพบ เหมือนพญาราชสีห์ตัวเที่ยวไปตามลำพัง เหมือนกุญชรที่ตกมัน เหมือนอสรพิษที่แผ่พังพาน เหมือนกองไฟใหญ่.
สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เข้าถึงได้ยาก เหมือนงูพิษ เหมือนไกรสรราชสีห์ เหมือนพญาช้าง.
ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจจะวิงวอนพระศาสดาผู้ที่เข้าพบได้ยาก อย่างนี้ด้วยตนเอง จึงขอร้องท่านพระอานนท์ว่า สาธุ มยํ อาวุโส ดังนี้.
บทว่า อปฺเปว นาม ได้แก่ ไฉนหนอ พวกเราจะพึงได้.
ก็เพราะเหตุไร พระเถระจึงกล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า พวกเธอพึงเข้าไปยังอาศรมของรัมมกพราหมณ์. เพราะมีกิริยาปรากฏ. เพราะกิริยาของพระทศพลย่อมปรากฏแก่พระเถระ.
พระเถระทราบว่า วันนี้พระศาสดาประทับอยู่ที่ “พระเชตวัน” ทรงพักผ่อนกลางวันใน “ปุพพาราม” วันนี้เสด็จเข้าบิณฑบาตลำพังพระองค์ วันนี้แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ เวลานี้เสด็จจาริกไปในชนบท.
ถามว่า ก็เจโตปริยญาณย่อมมีเพื่อให้ท่านรู้อย่างนี้ได้อย่างไร.
ตอบว่า ไม่มี. ท่านรู้โดยถือนัยตามกิริยาที่ทำไว้โดยรู้ตามคาดคะเน.
จริงอยู่ วันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ “พระเชตวัน” มีพระพุทธประสงค์จะทรงพักผ่อนกลางวันใน “ปุพพาราม” ในเวลาใด ในเวลานั้น ทรงแสดงอาการ คือการเก็บงำเสนาสนะและเครื่องบริขาร พระเถระเก็บงำไม้กวาดและสักการะที่เขาทิ้งไว้เป็นต้น.
แม้ในเวลาที่ประทับอยู่ใน “ปุพพาราม” แล้วเสด็จมา “พระเชตวัน” พักกลางวันก็นัยนี้เหมือนกัน.
ก็คราวใดมีพระพุทธประสงค์จะเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตตามลำพัง คราวนั้นก็จะทรงปฏิบัติสรีรกิจแต่เช้า เข้าพระคันธกุฎี ปิดพระทวารเข้าผลสมาบัติ. พระเถระทราบด้วยสัญญานั้นว่า วันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งตรวจเหล่าสัตว์ที่ควรตรัสรู้ แล้วจึงให้สัญญาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโสทั้งหลาย วันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประสงค์จะเข้าไปตามลำพัง พวกท่านจงเตรียมภิกษาจาร.
ก็คราวใดมีพระประสงค์จะมีภิกษุเป็นบริวารเสด็จเข้าไป คราวนั้นจะทรงแง้มทวารพระคันธกุฎี ประทับนั่งเข้าผลสมาบัติ. พระเถระทราบด้วยสัญญานั้น จึงให้สัญญาแก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อรับบาตรจีวร.
แต่คราวใดมีพระพุทธประสงค์จะเสด็จจาริกไปในชนบท คราวนั้นจะเสวยเกินคำสองคำ และเสด็จจงกรมไปๆ มาๆ ทุกเวลา. พระเถระทราบด้วยสัญญานั้น จึงให้สัญญาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธประสงค์จะเสด็จจาริกไปในชนบท พวกท่านจงทำกิจที่ควรทำของท่านเสีย.
พระผู้มีพระภาคเจ้าในปฐมโพธิกาลประทับอยู่ไม่ประจำ ๒๐ พรรษา ภายหลังประทับประจำกรุงสาวัตถี ๒๕ พรรษาเลียด วันหนึ่งๆ ทรงใช้สองสถาน.
กลางคืนประทับอยู่ใน “พระเชตวัน” รุ่งขึ้นแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าบิณฑบาตกรุงสาวัตถีทาง “ประตูทิศใต้” เสด็จออกทาง “ประตูทิศตะวันออก” ทรงพักผ่อนกลางวันในปุพพาราม.
กลางคืนประทับอยู่ใน “ปุพพาราม” รุ่งขึ้นเสด็จเที่ยวบิณฑบาตยังเมืองสาวัตถี ทาง “ประตูทิศตะวันออก” แล้วเสด็จออกทาง “ประตูทิศใต้” ทรงพักผ่อนกลางวันใน “พระเชตวัน”
เพราะเหตุไร.
เพราะจะทรงอนุเคราะห์แก่ ๒ ตระกูลนั้น (คือ อนาถปิณฑิกเศรษฐี และ นางวิสาขามหาอุบาสิกา)
…......................................................... 📖
ในหลาย Ep ที่ผ่านมาของซีรีส์ “ตามหาสาวัตถี” เริ่มตั้งแต่ Ep. 1 เป็นต้นมา แอดมินได้นำเสนอเส้นทางเดินตามบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน จากเมือง “มถุรา” และ “สังกัสสะ (สะเทิม)” ในประเทศเมียนมาร์ ไล่ลำดับเรื่อยมาจนถึงเมือง “สาวัตถี (อู่ทอง)” ในฝั่งบ้านเราไปแล้ว
นอกจากนี้ยังได้ตามหาเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ “ล้อมรอบ” เมือง “สาวัตถี” และกำหนดตำแหน่งเมืองเหล่านั้นพร้อมรายละเอียดไว้ให้แล้วเพื่อให้แฟนเพจสามารถใช้ข้อมูลจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาหรือตำนานต่าง ๆ มาเปรียบเทียบและพิจารณาเองได้ต่อไป
สำหรับแฟนเพจที่เพิ่งเข้ามาอ่านแอดมินแนะนำให้ย้อนไปอ่านเริ่มตั้งแต่ Ep. 1 ก่อน จะเข้าใจเรื่องราวใน Ep นี้ได้ง่ายขึ้นครับ
ใน Ep นี้แอดมินจะได้นำจุดที่มี “ลักษณะเฉพาะ” ของเมือง “สาวัตถี” จากข้อมูลในพระไตรปิฎกและอรรถกถารวมถึงบันทึกการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียน ที่สามารถนำมาใช้เพื่อใช้ยืนยันความสอดคล้องของข้อมูลกันพื้นที่จริงที่เมืองโบราณ “อู่ทอง” ที่แอดเชื่อว่าคือเมือง “สาวัตถี” ในสมัยพุทธกาล
และจะได้นำเมืองโบราณอีก “๓ เมือง” ที่มีผู้นำเสนอเอาไว้ว่าคือเมือง “สาวัตถี” ในสมัยพุทธกาลด้วยเช่นกัน เพื่อเปรียบเทียบทั้งทางภูมิศาสตร์และตำแหน่งของเมืองไปพร้อมกันด้วยเลย
“ลักษณะเฉพาะ” ที่สำคัญของเมืองสาวัตถีที่สามารถตำมาใช้ยืนยันความเป็นเมือง “สาวัตถี” ได้ ก็คือ ลักษณะทาง “ภูมิศาสตร์” และ “ตำแหน่ง” ของ “วัดพระเชตวัน” กับ “วัดบุพพาราม” ครับ
แอดขอเริ่มที่ “วัดบุพพาราม” เป็นที่แรก จากเรื่องราวของวัดที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่กล่าวถึง “ลักษณะ” ของเมือง “สาวัตถี” โดยอ้อมไว้ดังนี้
๑. เมือง “สาวัตถี” มี “ประตูเมือง” ด้านทิศตะวันออก และ “วัดบุพพาราม” อยู่ใกล้ประตูเมืองด้านทิศตะวันออก
วัด “บุพพาราม” เป็นวัดที่นางวิสาขาสร้างไว้ เมื่อครั้งจำหน่ายทรัพย์จากเครื่องประดับ (และได้ออกเงินซื้อเอาไว้เอง) มากถึง ๙ โกฏิ ๑ แสน ทรัพย์นี้ได้นำมาถวายเพื่อเป็น ๑ ในปัจจัย ๔ พระพุทธองค์จึงตรัสแนะนำให้ทำ “ที่อยู่สงฆ์” ไว้ใกล้ “ประตู” ด้าน “ปราจีนทิศ”
นางวิสาขาจึงได้สร้างวิหารขนาดใหญ่เรียกว่า “มิคารมาตุปราสาท” หรือ “บุพพาราม”
(อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้ใน อรรถกถา เรื่อง นางวิสาขาซื้อที่สร้างวิหารถวายสงฆ์)
📖 ชื่อ “บุพพาราม” มาจาก ปุพฺพ + อาราม = ปุพฺพาราม (ปุบ-พา-รา-มะ) เขียนในภาษาไทยเป็น “บุพพาราม” (บุบ-พา-ราม) แปลว่า “อารามอันตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก”
(จาก บาลีวันละคำ โดย อ.ทองย้อย แสงสินชัย)
๒. มีแม่น้ำ “อิจิรวดี” ไหลผ่านด้าน “ทิศตะวันออก” ของเมืองไม่ไกลจาก “บุพพาราม”
📖 ...
[๕๘๖] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี
ครั้งนั้น พระสัตตรสวัคคีย์กำลังเล่นน้ำกันอยู่ในแม่น้ำอจิรวดี ขณะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับอยู่ ณ พระปราสาทชั้นบน พร้อมด้วยพระนางมัลลิกาเทวี ได้ทอดพระเนตรเห็นพระสัตตรสวัคคีย์กำลังเล่นน้ำอยู่ในแม่น้ำอจิรวดีครั้นแล้วก็ได้รับสั่งกะพระนางมัลลิกาเทวีว่า
นี่แน่ะแม่มัลลิกา นั่นพระอรหันต์กำลังเล่นน้ำ
ข้อความในพระวินัยปิฎกเรื่องพระสัตตรสวัคคีย์นี้ แสดงให้เห็นว่า “แม่น้ำอจิรวดี” อยู่ไม่ไกลหรืออาจอยู่ติด “พระราชวัง” ของพระเจ้าปเสนทิโกศล “ภายใน” กำแพงเมือง ในระยะที่สามารถมองเห็นว่ากลุ่มพระสัตตรสวัคคีย์กำลังเล่นน้ำอยู่ในแม่น้ำได้
และกลุ่มพระสัตตรสวัคคีย์ก็น่าจะพำนักอยู่ที่ “บุพพาราม” นั่นเอง
อรรถกถาปาสราสิสูตรกล่าวว่า ที่ประตูด้านทิศตะวันออกนั้นมีท่าน้ำ ๔ ท่าน้ำ คือ สำหรับพระราชาท่า ๑ สำหรับชาวพระนครท่า ๑ สำหรับภิกษุสงฆ์ท่า ๑ สำหรับพระพุทธเจ้าท่า ๑ และเมื่อพระพุทธเจ้าประทับที่ “บุพพาราม” ทรงสรงน้ำที่ท่าชื่อ “บุพพโกฏฐกะ”
แสดงให้เห็นว่าแม่น้ำ “อิจิรวดี” ไหลผ่านด้าน “ทิศตะวันออก” ของเมืองไม่ไกล “บุพพาราม”
๓. เมือง “สาวัตถี” มี “ประตูเมืองด้านทิศใต้ และเส้นทางที่ใกล้ที่สุดที่จะออกจากเมืองไป “พระเชตวัน” คือ “ประตูทิศใต้”
อรรถกถาปาสราสิสูตรกล่าวว่า
📖 …
(พระพุทธองค์) กลางคืนประทับอยู่ใน “พระเชตวัน” รุ่งขึ้นแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าบิณฑบาตกรุงสาวัตถีทาง “ประตูทิศใต้” (ก็จะ) เสด็จออกทาง “ประตูทิศตะวันออก” ทรงพักผ่อนกลางวันในปุพพาราม.
กลางคืนประทับอยู่ใน “ปุพพาราม” รุ่งขึ้นเสด็จเที่ยวบิณฑบาตยังเมืองสาวัตถี ทาง “ประตูทิศตะวันออก” แล้วเสด็จออกทาง “ประตูทิศใต้” ทรงพักผ่อนกลางวันใน “พระเชตวัน”
… 📖
นอกจากนี้ยังมีอรรถกถาปุณณสูตรที่ ๕ ที่กล่าวถึงประตูทิศใต้ว่า
📖 …
สมัยนั้น ชาวกรุง “สาวัตถี” บริโภคอาหารเช้าแล้ว อธิษฐานองค์อุโบสถ ห่มผ้าเฉวียงบ่าอันหมดจด ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นน้อมโน้มเงื้อมไปในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ ออกทางประตูด้าน “ทักษิณ” ไปยัง “พระเชตวัน”
… 📖
ในบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนได้บอก “ระยะทาง” จาก “ประตูทิศใต้” ไป “พระเชตวัน” เอาไว้อย่างชัดเจนว่า
📖 ... “ออกจากเมือง ‘สาวัตถี’ ที่ประตูทิศใต้ เดินไปตามถนนที่มุ่งไป ‘ทิศตะวันตก’ ต่ออีก ๑,๒๐๐ ก้าว (ประมาณ ๙๐๐ เมตร) อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้สร้างวิหารไว้แห่งหนึ่ง ซุ้มประตูหันหน้าออกด้านทิศตะวันออก
เมื่อผ่านประตูเข้าไป มีเสาศิลา ๒ เสา ยอดเสาข้างซ้ายเป็น ‘ธรรมจักร’ ยอดเสาข้างขวาเป็น ‘รูปโค’ ด้านข้างวิหารทั้งซ้ายและขวามีสระน้ำใสสะอาดทั้ง ๒ ข้าง
(บันทึกกล่าวว่าพระเชตวันมหาสถานเป็น “อุทยาน” ขนาดใหญ่ เศรษฐีได้สละทรัพย์ซื้อไว้ มหาวิหารนั้นตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางอุทยานนั่นเลยทีเดียว - หมายเหตุ ข้อความในวงเล็บนี้ในบันทึก “กระโดด” ไปอยู่ท้าย ๆ บท แต่แอดมินเอามารวมไว้ให้ตรงนี้ครับ)
เมื่อเดินเลยพระวิหารต่อไปอีกจะเป็น ‘แนวป่าทึบ’ (ในวิหาร) มีพรรณไม้ออกดอกบานหลากสีสันต่าง ๆ งดงามน่าดูยิ่งนัก
ทั้งหมดทุกองค์ประกอบนี้รวมเรียกว่า ‘เชตวันมหาวิหาร’ ”
… 📖
๔. ด้านทิศตะวันตกของเมืองสาวัตถีติด “ภูเขา” และ “ผืนป่า” ขนาดใหญ่
“ป่า” เป็นสถานที่ “สำคัญ” สำหรับวัดขนาดใหญ่ในสมัยพุทธกาลอย่าง “วัดพระเชตวัน” ที่น่าจะมีพระสงฆ์จำพรรษาเป็นพัน ๆ รูป จึงต้องสร้างติดป่าหรือภูเขา
บันทึกของหลวงจีนฟาเหียนระบุชัดเจนว่า เมื่อเดินเลยวิหารต่อไปจะเป็น ‘แนวป่าทึบ’ หมายความว่า หากเข้าประตูด้านทิศตะวันออกมาแล้ว เมื่อเดินเลยทะลุหลังวิหารออกไป ก็จะเป็น “แนวป่า” (หรืออาจเป็นภูเขา -แอดมิน)
ก็จะไปตรงกับพระไตรปิฎก สุตตนิบาต มหาวรรคที่ ๓ ปัพพชาสูตรที่ ๑ ซึ่งท่านพระอานนท์กล่าวคาถาสรรเสริญการบรรพชาของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ทรงตรัสตอบพระเจ้าพิมพิสารที่สอบถามถึงพระชาติของพระพุทธเจ้า เป็นพระคาถาว่า
📖 “ดูกรมหาบพิตร (พระเจ้าพิมพิสาร - แอดมิน) ชนบทแห่งแคว้นโกศลที่อยู่ข้างหิมวันตประเทศ สมบูรณ์ด้วยทรัพย์และความเพียร อาตมภาพโดยโคตรชื่ออาทิตย์ โดยชาติชื่อศากยะ ไม่ปรารถนากามเป็นผู้ออกบวชจากสกุลนั้น”
หิมวันตประเทศในที่นี้ แอดมินเห็นว่าหมายถึง “ป่าที่ไม่มีคนอาศัย” (ตัวอย่างเช่น วนอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ ในปัจจุบัน) ครับ
นอกจากนี้ในพระไตรปิฎก รถวินีตสูตร เรื่องพระปุณณมันตานีบุตร ได้กล่าวว่า
📖 “ครั้งนั้น (ที่พระเชตวัน) ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้งให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ แล้วเข้าไปสู่ ‘ป่าอันธวัน’ เพื่อพักในกลางวัน” 📖
ข้อความนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า “วัดพระเชตวัน” สร้างอยู่ติดแนวป่า
๕. มี “ธรรมจักร” ศิลาตั้งเสาอย่างน้อย ๑ วง อยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร
ข้อนี้แอดมินอ้างจากบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนที่ว่า “เมื่อผ่านประตูวิหารเข้าไปจะเห็นว่า มีเสาศิลา ๒ เสาตั้งอยู่ ที่ยอดเสาข้างซ้ายเป็น ‘ธรรมจักร’ ”
……………………………..
เมื่อได้ “ลักษณะเฉพาะ” ที่สำคัญของเมืองสาวัตถีที่สามารถตำมาใช้ยืนยันความเป็นเมือง “สาวัตถี” แล้ว ต่อไปแอดมินจะนำมาเปรียบเทียบเมืองโบราณทั้งหมด “๔ เมือง” ที่มีผู้นำเสนอเอาไว้ว่าคือเมือง “สาวัตถี” ในสมัยพุทธกาล คือ
๑. เมืองโบราณ “อู่ทอง” (แอดมินเพจนี้เป็นผู้นำเสนอ)
๒. เมือง “สะเหท-มะเหท Saheth-Maheth” (อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม)
๓. เมือง “ตองอูเก่า” (มีผู้เชื่อว่า ตำนานโยนกและหนังสือ British Burma Cazetter ระบุว่าตองอูเก่าคือ “สาวัตถี”)
๔. เมือง “บีลีน Bilin” ในเมียนมาร์ (เพจ- พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่แผ่นดินไทยไม่ใช่อินเดีย)
เริ่มจาก
- เมืองโบราณ “อู่ทอง” สุพรรณบุรี (ดูรูปประกอบ)
๑. ประตูเมืองด้านทิศตะวันออก และ
๒. แม่น้ำด้านทิศตะวันออก
กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่า “เมืองอู่ทอง” ห่างแม่น้ำจระเข้สามพัน (ไหลผ่านเมืองด้านทิศตะวันออก) ประมาณ ๕ เส้น ยังมีรอยถนนจากประตูเมืองด้านนี้ตรงลงไปถึงท่าน้ำ เรียกว่า “ท่าพระยาจักร”
ประตูเมืองตะวันออกนี้ สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่บริเวณด้านหน้า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง” ในปัจจุบัน เพราะไม่เหลือร่องรอยหลังถูกถมสร้างถนนมาลัยแมนไปแล้ว
๓. ประตูด้านทิศใต้
ไม่มีข้อมูลในบันทึกของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่เมื่อมีบันทึกว่ามีประตูตะวันออก ก็ควรมีประตูด้านทิศใต้ด้วย
๔. ด้านทิศตะวันตกติด “ภูเขา” และ “ผืนป่า” ขนาดใหญ่
๕. มี “ธรรมจักร” ศิลาตั้งเสาอย่างน้อย ๑ วง
ด้านทิศตะวันตกเมืองโบราณ “อู่ทอง” มี “เขาทำเทียม” ถ้าวัดระยะจากจุดตรงถนนข้ามคูเมืองด้านทิศใต้ในปัจจุบัน ไปยัง “เขาทำเทียม” จะได้ระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร ใกล้เคียงกับที่มีกล่าวในบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนพอดี
นอกจากนี้หากเลียบแนวเขาขึ้นไปทางทิศเหนือตลอดแนวจะพบ “โบราณสถาน” จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของศาสนสถานทางพุทธศาสนา และยังพบว่ามีศาสนสถานกระจายตัวอยู่บนเขาเป็นจำนวนมากด้วย
การขุดค้นทางโบราณคดีได้พบ “ธรรมจักรศิลา” รวมทั้งสิ้น ๔ ชิ้น ที่สำคัญคือ พบธรรมจักรศิลาพร้อมเสาและแท่นฐานรองรับ พบจากขุดแต่งเจดีย์หมายเลข ๑๑ ซึ่งพบเพียงชุดเดียวในประเทศไทย (ที่มีครบทั้งเสาและแท่น)
อย่าหาว่าแอดเข้าข้างตัวเองเลยครับ แต่มันมี “ครบหมด” จริง ๆ 😅
- เมือง “สะเหท-มะเหท Saheth-Maheth”
๑. ประตูเมืองด้านทิศตะวันออก และ
๒. แม่น้ำด้านทิศตะวันออก
เมือง “สะเหท-มะเหท” นั้น “ไม่มี” แม่น้ำด้านทิศตะวันออก แต่มีแม่น้ำ “รัปติ” (ชื่อปัจจุบัน) ไหลผ่านด้านทิศเหนือของเมือง แต่เนื่องจากแนวคันกำแพงเมืองโบราณมีลักษณะโค้งตามเส้นแม่น้ำเป็นรูป “พระจันทร์เสี้ยว” แต่ย้อยลงมาเหลือพื้นที่ห่างจากแม่น้ำพอสมควร (ดูรูปประกอบ)
นักโบราณคดีจึง “เชื่อว่า” ประตูเมืองตะวันออก (ตามพระไตรปิฎก) ต้องอยู่ริมแม่น้ำบริเวณพื้นที่ว่างตรงนี้ แต่เนื่องจากไม่พบซากโบราณสถานใด ๆ บริเวณนี้ จึงได้แต่สันนิษฐาน “ลอย ๆ” กันว่า “บุพพาราม” ได้จมน้ำหายไปหมดแล้ว
(#หมายเหตุ โบราณสถานที่ระบุว่าเป็น “บุพพาราม Purvaram” ในปัจจุบันนั้น คนพื้นเมืองที่นั่นที่รู้เรื่องการขุดค้นดี บอกว่าเป็นโบราณสถานเก่าของ “ศาสนาเชน” ที่มีเสาอโศกหักเป็นหลักฐาน ไม่ใช่ “บุพพาราม” ของนักโบราณคดี แต่เรื่องนี้ต้องใช้วิจารณณาณกันเองนะครับ)
๓. ประตูด้านทิศใต้
พอจะกำหนดหาแนวประตูได้ ๑ - ๒ ประตู ที่ตรงไปยังกลุ่มโบราณสถานทางศาสานาขนาดใหญ่ที่ระบุว่าเป็น “วัดเชตวัน” ห่างจากแนวประตูเมืองทางทิศใต้ปะมาณ ๖๐๐ เมตร
๔. ด้านทิศตะวันตกติด “ภูเขา” และ “ผืนป่า” ขนาดใหญ่
๕. มี “ธรรมจักร” ศิลาตั้งเสาอย่างน้อย ๑ วง
ด้านทิศตะวันตกของเมือง “สะเหท-มะเหท” และ “วัดเชตวัน” เป็นพื้นที่ราบทำการเกษตรกว้างใหญ่ ไม่มีป่าหรือภูเขา (แอดมินคิดว่า ในสมัยโบราณก็ไม่น่าจะมีแนวป่าทึบใด ๆ ด้วยเช่นกัน)
และไม่เคยมีการขุดพบธรรมจักรศิลาที่ “วัดเชตวัน” หรือที่เมือง “สะเหท-มะเหท” แม้แต่ชิ้นเดียว
- เมือง “ตองอูเก่า”
๑. ประตูเมืองด้านทิศตะวันออก และ
๒. แม่น้ำด้านทิศตะวันออก
กำแพงเมือง “ตองอู” ที่เห็นในปัจจุบันเป็นกำแพงเมืองที่สร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ (ใกล้เคียงกับเมืองเชียงใหม่) แต่อาจสันนิษฐานได้ว่า ถ้ามีเมืองโบราณสมัยพุทธกาลจริง ก็ควรตั้งอยู่บริเวณนี้เช่นกัน และน่าจะมีประตูเมืองด้านทิศตะวันออกด้วย
เมืองนึ้ตั้งอยู่ติด “แม่น้ำสะโตง” ที่ไหลผ่านด้าทิศตะวันออกพอดี
๓. ประตูด้านทิศใต้
๔. ด้านทิศตะวันตกติด “ภูเขา” และ “ผืนป่า” ขนาดใหญ่
๕. มี “ธรรมจักร” ศิลาตั้งเสาอย่างน้อย ๑ วง
ปัญหาของเมือง “ตองอูเก่า” อยู่ที่ ๓ ข้อนี้ครับ เพราะถ้าเมืองโบราณมีแนวกำแพงเมืองเท่าของปัจจุบัน “วัดพระเชตวัน” ของตองอูก็จะตั้งอยู่ไม่พ้นแนวกำแพงเมืองที่มีความกว้างมาก (จึงใกล้เมืองเกินไป)
และหากถอยตำแหน่ง “พระเชตวัน” ของตองอูเพิ่มจากทาง “ทิศใต้” ลงไปอีก วัดก็จะไปตั้งอยู่ริมแม่น้ำอีกสายหนึ่งที่ไหลผ่านทางด้านใต้ (kha paung) นอกจากนี้ด้านทิศตะวันตก (ในระยะ ๑ กิโลเมตร) ไม่มีภูเขาหรือแนวป่าทึบ และยังไม่มีรายงานการขุดค้นทางโบราณคดีว่าเคยพบ “ธรรมจักร” ศิลา บริเวณนี้ด้วยเช่นกัน
- เมือง “บีลีน Bilin” ในเมียนมาร์
“บีลีน” เป็นเมืองในอำเภอบีลีน จังหวัดไจโท รัฐมอญ ประเทศพม่า (ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย) แอดมินไม่สามารถค้นหาข้อมูลของเมืองนี้ได้มากนัก ปัญหาของ "เมืองบีลีน" ก็คือ บริเวณที่กำหนดใน google map ว่าเป็นตัวเมือง Bilin บริเวณนี้ “ไม่มี” รายงานที่พบว่าเป็นสถานที่ตั้งเมืองโบราณใด ๆ
ส่วนบริเวณที่มี “โบราณสถาน” และ “กำแพงเมือง” โบราณ รวมถึงมีการขุดค้นทางโบราณคดี และมีตำนาน “พระเกศาธาตุ” รองรับจะเป็นบริเวณที่ตั้งของพระเจดีย์ Kyaik Htee Saung
แต่ปัญหาของพื้นที่บริเวณพระเจดีย์ Kyaik Htee Saung นี้ตามสภาพภูมิศาสตร์ก็คือ “ไม่มี” แม่น้ำไหลผ่านพื้นที่เมืองนี้บริเวณทิศตะวันออก แต่มีแม่น้ำไหลติดเมืองทางด้านทิศ “ตะวันตก” แทน ส่วนพื้นที่ด้านทิศใต้เห็นที่ราบทางไม่มีแนวป่าทึบที่สามารถเป็นที่ตั้งของ “พระเชตวัน” ได้เลย
ในที่นี้แอดมินเลยจะย้อนมาเปรียบเทียบที่บริเวณ “เมืองบีลีน” เป็นหลัก
 
๑. ประตูเมืองด้านทิศตะวันออก และ
๒. แม่น้ำด้านทิศตะวันออก
เมืองนึ้ตั้งอยู่ติด “แม่น้ำบีลีน” ที่ไหลผ่านด้าทิศตะวันออก ตัวเมืองสามารถตั้งติดแม่น้ำนี้ได้ ถ้าบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเมือง “สาวัตถี” ในสมัยพุทธกาลจริง ก็น่าจะมีประตูด้านทิศตะวันออกและมี “บุพพาราม” ได้ด้วยเช่นกัน
๓. มีประตูด้านทิศใต้
๔. ด้านทิศตะวันตกติด “ภูเขา” และ “ผืนป่า” ขนาดใหญ่
๕. มี “ธรรมจักร” ศิลาตั้งเสาอย่างน้อย ๑ วง
เช่นเดียวกัน ถ้าบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเมือง “สาวัตถี” ในสมัยพุทธกาลจริง ก็น่าจะมีประตูด้านทิศใต้ด้วย ส่วนด้านทิศตะวันตกของเมืองตั้งอยู่ใกล้ “ภูเขา” และ “ผืนป่า” ขนาดใหญ่ ที่อาจจะสามารถใช้เป็นที่สร้าง “วัดพระเชตวัน” ได้ด้วยเช่นกัน
ปัญหาอยู่ที่ ยังไม่มีรายงานการขุดค้นทางโบราณคดีว่าเคยพบ "โบราณสถาน" หรือ “ธรรมจักรศิลา" บริเวณนี้ หรือรายงานการขุดพบ “โบราณวัตถุ” ใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเมืองนี้เป็น “เมืองท่า” ขนาดใหญ่ในสมัยโบราณได้
ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมการค้นหาตำแหน่งเมืองโบราณต่าง ๆ ในสมัยพุทธกาลรอบ ๆ “เมืองบีลีน” เช่น เมือง “สาเกต” ที่อยู่ห่างจากเมืองสาวัตถี ๗ โยชน์ (ประมาณ ๑๑๒ กิโลเมตร) ที่เป็นเมืองในระหว่างเส้นทางไปเมืองราชคฤห์อีกด้วย เป็นต้น
🌿 เป็นอันว่าแอดมินได้นำเสนอและนำจุดที่มี “ลักษณะเฉพาะ” ของเมือง “สาวัตถี” จากข้อมูลในพระไตรปิฎกและอรรถกถารวมถึงบันทึกการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียน มาเปรียบเทียบกับเมือง “เป้าหมาย” ทั้งหมด ๔ เมือง ที่เชื่อว่าเป็นเมือง “สาวัตถี” ในสมัยพุทธกาลให้แฟนเพจพิจารณากันครบแล้ว
ที่เหลือก็คงเป็นเรื่องของ fc ของแต่ละเมือง จะได้ใช้วิจารณาณในการเปรียบเทียบข้อมูลกันต่อไปนะครับ
ส่วน Ep หน้า จะเป็นเรื่องอะไรเกี่ยวกับ “เมืองสาวัตถี” นั้น อยากให้ติดตามกันต่อไปนะครับ
🙏ขอบพระคุณแฟนเพจทุกท่าน ที่ติดตามอ่านกันมาโดยตลอด
🚙🚒🛻✈️มาเที่ยวชมพูทวีปบนแผ่นดินไทยกันดีกว่า ❤️ เที่ยวไม่ต้องแย่งใคร … ได้อานิสงส์เท่ากันครับ 🙏🙏🙏

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา