Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เบื่อเมือง
•
ติดตาม
2 พ.ค. เวลา 12:52 • ประวัติศาสตร์
ตามหาสาวัตถี EP. 15 - “กบิลพัสด์ุ” - “แม่น้ำน้อย” - “รามคาม” - “แม่น้ำลพบุรี” - “มัลละ”
เสด็จจากนครกบิลพัสดุ์ไปทาง “ทิศตะวันออก” ผ่าน ๓ แคว้นในราตรีเดียว
[ #คำเตือน เนื้อหาในซีรีส์นี้ จำเป็นต้องใช้วิจารณญานในการอ่านมากเป็นพิเศษ ท่านที่ไม่สามารถวางองค์ความรู้เรื่องดินแดนเกิดของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ “อินเดีย” เอาไว้ข้าง ๆ ตัวก่อนอ่านได้ แอดมินอยากให้ข้ามเพจนี้ไปนะครับ เพื่อที่เวลาอันมีค่าของท่านจะได้ไม่ต้องมาสูญเปล่าไปโดยไม่ได้ประโยชน์อันใด]
📖 …………………………………
“ก่อนหน้านี้นักโบราณคดี ‘ทางการ’ ของไทย เชื่อถือตามความรู้เก่าว่า ทะเลอ่าวไทยมีชายฝั่งเว้าลึกเข้าไปถึงนครปฐม, สุพรรณบุรี, สิงห์บุรี, ลพบุรี, นครนายก, ปราจีนบุรี และชลบุรี
ดังนั้นบรรดามนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (คง) ตั้งหลักแหล่งในป่าดงพงพีที่ดอนหุบเขาและเถื่อนถ้ำแถบสุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, อุทัยธานี จึงพบเครื่องมือหินและอื่นๆ มากมายบริเวณลุ่มน้ำแควใหญ่-แควน้อยกับแม่กลอง
ส่งผลให้ (คิดกันว่า) อ่างทอง, ปทุมธานี, นนทบุรี, กรุงเทพฯ เป็นท้องทะเลอ่าวไทยโบราณหลายพันปี ไม่มีมนุษย์ตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยเป็นชุมชน
การค้นพบแหล่งโบราณคดี ‘ขนาดใหญ่’ มีชุมชนและหลุมฝังศพมนุษย์พร้อมเครื่องมือเครื่องใช้หลายอย่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุหลายพันปีที่ ‘อ่างทอง’ จึงเป็นหลักฐานสำคัญมากที่ให้ข้อมูลความรู้ใหม่แก่นักโบราณคดีทางการ ‘ตาสว่าง’ ว่า
แนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยสมัยเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว อยู่ (แค่) บริเวณ ‘นนทบุรี’
ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปี’ มาแล้ว (จึงสามารถ) พบทั่วไปบริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเคยมีผู้รายงานนานหลายปีแล้วในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ ตามลำน้ำ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และที่ราบลุ่มต่ำ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ฯลฯ
โดยสรุปประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยต้องทบทวนโดย “รื้อ” แล้ว “สร้าง” ด้วยข้อมูลชุดใหม่
(จากบทความ บรรพชนคนไทย ๓,๐๐๐ ปี สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง : สุจิตต์ วงษ์เทศ)
…………………………………................ 📖
แหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่สมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุหลายพันปีที่ ‘อ่างทอง’ ตามข้อความข้างต้นนี้คือ แหล่งโบราณคดี “บ้านสีบัวทอง” อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทองครับ
จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งฝังศพของมนุษย์โบราณ แบ่งได้เป็น ๒ สมัย ทั้ง “สมัยหินใหม่” ที่กำหนดอายุได้ราว ๓,๖๐๐ - ๓,๒๐๐ ปีมาแล้ว และ “สมัยสำริด” ที่กำหนดอายุได้ราว ๒,๘๐๐ ปีมาแล้ว
เหนือบ้านสีบัวทองขึ้นไปอีกไม่ไกลเราก็จะพบแหล่งโบราณคดี “สำคัญ” อีกแห่งหนึ่งคือ เมืองโบราณ “บ้านคูเมือง” ตำบลห้วยชัน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี จากหลักฐานที่พบสามารถตรวจสอบอายุได้อย่างน้อยในสมัยทวารวดี คือ มีอายุราว ๑,๖๐๐ - ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว
ใกล้ ๆ บ้านคูเมืองอินทร์บุรียังพบเมืองโบราณ “ดงคอน” อยู่ในเขตตำบลดงคอน อำเภอสรรค์บุรี จากหลักฐานที่พบหลายชิ้นโดยเฉพาะเหรียญเงินมีจารึกว่า "ศฺรีทฺวารวตีศฺวรปุณฺย” เช่นเดียวกับที่พบที่นครปฐม จึงประเมินว่าเมืองมีอายุประมาณในสมัยทวารวดี
ถัดบ้านสีบัวทองลงมาอีกทางด้านใต้ก็จะพบเมืองโบราณที่มี “คูน้ำล้อม” อีกหลายเมือง เช่น เมืองโบราณบ้านคูเมือง ต.ทุ่งคลี อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี และเมืองโบราณบ้านคูเมือง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ที่ประมาณอายุอยู่ได้ใน “สมัยทวารวดี” เช่นกัน
จากเมืองโบราณต่าง ๆ ที่กล่าวมา เมื่อไล่ลงมาตาม “แม่น้ำน้อย” เรื่อยมาจนถึง “อยุธยา” ที่นักวิชาการเชื่อกันว่าเมื่อ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปี ก่อนยังจมอยู่ “ใต้ทะเล” จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีอายุหลายพันปี
จนเมื่อมีผู้งมได้หลักฐานภาชนะดินเผาที่มีลวดลายตกแต่งผิวภาชนะขูดขีดคดโค้งแบบที่นิยมกันในยุคก่อนประวัติศาสตร์ โครงกระดูก ขวานหิน กำไลหิน รวมทั้งขวานหินขัด ขวานสำริด เป็นจำนวนมากใต้ก้นแม่น้ำน้อยช่วงทีไหลผ่านพระนครศรีอยุธยา
ซึ่งเป็นเรื่องที่ “ไม่น่าเชื่อ” และ “ไม่ควรเจอ” ที่อยุธยา
แต่ “สอดคล้อง” กับเรื่องราวใน Ep ที่ผ่านมา ที่แอดมินได้นำเสนอว่า “อยุธยา” ก็คือที่ตั้งของเมือง “รามคาม” ในสมัยพุทธกาลเมื่อกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว
ทั้งหมดนี้แอดมินกำลังจะบอกว่า “ชุมชน” คนโบราณเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีก่อนตามลุ่ม “แม่น้ำน้อย” นั้นก็คือชาว “ศากยะ” และชาว “โกลิยะ” ที่มี “แม่น้ำน้อย” หรือ “แม่น้ำโรหิณี” คั่นกลางระหว่างแคว้นในสมัยพุทธกาลนั่นเอง
…………………………………………
เดิมทีสำหรับ Ep นี้ แอดมินตั้งใจจะนำเสนอเฉพาะเรื่องแม่น้ำ “โรหิณี” กับแม่น้ำ “อโนมานที” ที่ไหลขนาบเมือง “รามคาม” เท่านั้น
แต่เนื่องจาก Ep ที่แล้วมีผู้สงสัยว่า เมือง “กบิลพัสดุ์” ของท่านหลวงจีนฟาเหียน “หายไปไหน” ก็เลยจะขอกล่าวถึงเมือง “กบิลพัสดุ์” เสียก่อนครับ
ความจริงใน Ep ที่แล้วหาก “ตั้งใจอ่าน” ก็จะเห็นว่าแอดก็ได้กล่าวถึงที่ตั้งเมือง “กบิลพัสดุ์” ของท่านหลวงจีนฟาเหียนในบันทึกเอาไว้ให้แล้ว จากข้อความนี้ครับ
📖 …
“จากสถานที่บังเกิดแห่งพระพุทธองค์ (กรุงกบิลพัสดุ์) ไปทางตะวันออกเป็นระยะทาง ๕ โยชน์ ถึงนครแห่งหนึ่งมีนามว่า ‘ราม’ ”
… 📖
ดังนั้นเมื่อเรารู้แล้วว่า “รามคาม” ก็คือเมืองในพื้นที่เกาะเมือง “อยุธยา” เราก็แค่กำหนดเส้นทางย้อนกลับไปทาง “ทิศตะวันตก” ๕ โยชน์ (ประมาณ ๘๐ กิโลเมตร) ก็จะพบว่าเป็นพื้นที่บริเวณเมือง “สุพรรณบุรี” ในปัจจุบัน
พื้นที่ตรงนี้นี่แหละครับ คือ เมือง “กบิลพัสดุ์” ในบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน
ถอดความออกมาจากบันทึกได้แบบง่าย ๆ ไม่มีอะไร “ซับซ้อน”
ที่แอดยังไม่พูดถึงก็เพราะว่าเมือง “สุพรรณบุรี” ในปัจจุบันเป็น “เมืองใหม่” ที่สร้าง “ทับซ้อน” ไปบนพื้นที่เมือง “กบิลพัสดุ์” เดิมไปหมดแล้ว จึงเป็นการยากที่จะหาตำแหน่งต่าง ๆ ของเมืองตามพระไตรปิฎกหรือบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน (แต่ใช่ว่าจะหาไม่ได้เลยทีเดียว เพียงแต่ต้องใช้เวลาและต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกมาก)
ซึ่งจะแตกต่างจากเมือง “ราชคฤห์” ที่มีเมือง “เชียงใหม่” มาสร้างทับลงไปเช่นกัน แต่สภาพทางภูมิศาสตร์สำคัญ ๆ ของเมืองราชคฤห์ที่เชียงใหม่ยังคง “อยู่ครบ” เช่น กำแพงดิน เขาล้อม ๕ ลูก เหวทิ้งโจร ตะโปทาราม ถ้ำอินทสาละ ฯลฯ (สามารถย้อนกลับไปอ่านได้ในซีรีส์ “ราชคฤห์ที่ไม่เคยเห็น” ที่ปักหมุดเอาไว้ให้แล้วครับ)
จึงต่างจากเมือง “กบิลพัสดุ์” ในบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนที่ท่านกล่าวไว้ว่า
📖
“นครกบิลพัสดุ (เวลานี้) เห็นเป็นที่รกร้างว่างเปล่าอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยการถูกทำลายลงแล้วจนยับเยิน ตามถนนหนทางผู้คนจะเดินไปมา ก็ต้องคอยระวังว่าจะไปประสบเข้ากับช้างเผือกและสิงห์ ไม่มีนักท่องเที่ยวคนใดที่จะไม่พึงต้องระวังรักษาตน”
📖
ข้อความ “เป็นที่รกร้างว่างเปล่าอันกว้างใหญ่ไพศาล” แสดงให้เห็นว่ากบิลพัสดุ์เป็นเมืองบน “ที่ราบ” ซึ่ง สอดคล้องกับสภาพทางภูมิศาสตร์ของบริเวณเมือง “สุพรรณบุรี” ในปัจจุบันนั่นเอง
…………………………
ไหน ๆ ก็พูดถึงเรื่องนี้แล้ว แอดมินก็เลยจะขออธิบาย “วิธีอ่านบันทึก” ของหลวงจีนฟาเหียนที่แอดใช้เพิ่มให้อีกหน่อยครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อแฟนเพจที่สนใจศึกษาบันทึกนี้ด้วยตนเองต่อไป
(ใครที่ไม่สนใจเรื่องนี้ แอดมินทำเส้นแบ่งให้ไว้แล้วครับ)
[ [ ……………………………………………….
บันทึกของหลวงจีนฟาเหียน (佛國記) จัดเป็น “หลักฐานชั้นต้น” ทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง เขียนด้วยภาษาจีนโบราณที่ใช้กันในสมัยนั้น (๑๖๐๐ ปีที่แล้ว) จึงต้องเข้าใจว่า “อักษรจีน” ในบันทึกหลายตัวต้องมีการ “ตีความ” ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับ “ผู้แปล” เป็นหลัก
กลายเป็นข้อจำกัดของผู้ที่ต้องการศึกษาเอกสารนี้ ซึ่งในส่วนของแอดมินก็พบปัญหานี้ไม่แตกต่างกันครับ
แต่นับว่า “โชคดี” ที่บันทึกฉบับนี้เขียนขึ้นอย่าง “มีแบบแผน” (คือ เป็นบันทึกลักษณะ ji 記 - บางท่านเรียกเป็นจดหมายเหตุ) ดังนั้นบันทึกจะให้ลักษณะสำคัญทางสภาพภูมิศาสตร์ สังคม และสภาพแวดล้อม (รวมถึงตำนานท้องถิ่น) ในสถานที่ต่าง ๆ ที่ประสบพบเห็นเอาไว้ และเชื่อถือได้สูง (แม้ว่าจะเรียกกลับออกมาจาก “ความทรงจำ” ก็ตาม)
ผู้ศึกษาบันทึกนี้ในปัจจุบัน จึงไม่จำเป็นต้องเข้าใจข้อความทั้งหมดอย่าง “สมบูรณ์แบบ” (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) แต่ต้องใช้การ “ตึความหลักฐาน” อย่างมีระเบียบวิธี ตัวอย่างเช่น การตีความใน “แนวดิ่ง” และ การตีความใน “แนวราบ” เป็นต้น
- การตีความในแนวดิ่ง คือ ไม่ยึดลำดับก่อนหลัง (เช่น ลำดับเวลา ตำแหน่ง ทิศทาง และลำดับการเดินทาง) แต่จะ “เจาะ” ประเด็นปัญหาแต่ละเรื่องที่สนใจ โดยดึง “ลักษณะเด่น” ออกมาศึกษาเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นวิธีที่แอดมินใช้ค้นหาเมือง “ราชคฤห์” “พาราณสี” “รามคาม” “สังกัสสะ” และ “อารามนกพิราบ (อยู่ภาคใต้)” จากบันทึกครับ
วิธีนี้จะใช้ได้ดีกับจุดที่มี “ลักษณะเฉพาะ” จริง ๆ เช่น เขาล้อม ๕ ลูก หรือ หินขนาดใหญ่มากที่เคลื่อนย้ายไม่ได้และมีลักษณะเฉพาะ (เช่น “หินตากจีวร” หินธรรมชาติที่สูง ๒๐ เมตร กว้าง ๑๐ เมตร ด้านหนึ่งเหมือนถูกผ่าซีก) และเมื่อกำหนดจุดเหล่านี้ได้ตรงก็จะทำให้ “เชื่อมโยง” กับข้อมูลอื่น ๆ ที่หามาได้ง่ายขึ้น
- การตีความในแนวราบ คือ ยึดตามลำดับก่อนหลังเป็นสำคัญ (เช่นลำดับเวลา ลำดับการเรียงตำแหน่ง ทิศทาง และการเดินทาง ต่อเนื่องกันไป) วิธีนี้แอดมินใช้ค้นหาเส้นทางจากเมือง “ซีอาน” ไปแคว้น “กัสมีระ-คันธาระ” เส้นทางจากเมือง “สังกัสสะ” ไปเมือง “สาวัตถี”และเส้นทางไปกลับ “เกาะลังกา”
การอ่านบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนให้เข้าใจ “จำเป็น” ต้องใช้ทั้ง ๒ วิธีนี้ร่วมกันครับ
ถามว่า แล้วนักวิชาการตะวันตกใช้เครื่องมือ “ตึความหลักฐาน” แบบนี้กับบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนหรือไม่
ตอบว่า “ใช้” ครับ
แต่ “ปัญหา” ของนักวิชาการตะวันตกก็คือ มีการ “ปักหมุด” ล่วงหน้า จึงเอาบันทึกไปกาง “ผิดที่” คือ ที่ “อินเดีย” แทนที่จะมากางแถว พม่า ไทย ลาว และกัมพูชา ซึ่งเป็น “ชมพูทวีป” ที่แท้จริง บันทึกของหลวงจีนฟาเหียน ก็เลยไม่มีที่ไหนตรงกับตำแหน่งเมืองต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกสมัยพุทธกาลของ “อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม” ที่กำหนดไว้ในอินเดียเลยสักที่ (แม้แต่ “เสาอโศก” ก็ไม่ตรงกันครับ)
คล้ายกับการเอาแผนที่ “เชียงใหม่” ไปเที่ยวเดินหา “พระธาตุดอยสุเทพ” ที่ “กรุงเทพฯ” นั่นแหละครับ
บันทึกของหลวงจีนฟาเหียนจึงเป็นบันทึกที่ “ไม่เคย” ถูกนักวิชาการตะวันตกนำมา “อ้างอิง” ไล่ลำดับหาเมืองต่าง ๆ เลย ได้แต่อ้างลอย ๆ ว่า หลวงจีนฟาเหียนท่านไป “อินเดีย”
…
อีกเรื่องที่แอดมินอยากกล่าวไว้ให้เป็นข้อมูลคือ บันทึกของหลวงจีนฟาเหียนเขียนขึ้นในลักษณะ “คำให้การ” คือ จะมีอาลักษณ์ (ผู้มีความรู้ความสามารถในการเขียนบันทึก) เป็นผู้เขียน ซึ่งจะสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ ของการเดินทางจากท่าน แล้วจดบันทึกไว้ บางครั้งก็ถาม “เจาะ” แทรกเข้ามา ดังนั้นจะเห็นว่าข้อมูล “บางช่วง” ไม่ต่อเนื่องกัน
ในกรณีนี้ “ผู้เขียน” บันทึกเป็นเพื่อนภิกษุของท่าน คือ “งันจู” (ไม่ได้ไปด้วย) เขียนขึ้นเมื่อประมาณปีพ.ศ. ๙๕๙ ในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก ท่านได้เล่าเอาไว้ว่า
…
“ในการประชุมสนทนา ณ ที่นี่ ข้าพเจ้า (งันจู) ถามถึงเรื่องการเดินทางไปของท่าน (ฟาเหียน) โดยรอบคอบ หลายหน ท่านเป็นคนสุภาพและมีมรรยาทเรียบร้อยเป็นที่น่านับถือ และตอบคำถามว่องไวตามความจริง
เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงแนะนำขอให้ท่านเล่าเรื่องที่ท่านท่องเที่ยวไปโดยพิสดารตั้งแต่เริ่มต้นแห่งฤดูร้อน (อีกครั้ง-แอดมิน) และท่านก็ได้เล่าบรรยายข้อความตามที่ท่านเดินทางให้ฟังตามที่เราต้องประสงค์ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงที่สุด”
…
น่าเสียดายว่าต้นฉบับตัวจริง “สูญหาย” ไปแล้ว ฉบับที่ใช้แปลและศึกษากันอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพียง ฉบับที่คัดออกมาจากส่วนแทรก (เป็น “ภาคผนวก” ที่ลอกบันทึกมาใส่ทั้งเล่ม) ปรากฏอยู่ในบท “ภูมิศาสตร์” ของหนังสือ “ประวัติศาสตร์ราชวงศ์สุย” (เขียนในช่วงปีพ.ศ. ๑๑๒๔ - ๑๑๖๑)
การที่บันทึกของท่านไปปรากฏอยู่ในบท “ภูมิศาสตร์” แสดงให้เป็นว่า “ราชบัณฑิต” ผู้รวมรวมเอกสารในสมัยราชวงศ์สุยนับถือว่า บันทึกได้แสดงลักษณะทางภูมิศาตร์ที่ “เชื่อถือได้” ของเส้นทางนอกเขตแดนจีนไปทางทิศตะวันตก และพื้นที่ของ “ชมพูทวีป” เอาไว้ จึงสามารถใช้เพื่อตรวจสอบ “ภูมิประวัติศาสตร์” ของพระพุทธศาสนาตามที่มีกล่าวในพระไตรปิฎกและอรรถกถาได้เป็นอย่างดีครับ
…………………………………………….. ] ]
ย้อนกลับมาเรื่องที่จะค้นหาใน Ep นี้กันดีกว่า
เมื่อบริเวณพื้นที่ตัวเมือง “สุพรรณบุรี” ในปัจจุบันคือ เมือง “กบิลพัสดุ์” และ “อยุธยา” ก็คือ “รามคาม” ดังนั้นถ้าตำแหน่งที่เรากำหนดไว้นี้ “ถูกต้อง” ในระหว่าง ๒ เมืองนี้จะต้องมีแม่น้ำ “คั่นกลาง”
ในกรณีนี้เราจะได้ “แม่น้ำน้อย” มาคั่นกลางอย่าง “ไม่บังเอิญ” แม่น้ำสายนี้แหละคร้บคือ “แม่น้ำโรหิณี” ซึ่งเป็นแม่น้ำที่สอดคล้องกับเหตุการณ์สำคัญอย่างน้อย ๓ เรื่องในสมัยพุทธกาล
- ทรงกระทำปาฏิหาริย์แก่หมู่พระญาติที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโรหิณี
- เสด็จระงับความวิวาทแห่งหมู่พระญาติ ด้วยเหตุเพราะแย่งน้ำ
- ท่านพระอานนท์ปรินิพพานที่ฝั่งแม่น้ำโรหิณี
เรื่องกระทำปาฏิหาริย์แสดงแก่หมู่พระญาติกับเรื่องระงับเหตุแย่งน้ำ มีกล่าวถึงกันมากแล้วแอดจะขอข้ามไปนะครับ
เรื่อง “พระอานนท์” ปรินิพพานที่ฝั่งแม่น้ำโรหิณี มีกล่าวอยู่ในในประวัติ “อสีติมหาสาวก” และยังมีกล่าวในบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนด้วย แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่รับรู้กันมาไม่ต่ำกว่า ๑๖๐๐ ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย
นอกจากนี้ยังมี “ตำนาน” พระธาตุพระอานนท์ ที่จังหวัดยโสธรที่มีเค้าโครงร่วมกัน แอดมินจึงจะขอกล่าวเฉพาะเรื่องนี้ครับ
…
“ตำนานแรก” อยู่ในประวัติอสีติมหาสาวก ๘๐ รูป ดังนี้
📖 “ภายหลังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอานนท์ได้เที่ยวจาริก สั่งสอนเวไนยสัตว์แทนองค์พระศาสดา จนชนมายุของท่านล่วงเข้า ๑๒๐ ปี ท่านจึงได้พิจารณาอายุสังขารของท่าน พบว่า อายุสังขารของท่านนั้น ยังอีก ๗ วันก็จะสูญสิ้น เข้าสู่พระนิพพาน
ท่านจึงพิจารณาว่า จะเข้านิพพาน ณ ที่ใด ก็เห็นว่า จะเข้านิพพานที่ “ปลาย” แม่น้ำโรหิณี ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์ กับเมืองโกลิยะ ซึ่งมีพระประยูรญาติอยู่ทั้ง ๒ ฝ่าย
จากนั้น ท่านจึงได้ลาภิกษุสงฆ์ และชนทั้งหลาย จนครบ ๗ วันแล้วท่านจึงได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ นานาประการ แล้วตั้งจิตอธิษฐาน ให้กายแตกออกเป็น ๒ ภาค ภาคหนึ่ง ให้ตกที่ฝั่งกรุงกบิลพัสดุ์ อีกภาคหนึ่งตกที่โกลิยะ แล้วท่านได้เจริญเตโชกสิณ ทำให้เปลวเพลิงบังเกิดในร่างกาย
เผาผลาญมังสะและโลหิต ให้สูญสิ้น ยังเหลือแต่พระอัฐิธาตุ สีขาวดังสีเงินพระอัฐิธาตุที่เหลือ จึงแตกออกเป็น ๒ ภาค ด้วยกำลังอธิษฐานของท่าน
บรรดาพระประยูรญาติ และชนที่มาชุมนุมกัน ณ ที่นั้น ต่างก็รองรับพระธาตุไว้ แล้วสร้างพระเจดีย์บรรจุไว้ทั้ง ๒ ฟากของแม่น้ำโรหิณี” 📖
…
“ตำนานที่ ๒” มีกล่าวอยู่ในบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน ว่า
📖 “สี่โยชน์จากสถานที่นี้ไปทางตะวันออก ฟาเหียนกับเพื่อนได้ไปถึงตำบลหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่รวมแม่น้ำ ๕ สายไหลมาบรรจบกันที่นั่น
เมื่อพระอานนท์ออกจากมคธไปถึงนครไวศาลี ปรารถนาจะเที่ยวแสวงหาสถานที่ดับขันธปรินิพพาน เทพดาได้ทูลให้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบ ในทันทีนั้นพระองค์ทรงราชรถออกติดตามไป พร้อมด้วยเหล่าทหารรักษาพระองค์จนบรรลุถึงแม่น้ำ
(ฝ่าย) มัลละกษัตริย์ลิจฉวีแห่งแคว้นไวศาลี ก็ได้ทรงทราบว่าพระอานนท์จาริกมาสู่ (เขตนครของพระองค์) ต่างก็เสด็จมาพบกัน แล้วและทุกองค์เสด็จไปสู่ ณ ที่แม่น้ำนั้นพร้อมกัน
พระอานนท์ได้พิเคราะห์เห็นเหตุการณ์เช่นนั้น (จึงไตร่ตรองดูว่า) ถ้าเราจะไปข้างหน้าต่อไป พระเจ้าอชาตศัตรูก็จะทรงพิโรธ ถ้าเราจะกลับคืนหลัง กษัตริย์ลิจฉวีก็จะก่อการอาฆาตมาตรร้ายขึ้น
เพราะฉะนั้น พระอานนท์จึงไปสู่ ณ พื้นที่ศูนย์กลางแห่งแม่น้ำสายต่าง ๆ และกระทำการนั่งสมาธิเข้าฌานให้บังเกิดเป็นไฟเผาร่างกายของตนเอง แล้วดับขันธ์ปรินิพพาน
และท่านได้แบ่งอัฏฐิของท่านออกเป็น ๒ ส่วน (ส่วนที่เหลือ) อีกครึ่งหนึ่งให้ประ ดิษฐานไว้บนฝั่งลำน้ำทุกฝั่ง ส่วนกษัตริย์ทั้งสองฝ่ายได้รับอัฏฐิธาตุไปองค์ละ ๑ ส่วน แล้วและนำกลับคืน (ไปสู่นครแห่งตน) ณ สถานที่นี้ก็เกิดมีสตูปอันเป็นที่ (บรรจุ) อัฐิธาตุของพระอานนท์ขึ้น” 📖
.
หลวงจีนฟาเหียนยังได้บันทึกว่า ท่านเห็น “สตูปพระอานนท์” ที่เมือง “เวสาลี” ด้วย (แสดงว่า ณ เวลานั้น “ตำนาน” นี้มีหลักฐานยืนยันหนักแน่น)
…
ตำนานที่ ๓ การสร้างเจดีย์พระธาตุอานนท์ วัดมหาธาตุ จังหวัดยโสธร
📖 (ประวัติพระธาตุ วัดมหาธาตุ ยโสธร ขุดพบเมื่อวันพุธที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐)
“ข้าพเจ้านามกรเกตตาชานุวิน ผู้สร้างพระธาตุไว้ คือว่าพระธาตุลูกนี้สร้างแล้วพุทธสังกาสล่วงแล้วได้พันสองร้อยสิบแปดปี (๑๒๑๘ ปี) ได้ฮ่วมกันกับจินดาชานุผู้เป็นน้อง คือว่าท่านองค์นั้นเป็นลูกน้องแม่ของตู สร้าง ๘ เดือนกับซาวห้ามื้อ (๒๕ วัน) จิ่งแล้วแลท่านเอย
ข้าพเจ้าเกิดอยู่เวียงจันทน์ได้พากันออกไปบวชทำความเพียรนานนับว่าได้ ๓ ปีปลายซาวห้ามื้อ เห็นว่าท้าวพระยาทั้งหลายนับถือดอนปู่ปาวเป็นบ่อนไหว้ ถึงปีเดือนก็ป่าวกันไปไหว้
ข้าพเจ้าจิ่งว่าทีนี้ตูจักไปเอาของศักดิ์สิทธิ์มาไว้ เพื่อว่าจักได้เป็นมังคละภายในภาคหน้า
จิ่งได้เดินกรรมฐานไปตามบ้านน้อยเมืองใหญ่สืบไต่ตามทางไปประมาณว่าได้ ๒ ปีปลาย ๑๐ เดือน ๑๑ วัน จิ่งได้ไปฮอดเมืองเทวทหนคร ก็ได้ไปถึงแล้วเห็นคนทั้งหลายก่อสร้างพระธาตุพร้อมเสนาท้าวพระยาใหญ่น้อย คือว่าบ่อนพระธาตุอันเก่าอยู่คับแคบในเมื่อเสนาไปไหว้
พระยาเสนาในเมืองเทวทหนครค่อยเพียรพากันสร้าง ๗ เดือนจิ่งแล้วแลท่านเอย
ท้าวพระยาทั้งหลายจิ่งอัญเชิญพระธาตุแล้วไขปักกะตูเข้าไปได้ ๓ ชั้นเห็นอูบเงิน ๓ ชั้น ไขอูบเงินแลเห็นอูบคำ ๗ ชั้น ไขอูบคำเห็นอูบแก้วไพฑูรย์ ๒ ชั้น ไขอูบแก้วไพฑูรย์เห็นผ้ากะจ๋าคำ ๕๐๐ ชั้น จิ่งเห็นผ้าสีขาวอันอ่อนเหมือนดังสำลีหลายชั้น จิ่งเห็นดูกแลฝุ่นแล้ว จิ่งถามเขาว่าเป็นดูกพระอานนท์แท้แล
ข้าพเจ้าจิ่งถามเขาอีกว่าธาตุองค์นี้เป็นมาดังลือจา เขาบอกว่าเป็นมาแต่ปุราณบอกกล่าวกันมา ตูข้าจิ่งนับถือกันมาจนบัดนี้ คือว่าพระอานนท์ได้อธิษฐาน อัฐิแตกเป็น ๒ เขื่อง เขื่องหนึ่งจิ่งได้แก่เมืองตูข้าทั้งหลาย
เมื่อได้ฟังดังนั้นข้าพเจ้าจิ่งอธิษฐาน แล้วแต่งเป็นเครื่องบูชาด้วยของต่าง ๆ พระธาตุนั้นก็บังเกิดเป็นลมพัดผ้ากะจ๋าคำขึ้นไปบนอากาศ แล้วจิ่งอธิษฐานในใจ ทั้งผ้าก็ตกลงทั้ง ๕๐๐ ผืนก็เป็นอัศจรรย์อยู่
จิ่งได้ขอวิงวอนวานถึงท้าวพระยาหลายวัน จิ่งได้ผงธุลีประมาณท่อว่าได้เต็มเปลือกไข่นกเขียนนั้นแล กับกระดูกเท่าดอกสังวาลจิ่งได้นำมาถึงเวียงจันทน์ นานประมาณว่าปีปลาย ๑๑ เดือน ก็มาถึงแล้วแลว่าจักสร้างพระธาตุพระอัฐิ
เกิดความติฉินนินทาว่าผิดฮีตบูฮาน จิ่งได้ไล่ข้าพเจ้าหนีมาอยู่นำ (กับ) ขอม
นานนับว่าได้ ๓ ปีจิ่งได้ชักชวนขอมชื่อว่าเอียงเวธา ผู้เป็นใหญ่มาสร้างไว้ในดงผีสิงนี้ ไกลจากคน ๗๐๐ ชั่วขาธนู อยู่นี้เป็นสิ่งใส่เครื่องสร้างพระธาตุ ก็มีอยู่หลายสิ่ง เมื่อท่านทั้งหลายอยากฮู้แจ้งจงเบิ่งในประวัติเล่มใหญ่แลท่านเอย
อันหนึ่งเขียนไว้แผ่นทองแดงไว้แจธาตุทิศตะวันตกทางใต้ อันหนึ่งแผ่นทองคำธรรมชาติไว้ในพื้นพระธาตุ เมื่ออยากฮู้แจ้งซึ่งสิ่งของในพระธาตุ ให้ไปเบิ่งประวัติธาตุนำ (กับท่าน) เอียงเวธา เจ้าบ้านแลเป็นผู้สร้างด้วยแล พร้อมทั้งบ้านน้อยเมืองใหญ่ ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นหัวหน้า
พระธาตุลูกนี้เป็นพระธาตุพระอานนท์แท้แล เมื่อท่านทั้งหลายก่อสร้างขึ้นใหม่ (หากจะบูรณะสร้างใหม่) อย่าสูงให้สูงเกินพระธาตุทรวงอกของพระพุทธเจ้า (พระธาตุพนม) จักไม่อยู่สบาย เพราะว่าจักเกิดฟ้าผ่ามุ่นลงแลท่านเอย
เมื่อท่านทั้งหลายเห็นประวัตินี้แล้วอย่าทำลายเป็นอันขาด เพื่อว่าจักให้คนทั้งหลายได้เห็น จักได้สืบสืบสร้างต่อไป เมื่อคนได้เห็นแล้วให้เอาไว้ที่เก่า เพื่อจักได้สืบไปหลายคน ท่านเอย
ผู้ใดทำลายพระธาตุลูกนี้มีบาปเท่าประมาณท่อภูเขาท่านเอย จบประวัติธาตุเท่านี้”
(จากโพสต์ของเพจ เว้าพื้นประวัติศาสตร์)
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1162260929241819&set=a.1014237647377482
………………………….. 📖
เรื่องน่าสนใจของ “แม่น้ำน้อย” ก็คือ แม่น้ำน้อยแยกตัวออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดพระบรมธาตุ จังหวัดชัยนาท ผ่านอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ผ่านเข้าจังหวัดสิงห์บุรี ผ่านอำเภอบางระจัน อำเภอท่าช้าง เข้าจังหวัดอ่างทองที่อำเภอวิเศษชัยชาญ เข้าอยุธยา ที่อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา แล้วไปบรรจบออกแม่น้ำเจ้าพระยา อีกครั้งที่อำเภอบางไทร
จุดบรรจบแม่น้ำน้อยกับเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท เราจะพบกลุ่ม “เมืองโบราณ” เมื่อ ๓,๐๐๐ ปีก่อน ช่วงจังหวัดชัยนาทและอ่างทอง “หนาแน่น” อย่างชัดเจน ดังที่กล่าวมาแล้วต้นโพสต์
และยังมีร่องรอยหลงเหลืออยู่ที่ชื่อบ้านนามเมือง เช่น “อินทร์บุรี” หรือ “สรรค์บุรี (มาจากคำว่า สวรรค์บุรี) ที่สอดคล้องกับชื่อ “เทวทหะ” อย่างน่าสนใจ
ในขณะที่จุดบรรจบแม่น้ำน้อยกับเจ้าพระยาที่ “บางไทร” พบหลักฐานน้อย จึงน่าจะยังเป็นบริเวณที่มีผู้คนอยู่อาศัยน้อย
(ต่อไปนี้เป็นความเห็นของแอดมินเอง - โปรดใช้วิจารณญาณประกอบการอ่านด้วยนะครับ)
เมื่อ “รามคาม” มีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่แล้ว แอดมินจึงคิดว่าท่านพระอานนท์น่าจะ “เลือก” ปรินิพพานที่ปากแม่น้ำโรหิณี (แม่น้ำน้อย) ช่วงจังหวัดชัยนาท
เมือง “เทวทหนคร” ตามตำนานพระธาตุอานนท์ ก็ควรอยู่บริเวณนี้
พระธาตุของพระอานนท์จึงมีอยู่ในบ้านเราที่ จังหวัดชัยนาท ๑ เมืองเวสาลี ๑ และที่พระธาตุอานนท์ ยโสธร อีก ๑ แห่งครับ แอดมินขอฝากไว้ให้พิจารณากัน
…
ต่อไปแอดจะพาไปหาแม่น้ำ “อโนมานที” ที่ฝากตะวันออกของ “รามคาม”
. อรรถกถา (ปาสราสิสูตร อุปมากองบ่วงดักสัตว์) กล่าวว่า
📖 “ดังได้สดับมา ในวันมหาภิเนษกรมณ์ พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นเรือนสนมกำนัลเปิดก็สลดพระทัย จึงตรัสเรียกนายฉันนะมาสั่งว่า นำม้ากัณฐกะมาซิ มีนายฉันนะเป็นสหาย เสด็จขึ้นทรงหลังพญาม้าออกจากพระนคร ทรงแสดงเจติยสถานที่ให้ม้ากัณฐกะกลับ ทรงละราชสมบัติ ทรงผนวชใกล้ฝั่งแม่น้ำอโนมานที เสด็จจาริกไปตามลำดับเที่ยวแสวงหาอาหารในกรุงราชคฤห์”
. อรรถกถาโคตมพุทธวงศ์
📖 “ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทรงผนวชแล้ว (ริมฝั่งอโนมานที) ในประเทศนั้นนั่นแลมีสวนมะม่วงชื่ออนุปิยะ อยู่ จึงทรงยับยั้งอยู่ ณ อนุปิยอัมพวันนั้น ๗ วัน”
. อรรถกถา เรื่องเจ้าศากยะ ๖ พระองค์ทรงผนวช
📖 “เมื่อพระศาสดา (เสด็จกลับมาโปรดพระญาติ- แอดมิน) ทรงอาศัยนิคมชื่ออนุปิยะแห่งมัลลกษัตริย์ ประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวันนั่นแล, ในวันรับพระลักษณะแห่งพระตถาคตนั่นเทียว ตระกูลพระญาติแปดหมื่นมอบพระโอรสแปดหมื่นให้ ด้วยคำว่า “สิทธัตถกุมาร จงเป็นพระราชาก็ตาม เป็นพระพุทธเจ้าก็ตาม, จักมีกษัตริย์เป็นบริวารเที่ยวไป”,
เมื่อพระโอรสเหล่านั้นผนวชแล้วโดยมาก, เหล่าพระญาติเห็นศากยะ ๖ พระองค์นี้ คือ ภัททิยราชา อนุรุทธะ อานันทะ ภคุ กิมพิละ เทวทัต ยังมิได้ผนวช (เหล่าพระญาติ) จึงสนทนากันว่า “พวกเรายังให้ลูกๆ ของตนบวชได้, ศากยะทั้ง ๖ นี้ ชะรอยจะไม่ใช่พระญาติกระมัง? เพราะฉะนั้น จึงมิได้ทรงผนวช. ฯ
… แต่นั้น กษัตริย์ทั้งหกองค์นี้ คือ ภัททิยศากยราช อนุรุทธะ อานนท์ ภคุ กิมพิละ และเทวทัต เป็น ๗ ทั้งอุบาลีนายภูษามาลา ทรงเสวยมหาสมบัติตลอด ๗ วัน ประดุจเทวดาเสวยทิพยสมบัติ, แล้วเสด็จออกด้วยจตุรงคินีเสนา ประหนึ่งว่าเสด็จไปพระอุทยาน
เมื่อถึงแดนกษัตริย์พระองค์อื่นแล้ว (นิคมชื่ออนุปิยะ) ทรงส่งกองทัพทั้งสิ้นให้กลับด้วยพระราชอาชญา เสด็จย่างเข้าสู่แดนกษัตริย์พระองค์อื่น.ใน ๗ คนนั้น กษัตริย์ ๖ พระองค์ทรงเปลื้องอาภรณ์ของตนๆ ทำเป็นห่อแล้ว รับสั่งว่า “แน่ะนายอุบาลี เชิญเธอกลับไปเถอะ, ทรัพย์เท่านี้พอเลี้ยงชีวิตของเธอ” ดังนี้แล้ว ประทานแก่เขา”
…
ส่วนบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนระบุเพิ่มเติม “ทิศทาง” ให้ไว้ดังนี้
📖 “ต่อจากที่นี้ (รามคาม - แอดมิน) ไปทางทิศตะวันออก ๓ โยชน์ถึงที่ซึ่งพระรัชทายาทส่งนายฉันนะและม้าขาวกลับนคร มีสถูปก่อไว้”
…
รวมความแล้วตั้งแต่ออกจากประตูนครกบิลพัสดุ์ทรงเสด็จไปทาง “ทิศตะวันออก” ตลอดทางจนถึงส่งนายฉันนะและม้ากัณฐกะกลับนคร และทรงผนวชที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานทีในเขตของชาวมัลละ เลยเมือง “รามคาม” ออกไปอีก
และที่ฝั่งตะวันออกของ “รามคาม” หรือ “อยุธยา” ในปัจจุบัน มี ๒ สายคือ “แม่น้ำลพบุรี” และ “แม่น้ำป่าสัก” ไหลผ่าน
แม่น้ำ ๒ สายนี้ เส้นหนึ่ง คือ “อโนมานที” ที่ไหลผ่าน “นครปาตาลีบุตร” อีกเส้นหนึ่งไหลผ่านเมือง “เวสาลี” และเป็นตัวแบ่งแคว้น”วัชชี” กับ “มัลละ” (ฝั่งปราจีน) ออกจาก “โกศล” และ “มคธ ” คร้บ
…
เนื้อที่หมดพอดี
เพื่อไม่ให้เนื้อหายาวมากไปกว่านี้ เอาเป็นว่าแอดมินขอฝากไว้ให้ลองพิจารณากันเองก่อน แต่ บอกใบ้ให้ว่า “อโนมานที” เป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ และมีกล่าวอยู่ใน “จารึกวัดศรีชุม” (ว่าไหลผ่าน “นครปาตาลีบุตร”) ครับ
…
สรุปความสำคัญของ “ตำแหน่ง” เมืองต่าง ๆ อีกครั้งดังนี้
พาราณสี (นครชัยศรี) - สาวัตถี (อู่ทอง) - กบิลพัสดุ์ (สุพรรณบุรี) - รามคาม (อยุธยา) เป็นเมืองที่มีทางออกทะเลทั้งหมด เมื่อ ๓,๐๐๐ ปีก่อน
เป็นเมืองที่อยู่ติดกันโดยมี “สาวัตถี” เป็นใหญ่ในแคว้นโกศลและกาสี
เจ้าชายสิทธัตถะต้องเสด็จจากนครกบิลพัสดุ์ไปทาง “ทิศตะวันออก” (เท่านั้น) และต้องผ่าน ๓ แคว้นในราตรีเดียว คือ สุพรรณบุรี - แม่น้ำน้อย - อยุธยา - อโนมานที จนเข้าสู่แคว้น “มัลละ” เพื่อให้พ้นพื้นที่ปกครองของแคว้น “โกศล” นั่นเอง
…
จากที่ผ่านมาหลาย Ep แอดมินได้กำหนด “ตำแหน่ง” เมืองต่าง ๆ รอบเมือง “สาวัตถี” เพื่อให้แฟนเพจได้พิจารณา “เปรียบเทียบ” กับข้อมูลตำแหน่งของเมืองสาวัตถีที่ปรากฏในเอกสารต่าง ๆ กับ ตำแหน่งของเมืองโบราณ “อู่ทอง” เอาไว้ให้จนครบแล้ว
อาจจะยาวหลาย Ep ไปหน่อย แต่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเปรียบเทียบโดยแฟนเพจได้ด้วยตัวเอง
ส่วนใน Ep หน้า แอดจะได้เริ่มเข้า “เนื้อหา” ของเมือง “สาวัตถี” เพื่อเปรียบเทียบกับเนื้อหา (หลักฐานที่พบ) ของเมือง “อู่ทอง” กันต่อไปครับ
…
🙏ขอบพระคุณแฟนเพจทุกท่าน ที่ติดตามอ่านกันมาโดยตลอด
🚙🛺🚲✈️ มาเที่ยวชมพูทวีปบนแผ่นดินไทยกันดีกว่า ❤️ เที่ยวไม่ต้องแย่งใคร … ได้อานิสงส์เท่ากันครับ 🙏🙏🙏
…
📸 อธิบายภาพ : ปัจจุบันนักธรณีวิทยาเชื่อว่า เมื่อ ๓,๐๐๐ ปีก่อน ส่วนพื้นที่ “I” ที่ค่อนข้าง “กว้างใหญ่” (พื้นที่สีเหลือง) เหนือแนวเส้นสีน้ำตาลขึ้นไปนั้น เป็นที่ราบนํ้าท่วม มีน้ำหลากตามฤดูกาลและเป็นที่อยู่อาศัยได้
ถัดมาบริเวณพื้นที่ “II” เป็นช่วงรอยต่อน้ำจืดน้ำเค็ม
ช่วงบริเวณพื้นที่ “III” (แนวพื้นที่ อ.พระประแดง จ. สมุทรปราการ) ก็จะเป็นแนวผืนป่าชายเลน
ชายฝั่งทะเลจะอยู่ช่วงบริเวณพื้นที่ “IV” เท่านั้น ซึ่งจะสอดคล้องกับ "ซากวาฬอำแพง ซากเรือจมที่บ้านขอม และเรือพนมสุริทร์ ที่ขุดพบ และการเจาะสำรวจชั้นดินที่ใช้เป็นหลักฐานเปรียบเทียบ
“โบราณคดีพิศวง” ที่ไม่น่าเชื่อ และ “ไม่ควรเจอ” ที่พระนครศรีอยุธยา
https://www.silpa-mag.com/history/article_6558
อยุธยา ๓,๐๐๐ ปี มีชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
https://today.line.me/th/v2/article/JPz9P9P
แหล่งโบราณคดีสีบัวทอง
https://www.finearts.go.th/promotion/view/20318-ความคืบหน้าการดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดี-แหล่งโบราณคดีสีบัวทอง-อ-แสวงหา-จ-อ่างทอง
บรรพชนคนไทย ๓,๐๐๐ ปี สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง
https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_2284025
🎥 เมืองดงคอน สรรคบุรี เมืองโบราณสมัยทวารวดี
https://www.youtube.com/watch?v=_xjgKf7b34U
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตามหาสาวัตถี
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย