Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เบื่อเมือง
•
ติดตาม
1 พ.ค. เวลา 15:42 • ประวัติศาสตร์
ตามหาสาวัตถี EP. 14 - พระบรมสารีริกธาตุส่วนของ “รามคาม” นาคยังรักษาอยู่ที่ “อยุธยา”
[ #คำเตือน เนื้อหาในซีรีส์นี้ จำเป็นต้องใช้วิจารณญานในการอ่านมากเป็นพิเศษ ท่านที่ไม่สามารถวางองค์ความรู้เรื่องดินแดนเกิดของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ “อินเดีย” เอาไว้ข้าง ๆ ตัวก่อนอ่านได้ แอดมินอยากให้ข้ามเพจนี้ไปนะครับ เพื่อที่เวลาอันมีค่าของท่านจะได้ไม่ต้องมาสูญเปล่าไปโดยไม่ได้ประโยชน์อันใด]
📖 ...…………………………………
“จากสถานที่บังเกิดแห่งพระพุทธองค์ (กรุงกบิลพัสดุ์) ไปทางตะวันออกเป็นระยะทาง ๕ โยชน์ ถึงนครแห่งหนึ่งมีนามว่า ‘ราม’
กษัตริย์แห่งนครนี้ได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ส่วนหนึ่ง กลับมาแล้วสร้างสถูป (บรรจุพระบรมธาตุ) ขึ้นองค์หนึ่งนามว่า ‘รามสถูป’ ที่ข้างสถูปมี ‘สระน้ำ’ อยู่แห่งหนึ่ง ในสระนั้นมี ‘นาค 龍’ คอยเฝ้าดูแลรักษาสถูปอยู่เป็นเนืองนิตย์ และจัดเครื่องสักการบูชาถวายอยู่ทุกวันและคืน
ในกาลครั้งเมื่อพระเจ้าอโศกมาปรากฏในโลก พระองค์ปรารถนาจะรื้อพระสถูปทั้ง ๘ (ที่บรรจุพระบรมธาตุ) และจะสร้าง (ขึ้นใหม่) ๘๔,๐๐๐ องค์
ภายหลังเวลาที่พระองค์ได้รื้อทำลายลงแล้ว ๗ องค์ พระองค์ปรารถนาจะรื้อทำลาย ‘รามสถูป’ องค์นี้อีก แต่ ‘นาคราช’ ได้นำเครื่องสักการบูชาของตนออกอวดพระราชา (อโศก) ในพระราชวังของตน และเมื่อพระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นเครื่องสักการบูชาที่จัดไว้นั้นทั่วแล้ว ‘นาคราช’ ตนนั้นจึงทูลแก่พระราชาว่า
‘ถ้าพระองค์สามารถจัดหาเครื่องสักการบูชาได้ดียิ่งกว่าสิ่งเหล่านี้แล้ว พระองค์จะรื้อทำลายพระสถูปองค์นี้ และเอาไปเสียให้พ้นทั้งหมดก็ได้ ข้าพเจ้าจะไม่โต้แย้งต่อพระองค์เลย’
พระเจ้าอโศกทรงทราบดีว่า สิ่งของเครื่องสักการบูชาเหล่านี้ไม่สามารถหาได้ ณ ที่แห่งใดในโลก พระองค์ก็กลับพระหฤทัย (ไม่กระทำการตามที่มุ่งหมาย)”
(จากบันทึกการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียน)
………………………………......... 📖
ในพระไตรปิฎก “มหาปรินิพพานสูตร” กล่าวถึงเรื่องราวการแบ่ง “พระบรมสารีริกธาตุ” ของพระพุทธเจ้าหลังถวายพระเพลิงออกเป็น ๘ ส่วน (ทะนาน) ครั้งนั้นกษัตริย์ชมพูทวีป ๘ เมือง ได้กระทำพระสถูปบรรจุและการฉลองพระสรีระธาตุในนครของตนดังนี้
ในพระนคร “ราชคฤห์” ๑
ในเมือง “เวสาลี” ๑
ในเมือง “กบิลพัสดุ์” ๑
ในเมือง “อัลกัปปะ” ๑
เมือง “รามคาม” ๑
ในเมือง “เวฏฐทีปกะ” ๑
ในเมือง “ปาวา” ๑
ในเมือง “กุสินารา” ๑
กาลล่วงมาอีก ๒๑๘ ปี “พระเจ้าอโศก” จึงได้ “รวบรวม” พระบรมสารีริกธาตุครั้งใหญ่เพื่อไปประดิษฐานให้ทั่วทั้งชมพูทวีป ซึ่ง อรรถกถา “ธาตุถูปปูชาวณฺณนา” ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า
📖 ………………………………
พระเจ้าอโศกนั้นอาศัยนิโครธสามเณร ทรงได้ความเลื่อมใสในพระศาสนา โปรดให้สร้างวิหาร ๘๔,๐๐๐ วิหาร แล้วตรัสถามภิกษุสงฆ์ว่า
“โยมสร้างวิหาร ๘๔,๐๐๐ วิหารแล้ว จักได้พระบรมธาตุมาจากไหนเล่า ท่านเจ้าข้า”
ภิกษุสงฆ์ทูลว่า “ถวายพระพร พวกอาตมภาพฟังมาว่า ชื่อว่าที่เก็บพระบรมธาตุ (ที่พระมหากัสสปเถระรวบรวมไว้ - แอดมิน) มีอยู่ แต่ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน”
พระราชาให้รื้อพระเจดีย์ในกรุงราชคฤห์ ก็ไม่พบ ทรงให้ทำพระเจดีย์คืนดีอย่างเดิมแล้ว ทรงพาบริษัท ๔ คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไปยังกรุงเวสาลี แม้ในที่นั้นก็ไม่ได้ ก็ไปยังกรุงกบิลพัศดุ์ แม้ในที่นั้นก็ไม่ได้
แล้วไปยัง “รามคาม” เหล่า “นาค” ในรามคาม ก็ไม่ยอมให้รื้อพระเจดีย์ จอบที่ตกต้องพระเจดีย์ ก็หักเป็นท่อนเล็กท่อนน้อย ด้วยอาการอย่างนี้ แม้ในที่นั้นก็ไม่ได้
ก็ไปยังเมืองอัลลกัปปะเวฏฐทีปะ ปาวา กุสินารา ในที่ทุกแห่งดังกล่าวมานี้ รื้อพระเจดีย์แล้วก็ไม่ได้พระบรมธาตุเลย…
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=67&p=5#ธาตุถูปปูชาวณฺณนา
…………………………………......... 📖
ที่สุดแล้ว “พระเจ้าอโศก” จะได้พระธาตุจากที่ไหนมา “บรรจุใหม่” ในสถูป ๘๔,๐๐๐ องค์ ทั่วชมพูทวีป แฟนเพจที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านต่อโดยละเอียดใน “อรรถกถาธาตุถูปปูชาวณฺณนา” ตามลิงค์ ครับ
ส่วนใน Ep นี้ แอดมินจะขอโฟกัสเฉพาะเรื่องของ “พระบรมสารีริกธาตุ” และที่ตั้งของเมือง “รามคาม” เท่านั้น
…
จะเห็นว่า “อรรถกถา” ได้กล่าวไว้ตรงกันกับ “บันทึก” ของหลวงจีนฟาเหียนว่า “พระบรมสารีริกธาตุ” ที่ประดิษฐานอยู่ในสถูปของเมือง “รามคาม” นั้น “นาค” เป็นผู้ดูแลรักษา และไม่ยอมให้เคลื่อนย้ายไปไหน
ล่วงมาจนถึงสมัยที่ท่านหลวงจีนฟาเหียนเดินทางมาถึง “รามคาม” ในปีพ.ศ. ๙๔๘ “รามสถูป” นั้นก็ยังคงปรากฏอยู่ และเรื่อง “นาค” รักษาพระธาตุก็ยังคงเล่าขานสืบต่อกันอยู่ในพื้นที่
นอกจากนี้ท่านหลวงจีนฟาเหียนยังระบุว่า “รามคาม” อยู่ไม่ไกลจากนคร “กบิลพัสดุ์ คือ ห่างออกไปทาง “ทิศตะวันออก” เป็นระยะทางแค่ ๕ โยชน์ (ประมาณ ๘๐ กิโลเมตร)
บันทึกของท่านหลวงจีนฟาเหียนยังได้ทิ้ง “ร่องรอย” สำคัญ ที่เป็นจุดสังเกตุของ “รามสถูป” เอาไว้ให้ด้วย คือ ที่ข้างสถูปมี “สระน้ำ” อันเป็นที่อยู่ของเหล่า “นาค” ที่คอยดูแลรักษาพระธาตุ
…
ใน Ep ที่ผ่าน ๆ มา แอดมินได้พาแฟนเพจเดินทางตามเส้นทางของหลวงจีนฟาเหียนมาจนถึงเมือง “สาวัตถี” ไปแล้ว ซึ่ง “สาวัตถี” ตั้งอยู่ที่เมืองโบราณ “อู่ทอง” อ.อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
และหากแฟนเพจได้ติดตามซีรีส์ “ตามหาสาวัตถี” มาโดยตลอด ก็จะเห็นว่าตำแหน่งของเมือง “อู่ทอง” หรือ “สาวัตถี” นั้น ทางด้าน “ทิศตะวันตก” ติดเขา ส่วนด้านทิศใต้จดแม่น้ำ “โคธาวารี” หรือ “แม่กลอง” ที่แยกออกเป็น ๒ สายคือ แม่น้ำ “แควใหญ่” กับแม่น้ำ “แควน้อย”
ด้านทิศเหนือของเมือง “อู่ทอง” ขึ้นไป ๘ โยชน์ ก็จะเป็นเมือง “สาเกต” หรือ เมืองโบราณ “บึงคอกช้าง” พื้นที่นี้จึงยังถือว่าเป็นแคว้นโกศลอยู่
ส่วนด้านฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ลงไปก็มีเมือง “นครปฐม-นครชัยศรี” หรือเมือง “พาราณสี” ตั้งอยู่
ซึ่งเมืองทั้งหมดนี้รวมถึง “สุพรรณบุรี” ที่อยู่ใกล้ ๆ “อู่ทอง” ก็ไม่มี “เจดีย์พระธาตุ” ติด “สระขนาดใหญ่” ปรากฏให้เห็น
ก็จะเหลืออยู่ก็เพียงเมืองทาง “ทิศตะวันออก” ที่ไม่ไกล “อู่ทอง” จนเกินไปนัก นั่นคือ คือ “อยุธยา” อันเป็นเมืองเดียวที่มี “เจดีย์พระธาตุ” ตั้งอยู่ติด “สระขนาดใหญ่”
คือ “พระมหาธาตุเจดีย์” ที่ “วัดพระราม” และสระน้ำขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันเรียกกันว่า “บึงพระราม”
“บึงพระราม” นี้เองที่มีตำนาน “พญานาค” เช่นเดียวกันกับตำนานที่หลวงจีนฟาเหียนได้บันทึกไว้ จึง “สอดคล้อง” ลงตัวกันพอดีอย่าง “ไม่บังเอิญ”
“ตำนาน” นี้ปรากฏอยู่ในเอกสารของชาวฮอลันดา รวบรวมและเขียนขึ้นโดย “เยเรเมียส ฟานฟลีต” หัวหน้าสถานีการค้าของฮอลันดาในอยุธยา สมัยพระเจ้าปราสาททอง เอกสารฉับบนี้รู้จักกันในชื่อ “พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ. ๒๑๘๒” ครับ
ฟานฟลีต ได้บันทึกตำนานของ “บึงพระราม” เอาไว้ดังนี้
📖 ………………………………………
“ขณะนั้น ‘ท้าวอู่ทอง’ ได้ทรงทราบข่าวเกี่ยวกับเกาะ ซึ่งเหมาะจะเป็นที่ตั้งเมืองอยุธยา และพระองค์ทรงฉงนพระทัยเป็นอย่างมากที่สถานที่ที่สวยงามเช่นนั้น ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ หรือไม่มีใครตั้งเมืองขึ้น
พระองค์ได้พบกับพระฤาษีตนหนึ่ง ซึ่งได้ทูลพระองค์ว่าเมื่อก่อนบริเวณนี้มีเมืองหนึ่งตั้งอยู่ชื่อว่า ‘อยุธยา’ แต่พระฤาษีไม่สามารถจะกราบทูลว่าเมืองนั้นเสื่อมโทรมไปได้อย่างไร และยังได้เพิ่มเติมอีกว่าไม่มีใครจะสร้างเมืองบนเกาะนั้นได้อีก
เหตุผลก็คือ มีสถานที่แห่งหนึ่งชื่อ ‘ตะแลงแกง’ ปัจจุบันอยู่ตรงใจกลางเมือง มีสระซึ่งเป็นที่อาศัยของมังกรดุร้ายตัวหนึ่ง ซึ่งชาวสยามเรียกว่า ‘นาคราช’ เมื่อไหร่ก็ตามที่มังกรตัวนี้ถูกรบกวน ก็จะพ่นพิษออกมา ซึ่งทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่รอบๆบริเวณนั้น เกิดโรคระบาดเสียชีวิตลงเพราะกลิ่นเหม็น
ท้าวอู่ทองทรงตรัสถามพระฤาษี ว่าพระองค์จะฆ่ามังกรแล้วถมสระเสีย ได้หรือไม่
พระฤาษีกราบทูลว่าไม่มีวิธีใดที่จะแก้ไขได้ นอกจากจะต้องหาฤาษี (ที่มีลักษณะเหมือนตนทุกอย่าง) โยนลงไปให้มังกร
ดังนั้นท้าวอู่ทองจึงมีพระบรมราชโองการให้สืบหาฤาษีลักษณะดังกล่าวไปทั่วประเทศ
ราชบุรุษทั้งหลายที่ออกไปสืบหาฤาษี กลับมาทูลว่าไม่สามารถจะหาฤาษีลักษณะเช่นว่านั้นได้ ท้าวอู่ทองจึงเก็บข่าวนี้ไว้เป็นความลับ และเสด็จพร้อมกับพระฤาษีออกไปที่ปากสระซึ่งเป็นที่อยู่ของมังกร
และโดยที่ไม่ได้ตรัสให้พระฤาษีรู้ตัว พระองค์ทรงเหวี่ยงพระฤาษีลงสระไป แล้วถมสระเสีย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมามังกรก็ไม่ปรากฏตัวขึ้นมาอีก
แผ่นดินก็พ้นภัยจากโรคระบาด
ต่อจากนั้นท้าวอู่ทองก็เริ่มสร้างเมืองขึ้นใหม่ในวันขึ้นห้าค่ำ เดือนสี่ ปีขาล แล้วให้ชื่อเมืองว่า ‘อยุธยา’ ”
(จากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต)
…………………………………….. 📖
เนื้อความใน “ตำนาน” นี้บอกเราว่า
บริเวณพื้นที่ของ “เกาะอยุธยา” ในปัจจุบัน ก่อนการสร้าง “กรุงศรีอยุธยา” เมื่อปีพ.ศ. ๑๘๙๓ นั้น ได้เคยมี “เมืองโบราณ” ตั้งอยู่แล้ว ก่อนที่จะทิ้งร้างไปและไม่มีใครสามารถสร้างเมืองขึ้นมาได้อีก
เมืองนั้นชื่อว่า “นครพระราม” (รามคาม - นครของพระราม - อยุธยา)
แอดมินเชื่อว่าแฟนเพจคงคุ้นเคยกับชื่อ “อโยธยาศรีรามเทพนคร” แต่อาจไม่คุ้นกับชื่อ “นครพระราม” ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของ “เกาะอยุธยา”
คำนี้มีปรากฏอยู่ใน “จารึกลานทอง” เขียนด้วยตัวอักษรขอมเป็นภาษาไทย ขุดพบในเจดีย์วัดส่องคบ (วัดร้าง) หลังเมืองชัยนาทเก่า เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๔ มีประมาณ ๑๐ แผ่น ปัจจุบันจารึกส่วนหนึ่งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ชื่อ “นครพระราม” ปรากฎอยู่บนแผ่นลานทองแผ่นที่กำหนดเรียกว่า “จารึกวัดส่องคบ ๑” ดังนี้
📖 “อนุโมทนาด้วย ธ (ท่าน) เจ้าเมือง แต่ปี ชวดนักษัตร สัมฤทธิศก ไพสาข วันอาทิตย์ตรา เอกาทศเกต จึงพระสงฆ์ทั้งหลาย แต่ ธ เจ้าเมืองประดิษฐาพระศรีรัตนธาตุ แห่ง ‘กรุงไชยสถาน’ นาม มาตราหนึ่ง แต่ ธ เจ้า เมืองกระทำกุศลมาแต่กระโน้นใน ‘สุพรรณภูมิ’ ธ ให้ทานเรือนอัน ธ กระทำ กุฏิพิหารใน ‘ศรีอโยธยา’ ให้ข้าสองคนแม่ลูก พระสงฆ์สี่ ตน …
… ธ ประดิษฐาพระศรีรัตนธาตุใส่ ให้ผ้าขาวเจ้า ชาวทานบาเรืองคนหนึ่ง อ้ายแก้วลูกผู้หนึ่ง ไสผู้หนึ่ง ผู้หญิงสอง พ่อไวลูกชีอีกเพชศักดิ์ ครัวหนึ่ง อ้าย เจ้ายี่กะอีลัง อามน้อย อามเสน หมู่เพชศักดิ์เท่านี้แล
ชีอ้ายผ้าขาว ผู้หนึ่งท่านให้บำเรอ แด่ ‘พระศรีรัตนธาตุ’ แห่ง ‘นครพระราม’ โสด ผ้าขาวครัวหนึ่งชื่อยี่ช้าง ท่านให้บำเรอแด่พระมหาเถรธรรมบุตรแห่ง ‘ศรีสุพรรณภูมิ’ มาแล้วแต่ทำบุญอันเริ่มล้นพ้นไปพระเจ้าหากตรัสชแล
หนังสือนี้ผู้ชื่อ เจ้าสามีหรพงศ์ (พระภิกษุ - แอดมิน) เขียน ชแล ขอให้ทันพระพุทธศรีอาริยไมตรี” 📖
……………………………….
(ในความเห็นแอดมิน) จารึกนี้เป็นการเขียน “อนุโมทนาบุญ” ให้แก่ “เจ้าเมือง” ในการประดิษฐานพระศรีรัตนธาตุแห่ง “กรุงไชยสถาน” ซึ่งเจ้าเมืองได้เคยกระทำบุญกุศลเช่นนี้มาแล้วตั้งแต่ เมือง “ศรีสุพรรณ” “นครพระราม” และ “ศรีอโยธยา”
“จารึกวัดส่องคบ” นี้เป็นที่สนใจศึกษาโดยนักวิชาการหลายท่านด้วยกัน แต่ยังมีเนื้อหาบางส่วนที่มีความเห็น “ไม่ตรงกัน” โดยเฉพาะ ๒ เรื่องนี้ที่ยังเป็นปัญหาตีความได้ “ไม่ชัดเจน” คือ
จารึกนี้ทำขึ้น “เมื่อไหร่” และ “นครพระราม” คือที่ไหน
๑. จารึกนี้ทำขึ้น “เมื่อไหร่”
จารึกนี้ท่านอาจารย์ผู้แปลข้อความข้างต้นกำหนดว่าเหตุการณ์ในจารึกนี้เกิดขึ้นเมื่อ วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ (เอกาทศเกต) เดือน ๖ (ไพสาข) พ.ศ. ๑๙๕๑ (ปีชวดนักษัตรสัมฤทธิศก)
ที่กำหนดเป็นปีนี้เพราะท่านเชื่อว่าจารึกทำขึ้นใน “สมัยอยุธยา” คือตั้งแต่ปีพ.ศ. ๑๘๙๓ หลังตั้งกรุงศรีอยุธยาลงมา ดังนั้นวันเดือนปีที่ปรากฏเมื่อคำนวนแล้วก็จะเป็นปีที่ “นับต่อ” ไปข้างหน้าจึงตรงกับปี พ.ศ. ๑๙๕๑
แต่มุมมองของแอดมินก็คือ หากจารึกนี้ทำขึ้น “ก่อน” ตั้งกรุงศรีอยุธยา “ปีชวดสัมฤทธิศก” ในจารึกก็จะเป็นปีที่ต้อง “นับย้อน” ไปข้างหลัง ซึ่งจะเกิดขึ้นก่อนปีพ.ศ. ๑๘่ ๙๓ ไปหลายปี
ทำให้การ “ตีความ” ข้อความในจารึกบางส่วน โดยเฉพาะคำว่า “นครพระราม” และ “ศรีอโยธยา” เปลี่ยนไปในทันที
และแอดมินเชื่อว่าจารึกนี้ทำขึ้น “ก่อน” ตั้งกรุงศรีอยุธยาครับ
๒. “นครพระราม” คือที่ไหน
คำว่า “นครพระราม” นี้ มีนักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่าคือเมือง “ลพบุรี” ด้วยเหตุผลหลายหน้ากระดาษ A4 ซึ่งเหตุผลหลักอย่างหนึ่งก็คือ “ลพบุรี” ก็มี “พระศรีรัตนธาตุ” และพระศรีรัตนธาตุจะมีเฉพาะในเมืองสำคัญ
แต่แอดมินจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้นะครับ เพราะเห็นว่า “ไม่น่าใช่” และมีนักวิชาการอีกหลายท่านไม่เห็นด้วยไปแล้ว และเห็นว่า “นครพระราม” อยูแถวบริเวณที่ตั้งเมืองอยุธยานั่นแหละ
ในความเห็นของแอดมิน “พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ” ก็มีข้อความที่เอ่ยถึงเมือง “ลพบุรี” ในปีพ.ศ. ๑๙๑๓ ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับพ.ศ. ๑๙๕๑ ที่กำหนดให้เป็นปีที่ทำจารึกว่า
“สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า (ขุนหลวงพะงั่ว) เสด็จมาแต่เมืองสุพรรณบุรี ขึ้นเสวยราชพระนครศรีอยุธยา และท่านให้สมเด็จพระราเมศวรเจ้า เสด็จไปเสวยราชสมบัติ ‘เมืองลพบุรี’ ”
ดังนั้นช่วงปี พ.ศ. ๑๙๕๑ (ปีที่เขียนจารึกลานทอง) ผู้คนในสมัยนั้นก็น่าจะเรียกเมือง “ลพบุรี” ว่า “ลพบุรี” หรือ “ละโว้” เหมือนในพงศาวดารมากกว่าจะเรียกว่า “นครพระราม”
และถ้าจารึกนี้ทำขึ้น “ก่อน” ตั้งกรุงศรีอยุธยา “นครพระราม” ที่มี “พระศรีรัตนธาตุ” ก็จะมีอยู่เมืองเดียว คือ ที่เกาะเมืองอยุธยาปัจจุบัน การทำบุญถวายทานของท่านเจ้าเมือง ณ เมือง “ศรีสุพรรณภูมิ” “นครพระราม” และ “ศรีอโยธยา” ก็จะหมายถึงการทำบุญแด่ “พระศรีรัตนธาตุ” ของกลุ่มเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา “ตอนล่าง” ก็จะให้ความหมายสอดคล้องลงตัวกันได้มากกว่า
…
และต้องไม่ลืมว่าคนบ้านเราในสมัยนั้น (รวมทั้งพม่า มอญ และลาว) ยังเรียกตนเองว่า “ชาวชมพูทวีป” อยู่ ดังนั้น “นครพระราม” ทีมี “พระศรีรัตนธาตุ” ผู้จารึกจึงน่าจะหมายถึงเมือง “รามคาม” ที่เรียกกันต่อ ๆ มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล
หรือแม้แต่ชื่อ “ปฐมกษัตริย์” ที่ได้มาสร้าง “กรุงศรีอยุธยา” ขึ้นตรงบริเวณเมือง “รามคาม” เก่านี้ รวมทั้งพระมหากษัตริย์อีกหลายพระองค์ที่ครองเมืองนี้ต่อ ๆ มา ก็ยังเรียกตัวเองว่า “สมเด็จพระรามาธิบดี” เรื่อยมา อันหมายถึงผู้เป็นใหญ่แห่ง “นครพระราม” นั่นเอง
เมื่อเวลาผ่านไป "หลายร้อยปี" ชื่อ “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” ที่มาสร้างทับ “นครพระราม” ก็เข้ามาแทนที่ ชื่อของ “นครพระราม” หรือ “รามคาม” ก็ได้เลือนหายไปจากความทรงจำในที่สุด เหลือไว้แต่ชื่อ “พระศรีรัตนธาตุวัดพระราม” และ “บึงพระราม” เท่านั้นที่ยังคงอยู่ไม่เคยเลือนหายมาจนถึงทุกวันนี้
…
เมื่อรู้ว่า “รามคาม” อยู่ที่ไหนแล้ว ต่อไปแอดจะพาไปตามหา “พระบรมสารีริกธาตุ” กันครับ
…
ในปีพ.ศ. ๒๔๙๙ กรมศิลปากร ได้ขุดแต่งและบูรณะ “พระปรางค์” ที่ “วัดมหาธาตุอยุธยา” และได้พบ “กรุ” ที่มีการประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุ” บรรจุอยู่ในผอบซ้อนกันถึง ๗ ชั้น และได้โบราณวัตถุขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก
ข่าวการขุดพบกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุเป็นเหตุให้ “คนร้าย” คิดว่า กรุพระปรางค์แห่งอื่นๆก็คงมีทรัพย์สมบัติมหาศาลเช่นเดียวกัน ต่อมาจึงปรากฏว่า “พระปรางค์วัดราชบูรณะ” ได้ถูกคนร้ายลักลอบขุดจริง ๆ
แต่การลักลอบขุดครั้งแรกนี้ยังลงได้ไม่ถึงกรุ
เมื่อกรมศิลปากรทราบก็กลัวว่า “วัดราชบูรณะ” จะถูกลักลอบขุดต่อไปอีก จึงขุดต่อตามรอยคนร้ายไปได้อีกเล็กน้อย จนพอรู้แล้วว่าต้องมี “กรุสมบัติ” อยู่ข้างในแน่
แต่ด้วยเหตุผลบางประการกรมศิลปากรจึงต้องกลบรอยขุดไว้และปล่อยให้ตำรวจเป็นผู้ดูแลรักษา
จนทำให้คนร้ายเห็นช่องทางที่จะขุดต่อ
ในช่วงค่ำของวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ คนร้ายจึงเข้ามาลักลอบขุดกรุต่อจนสำเร็จ และนำสิ่งของเครื่องทองที่บรรจุในกรุไปหลอมและขายเป็นจำนวนมาก ก่อนเรื่องจะถูกเปิดเผยและถูกจับได้ในที่สุด
เหตุการณ์นี้ทำให้กรมศิลปากรได้ตัดสินใจดำเนินการขุดค้นอีกครั้ง จนได้พบตำแหน่งกรุ และพบ “พระบรมสารีริกธาตุ” ที่บรรจุอยู่ในครอบและผอบทรงสถูปซ้อนกันถึง ๘ ชั้น (เหมือนกรุวัดมหาธาตุ) นอกจากนี้ยังพบได้พระพิมพ์ และเครื่องทองคำที่เหลืออีกจำนวนมาก
ปีพ.ศ. ๒๕๐๑ กรมศิลปากรได้เปิดรับเงินบริจาคเพื่อนำมาสร้าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาขึ้นใหม่ (คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา) โดยทางราชการได้มอบพระพิมพ์ที่ได้จากกรุในองค์พระปรางค์วัดราชบูรณะให้เป็นการสมนาคุณแก่ผู้บริจาคเงิน จนรวบรวมเงินสร้างพิพิธภัณฑ์ได้แล้วเสร็จ
…
แน่นอนว่าปรางค์พระมหาธาตุ “วัดพระราม” ก็ได้ถูกลักลอบขุดเช่นกัน
ในปีพ.ศ. ๒๕๐๐ คนร้ายได้ลักลอบเข้ามาขุดปรางค์ “วัดพระราม” แต่ขุดลึกลงไปได้แค่ ๕ เมตรเท่านั้น เมื่อกรมศิลปากรรู้จึงได้เข้ามาขุดต่อจนถึงความลึก ๒๒ เมตร ก็พบกรุ แต่การขุดค้นครั้งนี้ไม่มีรายงานหลักฐานที่กล่าวถึงการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
มีข้อมูล (อย่างไม่เป็นทางการ) ว่า ขุดต่อไม่ได้เพราะ “เจอแต่น้ำ” จึงไม่ได้พระบรมสารีริกธาตุขึ้นมาครับ
ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง แอดมินก็ขอคิด “เข้าข้าง” ตนเองสักเล็กน้อยว่า เหล่า “นาค” ในรามคาม ยังไม่ยอมให้ เพราะยังไม่เชื่อว่ามนุษย์ในยุคนี้จะสามารถ “รักษา” และ “จัดหา” เครื่องสักการบูชา “พระบรมสารีริกธาตุ” ได้ดียิ่งกว่าตนก็ว่าได้นั่นเอง
(นาค ก็คือ “น้ำ” นี่แหละครับ น่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญมาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกแล้ว)
จึงหมายความว่า “พระบรมสารีริกธาตุ” ส่วนของ “รามคาม” ยังคงมีอยู่ และนาครักษาไว้ที่ใต้พระมหาธาตุเจดีย์ ใน “วัดพระราม” อยุธยาบ้านเราตลอดเวลา เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
“พระบรมสารีริกธาตุ” ส่วนนี้จึงเป็นส่วนเดียวจาก ๘ ส่วน ที่ “ไม่เคย” เคลื่อนย้ายไปไหนเลยตั้งแต่ครั้งเหตุการณ์แบ่ง “พระบรมสารีริกธาตุ” ที่ผ่านมาแล้วถึง ๒,๕๖๘ ปี
“ของแท้” อยู่ใกล้ตัวเรานี้เอง จึงไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปไหนไกลให้ลำบาก
หากแฟนเพจที่ได้ไปเที่ยว “วัดพระราม” แล้วมีเวลาเหลือ แอดก็ขอเชิญชวนให้ไปเยียมชมเครื่องทองและเครื่องบูชาต่าง ๆ ที่ได้จากการขุดพบใน “กรุพระธาตุ” (ซึ่งงดงามมาก) รวมถึง “พระบรมสารีริกธาตุ” ที่พบ ซึ่งจัดแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
…
และเมื่อเรารู้แล้วว่า “รามคาม” อยู่ที่ไหน ก็จะทำให้รู้ว่าแม่น้ำ “โรหิณี” และ “อโนมานที” อยู่ที่ไหนด้วย ดังนั้นใน Ep หน้า แอดมินจะได้พาแฟนเพจไปค้นหาแมน้ำทั้ง ๒ สายนี้กันครับ
…
🙏ขอบพระคุณแฟนเพจทุกท่าน ที่ติดตามอ่านกันมาโดยตลอด
🌿 มาเที่ยวชมพูทวีปบนแผ่นดินไทยกันดีกว่า ❤️ เที่ยวไม่ต้องแย่งใคร … ได้อานิสงส์เท่ากันครับ 🙏🙏🙏
…
📸ภาพ - แผนที่กรุงเทพทวาราวดี (อยุธยา) พ.ศ. ๒๔๕๐ จากการสำรวจของพระยาโบราณราชธานินทร์ (ที่มา: กรมศิลปากร 🙏)
สามารถดาวน์โหลดแผนที่ฉบับเดิมที่ "ไม่มี" ข้อความตำแหน่งปรางค์มหาธาตุ (ที่แอดใส่ไว้) ได้ตามลิงค์นี้
http://www.finearts.go.th/Boranrajathanin/categorie/Ayutthayalandscape
🎥 ย้อนดูประวัติศาสตร์ "พระปรางค์วัดพระราม" เปิดตำนานกับเผ่าทอง
https://www.youtube.com/watch?v=pqy_ECdWq_E
🎥 เปิดประวัติศาสตร์ "กรุทองคำอยุธยา" | เปิดตำนานกับเผ่าทอง
https://www.youtube.com/watch?v=KIKB3CG1GDM
🎥 "พระปรางค์จำลองทองคำ" ที่สุดของ "กรุทองคำอยุธยา" | เปิดตำนานกับเผ่าทอง
https://www.youtube.com/watch?v=eL-1jjIb4N4
บันทึก
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตามหาสาวัตถี
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย