Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เบื่อเมือง
•
ติดตาม
30 เม.ย. เวลา 10:44 • ประวัติศาสตร์
ตามหาสาวัตถี EP. 13 - ชนบทชื่อ “สุนาปรันตะ” มีอยู่ ท่าน “พระปุณณเถระ” ไปอยู่ชนบทนั้น
[ #คำเตือน เนื้อหาในซีรีส์นี้ จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านมากเป็นพิเศษ ท่านที่ไม่สามารถวางองค์ความรู้เรื่องดินแดนเกิดของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ “อินเดีย” เอาไว้ข้าง ๆ ตัวก่อนอ่านได้ แอดมินอยากให้ข้ามเพจนี้ไปนะครับ เพื่อที่เวลาอันมีค่าของท่านจะได้ไม่ต้องมาสูญเปล่าไปโดยไม่ได้ประโยชน์อันใด]
…………………………………
📖 ปุณณสูตร
[๑๑๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้วพึงเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความ เพียร มีใจเด็ดเดี่ยว อยู่เถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า …
(ทรงแสดงธรรมแก่ท่านพระปุณณเถระ)
ดูกร ปุณณะ ดีละ เธออันเรากล่าวสอนแล้วด้วยโอวาทย่ออันนี้ จักอยู่ในชนบทไหน?
ท่านพระปุณณเถระทูลว่า พระเจ้าข้าชนบทชื่อ “สุนาปรันตะ” มีอยู่ ข้าพระองค์จักอยู่ในชนบทนั้น
[๑๑๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว เก็บเสนาสนะแล้ว ถือบาตรและจีวรหลีกจาริกไปทาง “สุนาปรันตชนบท”
เมื่อเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ก็บรรลุถึง “สุนาปรันตชนบท” ได้ยินว่าท่านพระปุณณะอยู่ในสุนาปรันตชนบทนั้น
ครั้งนั้นแล ในระหว่างพรรษานั้น ท่านพระปุณณะให้ชาวสุนาปรันตชนบทแสดงตนเป็นอุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน ได้ทำวิชชา ๓ ให้แจ้ง และ (ท่านพระปุณณะ) ปรินิพพานแล้ว
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=1444&Z=1548
……………………........................ 📖
Ep ที่ผ่านมาแอดมินได้พาแฟนเพจไปค้นหาท่า “สุปปาระกะ” (คือ “มะริด”) เมืองท่าสำคัญที่ฝั่งทะเลอันดามันในเขตของ “แคว้นตะนาวศรี” ที่ปัจจุบันนี้อยู่ในเขตประเทศเมียนมาร์ ผ่านตำนาน “พระเจ้าวิชัยราชา” ปฐมวงศ์กษัตริย์แห่ง “เกาะสิงหล” ผู้ข้ามไปจากท่าสุปปาระกะเมื่อปีพ.ศ. ๑ ไปแล้ว
ตำนาน “พระเจ้าวิชัยราชา” ให้ข้อมูล “ตำแหน่ง” ที่ตั้งของ “ท่าสุปปารกะ” ตรงกันกับเรื่องราวของท่าน “พระพาหิยะ” ที่ “อรรถกถาพาหิยสูตร” กล่าวว่า ก่อนเดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น ท่านอาศัยอยู่ที่ “ท่าสุปปารกะ” อันตั้งอยู่ทางทิศ “ตะวันตกเฉียงใต้” ของเมือง “สาวัตถี (อู่ทอง)”
(จาก บทว่า อุตฺตเรสฺ ท่านกล่าวหมายเอาด้านทิศ “ตะวันออกเฉียงเหนือ” จากท่าสุปปารกะ)
นอกเหนือจากตำนาน “พระวิชัยราชา” และ “พาหิยสูตร” แล้ว “ท่าสุปปารกะ” ยังมีกล่าวในเรื่องราวของท่าน “พระปุณณเถระ” อีกแห่งหนึ่งด้วย ดังนั้นใน Ep นี้แอดมินจะพาแฟนเพจไปตามหา “ท่าสุปปารกะ” และแคว้น “สุนาปรันตะ” จากเรื่องราวของท่าน “พระปุณณเถระ” ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา
[ มีเนื้อหายาวหน่อย แอดมินทำเส้นแบ่งไว้ให้แล้วครับ ]
📖 …………………………………...............................
เรื่องราวของท่าน “พระปุณณเถระ” มีกล่าวโดยละเอียดใน “อรรถกถาปุณณสูตรที่ ๕” ดังนี้
…
บทว่า อถโข อายสฺมา ปุณฺโณ ความว่า ก็ท่านปุณณะนี้เป็นใคร และเพราะเหตุไรท่านจึงประสงค์จะไปในที่นั้น (สุนาปรันตะ)
แก้ว่า ท่านเป็นผู้อยู่ในสุนาปรันตชนบทนั่นเอง.
แต่ (เดิม) ท่านได้กำหนดที่อยู่อันไม่เป็นสัปปายะในกรุงสาวัตถี จึงประสงค์จะไปในที่นั่น (คือ สุนาปรันตะ) ในข้อนั้นจะกล่าวตามลำดับความดังต่อไปนี้.
เล่ากันมาว่า ในแคว้นสุนาปรันตะ ในหมู่บ้านพ่อค้าแห่งหนึ่ง ชนทั้ง ๒ นั้นเป็นพี่น้องกัน ใน ๒ คนนั้น บางคราวพี่ชายพาเกวียน ๕๐๐ เล่มไปสู่ชนบทนำสินค้ามา บางคราวก็น้องชาย
ก็ในสมัยนี้ ได้พักน้องชายไว้ในเรือน พี่ชายพาเกวียน ๕๐๐ เล่ม เที่ยวจาริกไปในชนบท ถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ พักเกวียน ๕๐๐ เล่ม ไว้ในที่ไม่ไกลพระเชตวัน รับประทานอาหารเช้าแล้ว แวดล้อมไปด้วยชนบริษัทนั่งในที่มีความผาสุก
สมัยนั้น ชาวกรุงสาวัตถีบริโภคอาหารเช้าแล้ว อธิษฐานองค์อุโบสถ ห่มผ้าเฉวียงบ่าอันหมดจด ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น น้อมโน้มเงื้อมไปในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ ออกทางประตูด้านทักษิณไปยังพระเชตวัน
เขาเห็นชนเหล่านั้นจึงถามมนุษย์คนหนึ่งว่า “คนพวกนี้จะไปไหน”
คนนั้นกล่าวว่า นายท่านไม่รู้หรือว่า ชื่อ “พระรัตนะ” คือ “พระพุทธ” “พระธรรม” และ “พระสงฆ์” เกิดขึ้นแล้วในโลก มหาชนนั้นพากันไปสำนักพระศาสดา เพื่อจะฟังธรรมกถาด้วยประการฉะนี้
คำว่า “พุทฺโธ” ได้เฉือนผิวหนังตั้งจดเยื่อกระดูกของเขา
เขามีบริษัทของตนแวดล้อม ไปวิหารพร้อมด้วยบริษัทนั้น เมื่อพระศาสดาทรงแสดงธรรมด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะ ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท ก็เกิดจิตคิดจะบรรพชา
ลำดับนั้น เมื่อพระตถาคตทรงทราบเวลาแล้วส่งบริษัทไป เขาจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคม นิมนต์เพื่อเสวยอาหารในวันรุ่งขึ้น ให้สร้างมณฑปในวันที่ ๒ ให้ปูอาสนะ ถวายมหาทานแก่สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
บริโภคอาหารเช้าแล้ว อธิษฐานองค์อุโบสถ ให้เรียกผู้รักษา “เรือนคลัง” มาสั่งว่า ทรัพย์มีประมาณเท่านี้เราสละแล้ว ทรัพย์มีประมาณเท่านี้ เราไม่พึงสละ จึงบอกเรื่องทั้งหมด กล่าวว่า ท่านจงให้สมบัตินี้แก่น้องชายของเราดังนี้ มอบทรัพย์ทั้งหมดให้แล้วบวชในสำนักของพระศาสดา บำเพ็ญกรรมฐานเป็นเบื้องหน้า
ลำดับนั้น เมื่อท่านมนสิการพระกรรมฐานอยู่ (แต่) กรรมฐานไม่ปรากฏ.
แต่นั้น ท่านคิดว่า ชนบทนี้ไม่เป็นที่สบายสำหรับเรา ถ้ากระไร เราพึงเรียนพระกรรมฐานในสำนักพระศาสดา (แล้ว) จะพึงไป (ปฏิบัติ) ในสถานที่ของตนนั่นแล
ครั้นเวลาเช้า ท่านก็เที่ยวไปบิณฑบาต ตอนเย็นออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้ตรัสบอกพระกรรมฐาน บันลือสีหนาท ๗ ครั้งแล้วก็หลีกไป.
ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถโข อายสฺมา ปุณฺโณ ฯลฯ วิหรติ
ถามว่า ก็พระปุณณะนี้ (ไป) อยู่ที่ไหน.
ตอบว่า อยู่ในสถานที่ ๔ แห่ง.
อันดับแรก ท่านเข้าไปยัง “แคว้นสุนาปรันตะ” ถึงภูเขาชื่อว่า “อัพพุหัตถะ” แล้วเข้าไปบิณฑบาตยัง “วานิชคาม”
ลำดับนั้น น้องชายจำท่านได้จึงถวายภิกษากล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านอย่าไปในที่อื่น จงอยู่แต่ในที่นี้เท่านั้น ให้ท่านรับคำแล้ว ให้อยู่ในที่นั้นนั่นเอง
แต่นั้น ท่านก็ได้ไปวิหารชื่อ “สมุทคิรี”
ในที่นั้นมีที่จงกรมซึ่งสร้างกำหนดด้วย “แผ่นหินตัดเหล็ก” ไม่มีใครที่สามารถจะจงกรมที่จงกรมนั้นได้ (เพราะ) ในที่นั้นคลื่นในสมุทรมากระทบที่แผ่นหินตัดเหล็กกระทำเสียงดัง
พระเถระคิดว่า ภิกษุทั้งหลายผู้มนสิการพระกรรมฐานอยู่ ขอจงมีความผาสุก จึงอธิษฐานทำสมุทรให้เงียบเสียง
ต่อจากนั้น ก็ได้ไปยัง “มาตุลคิริ”
ในที่นั้นมีฝูงนกหนาแน่น ทั้งเสียงก็ต่อเนื่องเป็นอันเดียวกันทั้งกลางคืนและกลางวัน พระเถระคิดว่า ที่นี้ไม่เป็นที่ผาสุก
จากนั้นจึงได้ไปยังวิหาร ชื่อว่า “สมกุลการาม”
วิหารนั้นไม่ไกลนักไม่ใกล้นักจาก “วานิชคาม” สมบูรณ์ด้วยคมนาคม สงัดเงียบเสียง พระเถระคิดว่า ที่นี้ผาสุกจึงได้สร้างที่พักกลางคืนที่พักกลางวัน และที่จงกรมเป็นต้นในที่นั้นแล้วเข้าจำพรรษา
ท่านได้อยู่ในที่ ๔ แห่งด้วยประการฉะนี้
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=112
…………………………………………................. 📖
ในที่สุดท่านพระปุณณะได้บรรลุพระอรหัตในพรรษานั้นเอง
“อรรถกถาปุณณเถรคาถา” กล่าวว่า เมื่อท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว ได้ยังมนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมากให้มีความเลื่อมใสในพระศาสนา โดยที่บุรุษประมาณ ๕๐๐ คน ประกาศตนเป็นอุบาสกและสตรีประมาณ ๕๐๐ คนประกาศตนเป็นอุบาสิกา
ให้เขาสร้างพระคันธกุฎี ชื่อว่า “จันทนมาลา” ด้วย “ไม้จันทน์แดง” ที่สุนาปรันตชนบทนั้น
(เย็นวันหนึ่ง) ท่านไปยังกรุงสาวัตถีด้วยฤทธิ์ อาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยทูต คือดอกไม้ ว่า ขอพระบรมศาสดาจงทรงรับพวงดอกไม้พร้อมกับภิกษุทั้งหลาย ๕๐๐ ดังนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปที่พระคันธกุฎี ชื่อว่า “จันทนมาลา” นั้น พร้อมกับภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่านั้น ด้วยอานุภาพแห่งฤทธิ์ ทรงรับพระคันธกุฎี ชื่อว่า “จันทนมาลา” เมื่อยังไม่ทันรุ่งอรุณก็เสด็จกลับ
…………………………………….. 📖
แม้ว่า “อรรถกถาปุณณเถรคาถา” จะเล่าเรื่องการอาราธนาพระพุทธเจ้าของพระปุณณเถระและการเสด็จไปรับ “พระคันธกุฎี” ชื่อว่า “จันทนมาลา” (ไปกลับในวันเดียวกันนั้น - แอดมิน)
ด้วยการแสดง “อานุภาพแห่งฤทธิ์”
แต่ใน “อรรถกถาปุณณสูตรที่ ๕” ที่กล่าวถึงเรื่องเดียวกัน แม้จะเห็นว่าการเสด็จไปแคว้นสุนาปรันตะของพระพุทธเจ้าเป็นไปด้วย “อานุภาพแห่งฤทธิ์” เช่นเดียวกัน แต่ให้รายละเอียดในมุมมองที่ต่างออกไปเล็กน้อย ดังนี้
📖 ……………………………………........................
จำเดิมแต่กาลเริ่มทำ (โรงกลม) มา (น่าจะเป็นพระคันธกุฎี ชื่อ จันทนมาลา - แอดมิน) พวกมนุษย์ผู้รักษาเห็นรัศมีในกลางคืนได้ทำความสำคัญว่า เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่มีอยู่ อุบาสกทั้งหลายทำโรงกลมและเสนาสนะสำหรับสงฆ์เสร็จแล้ว ตระเตรียมเครื่องประกอบทานแล้วแจ้งแก่พระเถระว่า
ท่านผู้เจริญ กิจของตนพวกผมทำแล้ว ขอท่านจงกราบทูลพระศาสดาเถิด
ในเวลาเย็นพระเถระไปยังกรุงสาวัตถีด้วยฤทธิ์ อ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพวกคนชาววานิชคามประสงค์จะเฝ้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดกระทำอนุเคราะห์ แก่คนเหล่านั้นเถิด
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว พระเถระกลับมาที่อยู่ของตนตามเดิม
ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพระอานันทเถระมาตรัสว่า อานนท์ พรุ่งนี้พวกเราจักเที่ยวบิณฑบาตในวานิชคาม แคว้นสุนาปรันตะ เธอจงให้สลากแก่ภิกษุ ๔๙๙ รูป.
พระเถระรับพระดำรัสแล้ว จึงได้บอกความนั้นแก่ภิกษุสงฆ์แล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขอภิกษุผู้เดินทางไปทางอากาศจงจับฉลาก
วันนั้น “พระกุณฑธานเถระ” ได้จับฉลากเป็นที่หนึ่ง (ท่านเป็น “เอตทัคคะ” ในทางผู้จับสลากได้เป็นที่หนึ่ง - แอดมิน)
ฝ่ายพวกคนชาว “วานิชคาม” คิดว่า ได้ยินว่าพรุ่งนี้พระศาสดาจักเสด็จมา จึงกระทำมณฑปที่กลางบ้าน แล้วตระเตรียมโรงทาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชำระพระวรกายแล้วแต่เช้าตรู่ เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี ทรงนั่งเข้าผลสมาบัติ
(ครั้งนั้น) บัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ของท้าวสักกะแสดงอาการร้อนแล้ว ท่านรำพึงว่า “นี้อะไรกัน”
จึงเห็นพระศาสดาเสด็จไปยัง “แคว้นสุนาปรันตะ” จึงตรัสเรียกวิสสุกัมเทพบุตรมาสั่งว่า พ่อเอ๋ย วันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จเที่ยวบิณฑบาต ประมาณ ๓๐๐ โยชน์ ท่านจงสร้างเรือนยอด ๕๐๐ หลัง จงประดิษฐานเตรียมไว้ยอดซุ้มประตูพระวิหารพระเชตวัน.
วิสสุกรรมเทพบุตรก็ได้จัดตามเทวโองการ เรือนยอดของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เป็น ๔ มุข ของพระอัครสาวก ๒ มุข. นอกนั้นมีมุขเดียว
พระศาสดาเสด็จออกจากพระคันธกุฎี เสด็จเข้าไปเรือนยอดที่ใกล้ ในบรรดาเรือนยอดอันตั้งไว้ตามลำดับ มีภิกษุ ๔๙๙ รูป นับตั้งแต่พระอัครสาวกเป็นต้นไป จึงได้เข้าไป ได้มีเรือนยอดว่างอยู่หลังหนึ่ง เรือนยอดทั้ง ๕๐๐ หลังลอยละลิ่วไปในอากาศ
พระศาสดาเสด็จถึง “สัจจพันธบรรพต” ได้พักเรือนยอดไว้บนอากาศ
ดาบสผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่า “สัจจพันธ์” ที่บรรพตนั้นให้มหาชนถือมิจฉาทิฏฐิ เป็นผู้ถึงความเป็นเลิศด้วยลาภและเลิศด้วยยศอยู่ แต่ธรรมอันเป็นอุปนิสสัยแห่งพระอรหัตตผลในภายในของท่านย่อมรุ่งโรจน์เหมือนประทีปลุกโพลงในภายในฉะนั้น
พระศาสดาครั้นทรงเห็นดังนั้นแล้ว จึงคิดว่าเราจักแสดงธรรมแก่เขา ดังนี้แล้วจึงเสด็จไปแสดงธรรม
ในเวลาจบเทศนา พระดาบสบรรลุพระอรหัต อภิญญามาถึงท่านพร้อมด้วยพระอรหัตที่บรรลุนั่นเอง ท่านเป็นเอหิภิกษุ ทรงไว้ซึ่งบาตรและจีวรอันสำเร็จแล้วด้วยฤทธิ์ ก็เข้าไปเรือนยอด (หลังที่ว่าง)
พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูปผู้อยู่ที่เรือนยอด เสด็จไป “วานิชคาม” กระทำเรือนยอดไม่ให้มีใครเห็นแล้ว เสด็จเข้ายัง “วานิชคาม”
พวกพ่อค้าถวายทานแด่สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วนำพระศาสดาไปยังกุฏาคาร พระศาสดาได้เสด็จเข้าไปยังโรงกลม มหาชนบริโภคอาหารเช้าตราบเท่าที่คิดว่า พระศาสดาทรงสงบระงับความหิวอาหาร แล้วสมาทานองค์อุโบสถ ถือเอาของหอมและดอกไม้เป็นอันมาก กลับมายังอารามเพื่อต้องการฟังธรรม.
พระศาสดาทรงแสดงธรรมเกิดเป็นประมุขที่ผูกเป็นหุ่นของมหาชน (ครั้งนั้น) “โกลาหล” เพราะพระพุทธองค์ได้มีเป็นอันมาก.
พระศาสดาประทับอยู่ในที่นั้นนั่นเองตลอด ๗ วันเพื่อสงเคราะห์มหาชน พออรุณขึ้นก็ได้ปรากฏอยู่ในมหาคันธกุฎี (ที่สาวัตถี) นั้นเอง
ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา ๗ วัน การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐.
ขณะพระองค์ประทับอยู่ ณ ที่นั้น ๗ วัน เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในวานิชคาม ให้พระปุณณเถระกลับด้วยตรัสสั่งว่า “เธอจงอยู่ในที่นี้” แลได้เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำ “นัมมทานที” อันมีอยู่โดยลำดับ
(ที่นั้น) “พระยานาคนัมมทา” กระทำการต้อนรับพระศาสดา ให้เสด็จเข้าไปสู่ภพนาค ได้กระทำสักการะต่อพระรัตนตรัย พระศาสดาแสดงธรรมแก่พระยานาคนั้น แล้วออกจากภพนาค
พระยานาคนั้นอ้อนวอนว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงประทานสิ่งที่ควรสละแก่ข้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเจดีย์คือ “รอยพระบาท” ไว้ ณ ฝั่งแม่น้ำนัมมทานที
เจดีย์คือ “รอยพระบาท” นั้น เมื่อคลื่นหลากมา ๆ ย่อม “ปิด” เมื่อคลื่นไปแล้วย่อม “เปิด” ออก ความถึงพร้อมด้วยมหาสักการะได้มีแล้ว
พระศาสดาเสด็จออกจากที่นั้น แล้วเสด็จไปยัง “สัจจพันธบรรพต” ตรัสกะสัจจพันธภิกษุว่า เธอทำให้มหาชนหยั่งลงไปในทางอบาย เธอจงอยู่ในที่นี้แหล่ะ ให้ชนเหล่านั้นสละลัทธิเสียแล้วให้ดำรงอยู่ในทางแห่งพระนิพพาน
ฝ่ายพระสัจจพันธภิกษุนั้นทูลขอข้อที่ควรประพฤติ พระศาสดาแสดงพระเจดีย์คือ “รอยพระบาท” (ลง) ที่หลังแผ่นหินแท่งทึบ เหมือนรอยตราที่ก้อนดินเหนียวเปียก
แต่นั้นก็เสด็จกลับพระวิหารเชตวันตามเดิม
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=112
……………………………………….................... 📖
[ 👋 ใครที่อ่านผ่าน ๆ มา ต่อไปจะเป็นเนื้อหาหลักของ Ep นี้แล้วนะครับ]
เรื่องราวของท่าน “พระปุณณะเถระ” ที่บอกเล่าผ่านอรรถกถาได้แสดงสภาพทางภูมิศาสตร์ของ “สุนาปรันตชนบท” โดยอ้อมกับเราดังนี้
(๑) สุนาปรันตะน่าจะอยู่ติด “แนวเขา” เพราะในอรรถกถากล่าวถึงสถานที่ที่ระบุ “ชื่อเขา” ถึง ๓ แห่ง คือ
เขาชื่อ “อัพพุหัตถะ”
วิหารชื่อ “สมุทคิริ”
เขาชื่อ “มาตุลคิริ”
จะเห็นว่ามีความ “สอดคล้อง” กับแนวชายฝั่งทะเลอันดามันที่มีแนวเขาเรื่อยมาตั้งแต่เมือง “มะริด” จนถึงเกาะ “ภูเก็ต” (เทือกเขาตะนาวศรีและเทือกเขาภูเก็ต)
(๒) หากไม่มองว่าเป็น “อานุภาพแห่งฤทธิ์” เส้นทางที่พระพุทธเจ้าเสด็จสู่ “สุนาปรันตะชนบท” ก็คือ เส้นทางเดิน “เรือสำเภา” ข้ามสมุทรนั่นเอง
แฟนเพจบางท่านอาจคิดว่าใน “สมัยพุทธกาล” แถบบ้านเราน่าจะไม่มีความสามารถเดินเรือใช้ใบ “ข้ามมหาสมุทร” ได้
ซึ่งแอดมินเองก็เคยคิดเช่นนั้น
แต่พอได้อ่านเรื่องเล่าเหตุการณ์จริง เคยมีผู้ร้ายหนีตำรวจ ลง “เรือโป๊ะ” ใช้ใบแล่นจาก “เกาะล้าน” ข้ามอ่าวไทยตอนหัวค่ำไปขึ้นที่ “หาดเจ้าลาย” ฝั่งเพชรบุรีได้ในตอนเช้ามืด ใช้เวลาแค่ “คืนเดียว” ก็ถึง ความคิดก็เปลี่ยนไปครับ
ความจริงแล้วการเดินเรือข้าม “อ่าวไทย” หรือข้าม “ฝั่งทวีป” เป็นเรื่องง่ายมากหากรู้หลัก เพียงแต่มันอาจมี “อันตราย” ที่ไม่อาจคาดเดาเกิดขึ้นได้เท่านั้นเอง (จากมรสุมและเกยตี้น)
คนโบราณบ้านเราท่านรู้เรื่องนี้มานานแล้วโดยเฉพาะคน "ภาคใต้" จึงมีเรื่องราวการเดินในสมัยพุทธกาลของเรือสำเภา “ขนาดใหญ่” ที่ออกไปค้าขายกันระหว่างชายฝั่งต่อชายฝั่ง เกาะต่อเกาะ ทวีปต่อทวีป ปรากฏให้เราได้รับรู้ผ่านพระไตรปิฎกและอรรถกถา และเอกสารอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
เรื่องราวของ “พระเจ้าวิชัยราชา” เป็นตัวอย่างหนึ่ง และเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จสู่ “สุนาปรันตะชนบท” แอดมินก็คิดว่า เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน
…
ส่วนเรื่องการเดินเรือขนาดใหญ่ข้ามอ่าวไทยในสมัยโบราณ มีกล่าวไว้ในจดหมายเหตุ “หลวงอุมสมบัติ” ครับ หลวงอุดมสมบัติท่านได้ให้รายละเอียดถึงเส้นทางการส่งกองกำลังไปทางเรือเพื่อไประงับความวุ่นวายที่หัวเมืองปักษ์ใต้ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ไว้ทั้งหมด ๖ เส้นทางด้วยกัน (ดูรูปประกอบ)
เส้นทางส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่ “ปากน้ำเจ้าพระยา” (เรือเล็กจะไปออกที่ปากน้ำบางปะกง) มุ่งหน้าไป “เกาะสีชัง” เลี้ยวไปยัง ระยอง จันทบุรี และ ตราด (ไกลสุดไปที่ เกาะกง) ซึ่งในแต่ละจุดตามเส้นทางสามารถเดินเรือข้ามฟากไปได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับนายเรือสำเภาแต่ละลำ (เส้นทางนี้ใช้กันมาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยาแล้ว)
โดยหากจับได้ “ลมอุตรา” (ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่งไปได้เต็มที่แล้ว ก็จะสามารถนำเรือรบขนาดใหญ่ที่บรรทุกทั้งคนและปืนใหญ่ข้ามไปจาก “จันทบุรี” ไป “ชุมพร” หรือ “นครศรีธรรมราช” ได้ในเวลาแค่ ๒-๓ คืนเท่านั้น
แต่การเดิน “เรือรบ” ลงไปทางใต้จะไม่ใช้เส้นทาง “เลียบชายฝั่ง” เนื่องจากไปได้ล่าช้ากว่ามาก
มีตัวอย่างกล่าวในจดหมายเหตุว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนี้มีเรือรบลำหนึ่งที่จะแล่นข้ามอ่าวไทยจาก “เกาะช้าง” เพื่อลงไปจุดแรกที่ปากน้ำ “นครศรีธรรมราช” แต่แล่นผิดทางจึงไปถึงฝั่งจุดแรกที่ “สามร้อยยอด” ก่อน
ทำให้เสียเวลา กว่าจะเลียบฝั่งไปถึงเมือง “สงขลา” ได้ ก็ใช้เวลาไปมากถึง ๓๙ วัน เพราะต้องเดินทางและหยุดไปตลอดทาง (สู้กับกระแสน้ำ กระแสลม และต้องเติมเสบียง)
ส่วนขากลับก็รอ "ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้" แล่นข้ามกลับมาทางเดิม
(สำหรับการเดินเรือสำเภาขนาดใหญ่ในช่วงพ.ศ. ๙๐๐ หรือก่อนหน้านั้น สามารถศึกษาได้จากบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน ก็จะเห็นว่าไม่แตกต่างกันครับ)
…
ดังนั้นหากไม่มองว่าเป็น “อานุภาพแห่งฤทธิ์” เส้นทางที่พระพุทธเจ้าเสด็จสู่ “สุนาปรันตะชนบท” ได้อย่าง “รวดเร็ว” ที่สุด จึงต้องเป็นเส้นทางเดิน “เรือสำเภา” ข้ามสมุทรลงไปทางใต้เท่านั้น
และเส้นทางเสด็จก็จะ “สอดคล้อง” กับที่มีกล่าวในอรรถกถาดังนี้
ออกจาก “สาวัตถี” มุ่งหน้าไป “สัจจพันธบรรพต” ที่สระบุรี (แวะโปรดสัจจพันธดาบส) เพื่อไปลงเรือไปออกปากแม่น้ำ “บางปะกง” (หรือเดินเท้าต่อมาทางบกแล้วมาลงเรือ) ข้ามอ่าวที่จังหวัด “จันทบุรี” หรือที่ “ตราด”
ข้ามอ่าวมาขึ้นฝั่งทะเลตะวันตกตรงจุดที่น่าจะเป็นไปได้ มีตั้งแต่ “กุยบุรี” เรื่อยมาจนถึง “อ่าวบ้านดอน” นั่นเอง
…
(๓) รอยพระพุทธบาท ๒ แห่ง เป็น “รอยพระพุทธบาทคู่”
อรรถกถาปุณณเถระกถา กล่าวเรื่องพระพุทธองค์ทรงประทาน “รอยพระพุทธบาท” ไว้ ๒ รอย คล้ายกับ “ตำนาน” รอยพระพุทธบาทที่ “เกาะลังกา” ที่มีกล่าวในบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนว่า
…
เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จมาถึงนครนี้ (เกาะลังกา) ทรงปรารถนาจะกระทำการแปลงร่างพระยานาคร้ายตนหนึ่ง ด้วยอำนาจอภินีหารอันเหนือธรรมดาของพระองค์ พระองค์ได้ทรงเหยียบพระบาทข้างหนึ่งลง ณ ที่เหนือนครหลวง และอีกข้างหนึ่งทรงเหยียบลงบนยอดภูเขา ทั้ง ๒ ข้างห่างจากกันถึง ๑๕ โยชน์
…
ในความเห็นแอดมินนั้น “รอยพระพุทธบาท” ที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ที่ค้นพบและสร้างมณฑปครอบไว้ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม “ไม่ใช่” รอยพระพุทธบาทที่ “สัจจพันธบรรพต” ตามกล่าวในอรรถกถาหรือตามที่ทางฝ่ายลังกาบอกมาครับ
รอยที่ “ถูกต้อง” ควรเป็น “รอยพระพุทธบาท” ที่ “เขาพระพุทธฉาย” ซึ่งพระพุทธบาทรอยนี้มีการรับรู้กันแล้วในสมัยอยุธยา และมีบันทึกอยู่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า พ.ศ. ๒๒๔๕ สมเด็จพระเจ้าเสือให้สร้าง “มณฑป ๕ ยอด” ครอบไว้ ซึ่งมณฑปนี้ยังคงปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน (มณฑปที่วัดพระพุทธบาทไม่เคยมียอด ๕ ยอด)
รอยนี้เป็นรอยพระพุทธบาท “เบื้องขวา” ประทับบน “ยอดเขา” บนเนื้อหินธรรมชาติที่ “เก่าแก่” มากที่สุดแห่งหนึ่งที่พบในบ้านเรา เป็นรอยพระบาทเรียบเกลี้ยง ไม่มีลายมงคล ๑๐๘ แต่มี “ดอกบัว” อยู่กลางรอยพระบาท (เป็น “บัวรองพระบาท” แต่ส่วนใหญ่เข้าใจผิดกันว่าเป็นรอยธรรมจักร)
ในอรรถกถากล่าวว่า
“ฝ่ายพระสัจจพันธภิกษุนั้นทูลขอข้อที่ควรประพฤติ พระศาสดาแสดงพระเจดีย์คือ “รอยพระบาท” (ลง) ที่หลังแผ่นหินแท่งทึบ เหมือนรอยตราที่ก้อนดินเหนียวเปียก”
เนื้อหินบนยอดเขาพระพุทธฉายแห่งนี้ “แข็งมาก” เครื่องมือหนักในปัจจุบันยังสกัดไม่เข้า ลองเข้าไปชมคลิปที่แอดให้ลิงก์ไว้ด้านล่าง ก็จะเข้าใจข้อความในอรรถกถานี้อย่างแจ่มเจ้งได้เองครับ
…
ส่วนรอยพระบาท “เบื้องซ้าย” อยู่ที่ริมฝั่งน้ำ “นัมมทานที” คือ ที่เกาะแก้วพิสดาร จ.ภูเก็ต นั้น รอยนี้มีผู้คนรู้จักและกล่าวถึงกันมานานแล้ว และรอยพระพุทธบาทริมฝั่งแม่น้ำ “นัมมทานที” แห่งนี้ มีขนาดและลักษณะเดียวกันกับรอยที่ “เขาพระพุทธฉาย” สระบุรี
จึงน่าจะเกิดขึ้น “พร้อมกัน” ตามเรื่องราวของท่านพระปุณณเถระที่มีกล่าวในอรรถกถา (แต่จะทรงประทับเอง หรือมีผู้สร้างขึ้นมาภายหลังเป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ)
แอดมินขอ “เพิ่มเติม” ข้อมูลให้อีกนิดครับว่า บริเวณ “แหลมพรหมเทพ” ที่เกาะภูเก็ตในปัจจุบันนั้น มีหลักฐาน คือ แผนที่ยุทธศาสตร์สมัยรัชกาลที่ ๑ เรียกตำแหน่งนี้ว่า “แหลมพระเจ้า” ซึ่งหมายถึง “แหลมพระพุทธเจ้า” นั่นแหละครับ
ชื่อ “แหลมพระพุทธเจ้า” และ “รอยพระพุทธบาท” ที่เกาะแก้วพิสดาร จ.ภูเก็ต จึงเป็นร่องรอย “เพิ่มเติม” ให้ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ที่แสดงว่าพระพุทธองค์เคยเสด็จมาถึงที่แห่งนี้
หากจะเขียน “รอยพระพุทธบาทคู่” ในเรื่องราวของท่านพระปุณณเถระให้เป็น “ตำนาน” ก็น่าจะเขียนได้ในแบบนี้
…
“ด้วยอำนาจอภินิหารอันเหนือธรรมดาของพระพุทธองค์ พระองค์ได้ทรงเหยียบพระบาทข้างหนึ่งลง ณ ที่เหนือนครหลวง (ของนาค ที่ริมฝั่ง “นัมมทานที”) และอีกข้างหนึ่งทรงเหยียบลงบนยอดภูเขา (สัจจพันธบรรพต) พร้อมกันทั้ง ๒ ข้างห่างจากกันถึง ๕๐ โยชน์”
[#หมายเหตุแอดมิน - มีความเป็นไปได้ที่ “เกาะลังกา” จะนำเรื่องราวจากบ้านเราหรือจากอรรถกถาไปผูกเป็นเรื่องราวของรอยพระพุทธบาทบนเกาะตามที่ท่านหลวงจีนฟาเหียนบันทึกไว้ ]
…
เป็นอันว่าใน Ep นี้ แอดมินได้พาแฟนเพจมาค้นหาแคว้น “สุนาปรันตะ” เริ่มจาก “ท่าสุปปารกะ (มะริด)” ไล่มาจนสุดแดนของสุนาปรันตะชนบทที่ริมฝั่งน้ำ “นัมมทานที (เกาะแก้วพิสดาร)” เรียบร้อยแล้ว ที่เหลือแฟนเพจก็คงต้องใช้ “วิจารณญาณ” ในการอ่านและค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปครับ
…
Ep นี้อาจมีเนื้อหายาวไปหน่อย เผื่อจะได้เอาไว้อ่านกันยาว ๆ ในช่วงวันหยุดสงกรานต์นี้ครับ ส่วนใครที่เดินทางในช่วงนี้ แอดมินก็ขอให้เดินทางด้วยความปลอดภัยกันทุกท่าน
ใน Ep หน้าแอดจะได้พาแฟนเพจไปตามหา “รามคาม” ที่อยู่ใกล้ ๆ “สาวัตถี” กันต่อไปครับ
…
🙏 ขอบพระคุณแฟนเพจทุกท่าน ที่ติดตามอ่านกันมาโดยตลอด
🛻 🚲🛺 ✈️ มาเที่ยวชมพูทวีปบนแผ่นดินไทยกันดีกว่า ❤️ เที่ยวไม่ต้องแย่งใคร … ได้อานิสงส์เท่ากันครับ 🙏🙏🙏
…
📸 อธิบายภาพ - เส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร และตำแหน่งรอยพระพุทธบาท
จุด “แดง-ดำ” คือ ตำแหน่งเมืองท่าสำคัญสมัยโบราณ เส้น “สีเหลือง” คือเส้นทางค้าขาย “ทางบก” (สร้างจากไฟล์ข้อมูล .KMZ ของเพจมิตรเอิร์ต
https://www.facebook.com/mitrearth
🙏)
ส่วนเส้น “สีขาว” ข้ามมหาสมุทร คือ เส้นทาง “เดินเรือข้ามสมุทร” แอดมินอ้างอิงจากจดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ (สมัย ร. ๓)
ดังนั้นหากพระพุทธองค์เสด็จสู่ “สุนาปรันตะชนบท” ด้วย “เรือสำเภา” จริง ก็น่าจะข้ามอ่าวไปกลับตามเส้นสีขาวเส้นใดเส้นหนึ่ง ขาไปประมาณเดือน ม.ค. ด้วย “ลมตะวันออกเฉียงเหนือ” และเสด็จกลับก่อนเข้าพรรษาประมาณเดือน พ.ค. ด้วย “ลมตะวันตกเฉียงใต้” ครับ
📸 การไหลเวียนของกระแสน้ำทะเลในพื้นที่อ่าวไทย
https://www.dmcr.go.th/detailAll/23996/nws/196
🎥 พระพุทธฉาย และรอยพระพุทธบาท ที่ จ. สระบุรี (นาทีที่ 3:10)
https://www.youtube.com/watch?v=AsoZPSY9Fw8&list=WL&index=6&t=200s
🎥 รอยพระพุทธบาทเบื้องขวาแห่งเดียวในไทย
https://www.youtube.com/watch?v=qtfBMlaLFlk&list=WL&index=7
🎥 รอยพระพุทธบาทที่ชายหาดนัมมทานที ณ เกาะแก้วพิสดาร จ.ภูเก็ต
https://www.youtube.com/watch?v=sC4eiPx_Zko
บันทึก
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตามหาสาวัตถี
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย