Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เบื่อเมือง
•
ติดตาม
29 เม.ย. เวลา 04:18 • ประวัติศาสตร์
ตามหาสาวัตถี EP. 12 - “วิชัยกุมาร” ลงสำเภาจาก “ท่าสุปปารกะ” ไป “ศรีลังกา”
[ #คำเตือน เนื้อหาในซีรีส์นี้ จำเป็นต้องใช้วิจารณญานในการอ่านมากเป็นพิเศษ ท่านที่ไม่สามารถวางองค์ความรู้เรื่องดินแดนเกิดของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ “อินเดีย” เอาไว้ข้าง ๆ ตัวก่อนอ่านได้ แอดมินอยากให้ข้ามเพจนี้ไปนะครับ เพื่อที่เวลาอันมีค่าของท่านจะได้ไม่ต้องมาสูญเปล่าไปโดยไม่ได้ประโยชน์อันใด]
…………………………………
📖 (ได้ยินมาว่า)
“ลังกาทวีป” ที่ได้ชื่อว่า “สีหล” เพราะเนื่องมาจาก “สีหะ” ขอท่านทั้งหลายจงฟังเรื่องลังกาทวีปต่อไป คือ
พระธิดาของ “พระเจ้าวังคราช” ได้เที่ยวไปในป่าได้ไปอยู่ร่วมกับ “สีหะ” แล้วเกิดพระโอรส ๒ องค์ คือ “สีหกุมาร” ๑ และ “ปสีหกุมาร” ๑ พระมารดาพระนามว่า “สุสิมา” พระบิดาชื่อ “สุสิมะ” เมื่อล่วงได้ ๑๖ ปี พระกุมารทั้งสองก็ได้ออกจากถ้ำสีหะ ไปสร้างเมืองขึ้นเมืองหนึ่งชื่อว่า “สีหปุระ” มีพระราชโอรสธิดา ๓๒ องค์
(อันมี) “พระวิชัยกุมาร” และ “สุจิตกุมาร” เป็นพี่ชายใหญ่ (คู่แฝด-แอดมิน) แต่พระวิชัยกุมารเป็นผู้นิสัยไม่ดี ทั้งไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน และเที่ยวทำความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ประชาชนจึงไปเฝ้าพระราชบิดาทวนกล่าวโทษพระวิชัยกุมาร
พระราชบิดาก็ทรงกริ้ว จึงตรัสสั่งพวกอำมาตย์ว่า จงไปกำจัดวิชัยกุมารให้ได้ จงกำจัดไปให้หมดทั้งบุตรภรรยาพวกพ้องบ่าวไพร่
ลำดับนั้นอำมาตย์ก็ไปทำตามพระราชบัญชา กำจัดพระวิชัยกุมารไป (แล) ได้แยกพวกพ้องบ่าวไพร่ไปอีกทางหนึ่ง ให้พวกนั้นลงเรือแล้วปล่อยไปตามยถากรรม เมื่อ (บุตรภรรยา -แอดมิน) พระกุมารลงเรือไป ก็ได้ไปถึงเกาะแห่งหนึ่งชื่อว่า “เกาะนาคทวีป” และเกาะที่บริวารอาศัยอยู่นั้นชื่อว่า “เกาะมหิฬาทวีป”
พระวิชัยกุมารหลงไปถึง “ท่าสุปาระกะ” ชาวท่าสุปปาระกะก็ได้ต้อนรับอย่างดี พระวิชัยกุมารกับพวกบริวารถึงทำกรรมอันหยาบช้าคือการฆ่า การลักขโมย การผิดประเวณี การกล่าวเท็จ การกล่าวส่อเสียด และการทุศีลๆ อยู่ก็ไม่รู้สึกตัวว่าทำกรรมไม่ดี แต่ทั้งทำกรรมหยาบช้ากล้าแข็งอย่างนั้นแล้ว (ชาวท่าสุปปาระกะ - แอดมิน) ก็ประชุมปรึกษากันว่า พวกเราจะฆ่าพวกนักเลงเสียให้สิ้น (พระวิชัยกุมารจึงหนีข้ามไปลังกา - แอดมิน)
…
(อนึ่ง) คำว่า โอชทวีป (สมัยพระพุทธเจ้ากกุสันธะ) วรทวีป (สมัยพระพุทธเจ้าโกนาคมน) มัณฑทวีป (สมัยพระพุทธเจ้ากัสสปะ- แอดมิน) ได้แก่ ลังกาทวีป ที่มีบัญญัติเดิมว่า “ตามพปัณณิทวีป”
ก็ในสมัยปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (พ.ศ. ๑ - แอดมิน) พระโอรสของพระสีหกุมารผู้เป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า “พระเจ้าวิชัย” นี้ ได้จาก “ชมพูทวีป” มาสู่ “ลังกาทวีป” พระพุทธเจ้า (เคย) พยากรณ์ว่า พระวิชัยกุมารจะได้เป็นพระมหากษัตริย์ จึงตรัสสั่งท้าวสักกะว่า
ขอสักกะท่านจงอย่าประมาท จงช่วยวิชัยกุมารที่จะไปสู่ลังกาทวีปให้ได้
ท้าวสักกะได้สดับพุทธดำรัสแล้ว ก็ตรัสสั่งอุปลเทวบุตรให้จัดการอารักขาลังกาทวีปไว้ อุปลเทวบุตรได้รับคำสั่งของพระอินทร์แล้วก็ดูแลรักษาลังกาทวีปเอาไว้
พระเจ้าวิชัยอยู่ใน “ภารุกัจฉกะ” (มหาวงศ์ว่า ท่าสุปปารกะ - แอดมิน) ได้ ๓ เดือน ก็พาบริวารลงสำเภาไป พระเจ้าวิชัยลงสำเภาไปแล้ว พวกบริวารก็พากันหลงทาง ส่วนพระเจ้าวิชัยได้ไปถึง “เกาะลังกา” ได้ขึ้นจากสำเภาเดินไปตามพื้นที่อันน่าเกลียดอย่างยิ่ง
ท้าวเธอส่งกระหายน้ำมาก ได้ทรงล้มคุกเข่าลงที่พื้นดิน พระหัตถ์ทั้งสองที่กดลง ตกลงบนพื้นดิน (ฝ่ามือ) ก็เปื้อนสีดินแดง ที่นั้นจึงได้ชื่อว่า “ตามพปัณณิ” อันแปลว่า “มีฝ่ามือแดง” ตั้งแต่นั้นมา
พระเจ้าวิชัยได้ทรงสร้างพระนครลงเป็นพระนครแรกในที่นั้นแล้วได้เสวยราชย์อยู่ใน “ลังกาทวีป” เป็นต้นมา
(จากพระคัมภีร์ทีปวงศ์ - ปริจเฉทที่ ๙ พระเจ้าวิชัยไปลังกา)
……………………………. 📖
ข้อความข้างต้นนี้นับถือกันว่าเป็น “ประวัติศาสตร์” (พงศาวดาร) ของ “ลังกาทวีป” หรือประเทศ “ศรีลังกา” ในปัจจุบัน
พงศาวดารของ “ลังกา” เริ่มต้นด้วยตำนาน “พระเจ้าวิชัยกุมาร” ผู้สืบสายโลหิตมาจาก “พระเจ้าสีหพาหุ” ซึ่ง (มีตำนานเช่นกันว่า) มีสายโลหิตของ “ราชสีห์” ทำให้ชาว “ลังกาทวีป” หรือชาว “ศรีลังกา” ที่เชื่อมั่นใน “ตำนาน” นี้ ได้เรียกตนเองว่า “สิงหล” เพราะ เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจาก “ราชสีห์”
ตำนาน “สีหพาหุ” จัดเป็นตำนาน “๒ แผ่นดิน” เพราะพบตำนานที่มี “เนื้อหาเดียวกัน” นี้ ทั้งในบ้านเรา (ตำนานพระนอนจักรสีห์ - สิงห์บุรี) และที่ “ศรีลังกา” (คัมภีร์ทีปวงศ์และมหาวงศ์)
แต่ตำนานนี้ “ไม่มี” ปรากฏที่ “อินเดีย” ที่ฝรั่งอ้างว่าเป็น “ชมพูทวีป” อันบ้านเกิดของ “สีหพาหุ” และ “วิชัยกุมาร”
และเนื่องจากฝั่ง “อ่าวเบงกอล” ของอินเดียหาเมืองท่าไม่ได้ นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ชาวอังกฤษที่อ้างว่า “อินเดีย” คือ “ชมพูทวีป” และต้องเขียนตำราให้คน “ศรีลังกา” และ “อินเดีย” เล่าเรียน ก็เลยไปคว้าเอาเมืองท่าแห่งหนึ่งที่ “รัฐคุชราต” ทาง “ชายฝั่งตะวันตก” ของอินเดียมา “แต่งตั้ง” ให้เป็น “ท่าสุปปาระกะ” ในสมัยพุทธกาลแทน
เอกสารการท่องเที่ยวของศรีลังกาในปัจจุบันที่อ้างอิง “ตำราฝรั่งอังกฤษ” ก็จะระบุว่า “ปฐมกษัตริย์” ของศรีลังกา คือ “พระเจ้าวิชัย” อพยพมาจากแคว้น “คุชราต” ประเทศอินเดีย มาครองราชย์ที่เมืองตัมพปัณณิ เมื่อปีพ.ศ. ๑
หรือที่เขียน “คลุมเคลือ” หน่อยก็จะระบุแค่ว่ามาจาก “อินเดีย”
แต่คงลืมไปว่า “ชาวตะวันตก” ที่รู้จัก “ศรีลังกา” เป็นอย่างดี ไม่ได้มีแต่คน “อังกฤษ” เท่านั้น เพราะ “เกาะลังกา” เคยตกเป็นเมืองขึ้นของ “โปรตุเกส” เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๔๘ ถึง ๒๒๐๑ รวมเวลา ๑๕๓ ปี จากนั้นจึงตกมาเป็นเมืองขึ้นของ “ฮอลันดา” จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๓๙ รวม ๑๓๘ ปี จนท้ายสุดตกเป็นเมืองขึ้นของ “อังกฤษ”อีก ๑๕๒ ปีเต็ม
รวมเวลาที่ “ศรีลังกา” มี “ฝรั่ง” ชาวตะวันตกปกครองทั้งสิ้น ๔๔๓ ปี
โดยก่อนที่นักวิชาการชาว “อังกฤษ” จะเขียนประวัติศาสตร์ศรีลังกาให้ชาว “ศรีลังกา” (ที่รู้จักกันในตอนนั้นในชื่อว่า ซีลอน - Ceylon )ได้เล่าเรียน และก่อนจะมีการประกาศว่า “อินเดีย” คือ “ชมพูทวีป” คือ ในช่วงที่ “โปรตุเกส” กับ “ฮอลันดา” เข้าปกครองศรีลังกา ได้มีนักวิชาการ (ในสมัยนั้น) ของทั้ง ๒ ประเทศนี้ เขียนเรื่องราวของ “เกาะซีลอน” ออกมาเป็นจำนวนมากแล้วด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่านอกจากข้อมูลเอกสารอย่างเป็นทางการแล้ว ยังมีข้อมูลที่ได้จากคำบอกเล่าจากปากของ “ปราชญ์” พื้นบ้าน ในเรื่อราวต่าง ๆ ของเกาะนี้ รวมไปถึงตำนาน นิทาน และคำบอกเล่า “ปากต่อปาก” สืบต่อ ๆ กันมาจาก “รุ่นสู่รุ่น” รวมอยู่ด้วย
และหนึ่งในนั้นก็คือ “ตำนาน” ของ “วิชัยกุมาร” ปฐมกษัตริย์ของ “เกาะลังกา” ดังต่อไปนี้ครับ
📖 …………………………..
(ครั้งเมื่อนานมาแล้ว) มนุษย์ทั้งหลายอันมีถิ่นที่อยู่เลยถัดออกไปจาก “แม่น้ำกันจีส์” คือ ดินแดนในราชอาณาจักรพะโค ตะนาวศรี สยาม และกัมพูชา รวมทั้งที่อยู่เลยออกไปอีกบนดินแดนฝากนั้น ได้ใช้ชีวิตอาศัยอยู่กันอย่างไม่มีพระราชาปกครอง ไร้ซึ่งกฎหมาย และไม่มีกฎระเบียบหรือการควบคุมใด ๆ ไม่ต่างอะไรจากสัตว์ในป่า
ทั้งหมดอาศัยอยู่กันตาม โพรง ซอก และถ้ำ ในป่าเขา หากินผักหญ้าและพืชสมุนไพรไปตามประสาที่ยังไม่รู้จักการทำเกษตรกรรม
ในเช้าวันหนึ่ง ณ ดินแดนทางภาคใต้ ผู้คนชาว “ตะนาวศรี” (Tanaserim, Tanassery) ได้สังเกตเห็นว่าแสงตะวันที่สาดส่องมานั้นช่างมีความงดงามเป็นพิเศษ และทันใดนั้นแสงก็เปิดออกโดยไม่คาดคิดจากส่วนลึกของ “ดวงอาทิตย์”
ฉับพลันนั้นได้ปรากฏ “ชายผู้หนึ่ง” ซึ่งมีเพียบพร้อมด้วยความองอาจสง่างาม สมควรได้รับความเคารพอย่างยิ่ง
และมีรูปร่างหน้าตา กิริยามารยาท อันงดงามที่แตกต่างจากชาว “ตะนาวศรี” อย่างสิ้นเชิง
ทุกคนที่เห็นต่างก็วิ่งเข้าหาด้วยความประหลาดใจอย่างที่สุดต่อปาฏิหารย์นี้ และเอ่ยถามด้วยความเคารพนอบน้อมอย่างยิ่งว่า “ท่านคือใครและปรารถนาสิ่งใด”
ชายผู้นั้นตอบเป็น “ภาษาตะนาวศรี” ว่า ข้าคือบุตรของ “สุริยเทพ” ถูกส่งมาเพื่อปกครองอาณาจักรนี้
ชาวตะนาวศรีทุกคนจึงพากันกราบลงกับพื้น ยกพระองค์ไว้ในที่บูชา พร้อมกล่าวว่าพวกเขาพร้อมที่จะยอมรับพระองค์เป็น “กษัตริย์” และเชื่อฟังพระองค์
ชาวตะนาวศรีได้สถาปนาพระองค์ไว้แล้วในที่ “กษัตริย์” จึงทรงริเริ่มการปกครอง
สิ่งแรกที่พระองค์ทำก็คือ นำพาพวกเขาออกจากป่า และพาพวกเขาไปยังถิ่นที่อยู่ใหม่อันมี “อารยธรรม” ยิ่งกว่า ตลอดจนมีความสงบสุขร่มเย็น ทรงมีรับสั่งให้พวกเขาสร้างบ้านเรือนและหมู่บ้าน จากนั้นพระองค์จึงเริ่มบัญญัติ “กฏหมาย” ที่ดีมากเพื่อพวกเขา
พระมหากษัตริย์พระองค์นี้ทรงครองราชสมบัติและปกครองเหล่าราษฎร “ชาวตะนาวศรี” เรื่อยมาเป็นเวลาช้านาน ทรงมีพระราชโอรสมากมาย และทรงแบ่งอาณาจักรให้พระราชโอรสเหล่านั้นได้ปกครอง
ราชอาณาจักรนี้ได้สืบเนื่อง “ราชวงศ์” กันต่อมาอย่างยาวนานมากกว่า ๒,๐๐๐ ปี เหล่ารัชทายาทผู้สืบวงศ์ทั้งหลายต่างก็เรียกตนเองว่า “สุริยวงศ์” อันหมายความถึงการเป็น “ลูกหลาน” ผู้สืบเผ่าพันธุ์มากจาก “พระอาทิตย์”
หนึ่งในผู้สืบ “สายโลหิต” มาจากต้นกษัตริย์แห่ง “สุริยวงศ์” ในตำนานนี้ก็คือ “พระวิชัยราชา” ผู้เป็นต้นวงศ์ คือ เป็นองค์ปฐมกษัตริย์ของ “ชาวสิงหล” อันจะได้กล่าวถึงดังต่อไปนี้ …(ข้อความต่อจากนี้เหมือนในคัมภีร์ทีปวงศ์และมหาวงศ์ - แอดมิน)
(Description of Ceylon - รวบรวมข้อมูลโดย Francois Valentijn ชาวฮอลันดา)
…………………
เรื่องของ “วิชัยราชา” ที่ได้กล่าวต่อมาใน “ตำนานพื้นเมือง” ข้างต้นนี้ เหมือนกับที่กล่าวไว้ใน “คัมภีร์ทีปวงศ์” และ “คัมภีร์มหาวงศ์” ทุกประการ เพียงแต่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่เพิ่มเข้ามามากกว่า คือ
“พระเจ้าวังคราช” ได้แต่งตั้ง “สีหกุมาร” (พระบิดาของ “วิชัยราชา”) ให้เป็นพระราชาแห่งแคว้น Nalunaratta (สุนาปรันตะ - แอดมิน) มีเมืองหลวงชื่อ “สีหพาหุนคร” (หรือ “สิงหปุระ” ในทีปวงศ์)
…
และในบรรดาหนังสือที่เขียนโดย “โปรตุเกส” กับ “ฮอลันดา” นั้น ได้กล่าวไว้ “ตรงกัน” ว่า หากต้องการทราบประวัติเริ่มต้นของปฐมกษัตริย์ที่เขียนขึ้นจาก “เอกสาร” อย่างเป็นทางการ ก็ให้อ้างอิงจาก “พงศาวดาร” อย่าง “คัมภีร์ทีปวงศ์” หรือ “คัมภีร์มหาวงศ์” และหนังสือหรือจดหมายเหตุจากฝ่ายปกครองบ้านเมืองเป็นข้อมูลประกอบ
แต่เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากเอกสารอื่นที่นอกเหนือไปจากคัมภีร์ “ทีปวงศ์” หรือ “มหาวงศ์” ส่วนใหญ่จะมีรายละเอียดย้อนไป “ไม่ถึง” ต้นกำเนิดของเกาะเมื่อ “หลายพันปี” มาแล้ว
ด้งนั้นหากอยากรู้ว่า “ชาวซีลอน” สืบเชื้อสายมาจากที่ไหน ชาว “โปรตุเกส” กับ “ฮอลันดา” ก็จะรวบรวมเอาจาก “ตำนานพื้นเมือง” ของชาวสีหลมาใช้เป็นหลัก ดังตัวอย่างตำนานพื้นเมืองที่นำมาให้อ่านกันข้างต้นครับ
…
เมื่อเราเอาข้อมูลจากทั้ง ๒ ฝั่งมารวมกัน ก็ จะได้ว่า “พระวิชัยกุมาร” ข้ามมาสู่ “เกาะลังกา” จาก “ท่าสุปปาระกะ” แคว้นตะนาวศรี อันเป็นฝั่งชมพูทวีป ดังนั้นท่าสุปปาระกะจึงน่าจะเป็นเมือง “มะริด” ที่ตั้งอยู่ตรงชายฝั่งทะเล “อันดามัน” นั่นเอง
“มะริด” เป็นเกาะที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำตะนาวศรี ห่างจาก “เมืองตะนาวศรี” ประมาณ ๘๐ กิโลเมตร และเป็นเมืองท่าสำคัญในอดีต ที่เรือเดินทะเลจะมาจอดถ่ายสินค้าลงเรือขนาดเล็กเพื่อเข้าไปส่งยังเมืองตะนาวศรี
และหากจะถ่ายสินค้ามาฝั่งด้านทะเลอ่าวไทย ก็จะถ่ายสินค้าแล้วเดินทางต่อด้วยเกวียน ผ่านกุยบุรี ปราณบุรี เพชรบุรี แล้วลงเรือเข้าไปสู่ปากแม่น้ำต่าง ๆ ที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยต่อไป
หรือจะเดินทางด้วยเกวียนต่อขึ้นไปทาง “ทิศเหนือ” ไปค้าขายที่ “เมืองสาวัตถี” (อู่ทอง) ดังที่มีกล่าวในพระไตรปิฎก เช่นเรื่องของ “พระปุณณเถระ” ก็ย่อมทำได้เช่นกัน
…
ไหน ๆ ก็พูดถึงเรื่อง “เกาะลังกา” แล้ว แอดมินก็เลยจะขอกล่าวถึง ลำดับเอกสารที่นอกเหนือจาก “คัมภีร์พุทธ” ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้คนในสมัยโบราณทั่วโลกรวมถึงชาวชมพูทวีปได้รู้จัก “เกาะลังกา” ว่า คือ เกาะที่อยู่ในตำแหน่งอันเป็นที่ตั้งของประเทศ “ศรีลังกา” ในปัจจุบันนี้ มานานกว่า ๑๖๐๐ ปีมาแล้วทั้งในชื่อ “สิงหล” และ “ลังกาทวีป”
แฟนเพจที่สงสัยหรือสนใจค้นหาว่า “เกาะลังกา” อยู่ที่ไหนกันแน่ แอดแนะนำว่าให้ศึกษาจากเอกสารเหล่านี้ ก็จะหายสงสัยได้เองครับ
เริ่มจาก
. บันทึกการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียน (พ.ศ. ๙๕๗)
(บันทึกว่า “สีหล” เป็นเกาะขนาดใหญ่ กว้าง ๓๐ โยชน์ ยาว ๕๐ โยชน์ ต้องนั่งเรือจากฝั่ง “ชมพูทวีป” ไปไกลถึง ๗๐๐ โยชน์ และกล่าวถึง “รอยพระพุทธบาท” บน “ยอดเขา (สมันตกูฏ)” ถูปาราม อภัยคีรีวิหาร มหาวิหาร มหาเจตีย ต้นโพธิ์กิ่งพันธ์ุจาก “ชมพูทวีป” พระแก้วมรกต และการถวายพระเพลิงพระอรหันต์องค์หนึ่ง
ในบันทึกได้ให้รายละเอียดการเดินทางไป “เกาะสีหล” ไว้ค่อนข้างชัดเจนว่าไปในเวลาใดและในทิศทางใด ทั้งขาไปและขากลับ)
. บันทึกการเดินทางของมาร์โคโปโล (พ.ศ. ๑๘๔๑)
(บันทึกเรื่องของเกาะลังกา (Seilan) โดยกล่าวถึงยอดเขา “สมันตกูฏ” ว่าเป็นที่เก็บพระสรีธาตุ พระทันตธาตุ และพระเกศาธาตุ (แต่ไม่กล่าวถึงรอยพระบาท) และกล่าวถึงประวัติ “พระพุทธเจ้า”)
. จารึกมหาเถรศรีศรัทธา สมัยสุโขทัย (พ.ศ. ๑๘๙๓)
(จารึกระบุว่าพระมหาเถรศรีศรัทธา ได้ไปจาริกแสวงบุญที่ “ลังกาทวีป” ได้ไปถึงเมืองอนุราธปุระ ไปนมัสการมหิยังคณะมหาเจดีย์ และกล่าวถึงแม่น้ำมหาวาลุกคงคา ขากลับมาขึ้นฝั่งที่ "ตะนาวศรี" )
. จารึกวัดเขาสุมนกูฏ สมัยสุโขทัย (พ.ศ. ๑๙๐๒)
(จารึกระบุว่า พระเจ้าศรีสุริยพงศธรรมราชาธิราช (พระยาลือไท) ได้ให้ไปพิมพ์รอยพระบาทพระพุทธเจ้าอันเหยียบเหนือจอมเขาสุมนกูฏบรรพตในลังกาทวีป มาประดิษฐานไว้บนยอดเขาสุมนกูฏ ที่สุโขทัย)
. ตำนานมูลศาสนา (พ.ศ. ๑๘๗๔ - ๑๙๖๗)
(บันทึกเรื่องราวการเข้ามาของพุทธศาสนา “ลังกาวงศ์” ของคณะสงฆ์ ๒ ฝ่ายที่ไปศึกษาเล่าเรียนที่ “เกาะลังกา” และให้รายละเอียดการเดินทางไป “เกาะลังกา” ไว้ค่อนข้างชัดเจน)
. แผนที่ ฟรา เมาโร Fra Mauro (พ.ศ. ๒๐๐๓)
(แผนที่โลกเขียนโดย “ฟรา เมาโร” นักบวชและนักเขียนแผนที่ชาวเวนิส ระบุตำแหน่ง “เกาะลังกา (Saylam)” ที่มีลักษณะ “ตรงกัน” กับแผนที่เกาะลังกาใน “สมุดภาพไตรภูมิ” และแสดงตำแหน่ง “เกาะลังกา” เอาไว้ที่ใต้แหลม “อินเดีย” ดูภาพประกอบ Ep นี้ )
. จารึกกัลยาณี (พ.ศ. ๒๐๒๐)
(บันทึกเรื่องราวการส่ง “ราชฑูต” และ “พระเถระ” ไปสืบศาสนาที่ “เกาะสิงหล (ศรีลังกา)” ของพระเจ้ารามาธิบดี เจ้าแผ่นดินกรุงหงสาวดี จารึกระบุว่าราชฑูตและพระเถระได้ไป “นมัสการ” พระเจดีย์ในที่ต่าง ๆ คือ รัตนเจดีย์ มริจิวัตติเจดีย์ ถูปารามเจดีย์ อภัยคีรีเจดีย์ ศิลาเจดีย์ เชตวนเจดีย์ พระศรีมหาโพธิกิ่งข้างทักษิณทิศ และเที่ยวชมโลหะปราสาท บันทึกชื่อพระเจ้า “ภูวเนกพาหุ” เป็นกษัตริย์สิงหล ที่ครองราชสมบัติสืบต่อมาจากพระเจ้า "ปรักกมพาหุ" พระราชบิดา
ในจารึกยังบอกเล่าเรื่องราวของเรือราชฑูตลำหนึ่ง ขณะข้ามสมุทรกลับมาจาก “เกาะสิงหล” เมื่อมาถึงบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์เรือได้อับปางลง จึงต่อแพข้ามมาถึงยังชายฝั่ง “ชมพูทวีป” ได้ในที่สุด และได้เดินเท้าข้ามมานมัสการ “พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช” ก่อนจะโดยสารเรือสำเภาของพ่อค้ากลับไปยัง “รามัญประเทศ” ได้ในที่สุด
จารึกนี้บอกรายละเอียดการเดินทางไปกลับ “เกาะลังกา” เอาไว้อย่างละเอียดและชัดเจน เช่นกัน)
. สมุดภาพไตรภูมิ (พ.ศ. ๒๐๔๘ - ๒๒๐๑)
(แผนที่ “เกาะลังกา” ใน “สมุดภาพไตรภูมิ” มีลักษณะเหมือนแผนที่ที่ “ชาวโปตุเกส” เขียนขึ้น แอดมินเลยประมาณให้ว่า “สมุดภาพไตรภูมิ” เขียนขึ้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๐๔๘ - ๒๒๐๑ โดยอิงจากแผนที่ของชาวโปตุเกส
รายละเอียดเมืองและสถานที่สำคัญต่าง ๆ บน “เกาะลังกา” ของสมุดภาพไตรภูมิได้กำหนดตำแหน่งเมืองต่าง ๆ เอาไว้ตรงกับแผนที่ “ซีลอน” ที่เขียนขึ้นโดย “ชาวตะวันตก” ในช่วงนี้เกือบทุกเมือง)
. บันทึกชาวโปตุเกส (พ.ศ. ๒๐๔๘ - ๒๒๐๑ กล่าวถึงไปแล้ว)
. บันทึกชาวฮอลันดา (พ.ศ. ๒๒๐๑ - ๒๓๓๙ กล่าวถึงไปแล้ว )
(ที่จริงยังมีอีกแต่อาจเข้าใจยากไป แอดเลยไม่ได้รวมมาไว้ให้ครับ)
…
💥ส่งท้ายก่อนจบด้วยเรื่องของตำนาน “วิชัยราชา”
แอดมินอยากให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เราจะเห็นความ “ไม่เข้าใจ” คน “ตะวันออก” ของ "นักวิชาการตะวันตก” ที่ไปกำหนด “ท่าสุปปาระกะ” เอาไว้ที่ “รัฐคุชราต” ทาง “ชายฝั่งทะเลตะวันตก” ของ “อินเดีย” แบบเลื่อนลอย
หรือแม้แต่จะไปกำหนดไว้ตรงไหนที่ "ชายฝั่งทะเลตะวันออก" ของอินเดียด้าน “อ่าวเบงกอล” ก็ตามที
หากลูกหลานของ "พระเจ้าวิชัยราชา" บนเกาะศรีลังกา อันเป็นผู้สืบสาย “สุริยวงศ์” จริง คือ ถือกำเนิดมาจากบุรุษแห่ง “พระอาทิตย์” ทาง “ทิศตะวันออก” และต้องการสักการะบูชาบรรพบุรุษตนเอง ก็คงต้องหันหน้าไปสู่ “ชมพูทวีป” อันอยู่ทาง “ทิศตะวันตก” หรือไม่ก็ “ทิศเหนือ” ของเกาะลังกาที่กำหนดโดย “ตำราฝรั่ง”
ก็คงจะมีความรู้สึก “ขัดแย้ง” ลึก ๆ (หรือ “งง ๆ”) อยู่ในใจบ้างไม่มากก็น้อย
ดังนั้นหากไม่สามารถปล่อยวาง “ตำราฝรั่ง” และ “อินเดีย” ทิ้งออกไปให้ได้ ชาวพุทธเราก็คงจะต้องศึกษาประวัติพุทธศาสนาจากสถานที่อัน “ไม่สอดคล้อง” กับพระไตรปิฎกและอรรถกถา (แบบ “งง ๆ”) เช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ครับ
…
สำหรับ Ep หน้า แอดมินจะได้พาแฟนเพจไปตามหาเส้นทางจาก “สาวัตถี” ไป “แคว้นสุนาปรันตะ” ตามที่มีกล่าวใน “อรรถกถาปุณณสูตรที่ ๕” ก็ขอเชิญชวนให้มาช่วยกันศึกษาและติดตามกันต่อไปนะครับ
….......................................................
🙏ขอบพระคุณแฟนเพจทุกท่าน ที่ติดตามอ่านกันมาโดยตลอด
🚌🚲🚂มาเที่ยวชมพูทวีปบนแผ่นดินไทยกันดีกว่า ❤️ เที่ยวไม่ต้องแย่งใคร … ได้อานิสงส์เท่ากันครับ 🙏🙏🙏
….........................................................
📸 อธิบายภาพประกอบ Ep - แผนที่ฟรา เมาโร Fra Mauro (ภาพบางส่วน)
เขียนขึ้นในช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๐๐๓ แต่บนแผนที่ยังปรากฏชื่อเมืองต่าง ๆ ในแผนที่ปโตเลมีอยู่เป็นจำนวนมากด้วย
แผนที่ฉบับนี้มักถูก “นักวิชาการไทย” ยกมาอ้างว่ามี “กรุงศรีอยุธยา” ปรากฏอยู่โดยอ้างอิงจากตำแหน่งที่มีคำว่า นครชิแอร์โน (Scierno) ในแผนที่ว่า คือ "กรุงศรีอยุธยา" ด้วยความเข้าใจผิด (อย่างมั่นใจ)
และสำหรับแฟนเพจที่สนใจศึกษาแผนที่นี้โดยละเอียด แอดมินบอกใบ้ให้นิดว่าเกาะ SAYLAM หรือ เกาะลังกาในแผนที่นี้มี “จุดสำคัญ” ที่บ่งบอกว่า คือเกาะเดียวกันกับ “เกาะลังกา” ใน “สมุดภาพไตรภูมิ”อย่างชัดเจน ลองหากันดูนะครับ
🔎สามารถเข้าไปดูแผนที่ฉบับเต็มได้ที่
https://engineeringhistoricalmemory.com/FraMauro.php?hid=294&cid=
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตามหาสาวัตถี
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย