27 เม.ย. เวลา 09:49 • ประวัติศาสตร์

ตามหาสาวัตถี ตอน 11 - เมืองโบราณ “อู่ทอง” ก็คือเมือง “สาวัตถี” ในสมัยพุทธกาล

[ #คำเตือน เนื้อหาในซีรีส์นี้ จำเป็นต้องใช้วิจารณญานในการอ่านมากเป็นพิเศษ ท่านที่ไม่สามารถวางองค์ความรู้เรื่องดินแดนเกิดของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ “อินเดีย” เอาไว้ข้าง ๆ ตัวก่อนอ่านได้ แอดมินอยากให้ข้ามเพจนี้ไปนะครับ เพื่อที่เวลาอันมีค่าของท่านจะได้ไม่ต้องมาสูญเปล่าไปโดยไม่ได้ประโยชน์อันใด]
📖 …………………………………
“... อาจารย์มานิตย์ (วัลลิโภดม) นั้นเป็นนักโบราณคดียุคประวัติศาสตร์ที่สนใจเรื่องราวตั้งแต่สมัยทวารวดีลงมา เป็นผู้ที่ค้นคว้าศึกษาเมือง ‘อู่ทอง’ ในจังหวัด ‘สุพรรณบุรี’ ทั้งยังเป็นคนแรกที่มีความเห็นว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกว่า ‘พระเจ้าอู่ทอง’ นั้นไม่ได้ย้ายเมืองจากเมืองอู่ทองมาสร้างพระนครศรีอยุธยา เพราะเมืองอู่ทองร้างไปก่อนรัชสมัยของพระองค์กว่า ๒๐๐ ปี
“โดยอาจารย์มานิตเชื่อว่า ‘เมืองอู่ทอง’ เป็นเมืองสมัย ‘ทวารวดี’ ที่มีอายุสูงขึ้นไปจนถึงสมัยฟูนันและสุวรรณภูมิ
“สิ่งที่ทำให้เชื่อว่าเมืองอู่ทองมีอายุสูงขึ้นไปก็คือ ‘ลูกปัด’ และ ‘ดวงตรา’ ที่แกะสลักบนหินสีหรือก้อนดินเผา รวมทั้งวัตถุสัมฤทธิ์ที่มีลวดลายใกล้เคียงกับลวดลายในวัฒนธรรมดองเซินของเวียดนาม
“ความเชื่อเช่นนี้เป็นไปได้มากขึ้น เมื่อ ‘อาจารย์ชิน’ นำ ‘ตุ้มหู’ รูป ‘สัตว์มีเขา ๒ หัว’ ทำด้วยหินสีเขียว ที่นักโบราณคดีฝรั่งเรียกว่า ‘ลิงลิงโอ’ ซึ่งพบที่เมืองอู่ทองมาให้ดู วัตถุแบบนี้นักโบราณคดีฝรั่งกำหนดอายุไว้ราว ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาลลงมา
ซึ่งก็ร่วมสมัยกับช่วงต้นพุทธกาลที่คำว่า ‘สุวรรณภูมิ’ เริ่มปรากฏในเอกสารอินเดียโบราณ
“อาจารย์มานิตค้นคว้าตำนานไทยและเอกสารโบราณของต่างประเทศที่เกี่ยวกับสุวรรณภูมิ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์บ้านเมืองโบราณสมัยกรีก-โรมัน รวมทั้งแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยกับเมืองอู่ทอง ตามเส้นทางคาบสมุทรจากฝั่งทะเลอันดามัน เช่น เรื่องราวของเมือง ‘สะเทิม’ ของมอญแถบลุ่มน้ำสาละวินในดินแดนพม่าปัจจุบันนี้
“และมีความเห็นว่า ‘เมืองอู่ทอง’ คือเมืองสำคัญของสุวรรณภูมิที่มีการเผยแพร่พระพุทธศาสนาเข้ามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
“ทว่าเรื่องนี้ วงการโบราณคดีไทยซึ่งมักฟังแต่ความเห็นของพวกฝรั่ง ‘ไม่เชื่อถือ’ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องราวจาก ‘มหาวงศ์’ พงศาวดารลังกา ที่น่าจะเขียนขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ ลงมา อีกทั้งไม่มีปรากฏใน ‘จารึก’ ของพระเจ้าอโศกมหาราชแต่อย่างใด
“โดยย่อก็คือ ยังไม่มีผู้ใดยอมรับว่ามีการติดต่อกับทางอินเดียครั้งราชการพระเจ้าอโศกมหาราชก็ว่าได้ …
… “ข้าพเจ้าได้สานต่อความคิดของอาจารย์มานิต ทั้งในเรื่องตำนานที่นักโบราณคดีตามหาวิทยาลัยเห็นว่า ‘ไร้สาระ’ กับหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับชุมชนโบราณในเรื่องที่ว่า ‘เมืองอู่ทอง’ มีความสัมพันธ์กับการเผยแพร่พระพุทธศาสนาครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช โดยให้ความสำคัญกับเส้นทางข้ามสมุทรเป็นพิเศษว่า
“ถ้าคณะสมณทูตของพระเจ้าอโศกจะเดินทางเข้ามานั้น ควรจะมาจากไหน มาทางไหน มาถึงที่ใดก่อน
“โดยคิดว่าการเดินทางจากแคว้นมคธก็คงมาทางลุ่มน้ำ ‘คงคา’ แน่ นั่นก็คือมายัง ‘อ่าวเบงกอล’ อันอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย อาจเรียกได้ว่าเป็นอินเดียเหนือก็ว่าได้
“จากปากน้ำคงคาแล่นเรือเรียบชายฝั่งอ่าวเบงกอล ที่มีอ่าวใหญ่อ่าวเล็ก อันเป็นที่จอดเรือตามเส้นทางมายังฝั่งทะเลอันดามันของคาบสมุทรสุวรรณภูมิได้ โดยเหตุนี้จึงปรากฏตำนานเกี่ยวกับสุวรรณภูมิ ตลอดจนการเผยแพร่พุทธศาสนาที่เมือง ‘สะเทิม’ อันเป็นเมืองของพวกมอญที่มีบทบาทในการสร้างบ้านแปงเมืองและการค้าขายทางทะเล
“แต่การขึ้นบกของพระสมณทูตน่าจะไม่หยุดอยู่เฉพาะทางเมืองมอญที่เมืองสะเทิมเท่านั้น (คือ ไม่ได้ขึ้นที่เมืองสะเทิม - แอดมิน) หากมุ่งมาขึ้นบกที่เมืองท่าชายฝั่งทะเลอันดามันในพื้นที่เมาะตะมะ ทวาย มะริด และตะนาวศรีมากกว่า เพราะเป็นบริเวณที่จะข้ามช่องเขาตะนาวศรีมายังสุวรรณภูมิฟากฝั่งอ่าวไทยได้
“ทว่าเมื่อดูจากตำแหน่งที่มีแหล่งโบราณคดีตั้งแต่สมัยยุคต้นประวัติศาสตร์ลงมาแล้ว ก็พบว่าที่เมือง ‘ทวาย’ น่าจะเป็นแหล่งสำคัญ เพราะเป็นบริเวณที่มีทั้งอ่าวและเกาะเล็กๆ อยู่ด้านหน้า เหมาะที่จะเป็นแหล่งจอดเรือ คลังสินค้า และเป็นเมืองท่าได้
“ปัจจุบันก็พบหลักฐานโบราณคดีใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งดร.อลิซาเบธ มัวร์ นักโบราณคดีอังกฤษได้ศึกษาและรายงานไว้แล้ว
“ข้าพเจ้ามั่นใจว่า ‘เมืองทวาย’ เป็นเมืองท่าสำคัญของสุวรรณภูมิฟากทะเลอันดามันในยุคแรกของการเกี่ยวข้องกับอินเดีย เพราะเป็นตำแหน่งที่สามารถเดินทางข้ามช่องเขาตะนาวศรีมายังฟากตะวันออกในเขตลุ่มน้ำภาชี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรีได้ โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่าบ้านทุ่งเจดีย์ ที่มีซากกองหิน ๓ กอง ที่เป็นสัญลักษณ์ของด่าน มาตั้งแต่สมัยโบราณ แหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นเหมืองแรกเก่าที่ขุดพบเครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือหินกะเทาะ-หินขัด และวัตถุสำริด
“ที่สำคัญคือ บริเวณห้วยสวนพลู-เขาจมูก ซึ่งไม่ห่างออกไปเท่าใดนัก ได้เคยพบชิ้นส่วนภาชนะสำริดมีลวดลายสลักเป็นรูปช้างม้าวัวควาย รูปสตรี และลายกลีบบัว เหมือนที่เคยพบที่บ้านดอนตาเพชร (บ้านดอนตาเพชรเป็นแหล่งโบราณคดีที่กำหนดอายุไว้ราว ๓๐๐ ปีก่อนคริสตกาล - แอดมิน)
(ส่วนหนึ่งจากบทบรรณาธิการ เรื่อง “ข้อเสนอใหม่เรื่องเส้นทางกล้ามคาบสมุทรจากลูกปัด” วารสารเมืองโบราณ โดย อ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม)
………………………………………….. 📖
ท่านอาจารย์ “ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม” เป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิชาการรุ่นแรก ๆ ที่ศึกษาและเชื่อว่าเมืองโบราณ “อู่ทอง” นั้น “เก่าแก่” กว่ายุคสมัยที่นักวิชาการเรียกว่า “ทวารวดี” มาก
และมีความเห็นว่า “พระพุทธศาสนา” น่าจะเข้ามาในดินแดนประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่เมืองโบราณ “อู่ทอง” จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ท่านเชื่อว่าคือส่วนหนึ่งของดินแดน “สุวรรณภูมิ” ที่พระเจ้าอโศกส่งพระสมณฑูตมาประกาศพระพุทธศาสนา
อย่างไรก็ตามงานศึกษาของท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ก็ยังเห็นว่า “พระพุทธศาสนา” เป็นของ “นำเข้า” จาก “อินเดีย” อยู่ดี
แต่แอดมินเห็นต่างว่าพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นใน “บ้านเรา” นี้เอง และเมืองโบราณ “อู่ทอง” ก็คือ เมือง “สาวัตถี” ในสมัยพุทธกาล ดังที่แอดมินพาแฟนเพจตามรอย “เส้นทาง” จากบันทึกของ “หลวงจีนฟาเหียน” จากเมืองสังกัสสะ (สะเทิม) ในเขตประเทศเมียนมาร์ ข้ามฝั่งมาบ้านเราแล้วเลียบแม่น้ำปิงลงมาทางทิศใต้ตามลำดับ
ซึ่งเมืองโบราณ “อู่ทอง” มี “ตำแหน่ง” ถูกต้องตรงตาม “ระยะทาง” และ “ทิศทาง” ในบันทึกพอดี
ที่แอดมินคัด “ส่วนหนึ่ง” จากบทความของอาจารย์ศรีศักดิ์ มานำเสนอก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า เมือง “สาวัตถี” ในบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน มีอายุสอดคล้องกับ “อายุ” ของเมือง “อู่ทอง” ที่นักวิชาการบางส่วนก็ยังเห็นว่า “เก่าแก่” ไปได้ถึงสมัยพุทธกาล
แต่ประเด็นที่แอดมินจะนำเสนอใน Ep นี้ มีดังนี้ครับ
เรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องของ “เมืองทวาย” อันเป็นเมืองที่ “เก่าแก่” ไปได้ถึงสมัยพุทธกาลก็ได้มีปรากฏอยู่ใน “บันทึก” ของหลวงจีนฟาเหียนด้วยดังนี้ครับ
📖 ………………………………
จาก "นครสาวัตถี" ไปทางทิศตะวันตก ๑,๐๐๐ เส้น ถึงเมืองหนึ่งมีนามว่า "ทู-วาย 都維" (ฉบับโกษากรแปลออกเสียงว่า “ตู๊ไหว่”) ซึ่งเป็นสถานที่ที่อุบัติของพระกัสสปะพุทธเจ้า กับสถานที่ที่พระองค์พบกับพระพุทธบิดาของพระองค์ และสถานที่ที่พระองค์เสด็จบรรลุสู่ปรินิพพาน ซึ่งได้มีพระสตูปอยู่แล้ว (ทั้ง ๓ แห่ง) บนสถานที่ที่บรรจุพระบรมธาตุโดยบริบูรณ์ครบถ้วน ร่างกายทั้งองค์ของพระกัสสปะพุทธเจ้านั้น ได้สร้างเป็นสตูปดุจเดียวกัน (มีขนาด) ใหญ่โตมาก
……………………………. 📖
ด้วยทิศทางและการออกเสียงเมือง 都維 หรือ “ทูวาย” หรือ “ตู๊ไหว่” ในบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนจึงน่าจะเป็นเมือง “ทวาย” ในเขตประเทศเมียนมาร์ในปัจจุบันที่ตั้งอยู่ทางทิศ “ตะวันตก” ของเมือง “อู่ทอง” พอดี
ท่านหลวงจีนฟาเหียนยังระบุว่าเมือง “ทูวาย” เป็นสถานที่ที่อุบัติของพระกัสสปะพุทธเจ้า และเป็นสถานที่ที่พระองค์เสด็จบรรลุสู่ปรินิพพาน “ทูวาย” ในบันทึกจึงน่าจะตรงกับเมือง “เสตัพยะ” ในแคว้นโกศล ดังที่มีกล่าวไว้ใน “ปายาสิราชัญญสูตร” ว่า
📖 ……….....................
สมัยหนึ่ง ท่านพระกุมารกัสสปเที่ยวจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ลุถึงนครแห่งชาวโกศลชื่อ “เสตัพยะ” ได้ยินว่า สมัยนั้น ท่านพระกุมารกัสสปอยู่ ณ ป่าไม้สีเสียดด้านเหนือนครเสตัพยะเขตนคร “เสตัพยะ” ฯ
………............................ 📖
“นครเสตัพยะ” นั้น “อรรถกถาโทณสูตรที่ ๖” วินิจฉัย ขยายความเอาไว้ว่า “บทว่า เสตพฺยํ ได้แก่ นครถิ่นเกิดของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งอดีต” ซึ่งตรงตามบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนพอดี
เรื่องถัดมาคือ เมือง “อู่ทอง” ยังมีเขตแดนไปทางด้านใต้ติดกับแม่น้ำ “แม่กลอง” ที่แยกออกเป็นแม่น้ำ “แควน้อย” กับแม่น้ำ “แควใหญ่” เกิดเป็นเกาะขนาดใหญ่ขึ้นตรงกลางขึ้น จึงตรงกับอรรถกถาที่ระบุว่า แม่น้ำ “โคธาวารี” อยู่ติดแดนเมือง “สาวัตถี” ทางด้านทิศใต้และเป็นแม่น้ำที่แยกออกเป็นสองสาย
และถัดจากแม่น้ำโคธาวารีลงไปทางใต้ก็จะเป็นที่ตั้งของ “ท่าสุปปารกะ” หรือบริเวณกลุ่มเมือง “มะริด- ตะนาวศรี” หรืออาจจะเป็นเมือง “ท่าลังเคี๊ยะ” (ข้อมูลจากแฟนเพจ)
จากตำแหน่งนี้เมืองโบราณ “อู่ทอง” ก็จะตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจาก “ท่าสุปปารกะ” พอดี
และหากยังจำกันได้แอดมินเคยกำหนดที่ตั้งเมือง “พาราณสี” ให้แล้วว่าอยู่บริเวณที่ตั้งของเมือง "นครปฐม-นครชัยศรี" ในปัจจุบัน ซึ่งในการกำหนดนั้นแอดมินได้ใช้แค่หลักฐานสำคัญคือ “ธรรมจักรศิลา” ที่พบจำนวนมากที่สุดในประเทศที่นั่นเป็นตัวกำหนดเท่านั้น ไม่ได้ใช้เส้นทางจากบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน (ซึ่งมีกล่าวไว้ด้วยแต่ไม่ได้ใช้)
ก็จะเห็นว่า “นครปฐม-นครชัยศรี” จะอยู่ติดกับ “อู่ทอง” อย่าง “ลงตัว” พอดีกับที่มีกล่าวในพระไตรปิฎกว่า
แคว้น “โกศล” ติดกับแคว้น “กาสี” (แคว้นคู่ โกศล-กาสี)
(แฟนเพจที่เพิ่งเข้ามาสามารถย้อนไปอ่านได้ในซีรีส์ “สถานที่ปฐมเทศนา” ตั้งแต่ EP. 1-11 ครับ
)
ทั้งหมดนี้จึงไม่ใช่เรื่อง "บังเอิญ" เพราะเมืองโบราณ “อู่ทอง” ก็คือเมือง “สาวัตถี” ในสมัยพุทธกาลนั่นเองครับ
และเนื่องจากในบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนไม่มี “ท่าสุปปารกะ” กล่าวเอาไว้ ตัวแอดมินเองก็ไม่ได้กำหนดตำแหน่งเอา “ตามใจชอบ” ดังนั้นใน Ep หน้า แอดจะพาไปหาที่มาของ “ท่าสุปปารกะ” กันก่อนจะไปเรื่องอื่นๆ ของเมืองสาวัตถีนะครับ
🙏ขอบพระคุณแฟนเพจทุกท่าน ที่ติดตามอ่านกันมาโดยตลอด
🚒🚎🚲🛵✈️มาเที่ยวชมพูทวีปบนแผ่นดินไทยกันดีกว่า ❤️ เที่ยวไม่ต้องแย่งใคร … ได้อานิสงส์เท่ากันครับ 🙏🙏🙏

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา