19 พ.ค. เวลา 08:01 • สิ่งแวดล้อม

'หญ้าหวาน' ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าอ้อย 90% ลดการใช้ที่ดิน-น้ำ แต่หวานมากกว่าน้ำตาลทราย

“หญ้าหวาน” ถูกนำมาใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เนื่องจากใบของหญ้าหวานให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 10-15 เท่า แต่ความหวานนี้ไม่ก่อให้เกิดพลังงาน ยิ่งไปกว่านั้นหญ้าหวานยังดีกับโลกด้วย
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซอร์รีย์ ทำการประเมินวงจรชีวิตของ “สตีวิออลไกลโคไซด์” (Steviol glycoside) สารให้ความหวานที่สกัดจากหญ้าหวาน ซึ่งพบว่าการผลิตสารให้ความหวานดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำตาล ทั้งในการลดการใช้ที่ดิน และการใช้น้ำได้เมื่อเทียบกับระดับความหวานที่ผลิตได้ในระดับเดียวกัน
พืชที่นำไปผลิตเป็นน้ำตาล เป็นพืชที่ใช้น้ำและพื้นที่ในการเพาะปลูกจำนวนมาก โดยเฉพาะอ้อยที่เป็นพืชทางการเกษตรที่ผลิตมากที่สุดในโลก โดยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 15% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ตามรายงานของ Spoonshot พบว่า ปริมาณการใช้น้ำเฉลี่ยทั่วโลกสำหรับการผลิตน้ำตาลทรายขาว 1 กิโลกรัมจากอ้อยอยู่ที่ประมาณ 1,782 ลิตร
การถางป่าเพื่อเพิ่มผลผลิตส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เช่นเดียวกับปัจจัยการผลิตปุ๋ยและยาฆ่าแมลง สารเคมีเหล่านี้มีผลกระทบเชิงลบต่อดิน น้ำใต้ดิน และแหล่งน้ำดื่ม รวมไปถึงการเผาไร่อ้อยที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ
การศึกษานี้ มุ่งเน้นไปที่การผลิตส่วนผสมของสตีวิออลไกลโคไซด์ 60% และ 95% บริสุทธิ์ หรือที่เรียกว่า RA60 จากใบหญ้าหวานที่ปลูกในยุโรป พบว่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนของ RA60 อยู่ที่ 20.25 กก./CO2e/กก. เมื่อพิจารณาจากมวล และ 0.081 กก./CO2e/กก. เมื่อพิจารณาจากความหวานที่เทียบเท่ากัน
โดยการสกัด RA60 เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก รองลงมาคือการเพาะปลูกหญ้าหวาน การแปรรูปใบและการขยายพันธุ์ต้นกล้า
หากตัดองค์ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศออกไป ศักยภาพในการทำให้โลกร้อนจะลดลง 18.8% เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำตาลโดยพิจารณาจากความหวานที่เทียบเท่ากัน RA60 มีผลกระทบต่อศักยภาพในการทำให้โลกร้อนเพียง 5.7-10.2% มีผลกระทบต่อการใช้ที่ดินประมาณ 5.6- 7.2% และต่ำกว่าในหมวดหมู่ผลกระทบอื่น ๆ ส่วนใหญ่
เมื่อเปรียบเทียบทั้งหมดแล้ว สตีวิออลไกลโคไซด์ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพียงประมาณ 10% ของก๊าซเรือนกระจกที่การผลิตน้ำตาล
#กรุงเทพธุรกิจ #InsightforOpportunities #กรุงเทพธุรกิจSustain #กรุงเทพธุรกิจEnvironment
โฆษณา