18 พ.ค. เวลา 14:23 • สุขภาพ

ยาเปลี่ยนโลก ที่ถูกค้นพบโดยบังเอิญ

ในบรรดายาที่เรารู้จักอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีรากฐานมาจากการคิดค้นและพัฒนาจากการตั้งสมมติฐานและการแก้ไขปัญหาบางประการทางการแพทย์และสาธารณสุข จนเกิดเป็นยาที่รองรับการบำบัด บรรเทา รักษาโรค
แต่นอกจากนี้ ก็ยังมีการค้นพบตัวยาใหม่โดยบังเอิญ (serendipity) เป็นอีกหนึ่งเส้นทางสำคัญที่นำไปสู่ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของการรักษาด้วยยา ในระบบสาธารณสุขทั่วโลก
วันนี้ผมจึงยกตัวอย่าง 3 ยา ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้วงการเภสัชกรรมของโลก แต่กลับมีจุดกำเนิดที่่น่าประหลาดใจ
อันดับที่ 3 ลิเทียม (Lithium) - ยากลุ่มโรคจิตเภท
ถ้าใครยังพอจำเคมี ม ปลายได้ เคยโดนบังคับให้ท่องตารางธาตุ เราจะจำได้ว่าลิเทียม (Lithium) คือธาตุคาบแรกในหมู่ 1 A มีความเป็นโลหะสูง ธาตุในกลุ่มโลหะจะถูกใช้ในทางอุตสาหกรรมนั้นไม่แปลก แต่ตอนที่ผมเรียนเภสัชวิทยา แล้วอาจารย์บอกว่า ลิเทียม ใช้เป็นยาได้ ผมอุทานว่า ห๊ะะ!! ออกมาทันที
2
ลิเทียมมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) ซึ่งรวมถึงอาการไบโพลาร์ โดยมีหลักฐานการใช้รักษาในหลายโรค เช่น ความดันโลหิตสูง โรคซึมเศร้า ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19
1
จนกระทั่งในปี 1949 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หมอจอห์น เคด (John Cade) ชาวออสเตรเลีย ได้ทดลองใช้ ฉีดให้กับหนูตะเภาที่ได้รับสารพิษ มีอาการทุรนทุราย เมื่อได้รับ lithium carbonate ปรากฎว่าหนูมีอาการสงบลง จึงทดลองใช้
litium urate รักษาผู้ป่วยโรคจิตเภทจำนวน 10 ราย
ผู้ป่วยซึ่งเคยเป็นปัญหาหนักกลับมีอาการสงบลงภายใน 3 สัปดาห์และสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ภายใน 12 สัปดาห์
กลไกออกฤทธิ์ของลิเทียมในเชิงเภสัชวิทยานั้นซับซ้อนและยังไม่ทราบชัดเจนทั้งหมด แต่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ลิเทียมส่งผลต่อสารสื่อประสาทหลายชนิดในสมอง โดยลดการหลั่งนอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine) และเพิ่มการสังเคราะห์เซโรโทนิน (serotonin) นอกจากนี้ ลิเทียมยังมีผลยับยั้งเอนไซม์ GSK-3β (glycogen synthase kinase-3β) โดยตรงและทางอ้อม ทำให้ส่งเสริมเส้นทางสัญญาณ Akt/mTOR และมีผลเพิ่มกลไกการคุ้มครองเซลล์ประสาท (neuroprotective)
1
การยับยั้ง GSK-3β นี้เชื่อมโยงกับการปรับสมดุลอารมณ์และการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ รวมถึงมีการยับยั้งเอนไซม์ชนิดอื่นๆ เช่น pAp-phosphatase ซึ่งช่วยให้ระดับสารโปรตีนในสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์สูงขึ้น
1
การนำลิเทียมมาใช้ในทางคลินิกนั้นชัดเจนว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการรักษาโรคอารมณ์สองขั้ว มันกลายเป็นยาหลักในการป้องกันภาวะ Mania และซึมเศร้าในระยะยาว (mood stabilizer) ยุคแรก ๆ ที่การรักษาไม่มีประสิทธิผลมาก่อน มีงานวิจัยและการทดลองทางคลินิกมากมายยืนยันถึงประสิทธิภาพของลิเทียม จนก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในวงการแพทย์ ท้ายที่สุดในปี 1970 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (FDA) ได้อนุมัติให้ใช้ลิเทียมรักษาภาวะ Mania อย่างเป็นทางการ
การค้นพบลิเทียมจากความบังเอิญทำให้เห็นชัดว่า การทดลองควรเปิดกว้างต่อผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิด คุณหมอ John Cade เคยถูกวิจารณ์เกี่ยวกับการค้นพบดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม การบังเอิญ มักทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่เราไม่คาดคิดเสมอ
อันดับที่ 2 Sildenafil - รักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (erectile dysfunction)
ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 นักวิจัยของบริษัท Pfizer กำลังศึกษาพัฒนายาเพื่อรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยต้องการหายาขยายหลอดเลือด (vasodilator) สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่เจ็บ (angina)
3
ในระหว่างการทดลองกลุ่มตัวอย่าง พวกเขาพบว่าผู้ป่วยชายหลายคนที่ใช้ยา sildenafil มีอาการแข็งตัวของอวัยวะเพศที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยไม่คาดคิด
จากการตรวจสอบพบว่ายาดังกล่าวมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะเพศเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการแข็งตัว (erection) ได้ดียิ่งขึ้น
1
กลไกการออกฤทธิ์ของไวอากร้าคือเป็นสารยับยั้งเอนไซม์ phosphodiesterase type 5 (PDE-5) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารไซคลิก GMP (cGMP) ในเซลล์กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด โดยหลังจากมีการกระตุ้นทางเพศ เซลล์ในเยื่อบุหลอดเลือดจะหลั่งไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งกระตุ้นให้สร้าง cGMP ในเซลล์กล้ามเนื้อเรียบขององคชาต การมี cGMP สูงทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัวและหลอดเลือดขยายตัว ทำให้เลือดไหลเข้าองคชาตได้มากขึ้น เสริมให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้
ต่อมา sildenafil จึงถูกพัฒนาและวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้า “ไวอากร้า” สำหรับรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (erectile dysfunction) และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไข้ไปอย่างมาก ผลกระทบต่อวงการแพทย์และสังคมของไวอากร้าเห็นได้ชัดว่าเปลี่ยนทัศนคติและการรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศไปโดยสิ้นเชิง
ยาทำให้ผู้ป่วยชายที่เคยเจอปัญหาในการสร้างและรักษาการแข็งตัวขององคชาติกลับมาใช้ชีวิตทางเพศได้ตามปกติ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองและคุณภาพชีวิต นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญด้านเภสัชวิทยาศาสตร์และการดูแลผู้ป่วยด้านเพศ
อันดับ 1 เพนิซิลิน (Penicillin) - ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย
เชื่อว่าเภสัชกรทุกคนที่เห็นชื่อบทความนี้ น่าจะรู้อยู่แล้วว่า เรื่องนี้จะเป็นอันดับ 1 นี้คือสุดยอดความบังเอิญแห่งวงการเภสัชกรรม อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ในปี 1928 ขณะที่เขากลับมาจากลาพักร้อนและกำลังตรวจดูจานเพาะเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus บนโต๊ะทำงาน เขาสังเกตเห็นว่าในจานหนึ่งมีรา Penicillium notatum ปรากฏอยู่และพบว่าบริเวณรอบ ๆ รานั้นปราศจากการเติบโตของแบคทีเรีย
เฟลมมิงพบว่าน้ำจากเซลล์รานี้ สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อ streptococcus, meningococcus หรือเชื้อที่ก่อโรคอื่น ๆ การค้นพบครั้งนี้เกิดจากความบังเอิญจากการปนเปื้อนของรา แต่เป็นการค้นพบที่ปฏิวัติวงการยา เพราะก่อนหน้านั้นยังไม่มีวิธีรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ได้ผล ต่อมาสารดังกล่าวที่ถูกค้นพบถูกเรียกว่ายา Penicillin และกลายเป็น “ยาปฏิชีวนะตัวจริงตัวแรกของโลก”
1
กลไกออกฤทธิ์ของเพนิซิลินเป็นไปตามกลไกของกลุ่มเบต้า-แลคแทม (β-lactam) โดยตัวยาจะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ penicillin-binding proteins (PBPs) ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างตาข่ายเพปไทโดกลัยแคนในผนังเซลล์แบคทีเรีย ทำให้ผนังเซลล์อ่อนแอและแตกตายได้จากความดันภายใน เพนิซิลินจะป้องกันไม่ให้แบคทีเรียสร้างผนังเซลล์ใหม่ ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถแบ่งตัวและอยู่รอดได้ เส้นทางนี้ทำให้ยามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้โดยเฉพาะกับแบคทีเรียแกรมบวกที่มีผนังหนา
เพนิซิลินต่อวงการแพทย์และสังคมมีอย่างมหาศาล โดยเพนิซิลินช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อที่เคยเป็นภัยร้ายแรง เช่น ปอดบวม โรคหนองในแท้ และโรคบาดทะยัก ทำให้การรักษาโรคเหล่านี้ได้ผลดีขึ้นอย่างมาก เพนิซิลินจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์การแพทย์ จนเฟลมมิงและผู้ร่วมวิจัยได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี 1945 ผลจากการใช้เพนิซิลินขยายไปถึงการรักษาทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 และช่วยชีวิตผู้คนนับล้านทั่วโลก จากความสามารถในการรักษาโรคติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยาเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในอีกหลายร้อยความบังเอิญที่เกินขึ้นทางการแพทย์ ที่ผลักดันวงการแพทย์และเภสัชกรรมไปข้างหน้า นอกจากการค้นพบนวัตกรรมแล้ว ความบังเอิญยังแสดงให้เห็นความผิดพลาดที่มนุษย์คิดไม่ถึง นำไปสู่การหามาตรการป้องกัน ช่วยยกระดับการบริการทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
1
แล้วคุณล่ะ มีความบังเอิญอะไร ที่เปลี่ยนชีวิตของคุณบ้าง?
อ้างอิง
โฆษณา