5 มิ.ย. เวลา 06:01 • ข่าวรอบโลก

กรมการปกครอง สั่ง ผู้ว่าฯ 7 จว.ชายแดนติดกัมพูชา พร้อมรับสถานการณ์ และดูแลความปลอดภัย ประชาชน

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัด ประกอบด้วย ตราด จันทบุรี สระแก้ว อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ กำชับแนวทางการปฏิบัติงานในสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา
กรณีเกิดเหตุการณ์ปะทะระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชา บริเวณชายแดนช่องบก อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ด่านชายแดนไทย-กัมพูชา และพื้นที่อื่น ต้องเพิ่มมาตรการป้องกันและระมัดระวังเหตุลุกลามมากยิ่งขึ้น
เแนวทางปฏิบัติเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
1. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งการให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ดำเนินการตามภารกิจการดูแลความมั่นคงภายใน ให้ความสำคัญสูงสุดกับการดูแลความปลอดภัยของประชาชน โดยประเมินสถานการณ์ จำนวนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ชี้แจงแผนอพยพประชาชน กำหนดจุดรวมพลและจุดพักพิงในพื้นที่ปลอดภัย
ภาพจาก : ThaiPBSNews
2. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้บัญชาการอาสารักษาดินแดนจังหวัด สั่งการเจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน เตรียมความพร้อมกำลังพลเพื่อปฏิบัติงานในยามฉุกเฉิน ตรวจสอบพื้นที่ล่อแหลม สนับสนุนการเฝ้าตรวจและจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน หากเกิดภาวะไม่ปกติให้ปฏิบัติตามแนวทางในแผนรักษาความมั่นคงตามแนวชายแดนและพิทักษ์พื้นที่เขตหลัง ประกอบแผนสั่งใช้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ปฏิบัติภารกิจประจำปี พ.ศ.2568
3. ประชาสัมพันธ์ชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์และแจ้งข่าวสารทางราชการให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกและสามารถปฏิบัติตนได้เมื่อเกิดสถานการณ์
4. กรณีเกิดสถานการณ์ความไม่สงบอันส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ ให้จังหวัดรายงานสถานการณ์ให้กรมการปกครองทราบในวาระแรกโดยเร็วที่สุดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
“กองกำลังสุรสีห์” พร้อมสนับสนุนชายแดนตะวันออก
พล.ท.อมฤต บุญสุยา แม่ทัพภาค1 เดินทางไปตรวจความพร้อมหน่วย ตามแผนเผชิญเหตุของกองทัพบก ทั้งหน่วยกรมทหารราบเฉพาะกิจ กองทัพภาคที่ 1 และ กองพันพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว RDF กองทัพภาคที่ 1 ณ สนามฝึกทางยุทธวิธี พล.ร.9 จ.กาญจนบุรี โดยมี พล.ต. อัษฎาวุธ ปันยารชุน ผบ.พล.ร.9 ให้ต้อนรับ
ภาพจาก : ThaiPBSNews
พล.ร.9 ได้รับมอบหมายจากกองทัพบก ให้จัดกำลังเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติของกองทัพบก ในการใช้กำลังตามแผนเผชิญเหตุของกองทัพบก เข้าในพื้นที่ที่รับผิดชอบ และให้การสนับสนุนเสริมกำลังรบในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 1
โดยหน่วยเตรียมกำลังได้ทำการตรวจสภาพความพร้อมรบ ตามขั้นตอน เพื่อตรวจสอบความพร้อมของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ในการปฏิบัติภารกิจในทุกพื้นที่ที่ได้รับมอบภารกิจจากกองทัพบก
“กองพลทหารปืนใหญ่” พร้อมปฏิบัติทุกภารกิจ
กองพลทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี ทำการตรวจสภาพความพร้อมรบ หน่วยระดับกองพันทหารปืนใหญ่สนามของ ป.71 พัน.713 และ ป.72 พัน.722 เพื่อตรวจสภาพความพร้อมรบของกำลังพล ยานพาหนะ ยุทโธปกรณ์ การติดต่อสื่อสาร อาวุธประจำกาย และอาวุธประจำหน่วย
โดยมี ผู้บัญชาการกองพลทหารปืนใหญ่ เป็นประธานการตรวจสภาพความพร้อมรบ ทั้งนี้การตรวจความพร้อมรบในครั้งนี้ สามารถปฏิบัติได้ทันทีในทุกภารกิจ ที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพบก เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ และดูแลประชาชน
ภาพจาก : ThaiPBSNews
“ประจันตคีรีเขตร” เมืองคู่แฝดของ “ประจวบคีรีขันธ์” เหลืออยู่แต่เพียงชื่อไว้ในประวัติศาสตร์เท่านั้น
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเมืองใหม่ให้ ๒ เมืองที่อยู่ในเส้นรุ้งเดียวกัน แต่อยู่คนละฝั่งอ่าวไทยให้เป็นเมืองคู่กัน คือ “เมืองนางรมย์” ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกกับ “เกาะกง” ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออก ให้มีชื่อคล้องจองกัน โดยมีประกาศ เมื่อวันอังคารที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๙๘
เมื่อฝรั่งเศสยึดญวนและเขมรได้แล้ว ก็พยายามรุกเข้าลาวซึ่งอยู่ในความปกครองของไทย และพยายามบีบไทยทุกวิถีทาง โดยถือว่ามีอาวุธที่เหนือกว่า เมื่อเกิดกบฏฮ่อขึ้นในแคว้นสิบสองจุไทย และไทยกำลังจะยกกำลังไปปราบ ฝรั่งเศสก็ชิงส่งทหารเข้าไปปราบเสียก่อน อ้างว่าเพื่อช่วยไทย แต่เมื่อปราบฮ่อได้แล้วฝรั่งเศสก็ไม่ยอมถอนทหารออก ถือโอกาสยึดครอง เพราะมีเป้าหมายจะยึดดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด
เมืองคู่เเฝดประจวบคีรีขันธ์ ที่มา : โบราณนานมา
ในที่สุดวันประวัติศาสตร์ที่คนไทยจะต้องจดจำก็คือ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ซึ่งเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ฝรั่งเศสส่งเรือรบ ๒ ลำฝ่าแนวยิงของป้อมพระจุลฯ เข้ามาจอดหน้ากงสุลฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ และยังเรียกเรือรบจากฐานทัพไซ่ง่อนอีก ๑๐ ลำมาร่วมปิดอ่าวไทย ต่อมาได้ส่งทหารขึ้นยึดเกาะสีชังเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม จนการค้าขายต้องหยุดชะงักหมด ยื่นเงื่อนไขให้ไทยถอนทหารออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดภายใน ๑ เดือน ให้วางเงินทันที ๓ ล้านฟรังก์ ยื่นข้อเรียกร้องให้ไทยตอบภายใน ๔๘ ชั่วโมง
รัฐบาลสยามรู้ดีว่าข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ พยายามต่อรองบ่ายเบี่ยงแต่ก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดก็ต้องยอมลงนามในสัญญาข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสในวันที่ ๓ ตุลาคม
ในระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายออกสำรวจปักปันเขตแดนนั้น ฝรั่งเศสขอยึดเมืองจันทบุรีไว้ก่อน เพื่อให้ไทยปฏิบัติตามสัญญา ทั้งนี้เพราะฝรั่งเศสเห็นว่าจันทบุรีเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่งไทยก็ต้องยอมอีก
ฝรั่งเศสยึดจันทบุรีตั้งแต่ปี ๒๔๓๖ แต่เมื่อปักปันเขตแดนเสร็จสิ้น ฝรั่งเศสกลับหน่วงเหนี่ยวประวิงเวลา และบีบคั้นให้ไทยเซ็นสัญญาอีกฉบับ ยอมยกดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ซึ่งได้แก่เมืองหลวงพระบางฝั่งขวาและเมืองจำปาศักดิ์ โดยฝรั่งเศสจะยอมผ่อนคลายสิทธิ์สภาพนอกอาณาเขตให้ การผ่อนคลายนี้หมายถึงยกให้แก่คนเอเชียในบังคับของฝรั่งเศส แต่ยังไม่ยอมยกเลิกแก่คนฝรั่งเศส
ไทยก็ต้องยอมอยู่ดี เซ็นสัญญาตามที่ฝรั่งเศสเรียกร้องนี้เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๖ เพื่อแลกกับจันทบุรีกลับคืน
แต่แล้วชั้นเชิงแบบหมาป่าก็ยังไม่สิ้น เพื่อเป็นหลักประกันให้ไทยปฏิบัติตามสัญญานี้ ฝรั่งเศสขอยึดจังหวัดตราดและเกาะทั้งหลายตั้งแต่แหลมสิงห์ในอำเภอแหลมงอบ รวมทั้งเกาะกงซึ่งขณะนั้นเป็นจังหวัดประจันตคีรีเขตของไทย ให้อยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส และต้องรอให้ทั้งสองฝ่ายทำการสำรวจเส้นพรมแดนตามสัญญานี้ให้ฝรั่งเศสเสร็จเสียก่อน ฝรั่งเศสจึงจะยอมถอนทหารออกจากจันทบุรี
ไทยเราก็ต้องยอมเช่นเคย การสำรวจเสร็จสิ้นลงในวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ฝรั่งเศสจึงยอมถอนทหารออกจากจันทบุรีในวันที่ ๑๒ มกราคมต่อมา
เมืองคู่เเฝดประจวบคีรีขันธ์ ที่มา : โบราณนานมา
ความกระเหี้ยนกระหือรืออยากได้ดินแดนไทยของฝรั่งเศสยังไม่จบ มีจิตรกรฝรั่งเศสคนหนึ่ง ชื่อ อองรี อูโมต์ ได้เขียนรูปนครวัดนครธมไปเผยแพร่ ฝรั่งเศสเห็นเป็นสิ่งมหัศจรรย์เลยอยากได้ไว้เป็นสมบัติของตัว รวมทั้งอยากได้ทะเลสาบเสียมราฐอันกว้างใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ จึงเสนอแลกตราดกับเสียมราฐ พระตะบองและศรีโสภณซึ่งเป็นมณฑลบูรพาของไทย ไทยอยากได้ตราดซึ่งมีคนไทยอยู่คืนมาจึงยอมอีก
ในสัญญาฉบับใหม่ที่ ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ไทยต้องยกมณฑลบูรพา อันประกอบด้วย พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับ อำเภอด่านซ้ายของจังหวัดเลย รวมทั้งจังหวัดตราด ตั้งแต่แหลมสิงไปจนถึงเกาะกูด แต่ไม่ยอมคืนจังหวัดประจันตคีรีเขตด้วย
เป็นอันว่า จังหวัดประจันตคีรีเขตร หรือ เกาะกง จึงต้องหลุดไปอยู่กับฝรั่งเศสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนเป็นส่วนหนึ่งของเขมรในขณะนี้ ตอนนั้นมีคนไทยที่ไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศส ได้สละบ้านช่องย้ายมาอยู่เกาะกูดและจันทบุรีเป็นจำนวนมาก คนเขมรจากเมืองต่าง ๆ จึงย้ายเข้ามาแทนที่ ปัจจุบันในเกาะกง ปรากฏว่ามีชาวไทย เพียงร้อยละ ๒๕ เท่านั้น
เมืองคู่เเฝดประจวบคีรีขันธ์ ที่มา : โบราณนานมา
ชาวไทยในเกาะกง จะมีสำเนียงแบบเดียวกับที่จังหวัดตราด แต่เดิมเกาะกงในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้มีการออกกฎห้ามชาวเกาะกงพูดภาษาไทย โดยจะปรับเป็นคำละ ๒๕ เรียล ห้ามมีเงินไทย และห้ามมีหนังสือไทยอยู่ในบ้าน หากเจ้าหน้าที่พบจะถูกทำลายให้สิ้นซาก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ค่าปรับการพูดภาษาไทยเพิ่มขึ้นเป็น ๕๐ เรียล แม้ชาวไทยเกาะกงจะถูกจำกัดสิทธิ์ทางภาษา วัฒนธรรม และประเพณีแต่ก็มีคนเฒ่าคนแก่ที่ยังรักษาประเพณี และเอกลักษณ์ การใช้ภาษาไทย
“ประจันตคีรีเขตร” เมืองคู่แฝดของ “ประจวบคีรีขันธ์” เหลืออยู่แต่เพียงชื่อไว้ในประวัติศาสตร์เท่านั้น
สำหรับคนที่อยากอ่าน วิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒
เรียบเรียงโดย อาจารย์ต้นสัก สนิทนาม
#กองทัพบก #ไทยกัมพูชา #ช่องบก #ชายแดนตะวันออก #ชายแดนไทยกัมพูชา #สถานการณ์ชายแดน
โฆษณา