4 ก.ค. เวลา 13:30 • สุขภาพ

"แก่แล้วป่วย" อาจจะไม่จริง นักวิจัยพบคำตอบในชนเผ่าที่อายุยืน

คำพูดติดปากที่เรามักคุ้นเคยกันดีว่า “พอแก่ตัวไป โรคภัยก็ถามหา” ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน หรือแม้กระทั่งสมองเสื่อม ซึ่งความเชื่อนี้ก็มีส่วนจริงอยู่ไม่น้อยครับ ในทางการแพทย์ เราพบว่าหนึ่งในผู้ร้ายตัวฉกาจที่อยู่เบื้องหลังโรคชราเหล่านี้คือ “การอักเสบเรื้อรัง” (Chronic Inflammation) ที่ค่อยๆ กัดกินร่างกายเราไปทีละน้อยๆๆ
แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผมบอกว่า ความเชื่อที่ว่า “แก่ = อักเสบ = ป่วย” อาจไม่ใช่สัจธรรมที่เป็นจริงสำหรับมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ วันนี้ผมจึงอยากพาทุกท่านไปสำรวจงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Aging บางทีอาจจะเปลี่ยนมุมมองเรื่องความชราของเราไปตลอดกาลเลยก็ว่าได้
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจคำว่า “การอักเสบ” กันสักนิดนะครับ ผมอยากให้ลองนึกภาพว่าร่างกายเราเป็นเหมือนเมือง และระบบภูมิคุ้มกันคือหน่วยดับเพลิง เมื่อมีเชื้อโรคหรือผู้บุกรุก (เช่น แบคทีเรีย) เข้ามา หรือเกิดอุบัติเหตุ (เช่น มีดบาด) หน่วยดับเพลิงก็จะรีบเข้าไปยังที่เกิดเหตุทันที นี่คือ การอักเสบแบบเฉียบพลัน (Acute Inflammation) ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นมากครับ เพราะมันช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมและซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย เมื่อภารกิจเสร็จสิ้น หน่วยดับเพลิงก็จะสลายตัวกลับเข้ากรมกอง พอเห็นภาพนะครับ
แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อหน่วยดับเพลิงกลุ่มนี้ไม่ยอมกลับบ้าน (เอ๊ะ!) แต่ยังคงปักหลักทำงานอยู่ตลอดเวลาแม้ไม่มีเหตุไฟไหม้แล้วก็ตาม การทำงานอย่างต่อเนื่องนี้เองที่สร้างความเสียหายให้กับเมืองในระยะยาว นี่คือภาพของ การอักเสบเรื้อรัง (Chronic Inflammation) มันเป็นการอักเสบระดับต่ำๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วร่างกาย และนี่แหละครับคือตัวการที่วงการแพทย์เชื่อว่าเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของโรคแห่งความเสื่อมตามวัย หรือที่เราเรียกว่า “Inflammageing” (Inflammation + Ageing)
ทีมนักวิจัยนานาชาติได้ทำการศึกษาครั้งใหญ่ โดยเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้คนเกือบ 3,000 คน ใน 4 ประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มที่ใช้ชีวิตแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
กลุ่มสังคมเมืองอุตสาหกรรม คือ ผู้เข้าร่วมจากประเทศอิตาลีและสิงคโปร์ และกลุ่มชนพื้นเมือง คือชนเผ่า Tsimane ในป่าแอมะซอนของประเทศโบลิเวีย และชนเผ่า Orang Asli ในประเทศมาเลเซีย
นักวิจัยได้วัดระดับโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ 8 ชนิด (ที่เรียกว่า ไซโตไคน์) ในเลือดของทุกคน ผลลัพธ์ที่ได้นั้นพบว่า
✍️ ในกลุ่มสังคมเมือง (อิตาลีและสิงคโปร์) ผลเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ครับ คือยิ่งอายุมากขึ้น ระดับการอักเสบในร่างกายก็ยิ่งสูงขึ้น และระดับการอักเสบที่สูงนี้ยังมีความสัมพันธ์กับโรคเรื้อรังอย่างโรคไตเสื่อมอีกด้วย ซึ่งยืนยันความเชื่อเรื่อง “Inflammageing” ที่เราเข้าใจกันมาตลอด
✍️ ในกลุ่มชนพื้นเมือง (Tsimane และ Orang Asli) ผลลัพธ์กลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าคนในกลุ่มนี้จะมีระดับโปรตีนอักเสบในเลือดสูง (อาจเป็นเพราะต้องเผชิญกับเชื้อโรคและพยาธิต่างๆ ในสภาพแวดล้อมอยู่เสมอ) แต่ระดับการอักเสบของพวกเขา ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามอายุ และที่สำคัญที่สุดคือ มันไม่ได้นำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรัง เหมือนที่พบในสังคมเมืองเลย
ดร. โทมัส แมคเดด (Thomas McDade) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า “นี่แสดงให้เห็นว่าสมมติฐานที่ว่าการอักเสบเป็นส่วนหนึ่งของความชราที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น... ไม่เป็นความจริง”
ทำไมจึงต่างกัน? คำตอบซ่อนอยู่ใน “วิถีชีวิต”
คำถามสำคัญคือ อะไรทำให้เกิดความแตกต่างราวฟ้ากับเหวนี้ นักวิจัยเชื่อว่าคำตอบอยู่ที่ การควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน ครับ
ในกลุ่มชนพื้นเมือง ระบบภูมิคุ้มกันของพวกเขาเปรียบเสมือนทหารที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี มันจะตื่นตัวและตอบสนองอย่างรวดเร็วเมื่อจำเป็น (เพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อจริง) แต่เมื่อภารกิจจบลง มันก็จะสงบลงทันที หรือที่เรียกว่า "ควบคุมอย่างเข้มงวด"
ในทางกลับกัน วิถีชีวิตในสังคมเมืองของเราอาจกำลังทำร้ายระบบภูมิคุ้มกันโดยไม่รู้ตัว ปัจจัยต่างๆ เช่น อาหารแปรรูปที่มีน้ำตาลสูง การขาดการออกกำลังกาย ความเครียดเรื้อรัง และมลภาวะ ล้วนกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการอักเสบระดับต่ำๆ อยู่ตลอดเวลา มันไม่ใช่การอักเสบเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค แต่เป็นการอักเสบที่ไร้เป้าหมายและสร้างความเสียหายไปเรื่อยๆ แย่เลย
กลับมามองที่บ้านเราผมว่า ก็คงไม่ต่างกันครับ เราเห็นได้ชัดว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ วิถีชีวิตคนเมืองที่เร่งรีบ ทานอาหารนอกบ้านบ่อยๆ ที่อาจมีไขมันและน้ำตาลสูง นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน และเผชิญกับความเครียด สิ่งเหล่านี้คือเชื้อเพลิงชั้นดีๆที่คอยเติมให้ไฟแห่งการอักเสบเรื้อรังในร่างกายของเราลุกโชนอยู่ตลอดเวลา
แน่นอนครับว่าเราคงไม่สามารถย้ายกลับไปใช้ชีวิตในป่าได้ แต่เราสามารถเรียนรู้หลักการสำคัญจากงานวิจัยชิ้นนี้และนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้ เพื่อควบคุมการอักเสบที่ไม่จำเป็นและส่งเสริมการมีอายุยืนอย่างมีคุณภาพ
ในฐานะเภสัชกร ผมขอเสนอแนวทางที่ทุกคนทำได้ดังนี้ครับ
✍️ ปรับเปลี่ยนการกิน (เน้นย้ำ) ลดอาหารที่กระตุ้นการอักเสบ เช่น น้ำตาล ไขมันทรานส์ อาหารแปรรูป และหันมาทาน อาหารต้านการอักเสบ ให้มากขึ้น เช่น ปลาที่มีไขมันดี (โอเมก้า 3) ผักใบเขียว ผลไม้ตระกูลเบอร์รี ถั่วต่างๆ และเครื่องเทศอย่างขมิ้นชันหรือขิง ซึ่งเป็นสมุนไพรที่เราคุ้นเคยกันดี
✍️ ขยับร่างกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายระดับปานกลางช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้มกันและลดการอักเสบได้เป็นอย่างดี ไม่จำเป็นต้องหักโหม แค่เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ หรือปั่นจักรยานให้ได้สัปดาห์ละ 150 นาที ก็สร้างความแตกต่างได้มหาศาลแล้วครับ
✍️ จัดการความเครียด ความเครียดเรื้อรังเป็นตัวกระตุ้นการอักเสบชั้นยอด การหาวิธีผ่อนคลายที่เหมาะกับตัวเอง เช่น การนั่งสมาธิ โยคะ การทำงานอดิเรก หรือแม้แต่การได้ใช้เวลากับธรรมชาติ จะช่วยให้ "หน่วยดับเพลิง" ในร่างกายของเราได้พักผ่อน
🥱 นอนหลับให้เพียงพอ การนอนคือช่วงเวลาที่ร่างกายซ่อมแซมตัวเองและปรับสมดุลระบบต่างๆ รวมถึงระบบภูมิคุ้มกัน การอดนอนจะทำให้กระบวนการนี้รวนและส่งเสริมการอักเสบได้
งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้บอกให้เรากลัวการอักเสบ แต่สอนให้เรารู้ว่า การอักเสบเรื้อรังที่นำไปสู่โรคร้ายต่างๆ ไม่ใช่ชะตากรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของความชรา แต่มันเป็นผลลัพธ์จากวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมของเราเป็นส่วนใหญ่
บางที คำถามที่เราควรถามอาจไม่ใช่ “ทำอย่างไรให้ไม่แก่” แต่ควรจะเป็น “เราจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างไร เพื่อให้ร่างกายของเราแก่ไปตามธรรมชาติอย่างแข็งแรงและปราศจากโรคภัย เหมือนที่ร่างกายของเราถูกออกแบบมา” ใช่ไหมครับ
แหล่งอ้างอิง:
1. Naddaf, M. (2025). Ageing is linked to inflammation — but only in the industrialized world. Nature News. https://www.nature.com/articles/d41586-025-02085-w
2. Franck, M. et al. (2025). Divergent inflammageing trajectories in industrialized and Indigenous populations. Nature Aging. https://doi.org/10.1038/s43587-025-00888-0
โฆษณา