เมื่อวาน เวลา 02:30 • หนังสือ

Macbeth จากบทละครสู่ตำนานคำสาปแม่มด

Macbeth หนึ่งในบทละครโศกนาฏกรรมที่มีชื่อเสียงที่สุดของวิลเลียม เชกสเปียร์ ไม่เพียงเล่าเรื่องความทะเยอทะยาน ความโลภ และโศกนาฏกรรมของมนุษย์ แต่ยังถูกปกคลุมด้วยเงาของ "คำสาป" ที่ตามหลอกหลอนวงการละครมานานหลายศตวรรษ นักแสดง ผู้กำกับ และชาวโรงละครจำนวนมากถึงกับไม่กล้าเอ่ยชื่อ Macbeth ในโรงละคร หากไม่เรียกว่า “The Scottish Play”
คือเรื่องมันเป็นอย่างงี้ครับ ตั้งแต่การแสดงครั้งแรกในปี 1606 Macbeth ก็เผชิญกับเหตุร้ายมากมาย ตั้งแต่การเสียชีวิตของนักแสดงหลัก อุบัติเหตุบนเวที ไปจนถึงอัคคีภัยในโรงละคร เชื่อกันว่าคำสาปเริ่มต้นจากเนื้อหาของบทละครเอง โดยเฉพาะฉากแม่มดสามตนที่ร่ายคาถา เชื่อกันว่าเชคสเปียร์นำบทสวดและคาถาที่แท้จริงของแม่มดในยุคนั้นมาใส่ไว้ในบท หากเป็นจริง การนำของต้องห้ามเหล่านี้มาใช้ ก็เปรียบเสมือนการเชื้อเชิญเคราะห์ร้ายเข้าสู่ตัวละครและนักแสดง
มีบันทึกว่าการแสดงครั้งแรก ดันแคน (Duncan) ตัวละครผู้เป็นกษัตริย์ เสียชีวิตจริงบนเวทีเพราะอุบัติเหตุเกี่ยวกับดาบ นักแสดงที่รับบท แมคเมธ (Macbeth) ก็ต้องถูกแทนที่กะทันหัน นั่นคือจุดเริ่มของเรื่องราวอาถรรพ์ที่ไม่จบไม่สิ้น
ตลอดประวัติศาสตร์ มีเหตุการณ์ประหลาดหลายครั้งที่เชื่อมโยงกับ Macbeth เช่น
  • ปี 1937 ลอว์เรนซ์ โอลิเวียร์ แสดง Macbeth ที่โรงละคร Old Vic ไฟเวทีตกใส่คนงานเสียชีวิต
  • ปี 1942 ในสหรัฐฯ การแสดง Macbeth ที่กำกับโดย ออร์สัน เวลส์ เกิดการจลาจลในระหว่างการแสดง
  • ปี 1953 ลังส์ตัน ฮิวจ์ส เขียนบท Macbeth สำหรับการแสดงในแอฟริกาใต้ เกิดการประท้วงต่อต้านระบบแบ่งแยกสีผิว จนการแสดงต้องยกเลิก
แม้หลายเหตุการณ์อาจอธิบายได้ด้วยสภาพแวดล้อม ความขัดแย้งทางสังคม หรือความผิดพลาดทางเทคนิค แต่ความบังเอิญที่ซ้ำซ้อนทำให้ “คำสาป” ดูเหมือนจะมีอยู่จริง
แต่หากมองผ่านเลนส์จิตวิทยา อาถรรพ์ Macbeth อาจไม่ใช่คำสาปจริง หากแต่เป็น "อุปทานหมู่" (Mass Psychogenic Illness) ที่เกิดจากความเชื่อร่วมกันในกลุ่มคน การที่ชาวโรงละครมีความเชื่ออย่างรุนแรงเกี่ยวกับโชคลาง ทำให้ความวิตกกังวล ความประหม่าบนเวที และความกลัว ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุหรือความผิดพลาดได้ง่ายขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น Macbeth เป็นบทละครที่เต็มไปด้วยฉากต่อสู้ ความรุนแรง และอารมณ์ที่รุนแรง ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุสูงกว่าบทละครทั่วไป เมื่อเหตุร้ายเกิดขึ้นในกรอบความเชื่อเรื่องคำสาป ผู้คนยิ่งเชื่อว่าคำสาปนั้นมีอยู่จริง
สิ่งที่น่าสนใจคือ อาถรรพ์ Macbeth กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมโรงละครไปโดยปริยาย กฎที่ห้ามเอ่ยชื่อ Macbeth ในโรงละคร เว้นแต่จะอยู่ในบท ลามไปสู่พิธีกรรมแก้เคล็ด เช่น การออกไปหมุนตัวสามรอบนอกโรงละคร ท่องคำหยาบ แล้วเคาะประตูขอเข้าใหม่ เรื่องเล่านี้จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะ ความเชื่อ และจิตวิทยา
ในท้ายที่สุด คำสาป Macbeth ก็คงไร้คำตอบจนถึงทุกวันนี้ แต่มันคือกระจกที่สะท้อนธรรมชาติของมนุษย์ได้ดีมาก ความกลัวในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ความกลัวต่อความล้มเหลว การสูญเสีย และความตาย ถูกถ่ายทอดผ่านรูปแบบของคำสาปในโลกของศิลปะ
ภาพ : Macbeth consulting the witches , Robert Thew
อ้างอิง
Royal Shakespeare Company
The Scottish Play: Superstition Surrounding Macbeth

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา