9 ต.ค. 2019 เวลา 14:57 • ความคิดเห็น
Worst-case scenario ไหนที่คุณรับได้มากกว่า..
การตัดสินใจในภาวะอารมณ์ท่วมท้น
ท่านใดเคยมีประสบการณ์ตัดสินใจลำบากที่สุดในชีวิตไหมคะ..คงรู้สึกได้ว่าขณะนั้น สิ่งที่เรากลัวคือ "กลัวตัดสินใจแบบนี้แล้ว ปรากฎว่าทางที่เราไม่เลือกดีกว่า..น่าเสียดาย"
ความละล้าละลัง ทำให้แต่ใจเราว้าวุ่นเฝ้าคิดกลับไปกลับมา..ยิ่งหากเป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับความเป็นความตายของคนที่เรารักในช่วงวิกฤตแล้วยิ่งหนักหนา..
อาม่า ของลูกๆ 6 คน นอนคล้ายคนนอนหลับลึก ต่างตรงที่มีท่อช่วยหายใจ ทรวงอกขึ้นลงตามการตีของเครื่องหายใจ เป็นจังหวะ เนิบช้า..
แต่ใจของลูกๆ 6 คนกำลังเต้นรัว ด้วยความบีบคั้น เมื่อแพทย์เอ่ยถามความเห็น "อาม่ามีสมองขาดเลือดเป็นบริเวณใหญ่มาก ทำให้ไม่สามารถหายใจได้ด้วยตนเอง ตอนนี้ใส่ท่อช่วยหายใจทางปากมาสามสัปดาห์แล้ว เราคง 'ต้อง' ตัดสินใจแล้วว่าจะ เจาะคอหรือไม่"...
1
การทำ tracheostomy หรือ "เจาะคอ" หลังใส่ Endotracheal tube หรือ "ท่อหายใจทางปาก" เป็นแนวปฎิบัติเพื่อให้ดูแลเสมหะง่ายขึ้น ลดโอกาสติดเชื้อทางเดินหายใจ ปกติจะเริ่มแนะนำให้ทำหลังไม่สามารถเอาท่อออกได้เกินสองสัปดาห์
ลูกๆ 6 คนแบ่งเป็นสองฝ่ายๆ ละ 3 คน
ฝ่ายแรก ยืนยันอย่างไรก็ไม่เจาะคอ " ปล่อยไว้แบบเดิมดีกว่า อาม่าจะได้ไม่ต้องเจ็บ"
ฝ่ายสอง ยืนยันว่าควรเจาะคอ
"ปล่อยไว้อย่างนี้ก็ติดเชื้อ ทำไปน่าจะช่วยให้อาม่าอยู่นานขึ้น"
การถกเถียงที่ดำเนินมาสัปดาห์กว่ายังไม่มีทีท่าว่าจะจบ...
ข้าพเจ้าจึงถาม "ขอลองนึกภาพความเป็นไปได้ที่แย่ที่สุดว่าอันใดต่อไปนี้ที่ 'รู้สึก' ว่า รับได้มากที่สุด"
1. เจาะคอแล้ว หลังทำมีเลือดออกมาก จนเสียชีวิต...ลูกทุกคนส่ายหน้า
2. ใส่ท่อช่วยหายใจต่อไป มีติดเชื้อปอดเข้ากระแสเลือดเสียชีวิตในโรงพยาบาล..ลูก 4 ใน 6 คนส่ายหน้า
3. ไม่มีทั้งเจาะคอ และท่อหายใจ คือเอาออกจากเครื่องช่วยหายใจ อาม่าอยู่เท่าที่เขาหายใจไหว ซึ่งอาจไม่กี่ชั่วโมงหลังเอาเครื่องออก..ลูกๆ นิ่งครุ่นคิด
ลูกคนหนึ่งถาม "แบบนี้ไม่เท่ากับเราฆ่าท่านหรือ"
...
ข้าพเจ้าตอบ "ยาทุกตัว หัตถการทุกอย่าง ล้วนมีสองคม เราให้ด้วยเจตนาดีเพื่อให้หายจากโรคหรือเพื่อคลายความเจ็บปวด แต่หากมีผลอันไม่ปรารถนาเกิดขึ้นก็ต้องยอมรับ"
"กรณีของอาม่า การถอดเครื่องช่วยหายใจ ไม่มีเจตนาและไม่ได้การันตีว่าท่านจะเสียชีวิตในไม่กี่ชั่วโมง จากประสบการณ์บางรายถอดแล้วอยู่ต่อเป็นปีก็มี เพียงแต่ที่พูดเช่นนั้น เพื่อให้พวกเราเลือกได้ เตรียมใจยอมรับได้ และไม่ว้าวุ่นใจกับสิ่งที่เลือกแล้วค่ะ"
อาม่า ยังคงนอนหลับลึก แต่คราวนี้ไม่มีท่อหายใจ ริมฝีปากได้รับการทาลิปมันสีชมพูอ่อนหวาน ลูก 6 คนผลัดกันหอมแก้มอาม่าเป็นครั้งสุดท้าย ทรวงอกขึ้นลงเนิบช้าและค่อยๆ ผ่อนลง..จนลมหายใจสุดท้าย
..การตัดสินใจในบางกรณี เราไม่สามารถบอกได้ว่า ผิด หรือ ถูก ด้วยเหตุผล เพราะเป็นธรรมชาติที่สมองส่วนอารมณ์จะมีอิทธิพลสูงในภาวะวิกฤติ (Kahneman’s System 1)
..แต่จะตัดสินใจอย่างไร ไม่ทำให้นึกเสียใจทีหลังการคิดถึง 'worst case scenario' หากเรายอมรับความเสี่ยงนั้นได้ ก็จงก้าวต่อไปอย่างมั่นคง
“Fear is a reaction. Courage is a decision”
..Windston Churchill
Note: ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายรองรับการทำ living will เพื่อแสดงความต้องการของท่านเอง ซึ่งจะมีผลเมื่อ
1.ท่านไม่มีสติรู้ตัว .."และ"
2.ท่านอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต (ตามวิจารณญานแพทย์)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา