10 ต.ค. 2019 เวลา 14:33 • การศึกษา
“ลูกจ้างเกษียณอายุ นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ ?”
เผลอแป๊ปเดียวก็จะสิ้นปีแล้ว สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่กำลังจะเกษียณจากการทำงานในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 นั้น แต่ละคนก็คงมีความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป
pixabay
สำหรับคนที่เตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตหลังเกษียณไว้แล้ว ก็คงไม่มีอะไรให้ต้องวิตกกังวล
แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เตรียมพร้อมก็อาจจะต้องเหนื่อยหน่อย โดยเฉพาะเรื่องเงิน เพราะเมื่อเกษียณแล้วเท่ากับว่ารายได้หลักจะหายไปทันที
จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ลูกจ้างจะต้องรู้ถึงสิทธิของตนตามกฎหมายว่ามีสิทธิอะไรบ้างที่
จะได้รับยามที่เกษียณจากการทำงาน
ไม่ว่าจะตามกฎหมายแรงงาน / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / ประกันสังคม / ฯลฯ
ซึ่งในบทความนี้จะเน้นไปที่เงิน ที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกฎหมายแรงงาน
โดยการเกษียณอายุการทำงานนั้น นายจ้างมักจะกำหนดไว้ในข้อบังคับหรือระเบียบการทำงานของบริษัท ว่าลูกจ้างจะต้องเกษียณเมื่ออายุเท่าไหร่
ซึ่งบางบริษัทกำหนดไว้ที่ 55 ปี บางบริษัทก็ 60 ปี แล้วแต่นายจ้างแต่ละรายจะกำหนดไว้
เมื่อลูกจ้างได้ทำงานให้แก่นายจ้างจนมีอายุถึงเกณฑ์ที่ต้องเกษียณแล้ว หากลูกจ้างไม่ได้รับการต่อสัญญา เท่ากับว่าลูกจ้างจะต้องเกษียณอายุในสิ้นปีนั้น โดยนายจ้างจะแจ้งการบอกเลิกสัญญาจ้างไปยังลูกจ้าง
ดังนั้น การเกษียณอายุจึงถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิด ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งค่าชดเชยที่ลูกจ้างจะได้รับนั้นก็ขึ้นอยู่กับอายุการทำงานของลูกจ้าง โดยลูกจ้างจะมีสิทธิรับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตั้งแต่ 30 วันไปจนถึง 400 วัน
แต่บริษัทส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักจะไม่กำหนดอายุการเกษียณไว้ จึงทำให้บางครั้งลูกจ้างซึ่งมีอายุมากและไม่สามารถทำงานต่อไปได้ต้องยินยอมลาออกจากบริษัทไปเอง ทำให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง
หรือจะเรียกว่าเป็นวิธีหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยก็ได้...
ซึ่งดูแล้วไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง
ปัจจุบัน จึงได้มีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้
โดยกรณีที่ไม่ได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุเอาไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่า 60 ปี
ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไปมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้ โดยให้แสดงเจตนาแก่นายจ้างและให้มีผลเมื่อครบ 30 วันนับแต่วันที่แสดงเจตนา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุ
เมื่อมีกฎหมายออกมาอย่างนี้แล้ว จึงทำให้นายจ้างไม่สามารถหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเกษียณได้อีกต่อไป
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา