30 พ.ย. 2019 เวลา 12:00 • สุขภาพ
ค่าแคลเซียมเกาะเส้นเลือดหัวใจ..วิธีประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดแนวใหม่
เล่าประสบการณ์ เมื่อคุณแม่ข้าพเจ้า ซึ่งเป็นโรคความดันโลหิตสูง ตรวจคลื่นหัวใจปกติ แต่มีไขมันในเลือดสูง LDL 160 แล้วไม่แน่ใจว่าควรยาลดไขมันในเลือดหรือไม่..คุณหมอโรคหัวใจจึงให้ประเมินด้วยค่าแคลเซียมเกาะเส้นเลือด ซึ่งออกมาค่า 900+..ความเสี่ยงสูงทีเดียว😅 จึงตัดสินใจได้ว่าน่าจะต้องลดไขมันในเลือดจริงจังค่ะ
ภาพและค่าแสดงปริมาณแคลเซียมที่เกาะหลอดเลือดหัวใจจากการทำ CT scan
🍀แคลเซียมเกาะเส้นเลือดมีความสำคัญอย่างไร
ในอดีต เรามองแคลเซียมเกาะเส้นเลือดแดงในคนอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นเรื่องธรรมดา เป็นตามอายุหลีกเลี่ยงไม่ได้..เวลาข้าพเจ้าดู CT สมองคนอายุ 60 ขึ้นไป ก็มักจะเจอจุดขาวๆ เกาะผนังเส้นเลือดในสมอง
ต่อมาจึงเข้าใจมากขึ้นว่า แคลเซียมที่เกาะนี้แสดงถึงภาวะเส้นเลือดแข็ง (atherosclerosis) ซึ่งเกิดจากผนังเส้นเลือดมีการอักเสบประกอบกับมีไขมันคลอเลสเตอรอลมาพอก
ภาพการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดแดงเมื่อมีการสะสมตะกรัน (plaque) มากขึ้น
🍀 การทำ CT coronary calcium score
ภาพจาก CT คือภาพตัดขวางหัวใจและเส้นเลือดโคโรนารี สีขาวในเส้นเลือดคือแคลเซียม
การตรวจนี้สามารถทำได้ในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ โดยเป็นการ CT หัวใจแบบไม่ต้องฉีดสี (จึงไม่ต้องงดอาหารก่อนทำ) ค่าใช้จ่ายในการทำใกล้เคียงกับ CT สมองคือประมาณ 5 พันบาท
ใช้เวลาเข้าไปนอนในอุโมงค์เครื่อง CT ประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นจะทำการอ่านประเมินโดยรังสีแพทย์ใช้เวลา 1-7 วันแล้วแต่ที่ค่ะ
การตรวจนี้เหมาะสมกับหญิงสูงวัยที่ไม่มีอาการเจ็บอกชัดเจน มากกว่าการเดินสายพาน (exercise stress test) เพราะอาจไม่พบการเปลี่ยนคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบขาดเลือด หากการอุดตันมีน้อย หรือ ผู้วิ่งหมดแรงวิ่งเร็ว
อย่างไรก็ตาม แนวทางเวชปฎิบัติ ยัง 'ไม่แนะนำ' ให้ผลการตรวจนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาฉีดสีเส้นเลือด ทำ balloon ขยายหลอดเลือดในคนไม่มีอาการเจ็บอก (1)
🍀แนวทางการตัดสินใจว่าควรใช้ยาลดไขมันเพื่อ primary prevention.หมายถึงในผู้ที่ไม่เคยมีอาการของโรคหลอดเลือด เช่นเจ็บอก, stroke มาก่อน
ขั้นที่ 1 ประเมิน ความเสี่ยงจากอายุ เพศ โรคประจำตัว ร่วมกับ รอบเอวหรือค่าไขมันในเลือด
เพื่อหา % โรคหลอดเลือด (%ASCVD risk) ในคนไทยสามารถหาค่านี้ได้จากเวบไซต์
จากนั้นแบ่งค่าความเสี่ยงเป็นสามกลุ่มคร่าวๆคือ
💚น้อยกว่า 5% : ความเสี่ยงต่ำมากอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทานยาลดไขมัน เว้นแต่ LDL สูงมากๆ (>190) ไม่จำเป็นต้องตรวจอะไรเพิ่มเติม
🧡 5-20% : ความเสี่ยงปานกลาง การพิจารณาว่าคุ้มค่าต่อการทานยาลดไขมันหรือไม่ เป็นการพูดคุยข้อดีข้อเสียแล้วให้ผู้ป่วยเลือด อาจพิจารณาตรวจ CT coronary calcium มาเป็นตัวช่วยตัดสิน
1
❤มากกว่า 20% : ความเสี่ยงสูง แนะนำให้คุมไขมันอย่างเคร่งครัด การทานยาไขมันจึงมักเป็นคำแนะนำไปโดยปริยาย ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจเพิ่ม
1
ตารางแสดงการประเมินความเสี่ยงเพื่อพิจารณาการใช้ยาลดไขมัน statin (1)
ผลการประเมิน ASCVD risk ของแม่ข้าพเจ้าคือ 13.9% ตกในกลุ่มปานกลาง และท่าน "กลัวการกินยา" จึงมีประโยชน์ที่จะทำ CT coronary calcium ประกอบการตัดสินใจ
ปรากฎผลออกมา เห็นสีขาวของแคลเซียมเกาะยาวเป็นทางข้างเผือกในเส้นเลือดเลยทีเดียวค่ะ😅..คะแนน 900 เมื่อนำไปเทียบกับข้อมูลประชากร ก็พบว่าค่านี้เท่ากับเส้นเลือดคนอายุ 84 (เส้นเลือดแก่เกินอายุจริงไป 15 ปี😅)..จึงน่าจะต้องพิจารณายาลดไขมันในเลือดจริงจังละคะ
ภาพบน: สีขาวคือแคลเซียมที่เกาะเส้นเลือดหัวใจห้องซ้าย (left coronary) และคะแนนแคลเซียมสูงเด่น อยู่ใน 95 เปอร์เซนไทล์ของคนอายุ 84 ปี
⭐ โดยสรุป การตรวจแคลเซียมเกาะเส้นเลือดจาก CT หัวใจ(CT coronary calciam score) เป็นอีกวิธีประเมินภาวะเส้นเลือดแข็ง (atherosclerosis) ..ข้อดีคือความเสี่ยงจากการทำต่ำ ราคาไม่สูงต่างจาก CT ทั่วไป เห็นเป็นภาพสร้างความตระหนักได้ดี..ช่วยตัดสินใจการใช้ยาในผู้ไม่มีอาการเจ็บอกที่มีความเสี่ยงปานกลางค่ะ
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา