9 ก.ย. 2020 เวลา 14:49 • ความคิดเห็น
แผนเกษียณควรทำควบคู่ไปกับแผนทุนการศึกษา
เตรียมเงินให้ลูกเรียนหนังสือ ก็อย่าลืมเตรียมเงินเกษียณให้กับตัวเราเองในวันที่ไม่มีรายได้ด้วย
พ่อแม่ทุกคนรักลูก ปรารถนาให้ลูกได้รับในสิ่งดีที่สุด การให้การศึกษาที่ดีเป็นการให้สินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุด แก่เขา เพราะความรู้ที่ติดตัวเขา จะดูแลเขาให้สามาถเติบโตได้ในโลกใบนี้อย่างรู้เท่าทัน สามารถดูแลตัวเองได้ ในวันที่พ่อแม่แก่ชราหรือจากไปแล้ว
เครดิตภาพจาก www.thaisamsunglife.co.th
เด็กหนึ่งคน จะต้องใช้เงินเรียนหนังสือตั้งแต่อนุบาล จนจบปริญญาตรี คำนวณดูแล้วอย่างน้อย ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทภายในระยะเวลา 20 ปี
แผนเตรียมเงินทุนเพื่อการศึกษา จึงเป็นแผนระยะยาวตลอดวัยทำงานของพ่อแม่เลยทีเดียว บางครอบครัวมีลูกเมื่ออายุเยอะแล้ว ลูกหลายคน ก็อาจจะเข้าสู่วัยเกษียณก่อนลูกเรียนจบก็ได้
ดังนั้นการวางแผนล่วงหน้าว่าจะต้องใช้เงินประมาณเท่าไหร่ และ แหล่งรายได้จะมาจากทางไหน แผนการเก็บออม แผนการลงทุน รวมถึงการจัดสรรเงินเพื่อเป้าหมายจำเป็นอื่นๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเราไม่สามารถเลือกได้ว่าจะทำทีละเรื่อง ชีวิตมีองค์ประกอบหลายด้าน ทุกๆ เรื่องจึงต้องเดินไปพร้อมๆกัน ด้วยความรอบคอบ และ ผิดพลาดให้น้อยที่สุด
(ส่งลูกเรียนหนังสือจนจบ ต้องใช้เงินเท่าไหร่)
ลองลิสต์รายการดูว่าแผนหลักๆ ใน 20 ปี นี้มีอะไรที่เราต้องทำบ้าง
• เตรียมเงินให้ลูกเรียนหนังสือ
• จ่ายภาระหนี้สินต่างๆให้หมดก่อนเกษียณ เช่นการผ่อนบ้าน
• ดูแลคนอื่นในครอบครัว รวมถึงพ่อแม่เรา และอาจจะหนักมากในช่วงค่ารักษาพยาบาลยามท่านชรา
👉ไม่ว่าเราจะต้องจ่ายเรื่องอะไรบ้าง....แต่เราต้องถึงวัยเกษียณ แน่นอน!! ...วันที่เราจะไม่มีรายได้ และ อาจจะไม่มีใครดูแลเรา เมื่อถึงวันนั้น เราก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปเดินแผนการเงินใหม่ได้
☝️ทำไมแผนเกษียณจึงสำคัญ ต้องทำไปพร้อมกับการเตรียมเงินเพื่อการศึกษา มาคุยกันต่อค่ะ
ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยยังเป็นสังคมที่มีความกตัญญู เกื้อกูลกัน บุตรหลานเลี้ยงดูพ่อแม่ ดังนั้นในอดีตคนส่วนใหญ่ไม่ได้เก็บเงินไว้ในวัยชรา เพราะหวังว่า เมื่อส่งเสียให้ลูกเรียนสูงๆมีหน้าที่การงานที่ดี แล้วเขาจะสามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ยามชราได้
ภาพจาก ตลาดหลักทรัพย์
ตามข้อมูลของ แหล่งรายได้ของคนเกษียณในปี 2557 ส่วนใหญ่พึ่งพารายได้จากลูกหลาน รองลงมาคือรายได้จากการทำงานต่อ น้อยคนมากที่เตรียมเงินไว้เพียงพอเพื่อดูแลตัวเอง
และในปี 2563 ประเทศไทยซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมาแล้วหลายปี คาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ในปี 2564 คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกิน 20% ของประชากรรวม
ภาพจากมหาวิทยาลัยมหิดล
ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหิดล
สิ่งที่มีผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดคือ ภาษีจากคนวัยทำงานที่จะมาดูแลสวัสดิการส่วนกลางของคนวัยชราจะลดน้อยลง วัยเกษียณของกลุ่มคนรุ่นอายุ 30-40 ปีเวลานี้ อาจจะพึ่งพาสวัสดิการจากภาครัฐไม่ได้อีกต่อไป
แล้วครอบครัวที่มีลูกหล่ะ จะกระทบได้อย่างไร
หากเราคาดหวังว่าเขาจะเลี้ยงดูเราในวัยชรา ความเสี่ยงที่เป็นข้อสังเกต เพื่อให้ท่านวางแผนเตรียมรับมือไว้มีดังนี้
• คนทุกคนไม่ได้มีความสามารถที่จะประสบความสำเร็จจนกระทั่งดูแลตัวเองได้ดี หรือ ดูแลพ่อแม่ได้ ถึงแม้ว่าเราจะตั้งใจทำให้มันดีที่สุดแล้วก็ตาม ปัจจัยไม่คาดฝันต่างๆ อาจจะมากระทบกับความมั่นคงในการทำงานของลูกเรา ก็เป็นไปได้
• ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า ว่าเด็กหรือคนแก่จะจากโลกนี้ไปก่อน ไม่แน่นอนเสมอไปที่เค้าหรือเราจะอยู่บนโลกนี้นานกว่ากัน
• ความเจ็บป่วย ไม่เข้าใครออกใคร เขาอาจจะไม่ใช่คนที่ร่างกายแข็งแรง ไปตลอดก็ได้
•บางคนมีภาระใหม่เพิ่มขึ้นจากการสร้างครอบครัวของตัวเองมีค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลลูกของตนเช่นกัน จนอาจจะไม่เพียงพอในการดูแลพ่อแม่
ความไม่แน่นอนของชีวิตเหล่านี้เกิดขึ้นกับใครก็ได้ เชื่อว่าทุกท่านทราบดี
ดังนั้น การวางแผนทางการเงินที่ดี คือ มองความเสี่ยงให้ครบรอบด้านและป้องกันความเสี่ยงนั้น เท่าที่สามารถทำได้
👉เราจึงควรเก็บเงินเกษียณแบ่งเตรียมไว้เลย ไปพร้อมกับ เตรียมเงินเรียนหนังสือให้กับลูก ในช่วงระยะเวลา 20 ปีนี้ และยังให้ระยะเวลากับผลตอบแทนช่วยเพิ่มมูลค่าของเงินอีกด้วย
หากบั้นปลายของเราไม่เกิดความผิดพลาดใดๆ เงินก้อนนี้นอกจากดูแลตัวเราได้เพียงพอแล้ว ก็จะเป็นแหล่งเงินสำรองไว้ให้กับลูกของเรา หรือ เป็นมรดกให้กับเขาได้เช่นกัน
เพราะชีวิตเดินหน้าไปพร้อมกับเวลาที่ล่วงเลยผ่านไป ไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไขได้ ดังนั้น เงินทองจึงต้องวางแผนค่ะ
ขอบคุณที่อ่านกันมาถึงตรงนี้นะคะ😊
หากบทความมีประโยชน์ช่วยกดติดตามนะคะ เพื่อเป็นกำลังใจสำหรับบทความต่อไปค่ะ🙏💙
อ่านบทความอื่นๆได้ที่
✏ช่องทางการติดตาม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา