24 ม.ค. 2019 เวลา 06:12 • ธุรกิจ
Bill Gates (Ep15) : จุดพลิกผันหรือจุดจบของ บิล เกตส์
ถ้าจะบอกว่ายุค 80 คือยุคที่มนุษย์กำลังวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อก้าวเข้าสู่โลกของสังคมออนไลน์ โดยการสร้างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลออกมาให้คนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าถึง บิล เกตส์ เป็นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จโดยสร้างมาตรฐานทางอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ขึ้นมา และกลายเป็นผู้นำตลาดในเวลานั้น
ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจากทั่วโลกต่างต้องพึ่งระบบปฏิบัติการจากเขา ไม่เว้นแม้แต่ไอบีเอ็มเจ้าแห่งตลาดคอมพิวเตอร์เมนเฟรม หรือแม้กระทั่ง แอปเปิ้ล ของ สตีฟ จ็อบส์ เมื่อครั้งเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ใหม่ๆ ก็ต้องพึ่งเขาในการออกแบบระบบปฏิบัติการสำหรับเครื่อง Apple
ไมโครซอฟต์ไม่ได้มีเชื่อเสียงเฉพาะระบบปฏิบัติการสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แต่ซอฟแวร์ทางด้านงานเอกสารที่เรียกว่า “ไมโครซอฟต์ออฟฟิศ” ก็เป็นที่ยอมรับ จนเรียกได้ว่าเป็นผู้ผูกขาดตลาดในด้านนี้ไปแล้ว รายได้ของไมโครซอฟต์พุ่งสูงขึ้นจนทำให้ บิล เกตส์ กลายเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกติดต่อกันหลายสมัย
“มีใครหยุด บิล เกตส์ ได้บ้างไหม” เป็นคำถามที่ฟอร์บตั้งคำถามขึ้นในปี 1991 คำตอบที่ชัดเจนในเวลานั้นคือไม่มี
แต่เมื่อเข้าสู่กลางยุค 90 เมื่อโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสังคมออนไลน์ถูกเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ประตูสำหรับโลกออนไลน์กำลังจะเปิดออกและแน่นอน ไมโครซอฟต์ไม่อยากพลาด พวกเขาทำทุกอย่างให้ตัวเองเข้าไปเป็นเจ้าตลาดนั้นด้วย...แต่งานนี้เกตส์มาช้าไป
เน็ตสเคปเปิดตัวเนวิเกเตอร์รุ่นแรกออกสู่ตลาดและมันก็เติบโตอย่างรวดเร็ว เกตส์ตัดสินใจยุติคู่แข่งที่กำลังมาแรงรายนี้ด้วยการติดต่อขอซื้อกิจการ แน่นอนว่าการเจรจาล้มเหลว แต่เกตส์คิดแผนสำรองไว้แล้ว
เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็ว เขาซื้อบราวเซอร์ของสปายกลาสมาพัฒนาต่อ และตั้งชื่อใหม่ว่า “อินเตอร์เน็ต เอ็กซ์พลอเรอร์” และนำมันออกสู่ตลาดในปี 1996
แต่ในเวลานั้น เน็ตสเคป นำหน้าพวกเขาไปไกลแล้ว ไมโครซอฟต์ไม่มีทีท่าว่าจะชนะในสงครามนี้ได้เลย จนในที่สุดเกตส์ต้องใช้อาวุธสำคัญที่ตัวเองมี คือ เงินทุนและระบบปฏิบัติการวินโดวส์
ตอนแรกเขาเริ่มโจมตีจุดอ่อนของเน็ตสเคปด้วยการแจกฟรี ถึงแม้ว่ามันจะช่วยได้มากแต่ก็ยังไม่สามารถล้มเน็ตสเคปได้
ในที่สุดเขาต้องใช้ไม้ตายนั่นคือเร่งการพัฒนาระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่ติดตั้งอินเตอร์เน็ต เอ็กซ์พลอเรอร์พ่วงเข้าไปด้วย
ถึงแม้ว่ามันจะได้ผลเขาสามารถหยุดคู่แข่งรายนี้ได้...แต่สุดท้ายเกมนี้ก็สร้างความเสียหายอย่างมากต่อภาพลักษณ์ของไมโครซอฟต์ และ บิล เกตส์
เน็ตสเคปตอบโต้ด้วยการฟ้องร้องไมโครซอฟต์ในข้อหาเดียวกับที่ สแตนดาร์ด ออย ของร็อคกี้เฟลเลอร์เคยโดน คือข้อหาผูกขาดทางการค้า โดยเน็ตสเคปโจมตีว่า...การที่ไมโครซอฟต์หลอกผู้ใช้วินโดวส์ให้หันไปใช้เอ็กซ์พลอเรอร์ ทำให้เน็ตสเคปได้รับความเสียหาย
สงครามครั้งนี้ใหญ่มาก เพราะเขาต้องต่อสู้กับรัฐบาลกลางสหรัฐ แม้ บิล เกตส์ จะพยายามเจรจากับกระทรวงยุติธรรมให้เรื่องทุเลาลง แต่นั่นก็ยิ่งส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ของไมโครซอฟต์และบิล เกตส์...เสียเงินค่าปรับน่ะไม่เท่าไหร่ แต่เสียหน้าสิเรื่องใหญ่…
แต่เกตส์ก็ยังยืนยันเสมอว่า ไมโครซอฟต์แข่งกับทุกบริษัทอย่างยุติธรรม เขาไม่เคยทำร้ายคู่แข่งอย่างไม่ถูกต้อง แต่ก็เหมือนจะไม่มีใครเชื่อเขาเลย
ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์จากทั่วโลกต่างต่อต้าน บิล เกตส์ และไมโครซอฟต์ ถึงขนาดที่เขาโดนผู้ต่อต้านปาขนมพายใส่หน้าเมื่อครั้งที่เขาเดินทางไปยุโรป สถานการณ์ดูเหมือนจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ ภาพลักษณ์ของเกตส์ในเวลานั้นดูย่ำแย่มาก
เพื่อกอบกู้สถานการณ์และทำให้ไมโครซอฟต์ทำงานได้ง่ายขึ้น ในที่สุดเกตส์ต้องลดบทบาทตัวเองลง แล้วแต่งตั้งให้บัลเมอร์ เพื่อนสนิทจากฮาร์วาร์ดที่เข้ามาช่วยงานเขาตั้งแต่ยุคแรกๆ ขึ้นมาเป็นซีอีโอแทนเขา แล้วผันตัวเองออกไปเป็นประธานบริหารและทำงานด้านการกุศล ซึ่งสร้างความกังขาให้กับคนทั่วโลกเป็นอย่างมาก แต่เขาก็ทำได้ดี
เมื่อเวลาผ่านไปภาพลักษณ์เก่าๆ หายไป ตอนนี้เราได้เห็น บิล เกตส์ ในภาพของชายสูงอายุคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และช่วยเหลือสังคม เงินจำนวนมากของเขาถูกบริจาคให้กับการกุศล ทั้งด้านสาธารณสุข และการศึกษา ที่สำคัญเขายังมีความสุขอยู่กับการอ่านหนังสือเหมือนเคย…
การเติบโตของไมโครซอฟต์จนยิ่งใหญ่ นอกเหนือจากความมุ่งมั่นอย่างไม่ลดละของเกตส์แล้ว วิสัยทัศน์ในการมองการณ์ไกล รวมถึงจังหวะเวลาในการเข้าตลาดของเขาล้วนมีส่วนสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการมีเทพีแห่งโชคลาภยืนอยู่เคียงข้างเขามาโดยตลอด
อย่างในยุคเริ่มแรกของไมโครซอฟต์ เกตส์และอัลเลนโชคดีที่ดิจิตอลรีเสิร์ชไม่สนใจร่วมมือกับไอบีเอ็มเพื่อพัฒนาดอส พวกเขาจึงได้รับโอกาสนั้นแทน
ในช่วงของการพัฒนาวินโดวส์ก็เช่นกัน ถ้าไอบีเอ็มตัดสินใจร่วมลงทุนกับไมโครซอฟต์ตามที่เกตส์เสนอ พวกเขาจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของไมโครซอฟต์ทันที และไมโครซอฟต์จะไม่มีวันเติบโตได้ถึงทุกวันนี้
แต่ในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความสำเร็จล้วนต้องมาจากวิสัยทัศน์และความสามารถอย่างแท้จริงเท่านั้น
ไมโครซอฟต์ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในเรื่องของระบบปฏิบัติการและชุดไมโครซอฟต์ออฟฟิศ นอกเหนือจากนี้แล้วยังไม่มีเรื่องไหนที่พวกเขาทำได้อย่างโดดเด่นอีกเลย
ทุกวันนี้ระบบปฏิบัติการกำลังย้ายค่ายไปสู่ระบบโมบาย ซึ่งเป็นการต่อสู่กันของ iOS และ Android ไมโครซอฟต์ไม่มีทีท่าว่าจะเข้ามาในตลาดนี้ได้เลย …
และนั่นจึงเป็นที่มาของ Satya Nadella ซีอีโอรุ่นที่ 3 ของไมโครซอฟต์ ที่เกตส์หวังว่าเขาจะเข้ามาช่วยไมโครซอฟต์ได้ทัน
อย่าลืมกดติดตาม เรื่องเล่าสนุกๆ ที่แฝงด้วยสาระและแง่คิดแบบ พอดี-พอดี และกดไลค์เป็นกำลังใจให้ด้วยนะคะ😄😄😄
หรือถ้ามีอะไรอยากแนะนำเพิ่มเติม comment ไว้ได้เลยค่ะ ♥️♥️♥

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา