4 พ.ย. 2019 เวลา 08:43 • สุขภาพ
Paracetamol : การใช้ยาครั้งแรกในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี เพิ่มความเสี่ยงทำให้เด็กมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดเมื่ออายุ 18 ปี ความเสี่ยงนี้จะเพิ่มมากขึ้นหากมีความผิดปกติในระดับพันธุกรรมร่วมด้วย ?
เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักยา Paracetamol ทุกคนคงรู้จักกันดี หลายคนเคยใช้ ไม่แปลกเพราะยาตัวนี้เป็นยาสามัญประจำบ้าน หาซื้อง่ายตามร้านขายยาทั่วไป และใช้ได้ดีหากเราปวดหัว ปวดตัว หรือเป็นไข้
จุดเริ่มต้นของบทความนี้มาจากการรายงานของ European Respiratory Society International Congress ที่พบว่าการใช้ยา Paracetamol ครั้งแรกในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี เพิ่มความเสี่ยงทำให้เด็กมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดเมื่ออายุ 18 ปี
หากถามกลับว่าเรากินยา Paracetamol ครั้งแรกตอนไหน คงจำกันไม่ได้แล้ว แต่ตอนนี้อายุเกิน 18 ปีแล้ว ไม่ได้เป็นหอบหืดถือว่ารอดตัวไป
อย่าเพิ่งตกใจกับเรื่องราวเหล่านี้นะครับ เพราะเราพบเพียงความสัมพันธ์เท่านั้น ยังไม่สามารถอธิบายเชิงเหตุผลได้อย่างชัดเจน ว่าเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นนะครับ
ความสัมพันธ์ที่ว่านี้เกี่ยวข้องกับเอนไซม์ตัวหนึ่งในร่างกายนั่นคือ glutathione S-transferase (GST) มีใครคุ้นบ้างเอ่ย เอนไซม์ตัวนี้มีความสำคัญมากในการเป็น antioxidant กำจัดสารพิษออกจากร่างกาย เพื่อป้องกันเซลล์ถูกทำลายและลดการอักเสบของเซลล์
แล้วยา Paracetamol เกี่ยวข้องกับเอนไซม์ตัวนี้อย่างไร ก่อนหน้านี้เคยเขียนบทความเรื่อง Paracetamol : ทำลายตับจริงหรือ? สามารถย้อนกลับไปอ่านก่อนได้นะครับ จะได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ตามลิงค์ข้างล่างนี้เลย
ในบทความจะพูดถึงสารพิษตัวหนึ่งนั่นคือ NAPQI ซึ่งเป็นผลผลิตจากยา Paracetamol นั่นเอง NAPQI เป็นพิษต่อเซลล์ และเอนไซม์ glutathione S-transferase (GST) ตัวนี้แหละมีบทบาทสำคัญมากๆในการขจัดสารพิษนี้ให้ออกไปจากร่างกาย
เริ่มเห็นความสัมพันธ์อะไรบางอย่างหรือยังครับ ในร่างกายเรานั้นเอนไซม์นี้ก็คอยกำจัดสารพิษเป็นปกติ แต่วันดีคืนดี เรากินยา Paracetamol เข้าไป สมมติเกิดสาร NAPQI ขึ้น ร่างกายก็ต้องแบ่งเอนไซม์นี้มาช่วยตรงนี้ก่อน
แล้วในเด็กล่ะ บอกเลยว่าในเด็กนั้นเอนไซม์เหล่านี้ไม่ได้พร้อมรบแบบผู้ใหญ่ ยิ่งเด็กคนไหนที่มีความผิดปกติของพันธุกรรมระดับยีนที่ทำให้ร่างกายสร้างเอนไซม์ได้น้อย เด็กจะมีเอนไซม์ glutathione S-transferase (GST) น้อยมากๆ
glutathione S-transferase (GST)
เพื่อเป็นการทดสอบสมมติฐานนี้จึงได้เก็บข้อมูลเด็กตั้งแต่เกิดจนอายุ 18 ปี มาจำนวน 620 คน ใน 620 คนนี้ต้องมีโรคเช่นหอบหืด (asthma) หรือ eczema สังเกตจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบในร่างกาย แล้วสอบถามกลับไปว่าตอนอายุ 2 ปี เด็กๆเหล่านี้เคยกินยา Paracetamol มาหรือไม่ นอกจากนี้ยังทดสอบความผิดปกติของยีนร่วมด้วยเช่น GSTT1, GSTM1 และ GSTP1 (พวกนี้เป็นยีนของเอนไซม์ glutathione S-transferase นั่นแหละ)
และก็พบอยู่ตัวหนึ่งนั่นคือยีน GSTP1 ลงลึกไประดับย่อยคือ GSTP1 Ile/Ile หากพบความผิดปกติที่ยีนตัวนี้จะทำให้เด็กมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดมากกว่าคนทั่วๆไปราวๆ 1.8 เท่า (เกือบๆ 2 เท่าเลย) แต่ถ้าเป็นระดับย่อยอื่นของ GSTP1 ก็ไม่ได้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แสดงว่าจำเพาะกับ GSTP1 Ile/Ile เท่านั้น
ขอบคุณภาพจาก https://foundation.chestnet.org/patient-education-resources/asthma/
ดังที่บอกไปยังเป็นเพียงความสัมพันธ์ที่พยายามจะอธิบายเป็นเหตุผลออกมาเท่านั้น ยังไม่ใช่เหตุ-ผลที่แท้จริง เพราะจริงๆแล้วปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหอบหืดยังมีอีกหลายสาเหตุเลย
คงต้องรอการศึกษา การเก็บข้อมูลในอนาคตต่อไป
แต่นั่นก็ทำให้เรารู้ว่า "ใช้ยาเมื่อจำเป็นจริงๆเท่านั้น" กลับมาสู่หลักการเดิม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา