9 พ.ย. 2019 เวลา 04:11 • ธุรกิจ
วิกฤตการเงินสหรัฐปี 1907 วิกฤตที่ก่อให้เกิดธนาคารกลางสหรัฐ... ตอนที่ 2...
วิกฤตการเงินของสหรัฐในปี 1907 นั้นนับว่าหนักหนาสาหัสมาก โดยที่รัฐบาลกลางไม่สามารถให้ความช่วยเหลือใด ๆ ได้
และคนที่รับเคราะห์ไปเต็ม ๆ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเกษตรกรและกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ค่อยมีเงินทุนหมุนเวียน
ที่จริงนักวิเคราะห์เริ่มมองเห็นปัญหานี้ตั้งแต่ปี 1903 ซึ่งเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง และมักจะออกมาเตือนทุกครั้งเมื่อพวกเขาเห็นสัญญาณด้านนี้แต่มักจะไม่มีใครสนใจ
เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมาจริง ๆ จึงไม่สามารถรับมือได้ทัน เจ้าหน้าที่ของรัฐทำได้เพียงยืนดูอยู่ห่าง ๆ ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เลย
ในวิกฤตการเงินสหรัฐปี 1907 พระเอกและผู้ร้ายในนิยายเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นบุคคลคนเดียวกัน ซึ่งคนทั่วไปเรียกเขาว่าพวกวอลล์สตรีท
และคนที่เป็นสัญลักษณ์ของวอลล์สตรีทในเวลานั้นก็คือ จอห์น เพียร์พอนท์ มอร์แกน นักการเงินผู้อยู่เบื้องหลังบริษัทยูเอสสตีล และ เจนเนอรัล อิเล็กทริกในเวลานั้นนั่นเอง
จอห์น เพียร์พอนท์ มอร์แกน หรือ เจ.พี. มอร์แกน เกิดในปี 1837 บรรพบุรุษของเขาเคยอาศัยอยู่ในเวลส์ แต่อพยพมาอยู่ที่แมสซาชูเสทท์ตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็นดินแดนในอาณานิคมของอังกฤษ
ช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินสหรัฐในครั้งนั้น เจ.พี.มอร์แกน มีอายุถึง 70 ปี เรียกได้ว่าเป็นคุณปู่ที่มีบารมีแก่กล้าในวอลล์สตรีทเลยทีเดียว
ที่บอกว่าเขาเป็นผู้ร้ายด้วยนั้นเนื่องจากกลุ่มที่ไม่ชอบพวกวอลล์สตรีทเห็นว่ามอร์แกนคือต้นเหตุของวิกฤต
เนื่องจากเขาไม่ให้ความช่วยเหลือธนาคารมอร์แคนไทล์ตั้งแต่ตอนแรกที่เกิดปัญหา จนทำให้ธนาคารต้องปิดตัวและเกิดปัญหาร้ายแรงหลายอย่างตาม
ว่ากันว่าขณะที่ปัญหากำลังลุกลามถึงขีดสุด มอร์แกนกำลังอยู่ในการประชุมราชาคณะนิกายโปแตสแตนท์ในเมืองริชมอน ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี การประชุมครั้งนี้ใช้เวลาถึงสามสัปดาห์ และเขาก็ไม่ค่อยมีสมาธิในการประชุมเท่าไหร่นัก
ทุกครั้งที่มีโทรเลขมาถึง เขาจะต้องรีบอ่าน จากนั้นก็จะใช้ฝ่ามือทั้งสองทาบกับโต๊ะพร้อมกับมองไปด้านหน้าด้วยสายตาที่แน่แน่วเพื่อใช้ความคิด อันเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของเขา
มอร์แกนกล่าวโทษประธานาธิบดีรูสเวลท์ ว่าเป็นต้นตอของปัญหา ประธานาธิบดีรูสเวลท์ผู้นี้มีนโยบายต่อต้านการผูกขาดทางธุรกิจหรือการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของอเมริกา
ซึ่งกลุ่มธนาคารก็จัดว่าเป็นกลุ่มที่มีการรวมตัวกันมากในเวลานั้นเช่นกัน
และประธานาธิบดีรูสเวลท์นี่แหละที่เป็นคนสั่งให้มีการสอบสวนบริษัทแสตนดาร์ดออยล์ของร็อคกี้เฟลเลอร์ จนทำให้เขาต้องเสียค่าปรับถึง 29 ล้านดอลลาร์
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวิกฤติการเงินของสหรัฐอเมริกาในปี 1907 จบลงได้ด้วยฝีมือคุณปู่วัย 70 ปีอย่างเจ.พี.มอร์แกน
มอร์แกน แก้ปัญหานี้ได้อย่างไรจะขอมาเล่าในตอนต่อไปนะคะ...รับรองว่าทุกคนต้องร้องอ๋อ...
... เพราะวิธีการที่มอร์แกนใช้กลายมาเป็นพลอตเรื่องในฉากหนังหลาย ๆ เรื่องเลยทีเดียว...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา