11 พ.ย. 2019 เวลา 02:31 • ธุรกิจ
วิกฤตการเงินสหรัฐปี 1907 วิกฤตที่ก่อให้เกิดธนาคารกลางสหรัฐ...ตอนที่ 3...
เมื่อความตกใจของประชาชนลุกลามถึงขีดสุด จากการที่ไม่มีหน่วยงานไหนจะช่วยแก้ปัญหาการขาดเงินสดของประชาชนชาวอเมริกันในเวลานั้นได้เลย
มอร์แกนผู้เฒ่าวัย 70 ปีจากวอลล์สตรีท ผู้ทรงอิทธิพลด้านธุรกิจการเงินในเวลานั้นจึงรีบเดินทางไปแมนฮัตตั้นเพื่อรับบทพระเอกในการแก้ไขสถานการณ์และเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนให้กลับคืนมา
ที่จริงมอร์แกนมักจะเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งให้กับบริษัทใหญ่ ๆ มาแล้วหลายครั้ง
และวิธีถนัดที่เขาใช้คือ จับเอาผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่มีปัญหาเหล่านั้นไปรวมตัวกันที่ใดที่หนึ่ง และไม่ยอมให้ใครกลับออกไปจนกว่าจะบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้
... คุ้น ๆ ไหมคะ ว่าวิธีการนี้เหมือนกับฉากดังในหนังเรื่องไหนบ้าง?...
และการแก้ไขปัญหาในวิกฤติการเงินในปี 1907 เขาก็ทำไม่ต่างกัน
ละครฉากแรกเปิดฉากขึ้นในวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม
ทันที่มอร์แกนกลับมาจากเวอร์จิเนีย เขาก็เชิญบรรดานายธนาคารขนาดใหญ่หลายรายมารวมตัวกันที่ห้องสมุดที่มีผ้าม่านลายยกดอกสีแดงจากพระราชวังชิกิของกรุงโรมประดับไว้อย่างหรูหรา
มีรายงานว่าแม้แต่ จอห์น ดี.ร็อคกี้เฟลเลอร์ที่ไม่ค่อยลงลอยกันนักก็มาเข้าร่วมละครฉากนี้ด้วย
ที่จริงในช่วงนั้นนักการเงินที่มีอำนาจในอเมริกาจะมีอยู่สองค่ายใหญ่ ๆ คือ ค่ายของ เจ.พี.มอร์แกน และค่ายของ ร็อคกี้เฟลเลอร์
แต่ค่ายของร็อคกี้เฟลเลอร์กำลังประสบปัญหาในกรณีของแสตนดาร์ดออยจึงทำอะไรได้ไม่มากนัก ปล่อยให้มอร์แกนทำงานอย่างเต็มที่และยังช่วยสนับสนุนอยู่เบื้องหลังเพื่อช่วยกันแก้ปัญหานี้ด้วยอีกแรง
วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม
ประชาชนเข้าแถวรอถอนเงินกันยืดยาวหน้านิกเกอร์บอคเกอร์ ทรัสต์ใหญ่ที่มีทีท่าว่าจะล้มตามเมอร์แคนไทล์ ซึ่งทั้งสองแห่งนี้เป็นกลุ่มที่ร่วมกันปั่นหุ้นของเหมืองทองแดง โดยการนำเงินฝากของประชาชนไปเล่นเก็งกำไร
แต่การปั่นหุ้นครั้งนี้ล้มเหลว พอธนาคารเมอร์แคนไทล์ล้ม ธนาคารและทรัสต์อื่นในกลุ่มจึงโดนหางเลขไปด้วย
ที่จริงถ้าธนาคารและสำนักงานหักบัญชีทั้งหลายในนิวยอร์กยอมปล่อยเงินกู้ก็จะสามารถช่วยธนาคารกลุ่มนี้ได้
แต่พวกเขากลับไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยจนกว่าผู้บริหารและเจ้าของธนาคารกลุ่มนี้จะยอมวางมือจากวงการธนาคาร
อีกอย่างหนึ่งคือ กลุ่มทรัสต์และสำนักงานหักบัญชีในนิวยอร์กมีปัญหากันตั้งแต่ช่วงปี 1903 เนื่องจากสำนักงานหักบัญชีกำหนดให้ทรัสต์วางเงินสำรองร้อยละ 10 ของเงินฝากแต่พวกทรัสต์ไม่ทำตามเนื่องจากต้องการเงินส่วนนี้ไปเล่นเก็งกำไรจึงลาออกจากสำนักงานหักบัญชี
เมื่อลาออกไปก็ต้องส่งเช็คเข้าเคลียริงกับธนาคาร และธนาคารที่นิยมใช้กันในเวลานั้นก็คือ ธนาคารในกลุ่มของ เจ.พี.มอร์แกน
และมอร์แกนเองก็มีเงินฝากและหุ้นของนิกเกอร์บอคเกอร์เช่นกัน แต่เมื่อเขาตรวจสอบตัวเลขทางการเงินแล้วก็ลงความเห็นว่าทรัสต์แห่งนี้อาการหนักเกินเยียวยา จึงไม่ยอมให้การช่วยเหลือใด ๆ
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้บางคนวิจารณ์ว่า มอร์แกนนั่นแหละที่เป็นคนทำให้วิกฤตครั้งนี้ลุกลามใหญ่โต
เพราะหลังจากนิกเกอร์บอคเกอร์เลือดไหลไม่หยุดจากการโดนระดมถอนเงิน ในที่สุดก็ต้องปิดกิจการในช่วงเที่ยงของวันอังคารที่ 22 ตุลาคม
และนี่เป็นลางร้ายที่บ่งบอกว่าหายนะใหญ่กำลังคืบคลานเข้ามา
จะมีเรื่องตื่นเต้นอะไรตามมาอีก ฝากติดตามในตอนต่อไปนะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา