8 มี.ค. 2020 เวลา 09:40 • ธุรกิจ
Insight บทวิเคราะห์เชิงลึก : สัญญาณทั่วโลกเตือนว่าเรากำลังอยู่ในภาวะทางเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551
ทั้งข้อมูลทางสถิติและข้อมูลสถานการณ์จริงในขณะนี้ บ่งบอกว่าเรากำลังอยู่ในภาวะเดียวกันกับทุกครั้ง ก่อนที่จะเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ขึ้นในโลก ในขณะที่การแพร่ระบาดของ Coronavirus และตัดสินใจของธนาคารกลางหลายประเทศอาจเป็นการเร่งให้วิกฤตเกิดขึ้นเร็วยิ่งขึ้นไปอีก
1
บทความนี้พยายามเขียนให้มีเนื้อหาครอบคลุมปัจจัยสำคัญทั้งหมดโดย World Maker จะแบ่งแยกปัจจัยสำคัญแต่ละอย่างออกเป็น Session ซึ่งแต่ละบทจะอธิบายเชิงลึกถึงแก่นแท้ที่จะทำให้เกิดวิกฤตครั้งนี้
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่
Session 1 : การยกเลิก Gold Standard เมื่อปี ค.ศ. 1971 ส่งผลแล้วในวันนี้
ก่อนหน้าจะประกาศยกเลิก Gold Standard อเมริกาได้ทำการพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาเกินกว่าปริมาณทองคำที่มีอยู่ ซึ่งประมาณการว่ารัฐบาลสหรัฐได้พิมพ์เงินออกมาเป็นมูลค่าเท่ากับทองคำอย่างน้อย 30,000 ตัน ทั้ง ๆ ที่ทองคำจริง ๆ มีเพียงประมาณ 6,000 ตันเท่านั้น และด้วยการก่อหนี้ต่าง ๆ ของสหรัฐทำให้รัฐบาลไม่สามารถหาทองคำที่มีมูลค่าเท่ากันมาคืนให้ประเทศต่าง ๆ ได้ รัฐบาลสหรัฐจึงแก้ปัญหาด้วยการยกเลิกการผูกติดเงินดอลลาร์กับทองคำ
1
นับตั้งแต่นั้นมาระบบการเงินโลกเปลี่ยนเป็นระบบการเงินกระดาษ (Fiat currency system) คือ FED สามารถพิมพ์เงินได้ไม่จำกัดโดยไม่มีหลักทรัพย์ใด ๆ มาหนุน เงินดอลลาร์กลายเป็นกระดาษธรรมดาที่ไม่มีมูลค่าที่แท้จริงในตัวมันเองอีกแล้ว
ดังคำกล่าวของ DR. Alan Greenspan อดีตประธาน FED ที่ว่า
"In the Absence of gold standard, there is no way to protect savings from confiscation through inflation. There is no safe store of value"
โดยปราศจากมาตรฐานทองคำ ไม่มีทางที่จะป้องกันเงินออมจากการกลืนกินของอัตราเงินเฟ้อได้ จะไม่มีการเก็บรักษามูลค่าของทรัพย์สินใด ๆ ได้อย่างปลอดภัย
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นบนโลก : ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงอย่างต่อเนื่องในช่วงตลอด 49 ปีที่ผ่านมา
กราฟข้างล่างแสดงถึงความผันผวนและแนวโน้มที่อ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี
สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือมาตรการเพื่อแก้ไขเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ซึ่ง FED และธนาคารกลางต่าง ๆ มักจะตัดสินใจ "ลดดอกเบี้ยนโยบาย" และถ้าหนักหน่อยก็ "Quantitative Easing" อธิบายง่าย ๆ คือการที่ FED ทำการพิมพ์พันธบัตรดอลลาร์เพิ่มขึ้นและอัดฉีดเข้ามาในระบบเพื่อให้บริษัทต่าง ๆ และประชาชนกู้เงินไปลงทุนในธุรกิจหรือดำเนินการต่าง ๆ
กล่าวในอีกแง่หนึ่งคือการเอา "หนี้" ไปทำธุรกิจหรือไปซื้อทรัพย์สินนั่นเอง
ซึ่งก่อนหน้านี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 2 อย่างมักจะเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน แม้ในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ก็ตาม แต่ที่น่าสนใจคือครั้งนี้ FED ทำทั้ง "ลดดอกเบี้ย" และ "Quantitative Easing" พร้อมกัน !!!
ตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2019 FED อัดฉีดเงินเข้าระบบอย่างต่อเนื่องจนมาถึงครั้งล่าสุดของการลดดอกเบี้ย 0.5% ที่ผ่านมาไม่กี่วันนี้ FED ได้อัดฉีดเงินเข้าระบบเพิ่มอีก 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถ้าผู้อ่านไม่รู้ก็ไม่แปลกใจเพราะมันไม่ค่อยออกข่าว แต่ World Maker มีหลักฐานครับ ดูกราฟข้างล่าง
มาถึงตรงนี้ World Maker จะวิเคราะห์ข้อมูลที่น่าสนใจมาก ๆ ให้ได้เห็นภาพกันชัดเจนขึ้นอีก
1. อัตราดอกเบี้ยของ FED ในปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เมื่อปี 2551
จากข้อมูลสถิติ 62 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าในช่วงก่อนปี 1971 มีการลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับในปัจจุบัน แต่ในขณะนั้นอัตราดอกเบี้ยก็ยังอยู่ที่ระดับ 3-6%
หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้ (ตั้งแต่มีสงครามการค้ากับจีน) FED มีการลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 2-3 ครั้ง และในปัจจุบันก็ลดอย่างฉุกเฉินอีก 0.5% เท่านั้นยังไม่พอ ล่าสุดแหล่งข่าวหลายสำนักข่าวแจ้งว่า FED จะลดดอกเบี้ยอีกในการประชุมครั้งหน้านี้
Source : macrotrends.net
2. ผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยและการ Q.E. คือการที่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมากกว่าเดิม
การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (U.S Treasury) และอัตราดอกเบี้ยลดลงด้วย ส่งผลให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ ผลกระทบลูกโซ่ครั้งนี้เริ่มจากอเมริกาขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1971 เป็นต้นมา ดังแสดงในกราฟข้างล่าง
และผลกระทบต่อมาคือการที่เงินทุนไหลออกนอกประเทศทำให้ต้องควักเงินสำรองภายในประเทศมาใช้ ปัจจุบันสหรัฐฯแทบไม่มีทุนสำรองในประเทศเหลือเลย ลองดูรูปเปรียบเทียบข้างล่าง จะเห็นว่าทั้ง ๆ ที่สหรัฐเป็นมหาอำนาจของโลก แต่ทุนสำรองน้อยกว่าหลายประเทศที่กำลังพัฒนาเสียอีก (รวมถึงไทย)
1
คำถามคือ แล้วเงินทุนไหลออกไปไหน ?
เงินทุนที่ไหลออกจากสหรัฐฯมักจะกระจายไปสู่ "ประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)" และ "ประเทศที่มีรายได้ต่ำ (Low Income)" ซึ่งประเทศเหล่านี้มักมีอัตราดอกเบี้ยสูง จึงให้ผลตอบแทนที่ดีและน่าลงทุนทั้งนั้น
สถานการณ์เหมือนจะดูดีแต่เมื่อวิเคราะห์จริง ๆ แล้ว สิ่งที่เราได้รับจากเหตุการณ์ที่ผ่าน ๆ มาคือ มูลค่าเงินหลายประเทศพลอยแข็งค่าขึ้นจากเงินดอลลาร์ เนื่องจากการ Q.E. หมายถึงการเพิ่มจำนวนเงินทั้งหมดมีที่ในโลกขึ้น เมื่อผู้คนมีเงินมากขึ้น กำลังซื้อก็เพิ่มขึ้น ทำให้ Demand พุ่งกระฉูด ในขณะที่ความเป็นจริงนั้น Supply มีอยู่อย่างจำกัดเท่าเดิม ไม่สามารถเพิ่มปริมาณให้มากเกิน "ความเป็นจริง" ได้จึงทำให้ราคาสินค้าบริโภคอุปโภคนั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก สังเกตุได้จากค่าดัชนี CPI ทั่วโลก
นอกจากนั้นผลกระทบที่สั่งสมมาจากมาตรการทางการเงินที่ผิดพลาดตลอดระยะเวลา 50 ปี ยังทำลายนิยามของ "เงินฝืด" และ "เงินเฟ้อ" ให้บิดเบี้ยวไปหมด และจะสังเกตุได้ว่าการ Q.E. นั้นไม่ได้ช่วยให้ Real GDP เติบโตขึ้นเลย ในทางกลับกันมันไปลดอัตราการเติบโตของ GDP ด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้ทำลายกลไกตลาดเสรีให้พังยับเยิน มูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ไม่อาจประเมินได้เพราะทั้งโลกถูกแทรกแซงด้วยเงินดอลลาร์
และบ่อยครั้งที่มาตรการเช่นนี้จะล่อให้นักลงทุนเข้าไปถือครอง Treasury และสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ยิ่งนัก เนื่องจากดอกเบี้ยต่ำ วงเงินสูง จึงตามมาด้วยการเก็งกำไรอย่างบ้าคลั่ง
ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบที่สูงขึ้นจากการอัดฉีดเงินของ FED มาพร้อมกับปริมาณ "หนี้" ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและสะสมมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ทำให้ในปัจจุบันหนี้ของสหรัฐอยู่ที่ 23.3 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นกว่า 105% ของ GDP ซึ่งหมายความว่าปริมาณหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้นมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจเสียอีก
โดยในจำนวนหนี้ทั้งหมดนี้ 79% ของ GDP คือหนี้สาธารณะที่ประชาชนต้องแบกรับถึง และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 95% ภายในปี 2029 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
หนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลนั้นเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับความเหลื่อมล้ำในคนรวย และคนจนที่เพิ่มขึ้นทุกวัน เป็นเหมือนหยินหยางที่เป็นสาเหตุของกันและกันไปมาไม่จบสิ้น (ความเหลื่อมล้ำทำให้เกิดหนี้ หนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ)
รายงานความเหลื่อมล้ำของ Oxfam International ปี 2018 เผยความจริงที่น่าตกใจดังนี้
- สินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 ดอลลาร์ จะมีประมาณ 8.2 ดอลลาร์ที่ตกเป็นของกลุ่มคนที่รวยที่สุดในโลก 1% หรือหมายถึง "คนที่รวยที่สุดเพียง 1% แรกของโลกกำลังครอบครองทรัพย์สินทั้งหมด 82% ที่สร้างขึ้นบนโลกในปี 2017"
- กลุ่มครัวเรือนที่รวยที่สุด 10% แรก ครอบครองสินทรัพย์มากถึง 88% ของทรัพย์สินทั้งหมดในโลก
- 90% ของมหาเศรษฐีระดับพันล้านขึ้นไปทั่วโลกเป็นผู้ชาย
ในปี 2017 เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3% และฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2018 นอกจากนี้ ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่าทั่วโลกสร้างความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 280 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเติบโตในอัตรา 6.4% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2012
แต่ความจริงที่เกิดขึ้นกลับไม่สวยหรูเหมือนในสถิติ แม้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวและ GDP เติบโตขึ้น แต่ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นนี้ยังคงกระจุกตัวอยู่แต่ในกลุ่มคนรวยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของโลก
Oxfam ระบุอีกด้วยว่า กลุ่มประชากรที่อยู่ครึ่งล่างของพีระมิดไม่สามารถเพิ่มฐานะทางการเงินได้เลยในช่วงปี 2017 นอกจากนี้พวกเขายังครองทรัพย์สินไม่ถึง 1% ของสินทรัพย์ทั่วโลก
เมื่อเป็นเช่นนี้อยากให้ผู้อ่านลองคิดถึงสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นบนโลก เมื่อคนรวยยิ่งรวยขึ้น แต่คนจนยิ่งจนลง ในขณะที่คนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเงินพอจะทำธุรกิจเองหรือจะลงทุนทำอะไรก็ตาม ในขณะที่ราคาตลาดหุ้นและสินค้าแพงขึ้นเรื่อย ๆ
อาจจะด้วยเหตุนี้ หรืออาจจะเพราะหลักการดำรงชีวิตที่ผิด แต่ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง ทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นเริ่มทำการก่อหนี้ ทั้งโดยการรูดบัตรเครดิตและการกู้ยืมมาลงทุน หรือแม้แต่ช่องทางอื่น ๆ ที่จะทำให้พวกเขาสามารถสร้างตัวได้ แต่หนี้ตรงส่วนก็ยังถือว่าน้อยหากเทียบกับจำนวนเงินที่พวกนายทุนกู้มาเก็งกำไรในตลาดเงินและตลาดหุ้น
ดัชนี Dow Jones สูงขึ้นตลอดตั้งแต่ปี 1971
การเก็งกำไรอย่างบ้าคลั่งจากเงินที่กู้ยืมมาโดยเห็นว่าดอกเบี้ยต่ำ คุ้มค่า จริง ๆ แล้วกำลังเป็นมะเร็งร้ายที่เกาะกินตลาดหุ้นอยู่ทุกวัน ด้วยราคาหุ้น ราคาสินค้า ค่าครองชีพ และอื่น ๆ ที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นไปอย่างมากจากการเก็งกำไร บวกกับกำลังซื้อที่ลดลงของชนชั้นกลางไปจนถึงคนจน ผู้ผลิตยังผลิตได้ไม่มีปัญหา แต่ผู้ซื้อไม่มีกำลังซื้อ สิ่งที่ตามมาคือตลาดที่หยุดชะงักลง สภาพคล่องทางการเงินที่บิดเบี้ยวยับเยิน
คำถามต่อไปคือใครเป็นเจ้าหนี้ของสหรัฐฯ ?
หนี้ทั้งหมดคือหนี้ที่ FED เป็นหนี้ให้กับบุคคลผู้ปล่อยกู้ภายนอกรัฐบาลอีกทีนึง ซึ่งก็คือ พวกนายทุน นายธนาคาร บริษัทหุ้น/กองทุน บริษัทประกันภัย นักลงทุนรายย่อย และรัฐบาลต่างประเทศ ง่าย ๆ ก็คือรัฐบาลกลางต้องหาเงินมาคืนบริษัทและกลุ่มคนพวกนี้นั้นเอง
ในอดีตนั้นเปอร์เซ็นการถือครองหนี้ของสหรัฐฯ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
1. นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในที่นี้ รวมถึงทั้งภาคเอกชนและภาครัฐต่างประเทศทั้งหมด (ที่ไม่ใช่อเมริกา) เช่น ธนาคารกลางและนักลงทุนภาคเอกชนต่างประเทศทุกราย ถือครอง 35% ของหนี้สหรัฐฯทั้งหมด
2. FED หน่วยงานรัฐบาลและเอกชนของสหรัฐฯ และนักลงทุนชาวอเมริกัน ถือครอง 65% ของหนี้สหรัฐฯทั้งหมด
ข้อสังเกตุ : เจ้าหนี้ของชาวอเมริกันส่วนใหญ่ ก็คือชาวอเมริกันด้วยกันเองทั้งนั้น
จะเห็นว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน เริ่มจากสิ่ง ๆ เดียวคือการยกเลิก Gold Standard ต่อเนื่องกันมาเรื่อย ๆ จนถึงปี 2020 ซึ่งอาจเรียกได้ว่าถึงเวลาประจวบเหมาะสำหรับวิกฤตที่สั่งสมมานาน โดยได้รับแรงสนับสนุนอย่างมากจากผลกระทบของ Coronavirus ซึ่งจะกล่าวถึงใน Session 3
ทิ้งท้าย Session 1 ด้วยภาพตลาดหุ้นไทยที่เติบโตจากการเก็งกำไร หลังมีมาตรการ Q.E. จากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
Session 2 : หนี้ท่วมโลกตอกย้ำให้ดอลลาร์หมดความน่าเชื่อถือลง
ก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดของ Coronavirus เศรษฐกิจของอเมริกานั้นแข็งแกร่งอย่างมาก ผลจากการเก็งกำไรมาตลอด 10 กว่าปีตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำ All time high กันเป็นว่าเล่น
จากกราฟข้างล่างเราจะเห็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1971 ของดัชนีหุ้นหลัก ๆ ในสหรัฐฯ
ในช่วงที่มีสงครามการค้ากับจีน ผู้เชี่ยวชาญด้านงบประมาณของสหรัฐฯ ออกมาเตือนว่าสงครามการค้ากำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอเมริกาและลดรายได้ของครัวเรือนลงไปอีก การวิเคราะห์โดยสำนักงานงบประมาณกลาง(CBO) คาดการณ์ว่าการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางจะสูงถึง 960 พันล้านดอลลาร์สำหรับปี 2019 ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2020 (ซึ่งตอนนี้ก็สูงกว่าที่คาดการณ์ไปแล้ว)
ตอนนี้นักลงทุนทั่วโลกจึงเริ่มเห็นแล้วว่าเงินดอลลาร์ที่พวกเขาถืออยู่นั้นไม่ปลอดภัยและไม่มีอะไรเป็นหลักค้ำประกันได้เลย ส่วนราคาตลาดหุ้นของสหรัฐก็สูงกว่าที่ควรจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการเก็งกำไร เสริมกับสถานการณ์และตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ผิดเพี้ยนสะสมมานาน การเทขายพันธบัตรสหรัฐฯจึงได้เริ่มต้นขึ้น
กราฟข้างล่างแสดงสัดส่วนการถือครองหนี้สหรัฐฯ ของ "นักลงทุนต่างชาติ" ในปี 2019 ที่ลดลงเหลือ 28.9% ในไตรมาสที่ 4 จาก 35% ในไตรมาสก่อน
โดยในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติเหล่านี้ จีนและญี่ปุ่นเป็นผู้ถือครองหนี้มากที่สุดรวมกันถึง 34.5% ของหนี้สหรัฐฯ ที่กลุ่มนักลงทุนต่างชาติทั้งหมดถือ
ประเทศจีนได้ลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ ลงทุกเดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายน ในเดือนธันวาคมได้ลดการถือครองอีก 20,000 ล้านดอลลาร์ มูลค่าการถือครองรวมอยู่ที่ 1.07 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2559
ดังนั้นโดยภาพรวมแล้ว ความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นและจีนในฐานะเจ้าหนี้ของอเมริกาลดลงอย่างต่อเนื่องมาหลายปี เหตุผลเพราะหนี้สหรัฐได้พุ่งขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ก็มีมากขึ้น
การเทขายพันธบัตรสหรัฐครั้งนี้ทำให้สัดส่วนการถือครองโดยรวมของญี่ปุ่นและจีนลดลงเหลือ 9.6% ของหนี้สหรัฐทั้งหมด
ในกลุ่มของ "นักลงทุนต่างชาติ" ที่เป็นเจ้าหนี้ของอเมริการายใหญ่ 10 รายถัดไป ส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับภาษีและด้านการเงิน ซึ่งรวมถึงอังกฤษที่ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก และเบลเยียมซึ่งเป็นที่ตั้งของ Euroclear ซึ่งจัดการระบบบัญชีจำนวนมากมายในโลก
ต่อไปนี้คือข้อมูล 10 อันดับการถือครองตราสารหนี้ของประเทศและรัฐต่าง ๆ เมื่อสิ้นปี 2019 (ในวงเล็บการถือครองตอนสิ้นปี 2018)
1. อังกฤษ : 333 พันล้านดอลลาร์ (288 พันล้านดอลลาร์)
2. ไอร์แลนด์ : 282 พันล้านดอลลาร์ (279 พันล้านดอลลาร์)
3. บราซิล : 281 พันล้านดอลลาร์ (303 พันล้านดอลลาร์)
4. ลักเซมเบิร์ก : 255 พันล้านดอลลาร์ (231 พันล้านดอลลาร์)
5. สวิตเซอร์แลนด์ : 237 พันล้านดอลลาร์ (230 พันล้านดอลลาร์)
6. หมู่เกาะเคย์แมน : 231 พันล้านดอลลาร์ (226 พันล้านดอลลาร์)
7. ฮ่องกง : 223 พันล้านดอลลาร์ (196 พันล้านดอลลาร์)
8. เบลเยียม : 210 พันล้านดอลลาร์ (185 พันล้านดอลลาร์)
9. ไต้หวัน : 193 พันล้านดอลลาร์ (157 พันล้านดอลลาร์)
10. ซาอุดิอาระเบีย : 180 พันล้านดอลลาร์ (172 พันล้านดอลลาร์)
และจากการที่ "นักลงทุนต่างชาติ" ลดการถือครองพันธบัตรลง ทำให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 กลายเป็นผู้ถือครองหนี้รายใหญ่ถึง 71% ของหนี้สหรัฐทั้งหมด ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. Federal Reserve (FED)
รัฐบาลกลางเพิ่มเงินอัดฉีดอีก 344 พันล้านดอลลาร์ในคลังรวมถึงสัญญาซื้อคืนในปี 2019 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) FED ได้สำรองเงิน ซื้อ และปล่อยกู้หลักทรัพย์จำนวนมาก รวมถึงตั๋วเงินคลัง ผ่านข้อตกลงซื้อคืนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือตลาด ทำให้ตอนนี้ถือครองหนี้ทั้งหมด 2.54 ล้านล้านดอลลาร์
3. กองทุนรัฐบาลสหรัฐ
หน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาถือครองตราสารหนี้ 178 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 รวมเป็น 6.03 ล้านล้านดอลลาร์ หน่วยงานเหล่านี้รวมถึงกองทุนประกันสังคมและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและหลักทรัพย์ตราสารหนี้ เป็นสินทรัพย์ที่เป็นของผู้รับผลประโยชน์ของกองทุนเหล่านั้น
4. ธนาคารพาณิชย์สหรัฐ
ธนาคารพาณิชย์สหรัฐได้ซื้อพันธบัตรมูลค่า 131,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 ซึ่งถือรวมอยู่ที่ 924 พันล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลของธนาคารกลางสหรัฐ คิดเป็นประมาณ 4% ของหนี้สหรัฐทั้งหมด
5. หน่วยงานอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกา
หน่วยงานอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกาซื้อส่วนที่เหลืออีก 141 พันล้านดอลลาร์ในคลังในปี 2562 หน่วยงานเหล่านี้รวมถึงนักลงทุนของสหรัฐ (นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์) รวมถึงกองทุนพันธบัตรกองทุนบำนาญ บริษัทประกันภัยกองทุนป้องกันความเสี่ยง บริษัทเอกชนรวมถึง บริษัทที่ร่ำรวยด้วยเงินสดเช่น Apple และบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือครองรวมเป็น 7.0 ล้านล้านดอลลาร์หรือ 30% ของหนี้สหรัฐทั้งหมดทำให้พวกเขาเป็นผู้ถือครองหนี้รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา
ทิ้งท้าย Session 2 ด้วยบทสรุปที่ว่า "หากเกิดวิกฤตจากหนี้ครั้งนี้ 71% ของผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือชาวอเมริกัน"
Session 3 : การระบาดของ Coronavirus ตอกย้ำวิกฤตให้เกิดเร็วยิ่งขึ้น
การระบาดของโรคร้ายที่ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือนมีผู้ติดเชื้อกว่า 1 แสนคน และพรากชีวิตผู้คนไปแล้วเกือบ 3500 ชีวิต ยิ่งทำให้จีนและสหรัฐฯ แยกออกจากกันเร็วยิ่งขึ้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นในจีนก่อนหน้านี้ สุดท้ายแล้วก็ต้องวนกลับมาที่กับสหรัฐอเมริกาที่ในขณะนี้เดือดร้อนจากทั้งเรื่องการระบาด หนี้ และวิกฤต Supply
Curtis Chin นักวิชาการอาวุโสด้านเอเชียแห่งสถาบัน Milken กล่าวว่า "อันที่จริงเศรษฐกิจสหรัฐและจีนจะยังเกี่ยวพันกันในอีกหลายปีข้างหน้า ทั้งด้านห่วงโซ่อุปทาน การลงทุน และการไหลเวียนทางการค้า แต่วิกฤตไวรัสได้ตอกย้ำให้สหรัฐและคู่ค้าอื่น ๆ ของจีนเห็นว่าจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงไปที่อื่น ไม่ควรกระจุกตัวที่จีน"
Curtis Chin
การค้าระหว่างจีนและสหรัฐ หยุดชะงักตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด แม้ว่าจะมีการเซ็นข้อตกลงเฟส 1 ไปแล้วก็ตาม ซึ่งในปีที่แล้วจีนมีสัดส่วนในการค้าโลกถึง 12% บริษัทจำนวนมากรวมถึงภาคธุรกิจของสหรัฐพึ่งพาการผลิตในจีนสูงมาก
แต่การแพร่ระบาดทำให้จีนต้องปิดโรงงานยาวนานกว่าที่คาดไว้ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจระดับโลกทั้งรถยนต์และโทรศัพท์มือถือ เช่น กรณีของ Apple Inc ซึ่งมีบริษัท Foxconn ในจีนเป็นผู้ผลิตไอโฟนให้ ก็ต้องปิดโรงงานหลายแห่ง หรือบริษัท Nissan Motor ของญี่ปุ่น ก็ได้ออกมาประกาศว่าจำเป็นต้องระงับการผลิตรถยนต์ในคิวชู จังหวัดฟูกูโอกะ เพราะขาดแคลนชิ้นส่วนที่ต้องนำเข้าจากจีน นับเป็นครั้งแรกที่บริษัทแห่งนี้ต้องหยุดการผลิตของโรงงานภายในประเทศ
การแยกตัวออกจากกัน เริ่มถูกนำมานิยามตั้งแต่ตอนที่สหรัฐเปิดศึกการค้ากับจีนด้วยการจัดเก็บภาษีสินค้า โดยกล่าวว่าเป็นการลดการขาดดุลของสหรัฐฯ และการค้าที่เป็นธรรม การกระทำดังกล่าวของสหรัฐสวนทางกับกระแสโลกาภิวัตน์และการค้าเสรีที่เคยทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาและจีนเกี่ยวพันกันอย่างสูง
หลังจากเกิดสงครามการค้า การแยกตัวออกจากกันชัดเจนมากขึ้น ธุรกิจสัญชาติอเมริกัน และอีกหลายประเทศที่ดำเนินกิจการในจีนเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อเลี่ยงการถูกเก็บภาษี และยิ่งเมื่อสหรัฐประกาศแบนสินค้า Huawei โดยให้เหตุผลว่าเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง ยิ่งก่อให้เกิดความปั่นป่วนด้านห่วงโซ่อุปทานของโลก
1
และสุดท้ายเกรงว่าแม้แต่ระบบอินเทอร์เน็ตของโลก ก็จะถูกแยกออกเป็น 2 สาย คือ สายอเมริกากับสายจีน ที่ทำให้คนทั้งโลกต้องพกโทรศัพท์ 2 เครื่องหากเดินทางไปต่างประเทศ
1
Yun Sun ผู้อาวุโสและผู้อำนวยการของ Stimson Centre กล่าวว่า แท้ที่จริงสหรัฐฯกับจีนได้เข้าสู่ภาวะการทำสงครามตัดทอนกำลังกัน (War of attrition) เรียบร้อยแล้ว โดยที่ตัวแสดงและพันธมิตรของทั้งสองฝ่าย มีการเปลี่ยนแปลงกลไกและทิศทางของห่วงโซ่อุปทานของพวกตน มีการหันเหและแบ่งแยกสายโซ่อุปทานเหล่านี้เป็นฝักฝ่าย เธอเตือนว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะทำให้ในอนาคต ทั้งสองประเทศจะตัดขาดผลประโยชน์ที่มีอยู่ร่วมกันอย่างสิ้นเชิง เหลือทิ้งเอาไว้แต่ความขัดแย้งกันทางผลประโยชน์อย่างดิบเถื่อนและถ่องแท้ จะนำไปสู่การเผชิญหน้ากันทางทหาร
ความเห็นของ Yun Sun เป็นความเห็นที่ตรงกันกับพลโท Karl Eikenberry นายทหารอาวุโสที่เกษียณอายุแล้วของกองทัพบกสหรัฐฯ
Yun Sun
ผลกระทบของ Coronavirus ในปัจจุบันรุนแรงแค่ไหน ?
ตลาดหุ้นทั่วโลกตกหนักตลอดสัปดาห์นี้ การแพร่กระจายของ Coronavirus ทวีความรุนแรงมากขึ้น ดัชนีสำคัญของ Wall Street แทบทุกอันเป็นสีแดง S&P 500, Nasdaq และ Dow Jones ร่วงกว่า 12% คิดเป็นมูลค่าเงินที่สูญไปแล้วราว 3.43 ล้านล้านดอลลาร์ และล่าสุดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
หุ้นในเครือ S&P ทั้งหมด 11 ตัวหุ้นหมดไม่เหลือรอด ที่เสียหายหนักที่สุดคือ "หุ้นกลุ่มพลังงาน (Energy stocks)" ซึ่งราคาร่วงลงไปถึง 5.6% ตามมาด้วยราคาน้ำมันดิบของสหรัฐที่ร่วงไป 10%
ดัชนีความผันผวนของ Cboe* (The Cboe Volatility Index) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "มาตรวัดความกลัวของ Wall Street" พุ่งขึ้นถึง 5.86% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 ที่ 41.94 Point ตอนปิดตลาด
*CBOE ย่อมาจาก Chicago Board Options Exchange เป็นเครือข่ายผู้ให้บริการใหญ่ที่สุดที่เปิดบริการซื้อขายผลิตภัณฑ์ Bitcoin Futures ในสหรัฐอเมริกา
บริษัทสายการบินต่าง ๆ จำต้องยกเลิกเที่ยวบินกว่า 80% โดยล่าสุดสายการบิน Flybe ประกาศตัวเข้าสู่สถานะ "ล้มละลาย" พร้อมปลดพนักงานกว่า 2,500 คน
Flybe เป็นสายการบินสัญชาติอังกฤษที่ใหญ่ที่สุด มีฐานให้บริการครอบคลุมทั่วภูมิภาคยุโรป แม้ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาสายการบินได้ร้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลอังกฤษจำนวน 100 ล้านปอนด์ (กว่า 4,100 ล้านบาท) แต่ก็ไม่อาจผ่านพ้นวิกฤตไปได้
ผู้นำกลุ่มธุรกิจกาแฟคาดการณ์ว่ายอดขายในประเทศจีนในไตรมาสแรกของปีนี้จะลดลง 50%
เครื่องบินของสายการบิน Flybe
ราคาน้ำมันดิบโลกร่วงรุนแรงที่สุดในรอบกว่าทศวรรษหลังจากรัสเซียและ OPEC+ มีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องการลดกำลังผลิตน้ำมันดิบลง 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน ทำให้การเจรจาครั้งล่าสุดล่ม
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ตลาด New York ปิดร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปี
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลง 4.29$ หรือ 10.07% ปิดที่ 41.61 $/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบ Brent ร่วงลง 4.45$ หรือ 8.90% ปิดที่ 45.54 $/บาร์เรล
โดยรวมตั้งแต่ต้นปีทั้งน้ำมัน Brent และ WTI ลดลงมากกว่า 30%
ทางฝั่งจีน ผลสำรวจเศรษฐกิจไตรมาสแรก ดูรุนแรงมากขึ้น จีนขาดดุลการค้า 2 เดือนแรกปีนี้ การส่งออกลดลงถึง 17.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่การนำเข้าหดตัวลง 4% เป็นการร่วงลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2562 และแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะลดลง 14%
ส่วนการนำเข้าในช่วง 2 เดือนแรกลดลง 4% ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะร่วงลง 15% แต่อย่างไรก็ตามยอดนำเข้าดิ่งลงอย่างหนักจากเดือน ธ.ค.ที่เคยพุ่งขึ้น 16.5%
จีนมียอดขาดดุลการค้า 7.09 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ รุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่า จีนจะเกินดุลการค้า 2.46 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากที่เกินดุล 4.721 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน ธ.ค. 2562
มูลค่าการค้าต่างประเทศทั้งหมดของจีนในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ร่วงลง 11.0% สู่ 5.919 แสนล้านดอลลาร์เมื่อเทียบรายปี
การส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ ลดลง 27.7% แต่การนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.5%
ตลาดหุ้นยุโรปเองก็ปิดดิ่งลงในสัปดาห์นี้ เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นกันอย่างบ้าคลั่ง ท่ามกลางความวิตกในวงกว้างที่ทวีความรุนแรงขึ้นอีก หุ้นกลุ่มน้ำมันและก๊าซร่วงลงอย่างหนัก หลังราคาน้ำมันดิบดิ่งลงอย่างรุนแรง
นี่เป็นการดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. 2562 ซึ่งปิดตลาดในแดนลบเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ออกข้อจำกัดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด
ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 3.67% ปิดที่ 366.80 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,139.11 จุด ลดลง 221.99 จุด หรือ -4.14%,
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,541.87 จุด ลดลง 402.85 จุด หรือ -3.37%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,462.55 จุด ลดลง 242.88 จุด หรือ -3.62%
Source : marketwatch.com
หุ้นกลุ่มน้ำมันและก๊าซดิ่งลงกว่า 5% มากที่สุดในรอบกว่า 3 ปี เนื่องจากถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2560 หลังรัสเซียปฏิเสธข้อเสนอของ OPEC+ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบถูกกดดันอยู่แล้วจากความต้องการน้ำมันที่ลดลงทั่วโลก
หุ้น BP ร่วง 5.16%
หุ้น Shell ร่วง 5.85%
หุ้น Tullow oil ร่วง 15.37%
หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงด้วย โดยแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2552 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ดิ่งลง
หุ้น Deutsche Bank ร่วง 3.79% และหุ้น Commerce bank ร่วง 7.08% โดยได้รับผลกระทบจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของเยอรมนีร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งตอนนี้ติดลบทั้งหมดตั้งแต่ 2 ปี จนถึง 30 ปี
หุ้น Airbus ดิ่งลง 7.63% หลังบริษัทเปิดเผยว่าไม่มียอดสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ในเดือน ก.พ.
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.10% ในการประชุมสัปดาห์หน้า ผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ล่าสุดบ่งชี้ว่า ECB มีทางเลือกที่จำกัดอย่างมาก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของ ECB ปัจจุบันอยู่ในระดับติดลบแล้วที่ -0.50% (คือขนาดเงินฝากติดลบแล้วเศรษฐกิจมันยังแย่ ความกังวลยังไม่คลายลง คนก็ยังไม่อยากจ่ายอยู่ดี)
Session 4 : การ Brexit ของอังกฤษส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเช่นกัน
ล่าสุดการ Brexit ทำให้อังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการสิ้นสุดระยะเวลากว่า 47 ปี ของการเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป
อังกฤษเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ของโลก โดยติดอันดับ Top 5 แทบจะทุกปี ซึ่งปริมาณ GDP ของประเทศ Top 5 นี้รวมกันก็มีปริมาณเกิน "ครึ่งหนึ่ง" หรือ 50% ของ GDP โลกไปแล้ว
ข้อมูลจาก Statista วิเคราะห์ไว้ว่าการที่อังกฤษจะออกจาก EU นั้นเป็นไปได้ใน 5 กรณีดังต่อไปนี้
1. No Deal Brexit
การออกจาก EU โดยไม่มีข้อตกลงใด ๆ จะทำให้เศรษฐกิจของอังกฤษชะลอลง 9.3%
2. Canada-Style FTA Brexit
การออกจาก EU โดยมีข้อตกลงทางการค้าเสรีแบบแคนาดา จะทำเศรษฐกิจของอังกฤษชะลอตัวลง 6.7%
3. Brexit under withdraw agreement
การออกจาก EU ตามข้อตกลงที่ EU และ อังกฤษเห็นชอบร่วมกันก่อนหน้านี้ จะทำเศรษฐกิจของอังกฤษชะลอตัวลง 3.9%
1
4. Brexit under Chequers plan
การออกจาก EU ตามข้อตกลงรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างอังกฤษกับ EU จะทำเศรษฐกิจของอังกฤษชะลอตัวลง 2.5%
5. Brexit under Norway-style
การออกจาก EU โดยมีข้อตกลงแบบนอร์เวย์ จะทำเศรษฐกิจของอังกฤษชะลอตัวลง 1.4%
ตลอดระยะเวลา 3 ปี นับแต่อังกฤษเริ่มประกาศ Brexit ค่าเงินปอนด์ร่วงลงมาแล้วกว่า 15% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ มีการประเมินกันว่าค่าเงินปอนด์อาจอ่อนได้ถึง 25%
ก่อนหน้านี้อังกฤษและ EU ต่างพึ่งพาการค้าระหว่างกันสูง Brexit ย่อมส่งผลให้การค้าระหว่างภูมิภาคชะงักและธุรกิจต่าง ๆ อาจต้องปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานครั้งใหญ่
Session 5 : ทั้งหมดกำลังบ่งบอกอะไรเรา ?
นอกจากแค่รู้ว่าตลาดหุ้นตกแล้ว หากเราเข้าใจความหมายเชิงลึกของสิ่งที่ World Maker จะเสนอต่อไปนี้ จะทำให้มองเห็นภาพรวมทั้งหมดชัดเจนขึ้นไปอีก
1. ความเสี่ยงมหันต์จาก Bond Yield ที่ต่ำติดดิน
จากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก่อนหน้านี้ลดลงต่ำเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ว แต่ครั้งนี้มี 2 ประเทศแล้วที่ลดลงต่ำเป็นประวัติการณ์ใหม่อีกครั้งคือ สหรัฐฯ และเยอรมนีที่ดอกเบี้ยได้เข้าสู่โซนติดลบไปแล้ว (Negative Bond Yield)
ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำติดดินแต่งบดุลของ FED กลับไม่เป็นเช่นนั้น มันแตะระดับสูงสุดอยู่เกือบตลอดเวลา
การชะลอตัวทางเศรษฐกิจมีเหตุผลบางประการที่ทำให้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบจะไม่ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ (จริง ๆ เหตุผลก็คือปัจจัยที่ World Maker ได้อธิบายไปทั้งหมดข้างต้นแล้ว เกี่ยวกับกำลังทรัพย์ ความเชื่อมั่น และอารมณ์ของคนในขณะมีวิกฤต)
อัตราว่างงานในยุโรปขณะนี้อยู่ในระดับสูง ทำให้การใช้จ่ายด้านการลงทุนยังไม่ดีดตัวขึ้นมากและการเติบโตของ GDP จะชะลอตัวลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออ่อนตัวลงในญี่ปุ่น แม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดและยังคงต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ในทั้งสองภูมิภาค
Source : macrotrends.net
นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบยังส่งผลกระทบจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจ ระบอบการปกครองที่อัตราดอกเบี้ยต่ำในวันนี้ส่งผลร้ายต่อผู้ออมเงินบำนาญและใครก็ตามที่ต้องพึ่งพารายได้จากการฝากเงิน
สถาบันการเงินเองก็ต้องเผชิญกับความกังวลระหว่าง "การก่อตัวของฟองสบู่สินทรัพย์" และ "ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ระหว่างผู้ออมและผู้ลงทุน"
นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยติดลบยังบีบบังคับให้ธนาคารต้องนำเงินสำรองส่วนเกินมาจ่ายเป็นค่าปรับ เพราะไม่สามารถส่งต่ออัตราติดลบนี้ให้กับผู้ฝากได้เพราะไม่มีใครฝากเงิน (ใครจะฝากเงินในบัญชีธนาคารที่ทำให้เงินหายไปล่ะ ?)
ธนาคารยุโรปสูญเสียมากกว่า 1/3 ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดตั้งแต่เดือน ม.ค. 2561 เป็นต้นมา ธนาคารกลางบางแห่งรายงานว่าผู้ฝากเงินได้ขอให้เก็บเงินสดไว้ในห้องใต้ดินเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกหักเงินจากอัตราดอกเบี้ยติดลบ
ดังนั้นมาตรการล่าสุดที่ลดอัตราดอกเบี้ยและยังเสริมการ Q.E. เข้าไปอีก ยิ่งทำให้ปัญหานี้แย่ลงทวีคูณ
Source : insight.manulifeim.com
จากกราฟข้างบนเราจะเห็นได้ว่า Real GDP ไม่ได้โตขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อจำนวน Negative Bond Yield เพิ่มขึ้น
ความผิดพลาดของสถาบันการเงินหลายแห่ง คือ พวกเขาไม่เต็มใจจะกำหนดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเพราะคิดว่าจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจของพวกเขาแย่ลงไปอีก
ความจริงก็คือธนาคารกลางไม่ได้อยู่ในสถานภาพที่เหมาะกับการกระตุ้นเศรษฐกิจโลก ในอดีตทุกครั้งที่มีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้น พวกเขามักจะใช้มาตรการเดิม ๆ กลยุทธ์เดิม ๆ ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา
บัดนี้ระเบิดเวลานับถอยหลังมามากแล้ว และกำลังส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินทั่วโลก ในระยะยาวเราคาดว่าจะเห็นสถาบันการเงินทั่วโลกพยายามสร้างความน่าเชื่อถือด้วยมาตรการพิเศษ
แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน อัตราการเติบโตอยู่ในระดับต่ำ ความต้องการลงทุนต่ำ บริษัทเอกชนต่าง ๆ ก็มีความต้องการใช้เงินที่น้อยกว่าในอดีต หากธนาคารยังมีการสำรองหนี้สินเพิ่ม คาดว่าจะสูญเปล่า
กราฟข้างบนแสดงความบิดเบี้ยวของระบบเศรษฐกิจโลกมาอย่างยาวนาน "ดอกเบี้ยต่ำติดดิน" แต่ธนาคารกลับปล่อยกู้น้อยลง และ "ลูกหนี้เป็นหนี้เยอะกว่าตอนที่ดอกเบี้ยแพง"
การที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไป และเป็นระยะเวลานานเกินไป จะทำให้เกิดฟองสบู่ในสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ เนื่องจากขนาดของตลาด "ตราสารหนี้" ทั่วโลกรวมกันมีอยู่ถึง $100 Trillion(100 ล้านล้านดอลลาร์) และยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการอัดฉีดจากธนาคารกลาง ไม่ว่าจะเป็น FED, ECB หรือ BOJ
นึกภาพว่ากองทุนขนาดใหญ่ๆ เช่น กองทุน กบข. ที่ถือตราสารหนี้ไว้ในพอร์ตมากกว่า 70% แล้วเจอสถาวะที่ดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานาน ๆ และมีเงินก้อนใหม่เข้ามา แต่ต้องเอาไปลงทุนในพันธบัตร 10 ปีที่ให้อัตราดอกเบี้ยไม่ถึง 2% มันจะเลวร้ายแค่ไหนกัน ?
แน่นอนว่า กองทุนเหล่านี้จะต้องย้ายเม็ดเงินไปลงทุนในตราสารประเภทอื่น นั้นก็คือ หุ้น ซึ่งมีสภาพคล่องสูงกว่าในสถานการณ์เช่นนี้
ประโยคก่อนหน้าคงจะเป็นจริงหากเป็นในอดีต แต่ในปัจจุบันที่ตลาดหุ้นก็เก็งกำไรกันมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี จากมาตรการ Q.E. ครั้งก่อน ๆ ทำให้มูลค่ามันสูงเกินความเป็นจริงไปมากแล้ว
เสริมด้วยวิกฤตโคโรน่าที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั้งโลกต้องหยุดชะงัก ตลาดหุ้นกำลังถูกเทขายอย่างหนัก ตลาดพันธบัตรเองก็ร่วงต่ำเป็นประวัติการณ์ กองทุนเหล่านี้หมดทางเลือก...
ตลาดหุ้นทั่งโลกนั้นมีขนาด Market Size เล็กกว่าตลาดตราสารหนี้ทั้งโลกประมาณ 2 เท่า เงินเพียงเล็กน้อยที่โยกออกจากตราสารหนี้ มาลงทุนในตราสารหุ้น เลยสามารถดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่า
เมื่อสำรวจความนิยมลงทุนในตราสารหนี้ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่าก่อนเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 ค่อนข้างมาก กราฟข้างล่างจัดทำโดย Wall Street Journal แสดงให้เห็นว่า เมื่อดอกเบี้ยต่ำลง นักลงทุนมักจะเอาเงินเข้าลงทุนในตราสารหนี้ (หวังว่ามันจะขึ้น) สำหรับกองทุนรวมในสหรัฐฯ ก็พบว่า สัดส่วนการลงทุนในหุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond) เพิ่มขึ้นตลอด 7 ปีที่ผ่านมา
กลุ่ม PIIGGS** ที่มีปัญหาจนทำให้เกิดวิกฤตหนี้ในยุโรปเมื่อปี 2011 ในปัจจุบันปัญหาก็ยังมีอยู่ หนี้ก็ไม่ได้ลดลง แต่เพราะธนาคารกลางมีการทำ Q.E. อย่างต่อเนื่อง ประเทศเหล่านี้เลยยังสามารถหาแหล่งเงินกู้ในต้นทุนที่ถูก
**PIIGGS เป็นคำที่ใช้เรียกรัฐอธิปไตยในทวีปยุโรปที่ประสบปัญหาหนี้สาธารณะอันประกอบไปด้วย
- โปรตุเกส (P : Portugal)
- อิตาลี (I: Italy)
- ไอร์แลนด์ (I: Ireland)
- กรีซ (G: Greece)
- อังกฤษ (G: Great Britain)
- สเปน (S: Spain)
กราฟที่แสดงข้อมูลสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศในกลุ่ม PIIGGS รวมถึงเยอรมนี สหภาพยุโรป และกลุ่มยูโรโซนในปี พ.ศ. 2552 (Source : th.wikipedia.org)
ผลจากการที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ จากการเก็งกำไรของสถาบันการเงินและนักลงทุนรายย่อย และบวกกับนโยบายการลดดอกเบี้ยลงไปเรื่อย ๆ ของธนาคารกลาง ทำให้นักลงทุนเริ่มเกิดอาการ "Bias" (คิดไปเองโดยมีเหตุผลรองรับ) เดาว่ากำไรในอนาคตของตลาดหุ้นจะโตอย่างก้าวกระโดด และกล้าลงทุนในจำนวนเงินที่มากกว่าเดิม
ความผิดเพี้ยนเช่นนี้ดำเนินต่อมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งความเสี่ยงได้แพร่ขยายตัว และแพร่กระจายไปสู่ทั่วทุกมุมโลก (ซึ่งก็คือเหตุการณ์ในปัจจุบันนี้)
บัดนี้ นักลงทุนทั้งหลายเริ่มหันกลับมามองที่ Price แล้วพบว่ามูลค่ามาไกลเกินกว่า "ความเป็นจริง" และเมื่อใดที่นักลงทุนทั่วโลกเห็นตรงกัน "ปรากฎการเทขายครั้งยิ่งใหญ่" ย่อมเกิดขึ้น
จะเห็นได้ว่าปัจจัยทั้งหมดเชื่อมโยงต่อกันอย่างเหนียวแน่นและมีนัยสำคัญ นี่คือห่วงโซ่ของวิกฤตครบวงจร
2. วิกฤต Coronavirus ในปัจจุบันคือการผสมผสานกันระหว่าง The Great Depression และ The Hamburger Crisis
- The Great Depression ในปี 2473 -
เป็นวิกฤติที่เกิดจากการตกต่ำเป็นอย่างมากในส่วน Demand ของเศรษฐกิจ
เป็นช่วงเวลาที่การซื้อขายสินค้าแบบใหม่เริ่มได้รับความนิยม นั่นก็คือการซื้อเป็น "เครดิต" หรือซื้อ "เงินผ่อน" ซึ่งนโยบายของธนาคารกลางตอนนั้นสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจ ผู้คนจึงพากันไปกู้เงินและนำมาลงทุนในตลาดหุ้นจนหมดตัว เพราะหวังจะรวยทางลัด
คนอเมริกันนับแสนอดอยากจาก The Great Depression และต้องเข้าคิวรอรับอาหารและของแจกฟรีจากหน่วยงานการกุศล
ระหว่างนั้นก็เกิดภาวะเก็งกำไรขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นของหลายบริษัทสูงเกินความเป็นจริงหลายเท่าตัว เป็นช่วงหลังจากเศรษฐกิจอเมริกาผ่านจุดสูงสุดและกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย
จนมาถึง Black Tuesday เป็นฝันร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ทั้งตัวผู้ลงลงทุนเองที่ถูก "บังคับขาย" จนหมด และยังต้องหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยของ Broker อีก ด้านโบรคเกอร์เองก็เกิดหนี้สูญมากมายเพราะลูกค้าไม่สามารถชำระเงินได้
หุ้นที่ประชาชนถืออยู่ในมือกลายเป็นแค่กระดาษไปในพริบตา ธนาคารล้มละลายหลายสิบ หลายร้อยแห่ง เพราะประชาชนไม่สามารถคืนเงินกู้ได้ คนที่ฝากเงินไว้กับธนาคารที่ล้มละลายก็ต้องสูญเงินทั้งหมดไปในทันที เศรษฐกิจของอเมริกาในเวลานั้นอยู่ในภาวะเลวร้ายอย่างมาก ผู้คนต่างก็ตื่นตระหนก
สินค้าต่าง ๆ กลายเป็นสินค้าที่ขายไม่ออกเนื่องจากคนไม่มีเงิน คนที่มีเงินก็ไม่กล้าใช้เงิน โรงงานหลายแห่งต้องปิดกิจการ และทำให้ 1 ใน 4 ของคนในอเมริกาว่างงาน คนผิวสีกว่าครึ่งไม่สามารถหางานได้ เหล่าผู้คนต่างก็อดอยาก ไม่มีแม้แต่เงินจะซื้ออาหาร
ความพินาศของตลาดหุ้นส่งผลให้คนขาดความเชื่อมั่นในธนาคาร มีคนจำนวนมากแห่กันไปถอนเงินออกจากธนาคารพร้อม ๆ กันจำนวนมหาศาล เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้ดัชนี Dow Jones ร่วงลงไปกว่า 70 %
สาเหตุหลักที่นำมาสู่ความหายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1929 คือ การที่มูลค่าของธุรกิจถูกเพิ่มขึ้นจากการเก็งกำไร แทนที่จะเพิ่มจากความสามารถในการผลิตที่แท้จริง (Productivity)
- The Hamburger Crisis ในปี 2551 -
1
เป็นวิกฤตที่มาจากการพังลงของตลาดเงินทั่วโลก เนื่องจากการขาดสภาพคล่องทางการเงิน
ตามสามัญสำนึกของคนทั่วไปแล้ว "บ้าน" คือ "ทรัพย์สิน" ที่มีความปลอดภัยสูงเพราะเหตุผลหลายอย่าง เช่น บ้านเป็นที่อยู่อาศัย ตรงข้ามกับหุ้นที่เป็นแค่กระดาษใบเดียวหรือสัญญาในคอมพิวเตอร์ บ้านจึงกลายเป็นทางเลือกสามัญสำหรับใครก็ตามที่อยากลงทุนกับอะไรสักอย่างเป็นจำนวนเงินมากๆ
แต่แล้วก็เกิดวิกฤตครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ที่ "บ้าน" ทำให้ผู้คนสูญเสียความมั่งคั่งกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ วิกฤตที่เกือบจะทำให้ระบบ "ทุนนิยม" หายไปจากโลกใบนี้ และนำไปสู่การล่มสลายของสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง "Lehman Brother"
Source : investerest.co
ช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจกำลังดีขึ้นเรื่อย ๆ มีการสร้างและซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก ตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีขนาดใหญ่กว่า 60% ของเศรษฐกิจทั้งหมดของสหรัฐในตอนนั้น และมันกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ฝั่งรัฐบาลเองก็กำลังกระตุ้นเศรษฐกิจและสนับสนุนให้คนมีบ้าน และอัตราดอกเบี้ยของ FED (ธนาคารกลางสหรัฐ) ซึ่งถูกใช้อ้างอิงกับธนาคารทั่วประเทศอยู่ในระดับราว ๆ 2% ซึ่งถือว่าไม่สูงนัก
สถาบันการเงินต่าง ๆ จึงมีนโยบายปล่อยกู้มากขึ้นและผ่อนปรนขึ้น คนที่อยากเป็นเจ้าของบ้านก็สามารถกู้เงินมาซื้อบ้านได้ง่าย ๆ โดยแทบไม่ต้องใช้หลักประกันเลย ด้วยสินเชื่อ “Subprime Mortgages” หรือ “สินเชื่อที่ปล่อยให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ" ลูกหนี้กลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นลูกหนี้ที่ประวัติไม่ดี มีโอกาสเบี้ยวหนี้สูง และภายหลังจึงกลายเป็นอีกชื่อเรียกหนึ่งของวิกฤตการเงินครั้งนี้ “วิกฤตซับไพร์ม” แปลว่า วิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพ
ปัญหาเริ่มเด่นชัดขึ้นตั้งแต่ปี 2004 หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จุดนี้เองที่การซื้อบ้านเริ่มชะลอตัวลงรอบแรก ด้วยอัตราดอกเบี้ยจาก 2.25% ในปี 2004 มาอยู่ที่ 5.25% ในปี 2006 ทำให้คนเริ่มไม่อยากซื้อบ้าน และเมื่อคนไม่อยากซื้อบ้าน ราคาก็ร่วง
เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงเกิดการยึดทรัพย์ไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งวิกฤตลุกลามใหญ่โต
และแล้วในปี 2006 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ถึงทางตัน ด้วยราคาบ้านที่สูงกว่าความจริงมานานแล้ว พร้อมกับที่ Supply ในตลาดอสังหาเพื่อการลงทุนเริ่มมีมาก ทำให้ต้องลดราคาลงแข่งกัน ประกอบกับเวลานั้นดอกเบี้ยของสหรัฐอยู่ในช่วงขาขึ้น (เนื่องจาก FED ต้องการลดความร้อนแรงของตลาดอสังหาฯ) และมีการปล่อยสินเชื่อคุณภาพต่ำมากเกินไป
ผลกระทบที่ธนาคารและสถาบันทางการเงินได้รับในเวลานั้นก็คือการขาดทุนอย่างย่อยยับ Lehman Brothers ไม่สามารถดำเนินกิจการได้อีกต่อไป เพราะมีภาระหนี้สินถึง 6.13 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
15 กันยายน ปี 2008 Lehman Brothers ประกาศล้มละลาย ราคาหุ้นดิ่งเหวทันที 93 % ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ร่วงลงกว่า 350 จุด (เกือบ 50%) จากข่าวดังกล่าว นอกจากนี้ยังส่งแรงสะเทือนไปทั้งตลาดเงินทั่วโลก
- วิกฤต Coronavirus ในปัจจุบัน -
วิกฤต Coronavirus ครั้งนี้ ถือว่าเป็นส่วนผสมของวิกฤติ 2 อย่างแรก กล่าวคือ เป็นวิกฤติที่มาจากความตกต่ำเป็นอย่างมากในส่วน Demand ของเศรษฐกิจ และ การขาดสภาพคล่องอย่างหนักในตลาดเงิน
และที่หัวข้อบทความเขียนไว้ว่า "ร้ายแรงกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์" ก็เพราะวิกฤต Coronavirus มาพร้อมกับปัจจัยเสี่ยงที่ไม่เคยเกิดขึ้นในวิกฤตสะเทือนโลก 2 ครั้งก่อน ซึ่งได้แก่ "ความตกต่ำในส่วนของอุปทาน (Supply Shock)"
แก่นแท้ของปัญหา มาจากการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่น้อยลงของคนทั่วโลก ด้วยความกังวลด้านความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตของตนเองที่เพิ่มขึ้นมากจากการแพร่ระบาดของ Coronavirus
ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบให้ Demand ของสินค้าและบริการที่น้อยลง "หนี้" ที่ท่วมโลกอยู่ในขณะนี้ยิ่งเสริมให้บริษัทขนาดกลางและเล็กขาดสภาพคล่องทางการเงินหนักเข้าไปอีก ส่งผลกระทบไปถึง Supply Chain ในการผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งในยุคปัจจุบันใช้ระบบ Logistics ที่หากจุดใดจุดหนึ่งของห่วงโซ่ขาดหายหรือหยุดชะงักไป จะทำให้เกิดการขาดแคลนของสินค้าและบริการดังกล่าวไปทั้ง Supply Chain เกือบจะทันที
การระบาดของ Coronavirus ยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี และธนาคารกลางไม่สามารถที่จะช่วยแก้ปัญหาในจุดที่เป็นเศรษฐกิจจริงนี้ได้ สิ่งที่พอจะเป็นความหวังมากที่สุดก็คือเทคโนโลยีและกลยุทธ์วิธีการทางการแพทย์ในปัจจุบัน เพราะหากยังไม่มีอะไรที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดครั้งนี้ได้ วิกฤตจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาที่ผ่านไป
3. สัญญาณของราคาน้ำมันกำลังบ่งบอกถึงความเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก
มี 2 ประเด็นสำคัญในหัวข้อนี้ที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมดคือ
1. ราคาน้ำมันตอนนี้ถูกมากเมื่อเทียบกับทองคำ
2. ทองคำกำลังมักตอบสนองได้ดีต่อวิกฤตครั้งใหญ่
ประเด็นที่ 1 : ราคาน้ำมันตอนนี้ถูกมากเมื่อเทียบกับทองคำ
ราคาน้ำมันได้ลดลงอย่างมากในช่วงเดือนที่ผ่านมา แม้ก่อนหน้านี้จะเป็นช่วงของขาขึ้น หรือตลาดกระทิง มันแสดงให้เห็นว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินที่สำคัญบางอย่างอาจจะเกิดขึ้นตามมา
หลังมีการลอบสังหารนายพล Qasem Soleimani ของอิหร่านด้วยการทิ้งระเบิดจากคำสั่งของประธานธิปดี โดนัล ทรัมป์ อิหร่านตอบโต้ด้วยการโจมตีฐานทัพของกองกำลังสหรัฐในอิรัก หลังจากนั้นมีการปิดภาคการผลิตน้ำมันเกือบทั้งหมดในประเทศลิเบีย ก่อนจะเกิดการเก็งกำไรน้ำมันขึ้นไปถึง 72 $/บาร์เรล ในต้นเดือน ม.ค. 2563 และตามมาด้วยการเทขายครั้งใหญ่
บริษัท National Oil Coperation (NOC) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของรัฐบาลลิเบียเปิดเผยว่า กำลังการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียลดลงจากกว่า 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน สู่ระดับต่ำกว่า 200,000 บาร์เรล/วัน เนื่องจากกองกำลังตะวันออกของลิเบียสั่งปิดท่าเรือลำเลียงน้ำมันและแหล่งน้ำมันภายในประเทศ
NOC ระบุในแถลงการณ์ว่า "ปัจจุบันกำลังการผลิตน้ำมันอยู่ที่ 187,337 บาร์เรล/วัน โดยความเสียหายจากการปิดท่าเรือและแหล่งน้ำมันนั้นคิดเป็นมูลค่า 931,775,672 ดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ ก่อนหน้านั้นสหรัฐฯ ได้มีมาตรการ "คว่ำบาตร" บริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศเวเนซุเอลา ทำให้ยิ่งฉุกราคาน้ำมันเข้าสู่สภาวะตกต่ำลงเรื่อย ๆ ทำให้ในปัจจุบันราคาน้ำมันร่วงลงมาอยู่ระดับต่ำกว่า 50 $/บาร์เรล
ประเด็นที่สอง : ทองคำกำลังมักตอบสนองได้ดีต่อวิกฤตครั้งใหญ่
ในประเด็นแรกเราพูดถึงราคาน้ำอย่างเดียว แต่ประเด็นที่ 2 จะเปรียบเทียบอัตราส่วนระหว่างราคาน้ำมันและทองคำ และวิเคราะห์ให้เห็นว่ามันบ่งบอกถึงอะไร
ในความเป็นจริงแล้วมีหลายปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่ตามหลักจิตวิทยาแล้ว การกระทำของเรามักจะมีผลลัพธ์ออกมาจากสิ่งที่เราเชื่อว่ามันจะกลายเป็นความจริง และสิ่งที่เราเชื่อว่าจะเป็นจริงนั้น มักมาจากสิ่งที่เราเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต
ดังนั้นแล้วสิ่งที่จำเป็นต้องพูดถึงอย่างยิ่งก็คือ ณ ตอนนี้ อัตราส่วนทองคำต่อน้ำมัน (Gold/Oil Ratio) อยู่ในระดับสูงมาก ๆ และในอดีต ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา มันเป็น "ทุกครั้ง" ที่ Gold/Oil Ratio มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก กราฟข้างล่างจะทำให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพอย่างชัดเจน
เราลองมาย้อนรอยเหตุการณ์สำคัญกระทบราคาทองคำดูครับ
Phase 1 (1970-1980)
- 1971 อเมริกาประกาศยกเลิกการใช้ทองคำเป็นตัวค้ำประกันเงินดอลลาร์ กำหนดอัตราแลกเปลี่ยน 35 $/Oz ทองคำ
- 1973 การรวมตัวของกลุ่ม OPEC น้ำมันและทองคำพุ่งขึ้นกว่า 100 $/Oz
- 1979 การปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์อิหร่าน และความหวั่นวิตกในตะวันออกกลาง เดือนธันวาคมราคาทองคำพุ่งขึ้นทะลุ 500 $/Oz
- 1979 โซเวียตบุกอัฟกานิสถาน
- 1980 ราคาทองคำทำ High ไว้ที่ 870 $/Oz
Phase 2 (1981-2000)
- 1981 เศรษฐกิจดี เงินดอลลาร์มีเสถียรภาพ พบแหล่งทองคำใหม่ ๆ ราคาทองคำตกลงมาจนถึง 300 $/Oz
- 1986 ปัญหาการเมืองในแอฟริกาใต้ นักลงทุนคาดว่าแอฟริกาใต้จะงดการส่งออกทองคำ ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น
- 1996 IMF และประเทศต่าง ๆ เทขายทองคำ ทำให้ราคาทองคำร่วงต่ำสุดที่ 252.80 $/Oz
Phase 3 (2001-2012)
- 2001 เศรษฐกิจจีนและอินเดีย เติบโตอย่างรวดเร็ว ตลาดทองคำเริ่มฟื้นตัว
- 2001 เหตุการณ์ 9/11 ราคาทองคำพุ่งขึ้นวันเดียวถึง 5%
- 2005 ผลจากเฮอร์ริเคนแคทริน่า ราคาทองคำขึ้นไปถึง 536 $/Oz
- 2008 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทองคำพุ่งขึ้นถึง 872 $/Oz (เกิดความไม่เชื่อมั่นในการถือครองพันธบัตรสหรัฐ ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มทยอยทิ้งพันธบัตรสหรัฐไปซื้อทองคำแทน)
- 2012 ราคาทองคำขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1,600-1,800 $/Oz
- 2012 ราคาทองคำเริ่มปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาสที่ 4 ของปี
Phase 4 2013 - ปัจจุบัน
- 2013 ราคาทองคำอยู่ที่ระดับ 1657.50 $/Oz
- 2015 ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ยกเลิกมาตรการควบคุมสกุลเงินฟรังก์ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 12 ปี
- 2015 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี ราคาทองคำร่วงต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ 1049.40 $/Oz
- 2016 เศรษฐกิจโลกชะลอตัว อัตราการว่างงานสูง ตลาดหุ้นตก หนุนราคาทองคำให้สูงขึ้น
- 2017 เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ธนาคารกลางหลายประเทศ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
- 2017 ราคาทองคำค่อย ๆ ปรับขึ้นเตรียมรับภาวะเงินเฟ้อในอนาคต
- 2018 สหรัฐยังคงนโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
- 2019 ความกังวล Brexit , สงครามการค้าสหรัฐ-จีน , สงครามแก้แค้นสหรัฐ-อิหร่าน หนุนราคาทองคำให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ
- 2020 หลังข่าวการยิงขีปนาวุธจากอิหร่าน ทองคำพุ่งขึ้น 5% ไปอยู่ที่ระดับ 1,611 $/Oz สูงสุดในรอบกว่า 6 ปี
และล่าสุดในปัจจุบัน 8/03/2563 วิกฤต Coronavirus กำลังลุกลามไปแล้วในกว่า 103 ประเทศทั่วโลก (โลกเราตอนนี้มีทั้งหมด 193 ประเทศ) ราคาทองคำพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปีอีกครั้งที่ราคา 1691.89 $/Oz เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาในเวลาประมาณ 3.07 น. ก่อนร่วงลงเล็กน้อยและปิดตลาดที่ราคา 1674.52 $/Oz
ประเด็นแถม : ราคาน้ำมันที่ต่ำลงหมายถึงเหมืองทองคำจะสามารถทำกำไรจากการผลิตทองคำได้มากขึ้น
ประเด็นนี้ไม่สำคัญเท่าไหร่นักแต่ที่อยากพูดถึงก็คือล่าสุดอินเดียพึ่งขุดพบแหล่งแร่ทองคำขนาดใหญ่ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถขุดแร่ทองคำถึง 3000 ตัน ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ตรงนี้ว่าอินเดียอาจใช้ประโญชน์จากวิกฤตน้ำมันราคาถูกเร่งขุดทองคำก็เป็นได้ สิ่งที่ตามมาก็คือการเก็งกำไรทองคำล่วงหน้านั่นเอง (ก่อนหน้านี้ตลาด Gold Futures พุ่งทันทีที่มีข่าวออกมา)
มาถึงท้ายมหากาพย์บทความนี้กันแล้ว ใครอ่านถึงตรงนี้คงได้ความเข้าใจไปไม่มากก็น้อย ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าตอนนี้ทองคำแทบจะเป็นสินทรัพย์เดียวที่ราคาพุ่งทะยานอย่างสวนทางกับราคาสินทรัพย์อย่างอื่นเกือบทั้งหมดในโลกนี้ นอกจากทองคำแล้ว ที่เห็นจะราคาขึ้นก็พอจะมีพวกหุ้นบริษัททางการแพทย์ต่าง ๆ ที่ตอนนี้กำลังค้นคว้าวัคซีนกันให้วุ่น
ซึ่งในตอนแรก World Maker คิดว่าจะเจาะลึกทองคำลงไปในบทความนี้เลย แต่พอไล่ย้อนขึ้นไปอ่านปรากฎว่ามันยาวมาก ๆ แล้ว ดังนั้นเรื่องของทองคำ จะเขียนบทวิเคราะห์เชิงลึกแบบนี้ให้อีกในโอกาสหน้านะครับ
บทสรุปโดย World Maker
1. กลไกตลาดโลกของเราถูกบิดเบือนมาแล้วเป็นเวลา 49 ปี ตั้งแต่การยกเลิกมาตรฐานทองคำผูกกับค่าเงินดอลลาร์ในปี 2514 หลังจากนั้นเกิดการเก็งกำไรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลดดอกเบี้ยและมาตรการ Q.E. ทำให้ตลาดไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงออกมา
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการที่อัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ต่ำเกินไป ในระยะสั้นมันอาจจะดีตรงที่ทำให้ Fund Flow ไหลเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง แต่ในระยะยาวมันจะทำให้สินทรัพย์เสี่ยงเหล่านั้น ราคาปรับตัวสูงเกินไป จนไม่สมเหตุสมผล
ที่รู้ก็คือระเบิดเวลาลูกนี้กำลังทำงาน แต่ที่ไม่รู้ก็คือมันถูกตั้งเวลาให้ระเบิดเมื่อไหร่ ? แล้วจะมีหน่วยกู้ภัยมาช่วบให้โลกรอดพ้นวิกฤตหรือไม่ ?
2. วิกฤตเศรษฐกิจโลกเกือบทุกครั้งเกิดขึ้นจากสาเหตุเดิม ๆ คือ
- ความโลภ
- การกู้ยืม
- การเก็งกำไร
- หนี้สิน
- ภัยพิบัติตามธรรมชาติ
- นโยบายที่ผิดพลาดของสถาบันการเงิน
- การที่มูลค่าของธุรกิจถูกเพิ่มขึ้นจากการเก็งกำไรมากเกินไป แทนที่จะท้อนมูลค่าที่แท้จริง
3. ต่อให้ควบคุมการแพร่ระบาดของ Coronavirus ได้แล้ว เราก็ยังมีปัญหาใหญ่อื่น ๆ รออยู่อีกเยอะ อย่าลืมเรื่องหนี้ที่ยังล้นโลกอยู่ในขณะนี้ อย่าลืมเรื่องสงครามการค้าที่พึ่งลงนามดีลเฟสแรกไป อย่าลืมเรื่องผลกระทบจาก Brexit อย่าลืมความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังหาข้อตกลงไม่ได้และทวีความรุนแรงมากขึ้น และอย่าลืมว่าภัยพิบัติมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ
4. ในภาวะเสี่ยงเช่นนี้ การมีความรู้ทางการเงินและการติดตามสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้คุณสามารถเตรียมรับเพื่อที่จะรับมือกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
5. สถาบันการเงินนับต่อจากนี้ จะมีบทบาทมากขึ้นในการ Funding กิจกรรมของภาคเอกชนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดกลางและเล็กโดยในช่วงที่มีการระบาดของ Coronavirus ผลประกอบการของบริษัทโดยส่วนใหญ่จะย่ำแย่ลง ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ยิ่งถูกลดอันดับเครดิตให้แย่ลง จนกลายบริษัทที่ไม่น่าลงทุน
เนื่องจากบริษัทเหล่านี้เป็นแหล่งการจ้างงานให้กับตลาดแรงงานค่อนข้างมาก ทำให้รัฐบาลต้องมอบหมายให้กับสถาบันการเงินเป็นแหล่งเงินทุนใหม่ แทนที่การหาเงินทุนจากตลาดเงินหรือการระดมทุน
แต่ถ้าตัวเลขและมาตรการทางเศรษฐกิจยังถูกบิดเบือนต่อไปจนมากเกินเยียวยา(ซึ่งตอนนี้ก็อาจจะมากเกินไปแล้ว) จะทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือบริษัทเหล่านี้อีกต่อไป
ยกตัวอย่างจีนในวันนี้ นอกจากมาตรการลดต้นทุนทางการเงิน และเสริมสภาพคล่องแล้ว ยังได้เน้นในการหาแหล่งเงินให้กับภาคธุรกิจและพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจาก Coronavirus
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
Reference

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา