19 มิ.ย. 2020 เวลา 11:27
ทำไมเรามักเข้าใจผิดว่าตัวเอง “ดีกว่าคนอื่น” รู้ไหมสิ่งนี้จะก่อความเกลียดชังขึ้นในจิตใจ มาหาคำตอบกับ “มองเปลี่ยนมุม” ว่าเหตุใดคนถึงเกลียดกัน
ในชีวิตของผมได้พบกับผู้คนมากมาย ที่ทุกข์ทรมานอยู่กับ “ความเกลียดชัง” ไม่ว่าจะเป็น “ลูกเกลียดพ่อแม่-ภรรยาเกลียดสามี-น้องเกลียดพี่” แต่คุณเคยสงสัยไหมครับ...ว่าทำไมคนเราจึงต้องเกลียดชังกัน? เมื่อเกลียดใครสักคน เรามักคิดว่าเพราะคนๆ นั้น มาทำบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ดีกับเรา หรือมีพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ
แต่ “มองเปลี่ยนมุม” วันนี้ผมอยากจะแสดงให้เห็นถึงโลกของจิตใจ อันเป็นสาเหตุที่แท้จริงของ “ความเกลียดชัง” แต่ก่อนที่จะรู้ว่าเพราะเหตุใด “คนถึงเกลียดกัน” ผมขอพูดถึงเรื่อง “ความชั่วร้าย” ที่มีอยู่ในตัวทุกคนก่อน โดยจะยกตัวอย่างอาการของ “โรคเรื้อน” เพื่อจะให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น
คนที่เป็น “โรคเรื้อน” นั้น เริ่มจากร่างกายได้รับเชื้อโรคเรื้อนเข้าไป ช่วงแรกๆ จะยังไม่มีอาการ บางคนรับเชื้อตอนอายุ 18-19 ปี และผิวพรรณยังดูเปล่งปลั่งสวยงาม ดูจากภายนอกไม่รู้ได้เลยว่าคนๆ นี้ติดเชื้อหรือไม่ เพราะเชื้ออาจใช้เวลาฟักตัว 5-40 ปีกว่าจะเริ่มออกอาการ ตอนออกอาการนี่แหละครับ ผิวหนังจะเริ่มเป็นแผลด่างดวง พุพองทีละเล็กละน้อย ในช่วงนี้ผู้ป่วยยังใช้เครื่องสำอาง หรือใส่เสื้อผ้าปกปิดแผลตามตัวได้
ทว่า..เมื่อเวลาผ่านไปเป็น 10 ปี อาการจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยจะมีแผลทั่วทั้งตัว ไม่สามารถปกปิดได้อีกต่อไป นิ้วมือและนิ้วเท้าจะเน่าหลุดออกไปโดยที่ไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำ
“สภาพจิตใจของคนเรา” จึงเหมือนกับคนที่ติด “โรคเรื้อน” สิ่งที่เรามีมาตั้งแต่เริ่มต้น คือ เชื้อของความชั่วร้ายที่ฝังอยู่ในใจ คนมากมายไม่รู้เรื่องนี้ มักจะมองเห็นแต่ความดี ความเก่ง และความสวยงามของตัวเอง และเข้าใจว่าตนเป็นคนดี เป็นเหมือนผู้ป่วยโรคเรื้อนระยะแรกที่อาการยังไม่แสดงออก ทำให้คิดไปว่าตัวเองไม่มีโรค
คนภายนอกจะรับรู้ว่าคนๆ นี้เป็นโรคเรื้อนหรือไม่? ก็ต่อเมื่อได้เห็นอาการที่แสดงออกมา เช่นเดียวกับการตัดสินคนๆ หนึ่ง ว่าเป็น “คนดี” หรือ “คนเลว” จากการกระทำที่แสดงออก โดยที่ลืมไปว่าแท้จริงแล้วทุกคนก็มีเชื้อของความชั่วร้ายเหมือนกัน ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นใจ อาการของความชั่วร้ายก็พร้อมจะแสดงออกมา สังเกตดูสิครับว่าไม่เคยมีใครสอนให้เราโกหก ขโมย หรืออิจฉาต้องทำอย่างไร แต่คนเรากลับทำเป็นโดยอัตโนมัติ ในทางกลับกันความดีต่างหากที่ต้องมาสอนกันภายหลัง
“การพยายามทำความดีของคน” ก็เหมือนกับการที่ผู้ป่วยโรคเรื้อน พยายามปกปิดแผลที่เริ่มพุพอง แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าพยายามอย่างไร ความชั่วร้ายก็พร้อมจะผุดขึ้นมาจากจิตใจของคนเสมอ เหมือนกับพยายามสอนปูให้เดินตรง หรือเช่นว่า...คุณรู้ว่าการโกหกไม่ดีก็พยายามเป็นคนซื่อสัตย์ ไม่โกหก แต่จนแล้วจนรอดคุณก็โกหกจนได้ ทีนี้คุณก็พยายามอีกครั้ง และได้แต่พบว่าตัวเองกลับไปทำแบบเดิม เพิ่มพูนความชั่วร้ายให้ตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่สิ้นสุด
คนเราสามารถมองเห็นความชั่วร้ายของคนอื่นได้มากมาย และตัดสินว่าคนโน้นคนนี้น่ารังเกียจอย่างไร? แบบการมองเห็นคน “โรคเรื้อน” ระยะสุดท้าย แต่กลับไม่สามารถมองเห็นจิตใจที่แท้จริงของตัวเอง...ว่ามีสภาพไม่ต่างจากเขาเลย
คนเรามักจะให้ตัวเองอยู่ในจุดที่กลางๆ เป็นคน “โรคเรื้อน” ระยะกลาง คือถึงจะมีความชั่วร้ายเป็นแผลออกมาให้เห็นบ้าง แต่ก็มีข้อดีอยู่ไม่น้อย จึงมักเข้าใจผิดว่าตัวเอง “ดีกว่าคนอื่น” และจิตใจนี้นี่เองครับ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความเกลียดชัง ลองคิดดูนะครับว่า ณ วันนี้วันที่คุณมีหน้าที่การงาน การศึกษา และสถานะทางสังคมที่ดี สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ หากมีใครสักคน “โยนเศษอาหารที่เขากินเหลือมาให้คุณกิน” คุณจะรู้สึกอย่างไรครับ?
แน่นอนว่าต้องโกรธเกลียดเขาใช่ไหม? แต่ถ้าลองเปลี่ยนใหม่ล่ะครับ คุณเป็นเพียงขอทานหิวโซ ที่มีแผลทั้งตัว แม้แต่สุนัขก็ยังมาเลียแผลของคุณ แล้วมีคนโยนเศษอาหารมาให้กิน คุณยังจะโกรธจะเกลียดเขาได้อยู่ไหม แม้สิ่งที่คนอื่นทำกับคุณไม่ได้เปลี่ยนไป แต่ทำไมผลจึงต่างกัน
นี่แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้เกลียดคนอื่น เพราะเขาทำไม่ดีกับเรา แต่ความเกลียดชังนั้นขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของตัวเราเอง ที่มองว่าตัวเรานั้นดีกว่าคนอื่นๆ ต่างหาก
สาเหตุที่แท้จริง ซึ่งทำให้เราเกลียดชังคนอื่นได้ ก็เพราะคิดว่าตนเองดีกว่าคนที่เราเกลียด ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ได้เห็นสภาพจิตใจของตัวเอง ว่าแท้จริงแล้วเราไม่ได้ดีไปกว่าคนอื่น ทุกคนมี “เชื้อของความชั่วร้าย” ที่พร้อมจะแสดงอาการออกมาได้ทุกเมื่อๆ เจอสถานการณ์ที่มากระตุ้น เหมือนกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ “โรคเรื้อน”เข้าไปแล้ว รอเพียงแต่วันที่แผลเน่าเปื่อยแสดงออกมาอย่างเต็มที่
จึงไม่ได้ต่างอะไรจากคนอื่น หรือแม้กระทั่งเราเอง อาจจะน่ารังเกียจกว่าเขาด้วยซ้ำ เมื่อรู้ตนเองเช่นนั้นก็สามารถละทิ้ง “ความเกลียดชัง” ที่มีต่อคนอื่น และสามารถออกจาก ความทุกข์ทรมาน หรือจาก “ความเกลียดชัง” ได้โดยที่เราไม่ต้องพยายามเลยครับ.
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วน : www.doctor.or.th

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา