7 ส.ค. 2020 เวลา 08:18 • ประวัติศาสตร์
ขอมสร้าง “ปราสาท” … สยามสร้าง “ปรางค์”
เมื่อขอมโบราณถือกำเนิดขึ้น (ไม่เกี่ยวกับเขมรโบราณ) วัฒนธรรมการก่อสร้างสถานที่สำหรับเทพเจ้าของขอมโบราณก็ถือกำเนิดขึ้น เรามักจะเห็นปราสาทขอมโบราณมากมาย ทั้งที่ตั้งอยู่ภายในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา
1
ตัวอย่างเช่น ปราสาทหินพนมรุ้งและปราสาทหินเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์, ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา, ปราสาทสด็อกก็อกธม  จ.สระแก้ว เป็นต้นซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปราสาทขอมโบราณด้วยกันทั้งนั้น
โดยศิลปสถาปัตยกรรมรูปแบบปราสาทนี้ถูกใช้และพัฒนาเรื่อยมานับแต่พุทธศตวรรษที่ 14 แล้วเจ้าค่ะ เพื่อใช้แทนความหมายของพระมหากษัตริย์ขอมในฐานะ “ผู้เป็นเจ้าแห่งจักรวาล” หรือในอีกนัยหนึ่งก็คือ กษัตริย์ผู้ทรงเป็นภาคอวตารของพระผู้เป็นเจ้า นั้นเอง
เมื่อแรกของการผสมผสานทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม สยามให้ถือกำเนิดเกิดขึ้นแลเริ่มสร้างศิลปสถาปัตยกรรมขึ้นมาในรูปแบบของตน ได้นำเอารูปแบบของปราสาทขอมโบราณมาต่อยอดทางสถาปัตยกรรมในแบบของตนเอง
โดยมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับทางพุทธศาสนาที่สยามนับถือเปรียบให้ปราสาทกลายเป็นเขาพระสุเมรุ หรือศูนย์กลางจักรวาลซึ่งก็คือศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนานั้นเอง โดยให้ใช้ในฐานะหลักประธานของวัดในวัฒนธรรมสยาม
แล้วเรียกชื่อใหม่ว่าทรง ปรางค์ หรือ “พระพุทธปรางค์” แทน ตัวอย่างเช่น ปรางค์สามยอด จ.ลพบุรี, พระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร อ. ศรีสัชนาลัย, ปรางค์วัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้นเจ้าค่ะ
“ปราสาท” แบบขอมโบราณ
มักจะเป็นปราสาทที่สร้างด้วยศิลาแลง หรือ หินทราย เช่น ปราสาทหินพนมรุ้ง สร้างจากหินทรายสีชมพู , ปราสาทหินพิมาย สร้างจากหินทรายสีขาว เป็นต้น ซึ่งแต่ละก้อนที่นำมาต่อขึ้นเป็นปราสาทนั้นก็มักจะมีขนาดที่ใหญ่ ซึ่งรูปแบบของปราสาทหินของขอมโบราณนี้ได้รับอิธิพลมาจากอินเดียในทางตอนใต้นั้นเองเจ้าค่ะ
สำหรับส่วนประกอบสำคัญของปราสาทโดยสังเขปก็มี
1. ส่วนเครื่องยอด
2. ส่วนเรือนธาตุ
3. ฐานเชียง
4. ห้องครรภคฤหะ ศูนย์กลางปราสาท
5. ลูกแก้ว
6. ยอดบัว
7. กลีบขนุุน
8. ซุ้มบันแถลง
9. บราลี
10. ลูกมะหวด
11. หน้าบัน
12. ทับหลัง
13. เสากรอบประตู
14. ห้องมณฑป
1
“ปรางค์” ศิลปะสยาม
เป็นสิ่งก่อสร้างประเภทหนึ่งที่สยามได้รับรูปแบบมาจากปราสาทขอมโบราณ แล้วปรับให้มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในแบบไทยๆ โดยให้มีรูปทรงที่ผอมเพรียวขึ้น และสูงโปร่งชลูดขึ้น มีการปรับส่วนยอดให้เป็นทรงแท่งขึ้นด้วย แลปรับเปลี่ยนให้ปรางค์เป็นหลักประธานในวัดเช่นเดียวกับพระเจดีย์ โดยใช้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุหรือพระพุทธรูปภายในเจ้าค่ะ
สำหรับส่วนประกอบสำคัญของปรางค์โดยสังเขปก็มี
1. เครื่องยอด
2. เรือนธาตุ
3. ฐานเชียง
4. ซุ้มจรนัม (ซุ้มพระเจ้า)
5. บันแถลง
6. กลีบขนุน
7. เจดีย์ยอด
8. มุข
และนี้ก็คือเรื่องราวของปราสาทและปรางค์ที่ชี้ให้เราได้เห็นทั้งความเหมือนและความแตกต่าง และนี้ก็เป็นอีกครั้งที่สยามเกิดขึ้นจากความหลากหลาย ที่คุณอาจคาดไม่ถึงเจ้าค่ะ
ท้ายนี้มาแชร์กันนะเจ้าค่ะว่าพี่ท่านแต่ละคน เคยไปเที่ยวปราสาทและพระปรางค์ที่ไหนมาแล้วบ้าง และพี่ท่านประทับใจอะไรบ้างหรือไม่เกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมของทั้ง 2 แบบ ... มาแชร์กันนะเจ้าค่ะ
Le Siam
“สยาม … ที่คุณต้องรู้”
เขียนและเรียบเรียงโดย : Le Siam
อ้างอิง :
- สมคิด จิระทัศนกุล. วัด: พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย. พ.ศ. 2544.
- สว่าง สิมะแสงยาภรณ์, "แบบศิลปะที่ปรากฎในงานจิตรกรรมฝาผนังภายในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ" พ.ศ. 2523

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา