28 ส.ค. 2020 เวลา 12:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
5 โรค
ปลากัดยอดฮิต
ปลากัดเป็นปลานักสู้ที่หลายคนรู้จักกันดี และที่สำคัญปลากัดเป็นปลาที่ทนต่อทุกสภาพแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ เป็นอีกหนึ่งปลาสวยงามที่น่าเลี้ยงมาก ๆ และอยากแนะนำให้ทุกคนได้ลองซื้อหามาเลี้ยงกันดู
แต่ทุกคนรู้ไหมว่า…
ปลากัดที่คุณเลี้ยงถ้าเลี้ยงถูกวิธีจะไม่ค่อยเกิดโรคหรือบางตัวไม่เป็นโรคเลยตลอดระยะเวลาอายุไขทั้งหมดของมัน แต่ถ้าหากคุณเลี้ยงโดยไม่ใส่ใจหรือสนใจใยดี เมื่อสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของมันมากจนเกินไป (อุณหภูมิลดต่ำลงอย่างผิดปกติ / น้ำสกปรกจนมองไม่เห็นตัวปลา) ปลากัดที่เราเลี้ยงก็จะเกิดโรคได้ในทันที
1. โรคจุดขาว (White spot disease)
เกิดจากสัตว์เซลล์เดียวที่มีชื่อว่า Ichthyophthirius multifilis นิยมเรียกทั่วไปว่า “อิ๊ค” เป็นสัตว์เซลล์เดียวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด พบว่าทำให้เกิดโรคในปลาจากตัวอ่อนของ “อิ๊ค” จะฝังตัวเข้าไปอยู่ใต้เยื่อบุผิวบริเวณลำตัวและเหงือก ทำให้เห็นบริเวณนั้นเป็นจุดขาว ๆ ขนาดประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร
เมื่ออิ๊คเจริญเต็มที่จะหลุดออกจากตัวปลา ว่ายน้ำเป็นอิสระและจะสร้างเกราะหุ้มตัว มีการแบ่งเซลล์ขยายพันธุ์รวดเร็ว เป็นตัวอ่อนที่เรียกว่า “โทไมท์ (Tomite)” ในเกราะหนึ่งจะมีโทไมท์ตั้งแต่ 500-2,000 ตัว เมื่อสภาพเหมาะสมเกราะจะแตกออก โทไมท์จะว่ายน้ำไปเกาะที่ตัวปลาต่อไป
มักจะพบโรคจุดขาวระบาดในช่วงที่อุณหภูมิของน้ำมีการเปลี่ยนแปลงจากสูงไปต่ำหรือจากต่ำเป็นสูง
การรักษาที่ได้ผลดีคือ ใช้ฟอร์มาลินเข้มข้น 25-30 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ผสมกับมาลาไคท์กรีน 0.1 ส่วนในล้านส่วน แช่ติดต่อกัน 3-5 วันแล้วจึงเปลี่ยนน้ำ
2. โรคสนิม (Velvet disease)
เกิดจากสัตว์เซลล์เดียวชนิดแส้ (Flagellum) มีรูปกลมรี มีชือว่า Oodinium sp. อาการของโรคนี้คือ ตามผิวหนังปลาจะมีลักษณะคล้ายกำมะหยี่สีเหลืองปนน้ำตาล กระจายเป็นหย่อม ๆ เนื่องจากมี Oodinium เกาะอยู่ พบปรสิตนี้ตามลำตัวและเหงือก
การป้องกันและกำจัด ควรใช้เกลือแกงเข้มข้น 1% แช่ปลาไว้นาน 24 ชม. และควรทำซ้ำทุก 2 วัน หลังจากเปลี่ยนน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาออกหมดแล้ว
3. โรคที่เกิดจากปลิงใส
ปลิงใสที่พบมีอยู่ 2 ชนิด คือ Gryodactylus sp. และ Dactylogyrus sp. อาการของโรคที่พบในปลากัด คือ ส่วนหัวของปลาจะซีด ส่วนลำตัวของปลามีสีเข้ม มีอาการของครีบกร่อนร่วมด้วย พบปรสิตตามลำตัวและเหงือก
1
การป้องกันและกำจัด ควรใช้ฟอร์มาลินเข้มข้น 30-50 ส่วนในล้านส่วน หรือ Dipterex เข้มข้น 25 ส่วนในล้านส่วน แช่ตลอดไป
4. โรคที่เกิดจากเชื้อรา
โดยปกติแล้วเชื้อราไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของโรค มักจะพบหลังจากปลาบอบช้ำเนื่องจากการจับ เชื้อราที่มักพบเสมอคือ Ssproleqnia sp. อาการของโรคเชื้อรา คือ จะเห็นเป็นปุยขาวคล้ายสำลีบริเวณที่เป็นโรค
สำหรับการรักษา ใช้มาลาไคท์กรีนเข้มข้น 0.1-0.25 ส่วนในล้านส่วน ร่วมกับฟอร์มาลินเข้มข้น 25 ส่วนในล้านส่วน แช่ติดต่อกันนาน 3 วัน
5. โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย
อาการที่ปรากฎคือ มีอาการท้องบวม และมีของเหลวในช่องท้องมาก
การรักษาใช้แช่ยาปฎิชีวนะ เช่น ออกซิเตตราไซคลิน หรือคลอแรมฟินิคอลที่มีความเข้มข้น 10-20 ส่วนในล้านส่วน แช่ติดต่อกัน 3-5 วัน และต้องเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกวัน แล้วเติมยาให้มีความเข้มข้นเท่าเดิมทุกครั้ง หรือใช้เกลือแงเข้มข้น 0.5 %
โรคที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่มักเกิดขึ้นกับปลากัดที่เราเลี้ยงโดยเฉพาะ แต่ผมเองอยากแนะนำว่า “ถ้าคุณดูแลน้ำที่ใช้เลี้ยงปลากัดให้ดีถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ ผมการันตีและรับรองได้ว่า โรคยอดฮิตทั้ง 5 โรคนี้จะไม่เกิดกับปลากัดที่คุณรักอย่างแน่นอน”
หมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำอยู่บ่อย ๆ และที่สำคัญก่อนจะเปลี่ยนน้ำ ควรพักน้ำทิ้งไว้สัก 1-2 วันจะเป็นอันดีที่สุด ถึงแม้ปลากัดจะทนต่อทุกสภาพอากาศ ถึกทน ไม่ตายง่าย แต่ปลากัดก็มีชีวิตนะครับ ปลากัดเขาก็ต้องการที่อยู่สะอาด ๆ และที่อยู่ที่ดีที่สุดเหมือนกับคนเราเหมือนกัน พยายามหมั่นดูแลน้ำให้ดีอยู่เสมอ แค่นี้โรคภัยก็ไม่มาเบียดเบียนปลากัดที่คุณรักแล้วครับ
แหล่งอ้างอิง : นิตยสารเกษตรกรก้าวหน้า
แหล่งอ้างอิง : ปลากัดสยาม
แหล่งอ้างอิง : สัตว์สวยงามทำเงิน
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำออนไลน์
fishway
Website : ...coming soon...
Youtube : ...coming soon...
Tiktok : ...coming soon...
Line VOOM : ...coming soon...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา